ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | พรศิลป์ รัตนชูเดช |
เผยแพร่ |
ตามที่สำนักพิมพ์ของศิลปวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติเจ้าแม่จามเทวี รวบรวมเรียบเรียงโดยคุณกิตตินั้น ผมมีข้อมูลที่จะเรียนให้ทราบว่าในการทำหนังสือเล่มนี้ คุณกิตติได้ยกตำนานฉบับหนึ่งที่บอกว่าไม่ทราบชื่อผู้แต่ง และสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งไม่เกินพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ผมทราบเรื่องนี้ดี เนื่องจากประมาณ ๒๐ กว่าปีมาแล้วมีบุคคลผู้หนึ่งเป็นคนภาคกลาง นามสกุลสุวรรณภาชน์ ส่วนชื่อจำไม่ได้ เขาได้อพยพขึ้นมาอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน แล้วมีความสนใจเรื่องไสยศาสตร์ ได้ตั้งสำนักทรงติดต่อกับวิญญาณขึ้นมาแล้วอ้างว่าติดต่อกับดวงพระวิญาณของเจ้าแม่จามเทวีได้ บุคคลผู้นี้มีผู้เชื่อถือพอสมควร ได้พิมพ์ประวัติของเจ้าแม่จามเทวีฉบับที่คุณกิตติเอามาอ้างอิงออกเผยแพร่ ผมก็ได้ซื้อจากร้านหนังสือราคาถูกมาอ่าน ๑ เล่มแล้วได้หายไป เพราะไม่เห็นว่ามีสาระน่าจะเก็บให้ดี เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่โดยหมอไสยศาสตร์คนทรง
แกอ้างว่าวิญญาณของพระสุเทวฤาษีได้มาบอกให้แกเดินทางไปที่ดอยขุนตาลเพื่อไปเอาตำนานประวัติของเจ้าแม่จามเทวีที่ถูกปกปิดเอาไว้นับพันปี ถึงเวลาที่จะเอามาเปิดเผยแก่ชาวโลก เมื่อแกเดินทางไปที่ดอยขุนตาลตามกำหนด ซึ่งก็มีเหตุการณ์มหัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้น ผมจำไม่ได้ ในที่สุดแกก็ได้พบกับพ่อฤาษีแก้ว ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติสืบทอดวิชาของพระสุเทวฤาษี
พ่อฤาษีแก้วได้เข้าไปในถ้ำแล้วยกเอาหีบไม้สักออกมา เอาขวานผ่าหีบนั้นแล้วเอาคัมภีร์ประวัติเจ้าแม่จามเทวีเป็นตัวอักขระล้านนามามอบให้แกออกไปแปลเป็นภาษาไทยเผยแพร่แก่ชาวโลก แกจึงเอามาแปลแล้วพิมพ์เผยแพร่โดยอาศัยทุนทรัพย์จากผู้ศรัทธา
ในใจของผมคิดว่าคงจะไม่มีคนเชื่อ เพราะเรื่องแต่งขึ้นอย่างเลื่อนลอยเหมือนกับลิเก เพราะว่าผมเกิดที่ภาคเหนือ ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องของเจ้าแม่จามเทวีมาโดยตลอด รู้ว่ามีเรื่องราวอย่างที่กล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ชินกาลมาลี คัมภีร์จามเทวีวงศ์ และคัมภีร์ตำนานบางเล่ม กับนิทานพื้นบ้านในเขตจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ ก็ไม่เคยได้ยินว่าจะมีความพิสดารโลดโผนอย่างที่ตำนานแต่งใหม่เล่มนี้ว่าไว้เลย แล้วพฤติกรรมของผู้ที่อ้างว่าค้นพบตำนานเล่มนี้ก็ไม่น่าไว้วางใจ
แต่กลับกลายเป็นตรงกันข้ามว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปได้หลายปี ความเชื่อตามตำนานนี้กลายเป็นที่แพร่หลายยึดถือกันในหมู่สำนักทรงเจ้าแม่จามเทวีขึ้นมาทั้งทางภาคเหนือและภาคกลาง เจ้าทรงบางคนก็นำผ้าป่า กฐินมาทอดถวายวัดต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ที่คิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่จามเทวี เมื่อผมไปเยี่ยมวัดหลายๆ วัดเหล่านี้ก็พบว่ามีการสร้างรูปประติมากรรมของเจ้าแม่จามเทวี พร้อมกับพระพี่เลี้ยงสาว ๒ นาง บริวารวานร สร้างศาลให้กับบุคคลเหล่านี้ บางวัดมีการวาดจิตรกรรมฝาผนังประวัติของเจ้าแม่ตามตำนานของเจ้าทรงเล่มนี้ และตำนานเล่มนี้มีการพิมพ์แจกต่อมาอีกหลายครั้งโดยบางเล่มก็ตัดบทความประวัติผู้ค้นพบและความเป็นมาออกไปเสียจนบัดนี้สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมก็นำมาพิมพ์เผยแพร่วิเคราะห์ร่วมกับเอกสารตำนานโบราณขึ้นมาอีกเป็นที่น่าวิตกว่าจะก่อให้เกิดความสับสนฟั่นเฟือนแก่ประวัติเจ้าแม่จามเทวีสำหรับอนุชนในภายภาคหน้าจะศึกษาค้นคว้า จะเกิดปัญหาถกเถียงโต้แย้งขึ้นมาอีกมากมายโดยไม่มีมูลความจริง
บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษและสร้างตำนานประวัติศาสตร์ขึ้นมาจากการถอดกายทิพย์ ถอดวิญญาณออกไปศึกษาจากโลกทิพย์แล้วเอามาเขียนพิมพ์เผยแพร่โดยมีข้อความขัดแย้ง บางครั้งก็ลบล้างหลักฐานเอกสารตำราประวัติศาสตร์ที่ทางราชการรับรองหรือนักปราชญ์ได้ค้นคว้าสืบสวนเป็นที่ยุติลงแล้ว บุคคลเหล่านี้ถือได้ว่าทำความสับสนให้เกิดขึ้นแก่การศึกษาของชาติ แต่ทางบ้านเมืองก็ไม่ได้สนใจเอาโทษหรือห้ามปรามแต่อย่างใด ตำนานเท็จเหล่านี้จึงแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็วในหมู่ชาวบ้านที่ไม่ได้รับการศึกษา เพราะมีเนื้อเรื่องสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ
บุคคลที่ยังมีตัวตนอยู่ในจังหวัดลำพูนขณะนี้ก็มีอยู่คนหนึ่งชื่อ ไพศาล แสนไชย อ้างว่าสามารถถ่ายทอดกายทิพย์ออกไปสู่โลกวิญญาณทุกคืนเพื่อไปพบวิญญาณพญาพิงคราช กับครูบาคันธา ผู้ดูแลเขตเมืองพิงค์เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว (ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ระบุว่าพญามังรายสร้างเมืองพิงค์เชียงใหม่มาเพียง ๗๐๐ กว่าปีเท่านั้น) แล้ววิญญาณทั้งสองจะพานายคนนี้ไปเที่ยวนรก สวรรค์ และเล่าประวัติเมืองต่างๆ ในล้านนาอย่างตามใจชอบ ผิดจากตำนานที่ทราบกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ พอตื่นขึ้นมาคนผู้นี้ก็จะเขียนตำนานที่ตนเองว่าเอาหรือเพ้อฝันขึ้นมาแล้วจะมีคนงมงายซึ่งเชื่อถือ บางครั้งเป็นถึงพระเถระ พระครูเจ้าอาวาส เศรษฐี ข้าราชการ สนับสนุนช่วยกันพิมพ์เผยแพร่นับเป็น ๑๐ เล่มแล้ว คนที่ไม่เชื่อก็ไม่เชื่อไป แต่คนที่เชื่อก็มีมาก และขยายวงกว้างออกไปอยู่เรื่อยๆ
ทางภาคกลางก็มีหลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระบาทเขารวก จ.พิจิตร ที่มรณภาพไปแล้ว และเป็นคนจุดประกายเรื่องตำนานพระสุพรรณกัลยา หลวงปู่โง่นเขียนเรื่องนี้ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือชีวิตต้องสู้ และนิตยสารอื่นๆ เอาไปลงซ้ำหลายฉบับ หลวงปู่โง่นเรียกสมเด็จพระมหินทราธิราชก็เรียกผิดแล้วว่า พระมหินตลาธิราช เรียกผิดซ้ำๆ กัน แค่นี้ก็ไม่ต้องไปฟังเรื่องอื่นๆ อีก แต่คนไทย ชาวบ้านและข้าราชการหลายคนก็ยังเชื่อ
หลวงปู่โง่นอ้างว่าตนเองเป็นพระราชครูของสมเด็จพระนเรศวรกลับชาติมาเกิด วิญญาณพระนเรศวรได้มาปรากฏกายขอร้องให้หลวงปู่โง่นเดินทางไปเมืองหงสาวดีที่วังเก่าของบุเรงนอง เพื่อไปถอนอาถรรพ์สะกดวิญญาณที่พระเจ้านันทบุเรงกษัตริย์พม่าให้หมอผีพม่าสะกดวิญญาณพระสุพรรณกัลยาพร้อมกับลูก ๒ คนเอาไว้มิให้ไปผุดไปเกิด หลวงปู่โง่นได้ไปถอนสะกดแล้วขุดกระดูกของพระนางกลับมาเมืองไทยพร้อมกับทรัพย์สมบัติ ทองคำ เพชรพลอยอันล้ำค่าของพระนางมาไว้ที่วัดพระบาทเขารวก
หลวงปู่โง่นอ้างว่าพระนางมีโอรสในท้องเป็นผู้ชายที่เกิดกับนันทบุเรงอีกองค์หนึ่ง จึงมีโอรส ๒ องค์ และองค์พี่ถูกฆ่าพร้อมกับพระนางขณะที่นอนให้เสวยนม (ประวัติศาสตร์ระบุว่ามีเพียงองค์เดียวที่นอนให้กินนม) แล้วโอรสที่ถูกฆ่าคนหนึ่งมาเกิดมาเป็นหมอหยอง
หมอหยองได้ไปมอบตัวเป็นลูกบุญธรรมของหลวงปู่โง่น ถ้าจะพูดไปแล้วเขามิใช่คนธรรมดา เพราะในชาติก่อนเป็นโอรสของนันทบุเรง เป็นหลานของบุเรงนอง เชื้อสายของทางไทยก็เป็นถึงหลานชายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชดังนั้นคนไทยจึงเลื่อมใสเอาเงินทองไปให้จนร่ำรวย
ขณะนี้คนไทยทั้งพระสงฆ์ นักธุรกิจ ข้าราชการ ชาวบ้านส่วนหนึ่งช่วยกันทำลายล้างพุทธศาสนาโดยคิดคำสอนดัดแปลงขึ้นมาใหม่แต่อ้างชื่อของเดิมมาสนับสนุนประกอบแล้วอ้างว่าพวกของตัวเองคือผู้ทำหน้าที่เชิดชูเผยแผ่พุทธศาสนา ทางวงการวิชาการเช่นประวัติศาสตร์ก็มีบุคคลประเภทเช่นที่ว่านี้ที่อ้างว่าเป็นผู้รักชาติ แล้วแต่งประวัติศาสตร์ที่คิดขึ้นมาใหม่ออกพิมพ์เผยแพร่เพื่อหวังชื่อเสียงลาภสักการะโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่การศึกษาของบ้านเมือง เป็นที่น่าสลดใจ
ผมจึงเขียนมาเล่าข้อเท็จจริงให้พิจารณา