พบหลักฐานทาง ปวศ.เก่าสุด “ชิ้นแรก” อ้างถึงการเสด็จประพาสยุโรปใน ร.5

(ซ้าย) หน้าปกหนังสือพิมพ์อิตาเลียน ฉบับวันที่ 13 มิถุนายน 1897 พาดหัวข่าวปกรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอิตาลี (ขวา) ข่าวบางส่วนด้านใน ซึ่งนับเป็นเอกสารเก่าแก่ที่สุดฉบับแรก ที่อ้างถึงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระองค์ (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

(ล้อมกรอบ) เอกสารส่วนใหญ่จากพื้นที่ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ในรัชกาลที่ 5 ที่รอดมาให้เห็นทุกวันนี้ โดยมากมักเป็นข้อมูลที่กลั่นกรองมาแล้วของสื่อจากประเทศเป้าหมายหลัก มีอาทิ ฝรั่งเศส อังกฤษ และรัสเซีย ภายหลังการรับเสด็จในที่ต่างๆ ดำเนินไปด้วยดีเกินความคาดหมาย ที่ผ่านมาจึงยังไม่พบหลักฐานใดย้อนหลังไปถึงวันแรกๆ ของการมาถึง ถ้ามีก็คงน่าตื่นเต้นไม่น้อย เพราะสื่อในขณะนั้นยังจำนนต่อข้อมูลดิบอันบริสุทธิ์ แต่แล้วหนังสือพิมพ์อิตาเลี่ยนฉบับหนึ่งสามารถเผยวาระอันซ่อนเร้นที่เราไม่เคยทราบมาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงประทับพระบาทครั้งแรกบนแผ่นดินยุโรป

การเสด็จประพาสอิตาลีในรัชกาลที่ 5 ค.ศ. 1897 เป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงน้อย เอกสารจากประเทศนั้นโดยมากสูญหายไปหมดแล้ว ที่พบส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับความสำเร็จในการเยือนรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศสเป็นหลัก ในความเป็นจริง “อิตาลี” เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องตีให้แตก

Advertisement

ปลายปี พ.ศ. 2548 ผู้เขียนค้นพบหนังสือพิมพ์อิตาเลียนฉบับหนึ่ง เรียก LA TRIBUNA ILLUSTRATA della Domenica ประจำวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1897 พาดหัวข่าวการเสด็จประพาสกรุงโรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พร้อมข่าวประกอบ 2 หน้ากระดาษเต็ม นับเป็นเอกสารเก่าแก่ที่สุดที่อ้างถึงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอิตาลี

สื่อมวลชนในกรุงโรมแสดงความตื่นเต้นต่อการมาของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกจากบุรพทิศ แต่การเสด็จมาอย่างกะทันหันของพระองค์ สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เพราะถึงแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะทรงเป็นมิตรที่ดีกับราชสำนักอิตาเลียนมานานก็มิได้ทรงแสดงเจตนารมณ์ที่จะเสด็จมาอย่างเป็นทางการด้วยความตั้งพระทัย จึงเป็นการตัดสินพระทัยอย่างรวบรัด สำนักพระราชวังประจำกรุงโรมเพิ่งจะได้รับการติดต่อจากอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสไม่กี่วันล่วงหน้า สร้างความประหลาดใจให้ทางสื่อสาธารณะไม่น้อย [5]

บทบรรณาธิการวิเคราะห์ว่า มันมีเหตุผลทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤติการณ์กับฝรั่งเศสมาหยกๆ (หมายถึงเหตุการณ์ ร.ศ. 112- ผู้เขียน) ซึ่งนายทหารอิตาเลียนหลายนายก็ร่วมรบอยู่ด้วยกับฝ่ายสยาม นอกเหนือไปกว่านั้นฝรั่งเศสก็บังเอิญมีพื้นไม่ค่อยดีอยู่กับอิตาลี การปล่อยข่าวทางลบต่อฝรั่งเศส ยังเป็นกระแสต่อต้านอันต่อเนื่องและมักจะถูกโยงไปถึงเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย รวมถึงในเวลานี้ ประชาชนชาวอิตาเลียนยังเชื่อข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่าข่าวของทางราชการ แม้ข่าวที่เชื่อนั้นจะเป็นการปล่อยข่าว อย่างไรก็ตาม การสร้างภาพของประเทศสยามได้เริ่มขึ้นแล้วที่นี่ แผนการทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกถูกวางอย่างรัดกุม โดยไม่แสดงความอวดโอ่ แต่รอเวลาที่จะพิสูจน์ผลจากความคืบหน้าของสถานการณ์ในแต่ละวันที่ผ่านไป หมายความว่า ช่องว่างระหว่างกษัตริย์ผู้แปลกหน้ากับนักข่าวท้องถิ่น ถูกทำให้แคบลงด้วยแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง [5]

ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในหนังสือพิมพ์ ขยายความได้เป็นข้อมูลเชิงลึกต่อไปนี้

ประการแรก

ทำเลที่ตั้งอันยอกย้อนและห่างไกลของนครเวนิส มิใช่แรงดึงดูดที่สามารถทำให้เรือพระที่นั่งมหาจักรีลำมหึมาเข้าเทียบท่าที่นั่นด้วยความบังเอิญแต่อย่างใด ในมุมมองอื่นเมืองท่าที่ใหญ่กว่าอีกหลายแห่งบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แสดงความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ก็ยังมีอีก เช่น บาร์เซโลนาในสเปน มาร์เซย์ในฝรั่งเศส และเอเธนส์ในกรีก ล้วนมีท่าเทียบเรือน้ำลึกรอรับอยู่ แต่คณะของคนไทยกลับเลือกใช้ร่องน้ำแคบๆ ของเวนิส ทั้งๆที่ทราบกันดีว่าคนไทยคุ้นเคยกับเมืองท่ามาร์เซย์ ซึ่งเหมาะสมกว่ามาก ดังตัวอย่าง ที่คณะทูตไทยสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมาขึ้นบกที่มาร์เซย์ เพราะความสะดวก แม้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เอง สมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อเป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 เสด็จมาเยือนยุโรปก่อนหน้านั้นก็ยังเลือกขึ้นบกที่มาร์เซย์ ในขณะที่คราวนี้เหตุผลแตกต่างออกไป เมืองท่าของฝรั่งเศสจำเป็นต้องถูกตัดออกไปเพราะปัญหาทางการเมือง ทำให้ความสำคัญเปลี่ยนไปด้วย เมืองเวนิสในอิตาลีจึงถูกกำหนดขึ้นแทนที่ด้วยเหตุผลทางการเมืองทางอ้อม

ท่าเรือเวนิส ถ่ายจากจัตุรัสซานมารโค เป็นจุดที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเข้าเทียบท่า และรัชกาลที่ 5 ทรงประทับพระบาทครั้งแรกบนแผ่นดินยุโรป (ภาพจาก ไกรฤกษ์ นานา)

ประการที่ 2

ความเป็นกลางของอิตาลี และนโยบายที่ยืดหยุ่นตลอดเวลาของประเทศนี้ เป็นปัจจัยภายนอกที่คนไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการที่อิตาลีมีเครือข่ายราชวงศ์อันเหนียวแน่น และเป็นที่ยอมรับนับถือของราชสำนักยุโรปทั่วไป การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จมาอยู่ที่นี่ ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นศูนย์กลางของคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นกลางและเป็นมิตรไปด้วย ถึงแม้จุดประสงค์อันซ่อนเร้นจะถูกปิดบังไว้อย่างเงียบๆ ก็ตาม

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นและเป็นปัจจัยภายใน ได้แก่ทฤษฎี “ซ้อนนโยบาย” ต่างประเทศที่ใช้ได้ผลของประเทศนี้ กล่าวคือถึงแม้อิตาลีจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมหาอำนาจไตรภาคี (Triple Alliance) ซึ่งมีเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการีเป็นแกนนำหลัก อิตาลีก็มิได้ล้มเลิกนโยบายเดิมของตนเอง อันว่ากลุ่มไตรภาคีนี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตั้งความหวังที่จะสร้างสัมพันธ์ไว้คานอำนาจฝ่ายตรงข้าม คือกลุ่มทวิภาคี (Dual Alliance) ซึ่งมีฝรั่งเศสเป็นหัวหอก และที่ทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก คือการที่อิตาลีเป็นภาคีอยู่ในขณะที่ยังสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ตรงนี้คือลักษณะพิเศษของการเมืองในอิตาลี [5]

ก่อนที่จะผ่านเลยไป ขอเท้าความเหตุผลด้านยุทธศาสตร์การเมืองของอิตาลีไว้สักเล็กน้อย เพราะจะมีผลต่อพระบรมราชวินิจฉัยในการเสด็จครั้งนี้พอสมควร ชนวนของเรื่องนี้มีที่มาจากการที่อิตาลีเกิดขัดใจกับฝรั่งเศส เพราะถูกฝรั่งเศสข่มเหงรังแกโดยไม่เป็นธรรม จึงมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการที่สยามถูกฝรั่งเศสกดขี่ข่มเหงมาก่อนเช่นกัน

เรื่องของอิตาลีกับฝรั่งเศสมีอยู่ว่า ในปี ค.ศ. 1882 อิตาลีต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เพราะผิดหวังในเรื่องแคว้นตูนิเซีย เหตุเกิดเมื่อเจ้าผู้ครองตูนิเซียใช้จ่ายเงินสิ้นเปลืองฟุ่มเฟือย จนเป็นหนี้รัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินคืนใช้ให้ได้ ทั้ง 3 ประเทศ จึงตกลงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อควบคุมการเงินของตูนิเซีย ฝ่ายอิตาลีและฝรั่งเศสต่างก็อยากได้ตูนิเซียไว้เป็นเมืองขึ้นเช่นเดียวกัน

ในปี ค.ศ. 1880 ชาวตูนิเซียเข้าไปปล้นสะดมราษฎรในแคว้นอัลเจียร์ (Algiers) ฝรั่งเศสเลยถือโอกาสยกเอาเรื่องนี้เป็นสาเหตุในการเข้าครอบครองตูนิเซีย พอดีเป็นระยะเวลาที่นายจูลส์ เฟอร์รี่ (Jules Ferry) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เขาเป็นผู้สนับสนุนการแผ่ลัทธิจักรวรรดินิยม จึงชักนำให้รัฐสภาฝรั่งเศสจัดงบประมาณ 600,000 ฟรังก์ เพื่อปรับปรุงกองทัพบกฝรั่งเศส ในที่สุดก็จัดส่งทหารฝรั่งเศส 30,000 คน ให้บุกเข้าไปปราบพวกตูนิเซีย โดยมีจุดหมายที่จะยึดไว้เสียเลย ทำให้เจ้าผู้ครองตูนิเซียตกใจ เลยยินยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพบาร์โด (Treaty of Bardo) มอบแคว้นตูนิเซียให้เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส การฉวยโอกาสโดยพลการนี้ทำให้รัฐบาลอิตาเลียนไม่พอใจ จึงหันไปผูกมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส แต่ภายหลังที่เข้าเป็นพวกในกลุ่มพันธมิตรไตรภาคีที่มีเยอรมนีเป็นแกนนำแล้ว อิตาลีก็มิได้ทำตัวสนับสนุนหลักการของกลุ่มอย่างเต็มใจนัก จนดูเหมือนเป็นสมาชิกแต่เพียงในนาม ก็เพราะยังต้องการรักษาความเป็นกลางไว้ต่อไป มากกว่าการใช้มาตรการตอบโต้ฝรั่งเศสอย่างจริงจัง [4]

ประการที่ 3

เรื่องเพื่อนเก่า ตลอดสมัยรัชกาลที่ 5 อิตาลีได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นประเทศมหาอำนาจระดับกลางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ด้วยเหตุนี้คนอิตาเลียนจึงได้รับพระมหากรุณาให้เข้ารับราชการตามนโยบายถ่วงดุลอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตั้งแต่แรก ชาวอิตาเลียนได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ในระดับเดียวกับชาวเดนมาร์ก คือได้รับความไว้วางใจให้ทำงานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคง (การทหาร) ควบคู่ไปกับด้านพัฒนาประเทศในยามสงบ (โยธาและศิลปากร) ในขณะที่ชาติมหาอำนาจแท้ๆ ไม่เคยได้รับพระมหากรุณา

ด้านการทหาร ตั้งแต่ครั้งที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) คิดสร้างโรงทหารหน้าขึ้น (ต่อมาเป็นกระทรวงกลาโหม-ผู้เขียน) ในปี พ.ศ. 2423 นายทหารอิตาเลียน 2 นาย คือ ยี.อี. เยรินี (G.E. Gerini-ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสารสาสน์พลขันธ์) และนายโยเซฟ ฟาร์รันโด (Joseph Farrando) สมัครขอเข้ารับราชการ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้จ้างไว้เป็นครูฝึกทหารหน้าตามแบบยุโรปสมัยใหม่ ทั้ง 2 คนได้รับพระมหากรุณาเลื่อนยศขึ้นเป็นนายร้อยเอกอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะนายเยรินี ได้เป็นผู้หนึ่งที่นำความรู้ใหม่ๆ เช่น เรื่องเครื่องไฟฟ้า การสร้างป้อมค่ายแบบฝรั่ง และการใช้ดินระเบิดมาใช้ในกองทัพไทย และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทช่วยปกป้องดินแดนปลายพระราชอาณาเขตในศึกฮ่ออีกด้วย นอกจากนั้นยังมีนายทหารอิตาเลียนที่ฝากผลงานไว้ในวิกฤติ การณ์ ร.ศ. 112 คือ นายแคนดุตตี (G. Candutti) กับการต่อสู้กองเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ท่านเป็นต้นกลประจำเรือปืนมูรธาวสิตสวัสดิ์ เข้ายิงสกัดกั้นเรือรบฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญ จนเรือรบของท่านถูกกระสุนฝ่ายข้าศึกยิงทะลุถึง 2 นัดๆ [3]

ในยามสงบ ชาวอิตาเลียนหลายคนมีบทบาทในการสร้างถาวรวัตถุมากมายในสยามประเทศ เช่น ตัดถนน สร้างสะพาน วางผังเมือง ก่อสร้างพระที่นั่ง และติดตั้งอนุสาวรีย์ที่มีตัวอย่างให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ มีตัวอย่างคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ติดตั้งฐานพระบรมรูปทรงม้า และออกแบบซุ้มรับเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ 2 เป็นต้น บุคคลที่เป็นเพื่อนเก่าของสยามเหล่านี้ ประกอบด้วยนายตามาญโญ (M. Tamagno) นายริโกติ (A. Rigotti) นายกอลโล (E.G. Gallo) และนายอัลเลกรี (G. Allegri) โดยเฉพาะนายอัลเลกรี ได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นวิศวกรใหญ่ประจำกรมโยธาสยาม แต่ผู้ที่อุทิศทั้งชีวิตให้กับสยาม ได้แก่ นายคอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็เป็นชาวอิตาเลียนอีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนเก่าของสยามที่เมืองไทยไม่เคยลืม

เพื่อนเก่าชาวอิตาเลียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงราชการเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงมีพระสหายเก่าเป็นชาวอิตาเลียนอยู่มากหน้าหลายตา ถึงแม้จะทรงพบพระเจ้าแผ่นดินอิตาลีเป็นครั้งแรก (พระเจ้าอุมแบรโต) แต่พระบรมวงศานุวงศ์คนอื่นๆ ที่เคยเสด็จมาเยือนสยาม ได้กลายเป็นพระสหายที่ทรงรู้จักมักคุ้น ในจำนวนนี้มีดุ๊คออฟเจนัว (Duke of Genoa) เจ้านายพระองค์นี้เป็นถึงพระภาตาของพระราชินีแมคริตา (Queen Magrita) ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุมแบรโต ดุ๊คออฟเจนัว เคยเสด็จมากรุงสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 จึงทรงสนิทกันเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสเล่าให้พระราชินีฟังว่า “ดูแก่ไปกว่าแต่ก่อนมาก เพราะหัวล้านแลหนวดหงอกมาก แต่ท่าทางก็อย่างเก่านั้นเอง แต่พูดกระซี้กระซ้อมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นั่งพูดกันสองต่อสองปิดประตูอย่างโก้หร่าน” [2]

นอกจากนั้นยังมีดุ๊คออฟอาบรุซซี่ (Duke of Abruzzi) พระอนุชาของพระเจ้าอุมแบรโต ดุ๊คออฟอาวออสเตอร์ (Duke of Auauster) เคานต์ออฟตูริน (Count of Turin) เจ้าชายเฟอร์ดินานโดออฟอูดิน (Ferdinando of Udin) และเจ้าชายเฮนรี่ออฟบูร์บอง (Prince Henry of Bourbon) เจ้านายอิตาเลียนทั้งหมดที่กล่าวพระนามนี้ เคยเสด็จมาเยือนกรุงสยามทุกพระองค์ ราชนิกุลอิตาเลียนจึงไม่ใช่คนแปลกหน้าในสยาม ระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับในกรุงโรม มีพระดำรัสว่า “ฉันดื่มถวายเจ้าแผ่นดินแลให้ดุ๊ก เปนการหยอกกันเรื่องเพื่อนเก่า เธอก็ตอบอย่างนั้นเหมือนกัน ดูเปนที่ชอบใจกันมาก ดูเรากันเองเสียจริงๆ น่ารักมาก” [2]

จากการที่ทรงสนิทสนมกับเจ้านายอิตาเลียนชั้นสูงมานาน ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญที่พระราชโอรสจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวไว้เช่นกัน เพื่อประโยชน์ในวันข้างหน้า ทรงแนะนำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธผูกมิตรไว้ให้ดีกับ Prince of Naples ผู้เป็นมกุฎราชกุมารของอิตาลีในเวลานั้น (ต่อมาขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ 3-ผู้เขียน) แต่เนื่องจากไม่มีโอกาส สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธยังต้องขอพระราชทานอภัยโทษมากราบบังคมทูลด้วยความร้อนตัวว่า

“คืนวันนั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดจะไปคุยกับปรินซ์ออฟเนเปิลก็เฟเลีย [Failure = ล้มเหลว] จับองค์ไม่ใคร่ได้เลย ประเดี๋ยวไปโน่นประเดี๋ยวไปนี่ เป็นแต่พยักพเยิดกันห่างๆ เท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจนักที่ไม่ได้คุยกันมาก แลปรินซ์เซสก็เลยไม่ได้รู้จักกัน แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งใจหาช่องพบแลคุยกันให้จงได้ คงจะได้พบกันอีกไม่ช้าเปนแน่ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมกิฟอัป [Give up = ยอมแพ้] ที่จะได้สนทนากันเลย ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจเปนอย่างยิ่งที่ไม่ได้ทำตามพระราชประสงค์ให้เต็มที่คือผูกไมตรีกับปรินซ์ออฟเนเปิล แต่ข้าพระพุทธเจ้าจะตั้งใจสนทนากันอีกให้จนได้ ต้องจับองค์แกคุยให้ได้” [2]

ประการที่ 4

เรื่องสร้างภาพ คำกล่าวที่ว่าการเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ย่อมเป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุด การเลือกประเทศอิตาลีเป็นประเทศต้นทาง ย่อมถูกจับตามองโดยสื่อมวลชนทั่วทั้งยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเป็นกลางของอิตาลี และจากการที่กษัตริย์อิตาเลียนไม่ใช่แกนนำหลักของผู้นำประเทศมหาอำนาจ ดังเช่น รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ทำให้ภาพลักษณ์ของการเสด็จไปอิตาลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้รับการกล่าวขวัญในทางที่ดีไปด้วย ถึงแม้ฝ่ายตรงข้ามจะเชื่อว่ามีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่ก็ตาม

การเริ่มต้นในประเทศที่ไม่มีพิษสงด้านการทหาร และไม่มีอิทธิพลจึงเป็นการเริ่มต้นแบบสันติวิธี ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีในสายตาคนทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับยุทธวิธี โดยหันมาใช้การประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในระยะยาว การดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวเป็นการรบโดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้มันสมอง และการทำงานอย่างมีระบบ จะเรียกว่าการสร้างภาพคงไม่ผิดนัก แต่การสร้างภาพด้วยหลักวิธีมีผลให้ประเทศเล็กๆ เช่น สยาม ถูกมองว่ามี “อิทธิพลแฝง” ในหมู่ชาติมหาอำนาจยุโรปด้วยกัน ตามพระบรมราชวินิจฉัยที่มีพระราชทานมายังพระบรมราชินีนาถว่า

“ตามที่ฉันว่าอยู่บ่อยๆ ว่าเจ้าแผ่นดินฝรั่งไปพบกันแล้วเหมือนสูริย์ฤาจันทร์อังคาฏ มันโจทกันจ็อบแจ็บไปทั้งนั้น แต่มันคิดไม่เห็นว่าเปนไปจากฝ่ายเราก่อน เขาเห็นเปนเอมเปอเรอคิดเอง แต่อย่างไรก็ดีทำให้เราเปนคนสำคัญขึ้นได้มาก” [2]

ภาพพจน์ของคนไทยในประเทศอิตาลีสร้างความแปลกใจให้ผู้นำยุโรปคนอื่นๆ อย่างมาก และต่างพากันงงงวยกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กับราชสำนักอิตาเลียนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน ตรัสว่า “การที่จะเสียพระเกียรติยศอย่างใด ยังไม่เห็นช่องเลย ดูหยอดกันเรื่อยไปทั้งนั้น” [2]

การให้ความสำคัญแก่พระสันตะปาปา ซึ่งประทับอยู่ที่วาติกันใจกลางกรุงโรม ถือเป็นกุศโลบายที่แยบยลอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรุงสยามไม่ใช่เมืองคริสต์ การที่ประมุขชาวพุทธแสดงคารวะประมุขแห่งคริสตจักร ย่อมแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและไมตรีจิตที่ดีงาม เป็นการสืบทอดพระบรมราชวิเทโศบายที่เริ่มไว้ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 การเสด็จไปเยี่ยมพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ในคราวนี้ สร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับเจ้าภาพและชาวอิตาเลียนโดยรวม เพราะพระสันตะปาปาย่อมเป็นที่เคารพนับถือของคนที่นี่และชาวยุโรปส่วนใหญ่ ตรัสเล่าว่า “คนยังมีศรัทธา [ในพระสันตะปาปา] อยู่มาก ดูดีใจต้อนรับดีนัก เกือบจะกอดแลพยุงให้นั่งเก้าอี้ เวลากลับออกมาส่งถึงนอกห้อง” ดังนั้นนอกจากชาวสยามจะได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้คนส่วนใหญ่ลืมปัญหาที่แท้จริงของประเทศสยามไปได้ชั่วขณะ

ประการที่ 5

เรื่องกลบเกลื่อนความยุ่งยากในปัญหาต่างๆ และเพื่อเตรียมการณ์บางอย่าง ก่อนที่ขบวนเสด็จจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ได้เกิดความคิดเห็นไม่ลงรอยกันในหมู่เจ้านายเกี่ยวกับสถานภาพขององค์พระเจ้าอยู่หัวในยุโรป และการวางพระองค์ในระหว่างการเดินทาง ฝ่ายแรกโดยการนำของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอว่า ควรร้องขอให้ต่างประเทศรับภาระการเสด็จทั้งหมดในฐานะเจ้าภาพเพียงด้านเดียว ฝ่ายที่ 2 นำโดยสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ) ทักท้วงว่านั้นเป็นการลดพระเกียรติยศ นอกจากนั้นยังขาดเอกภาพและไม่มีอิสระในการวางแผนด้วยตนเอง จึงเกิดขัดพระทัยขึ้นระหว่างพวกเจ้านายด้วยกัน เพราะความระแวงสงสัย ว่าจะแก่งแย่งชิงดีกัน เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเข้าแทรกแซงและตัดสินที่จะดำเนินตามฝ่ายที่ 2 เพราะมีหลักการน่าเชื่อถือกว่า [1]

การเสด็จมายังอิตาลี ซึ่งไม่มีบทบาททางการเมืองในระดับภูมิภาคมากนัก จึงเป็นสนามสอบแรกที่วัดผลได้รวดเร็วทันใจที่สุด และไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ก็ยังสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนแผนได้อีกโดยไม่ลำบาก เพราะมีความเป็นกันเองในหมู่พระสหายเก่า ความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นก็ยังไม่รุนแรง เหมือนการเริ่มต้นในประเทศใหญ่ แต่ที่สำคัญปัญหาระหว่างเจ้านายสยามจะได้ยุติลงโดยเร็ว

ในระหว่างที่ประทับอยู่ ณ เมืองฟลอเรนซ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชดำรัสว่า “ด้วยฉันมาอยู่ที่นี่เกือบจะเรียกว่าพบปะแต่ช่างปั้นช่างเขียนช่างแกะช่างสลักวันยังค่ำ ด้วยการช่างเช่นนี้ย่อมเปนที่พอใจลุ่มหลงของฉันแต่เดิมมาแล้ว ได้ยอมให้เขามีการรับรองวันเดียวแต่เมื่อเวลาบ่ายวานนี้” (พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 20 จากอิตาลี 1 มิถุนายน 116) หากพิจารณาดีๆ อาจหมายความว่า การเสด็จมาอิตาลี ก็เพื่อทรงหาความสำราญพระราชหฤทัยอย่างเดียวในงานศิลปะ จะมีรับรองทางราชการอยู่บ้างก็ทรงจำกัดให้น้อยที่สุด ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ขัดแย้งกับพระพจนาดถ์ต่อไปนี้โดยสิ้นเชิง “การที่จะว่าได้รับประโยชน์อันใด ในการมายุโรปโดยส่วนตัวนั้นน้อยนัก หากจะมีประโยชน์บ้างก็แต่ในส่วนราชการแผ่นดิน ได้นั่งพิจารณาดูตัวแลถามไชยันต์สอบว่ามันโก้ขึ้นบ้างฤาไม่ ก็เห็นไม่ได้เลยว่ามีโก้ขึ้นที่ตรงไหน” กับอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ทรงยืนยันไว้ว่า “การเหล่านี้และที่ฉันเห็นว่าเปนประโยชน์ที่ฉันมาได้ไป นอกนั้นการที่มาหาแก่นสารอะไรไม่ได้ ความสนุกสบาย ความใหญ่ความงาม ความมั่งมีศรีสุขก็เห็นวาบเดียวหายไป” [2]

หากเปรียบเทียบพระราชวินิจฉัยดูจะเห็นว่า ทรงให้ความสำคัญเรื่องผลประโยชน์แผ่นดินมากกว่าความสนุกเพลิดเพลิน ภายหลังจึงพบว่าความขัดแย้งเหล่านี้มิได้ปราศจากเหตุผลเสียเลย การที่ทรงปล่อยเวลาให้เสียไปในระยะแรก ไม่มีอะไรมากไปกว่าการ “ซื้อเวลา” เพื่อเก็บข้อมูล และทดสอบบรรยากาศทางการเมืองในพื้นที่ ทั้งยังต้องรอฟังข่าวตอบรับเสด็จ ที่ยังไม่มีความชัดเจนเข้ามา ถึงแม้การเสด็จจะได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่ลงตัวทั้งหมด และยังเปลี่ยนแปลงได้อีก ดังที่มีพระราชดำรัสว่า

“คือพอมาถึงที่นี่ก็วุ่นวายด้วยเรื่องโปรแกรม แลเรื่องฝรั่งเศสไม่แน่ใจการรับรองต้องอ่านคอเรศปอนเดนซ์ ที่สวัสดิ์กับพระยาสุริยาไปตกลงแล้วหวนกลับไปใหม่ร่ำไป ยังไม่กำหนดวันมาให้เห็นว่าที่เขาจะนิ่งทนไม่ให้เราไปบ้านเขา เปนการแปลกกับประเทศทั้งปวงคงเปนไปไม่ได้…แต่เพราะไม่มีกำหนดมาเอง เราจึงได้งดการที่จะไป เปนไปอิตาลีทั้งหลายแล้วไปพักที่ติโรล 3 วัน แล้วจะไปออสเตรีย แลรัสเซีย ต่อนั้นไปสวีเดนแลโคเปนเฮกเก็น บรรดาเมืองทั้งหลายนี้ ตกลงตอบรับแลจะให้อยู่วังทุกแห่ง ต่อนั้นไปอังกฤษ ได้รับข่าวจากกับตันคำมิง ที่ไปพบปลัดทูลฉลองอังกฤษ บอกว่าตกลงจะให้อยู่วังบั๊กกิงฮำ 7 วัน ระยะทางท่อนต้นเปนตกลงกันไปแล้วดังนี้ ถ้าฝรั่งเศสไม่รับเราๆ จะไปเบลเยี่ยม ฮอแลนด์ แลเยอรมนีต่อไป ถ้ารับคงจะแซกลงในระหว่างใดระหว่างหนึ่งได้” [2]

การเริ่มต้นในประเทศอิตาลี ซึ่งมิใช่เป้าหมายหลักของการมาแถมห่างไกลจากความกดดันร้อยแปด จากสถานการณ์รอบด้าน ก็เพื่อใช้เวลาในประเทศที่ปราศจากเงื่อนไขทางการเมือง แก้ไขปัญหาที่ตกค้างมาจากกรุงเทพฯ และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันต่อไปข้างหน้า การเบี่ยงเบนประเด็นไปที่ราชสำนักเล็กๆ เพื่อเยี่ยมเยือนพระสหายเก่า และการแสดงออกว่าทรงสนพระทัยอู่ศิลปวัฒนธรรมโบราณเป็นการตบตาสื่อได้วิธีหนึ่ง นอกเหนือจากจุดประสงค์รองเพื่อเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ การตั้งต้นอย่างรอบคอบ ทำให้เกิดภาพลวงตาในหมู่ผู้นำประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ประเทศคู่กรณีใช้อิทธิพลชักนำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ให้ไขว้เขวได้ พระองค์จึงทรงมีเวลาตัดสินพระทัยและดำเนินนโยบายประชาสัมพันธ์ตนเองให้รัดกุมและปลอดภัยยิ่งขึ้น

ภายหลังที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ได้ไม่กี่ชั่วโมง ในวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงกล่าวถึงมันในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งถึงพระราชินีความว่า

“ฉันได้ส่งหนังสือพิมพ์รูปทำที่อิตาลีมาให้ดูเล่นขำๆ มันเขียนโคมงามเต็มที่” (พระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 25 เมืองฟลอเรนซ์ 13 มิถุนายน 116)

ทำให้เป็นที่สันนิษฐานว่าหนังสือพิมพ์อิตาเลียนฉบับนี้ เป็นฉบับเดียวกันกับที่ตรัสถึงภาพวาดที่ขึ้นปกคือรูปที่เขียนโคมงามเต็มที่ ดูแปลกงดงามและมีพระประสงค์ให้พระราชินีทอดพระเนตรเช่นกัน แต่ที่สำคัญมันกลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของการเริ่มต้นพระราชกรณียกิจที่ทรงริเริ่มนำแนวทางอหิงสามาใช้กับโลกจักรวรรดินิยมอย่างได้ผล

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. การเสด็จฯ ประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ร.ศ. 116 เล่ม 1 พ.ศ. 2523.

[2] จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระราชทานสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อเสด็จฯ ประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116), กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด, 2535.

[3] แชน ปัจจุสานนท์, พลเรือตรี, กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสและการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ. 112. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2519.

[4] สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร  E-G, ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ, 2543.

[5] LA TRIBUNA ILLUSTRATA della Domenica, 13 giugno 1897, Roma, Itala.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2565