สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับหนี้ 60,000 ตำลึง และทหารมุสลิมคู่พระทัย

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในโบสถ์น้อย หน้าพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตมากว่า 200 ปี หลาย “เรื่อง” เกี่ยวกับพระองค์ยังเป็นที่ร่ำลือ ไม่ว่าจะเป็นคุณูปการที่กอบกู้บ้านเมือง, พระอัจฉริยะภาพทางการทหาร, ความผิดปกติของพระสติ ฯลฯ

ซึ่งหลายเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องเล่าที่เราเคยฟังกันในลักษณะของตำนานเรื่องเล่าที่ผสมปนเปทั้งเรื่องเท็จ เรื่องจริง และบางเรื่องก็ยังถกเถียงกันอยู่ ฯลฯ

วันนี้อยากชวนท่านผู้อ่านคุยกันเรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตามที่ได้อ่านจากนิตยสาร “ศิลปวัฒธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 มีเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ 2 เรื่องด้วยกัน

นิตยสาร “ศิลปวัฒธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560

หนึ่งคือ “กู้เงินจากจีน”  ในบทความชื่อ “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตอนที่ 1 เรื่อง ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึงจากเมืองจีน จริงหรือไม่’”  โดย เอกชัย โควาวิสารัช นายแพทย์จากโรงพยาบาลราชวิถี

“เงินกู้ 60,000 ตำลึง” จากเมืองจีน เป็นเรื่องเล่าที่ท่านผู้อ่านทั้งหลายอาจเคยฟังมาก่อนหน้านี้

เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้มาจากเมืองจีนเพื่อใช้บูรณะบ้านเมือง แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้หนี้ เงินในท้องพระคลังมีเงินไม่เพียงพอ พระองค์จึงออกอุบาย “แกล้งเสียสติ” แล้วยกบ้านเมืองให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ไปปกครอง เพื่อหนีความรับผิดชอบเรื่องหนี้สิน หากเจ้าหนี้จะมาทวงเงินก็สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเรื่องของผู้ปกครองแผ่นดินก่อน ไม่เกี่ยวข้องกัน

เอกชัย โควาวิสารัช กล่าวว่าตนเองได้หลักฐานใหม่ 2-3 รายการ ช่วยในการวิเคราะห์ว่า

การเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน ใช้เป็นเครื่องมือการผลักภาระหนี้สินไม่ได้ เพราะในเอกสารหลักฐาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ปราบดาภิเษกขึ้นมา ยังอ้างอิงว่าพระองค์เป็น “ลูก” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มิใช่กษัตริย์ในราชวงศ์ใหม่

ทั้งเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้เงิน เพราะที่ผ่านมาจีนไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แม้จะพยายามส่งเครื่องราชบรรณาการอยู่หลายต่อหลายครั้ง

และสืบเนื่องจากเหตุผลข้างต้น การส่งคณะทูตและเครื่องราชบรรณาการแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งมากกว่า เงิน 60,000 ตำลึงที่อ้างว่ากู้จากจีนด้วยซ้ำ

ภาพจิตรกรรมภายในตำหนักเก๋ง พระราชวังเดิม แสดงเหตุการณ์เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เกณฑ์ไพล่พลมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

ส่วนอีกบทความหนึ่งคือ นายทหารมุสลิมคนสำคัญของกรุงธนบุรี “เจ้าพระยาจักรี (หมุด)” ซึ่งอาจไม่คุ้นหูนักแต่เป็นที่โปรดปรานยิ่ง ในบทความชื่อ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (จักรีแขก) มุสลิมกู้ชาติ” ของ ปเรตร์ อรรถวิภัชน์

เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ หรือ “นายหมุด” เดิมเป็นข้าราชสำนักอยุธยา ตำแหน่งหลวงนายศักดิ์ (หมุด) ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยอากรจากหัวเมืองตะวันออกที่เจ้าเมืองจันทบุรีนำส่งกลับมาเมืองหลวง

แต่เมื่อนายหมุดทราบข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า จึงนำเงินส่วยอากร 300 ชั่ง ที่เก็บได้จากเจ้าเมืองจันทบุรีถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนตนเองก็อาสาร่วมทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นายหมุดร่วมรบในทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การยึดรวบรวมกำลังพลจากเมืองจันทบุรีและหัวเมืองชายทะเลตะวันออกก่อนที่จะสถาปนากรุงธนบุรี

การศึกเมื่อต้นแผ่นดิน เช่น การปราบก๊กพระเจ้านครศรีธรรมราช  เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ก็เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกำลังไปปราบ เมื่อทำศึกกับเขมรก็รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพเรือ ฯลฯ

หลวงนายศักดิ์ (หมุด) จึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นพระยายมราช เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ และเป็น สมุหนายกคนแรกของกรุงธนบุรี

และเมื่อถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปร่วมในการฝังศพที่มัสยิดต้นสน (มัสยิดกุฎีใหญ่)

หลุมฝังศพเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ณ มัสยิดต้นสน (ภาพจาก www.muslimpost.com)

ความที่ยกมาคุยกันนี้เป็นเพียงบางส่วนที่เอกชัยและปเรตร์เขียนถึง ขอได้โปรดติดตามเรื่องทั้งหมดจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับล่าสุดประจำเดือนพฤษภาคม 2560

ส่วนที่ “เงินกู้จีน” มีการบอกเล่าอย่างกว้างขวาง ส่วน “เจ้าพระยาจักรี (หมุด)” กลับไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงนัก คงเป็นวิจารณฌาณเฉพาะบุคคล ที่แต่ละท่านจะวิพากษ์วิจารณ์กันไป