“พระยาละแวก” ตี “เมืองเพชรบุรี”  ทางไหน? (๑)

(ซ้าย) วัดมหาธาตุ เพชรบุรี มหาธาตุประจำเมืองเพชรบุรี (ขวา) วัดกำแพงแลง ศิลปะบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

บทนำ

เมืองเพชรบุรี เป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกของอ่าวไทย ปรากฏร่องรอยหลักฐานความสำคัญของเมืองนี้อย่างน้อยตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ดังปรากฏร่องรอยหลักฐานโบราณสถานที่ทุ่งเศรษฐีและถ้ำยายจูงหลาน นอกจากนี้ยังพบใบเสมาสมัยทวารวดีที่วัดกำแพงแลงอีกด้วย

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ปรากฏร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ขยายมาถึงบริเวณเมืองเพชรบุรี ดังปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงเมือง “ศรีชยวัชรปุระ” ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงเมืองเพชรบุรี

Advertisement

รวมทั้งยังปรากฏหลักฐานว่า มีปราสาทกำแพงแลง ในวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่า พระศรีชยพุทธมหานาถ แห่งศรีชยวัชรปุรีมีองค์จำลองที่ปราสาทบายน ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการขยายอำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณเข้ามาในดินแดนนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บริเวณเมืองเพชรบุรีน่าจะแยกตัวออกจากอำนาจของอาณาจักรเขมรโบราณ และมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณภูมิ ราชบุรี และนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการปรากฏชื่อเมืองนี้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑๑ ที่กล่าวว่า “…เพชรบุรี ราชบุรี นครพระกริส อโยธยา ศรีรามเทพนคร…”

ในสมัยอยุธยาเมืองเพชรบุรียิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเมืองท่าและเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างสองคาบสมุทร คือ เป็นเมืองในเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรี กับกรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกับเส้นทางที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑๑ วัดเขากบ ที่เมืองต่างๆ ดังกล่าวคือเมืองในเส้นทางที่เชื่อมระหว่างมะริด-ตะนาวศรี กับกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านทางด่านสิงขร

ด้วยความสำคัญต่างๆ ของเมืองเพชรบุรีดังกล่าวมา จึงปรากฏหลักฐานว่าพระยาละแวก หรือกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองละแวก ได้พยายามยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีถึง ๒ ครั้ง ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๒๑ และครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๑๒๔ สงครามทั้ง ๒ ครั้งนี้ได้กล่าวถึงการยกทัพเข้าตีเมืองเพชรบุรีไว้ด้วย

อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางพระยาละแวกตีเมืองเพชรบุรีไว้มากนัก บทความเรื่องนี้ผู้เขียนจึงพยายามศึกษาเส้นทางเดินทัพของพระยาละแวก โดยเฉพาะหลักฐานในด้านภูมิประเทศ และหลักฐานโบราณคดีที่ปรากฏอันน่าจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทัพเข้าตีเมืองเพชรบุรีของพระยาละแวกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พระยาละแวกตีเมืองเพชรบุรี ในหลักฐานประวัติศาสตร์ ไทย-เขมร

เมื่อศึกษาหลักฐานของไทยและของกัมพูชา พบว่ามีการกล่าวถึงพระยาละแวก หรือกษัตริย์กัมพูชา
ผู้ครองเมืองละแวก ให้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชจำนวน ๒ ครั้ง
ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๒๑ และครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๑๒๔ ไว้ดังนี้

พระยาละแวกให้ตีเมืองเพชรบุรีครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๒๑

สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (นักพระสัฏฐา) กษัตริย์ผู้ครองกรุงละแวกระหว่าง พ.ศ. ๒๑๑๙-๓๗ สงครามในครั้งนี้ปรากฏหลักฐานในเอกสารไทยว่า พระยาละแวกให้ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ไม่สามารถตีได้ ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า

“…ศักราช ๙๔๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๒๑) พรญาละแวก แต่งทัพให้มาเอาเมืองเพ็ชรบุรีมิได้เมือง แลชาวละแวกนั้นกลับไป ครั้งนั้นพรญาจีนจันตุ หนีมาแต่เมืองละแวก มาสู่พระราชสมภาร ครั้นอยู่มาพรญาจีนจันตุก็หนีกลับคืนไปเมือง…” 

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า พระยาละแวกแต่งให้พระยาอุเทษราชา กับพระยาจีนจันตุ ยกทัพเรือ พล  ๓๐๐๐๐ มาตีเมืองเพชรบุรี พระยาสุรินทฤๅไชยเจ้าเมืองป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทัพพระยาอุเทษราชายกเข้าปล้นเมืองอยู่ ๓ วัน เสียรี้พลจำนวนมากจึงถอยทัพกลับ ฝ่ายพระยาจีนจันตุซึ่งให้ทัณฑ์บนแก่พระยาละแวก ว่าจะเอาเมืองเพชรบุรีให้ได้ กลัวความผิดจึงมาสวามิภักดิ์ต่อพระนครศรีอยุธยา ต่อมาจึงแต่งสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศวรทรงพยายามจะตามจับตัวพระยาจีนจันตุ แต่พระยาจีนจันตุสามารถหลบหนีกลับไปกัมพูชาได้สำเร็จ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน กล่าวถึงสงครามครั้งนี้ไว้คล้ายกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๙๒๒ ดังนี้

“…๏ ลุะศักราช ๙๒๒ ปีวอก โทศก พญาลแวกแต่งพญาอุเทศราช แลพญาจีนจันตุยกทับเรือมา
พลประมาณสามหมื่นจะเอาเมืองเพ็ชบุรี พระศรีสุรินทรฤๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชบุรี แลกรมการทั้งหลายแต่งการรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ แลข้าศึกยกเข้าปล้นเมืองถึงสามวัน รี้พลข้าศึกต้องสาตราวุทธเจ็บป่วยตายเปนอันมากจะปล้นเมืองเพ็ชบุรีมิได้ พญาอุเทศราชแลพญาจีนจันตุก็เลีกทับคืนไปเมืองลแวก ขณะนั้นพญาจีนจันตุให้ทานบนแก่พญาลแวกไว้ว่า จะเอาเมืองเพ็ชบุรีให้ได้ ครั้นมิได้เมืองเพ็ชบุรี พญาจีน
จันตุก็กลัวว่าพญาลแวกจลงโทษ พญาจีนจันตุก็ภาครัวอพยบทั้งปวงหนีเข้ามายังพระนครศรีอยุทธยา สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พญาจีนจันตุ ตรัสให้พระราชทานเปนอันมาก ครั้นอยู่มาพญาจีนจันตุก็มิได้สวามิภักดิ์ ลอบตกแต่งสำเภาที่จะหนีจากพระนคร ครั้นถึง ณะ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีรกา ตรีณิศก เพลาค่ำประมาณ ๒ นาลิกา พญาจีนจันตุ ก็ภาครัวลงสำเภาหนีล่องลงไป

๏ ขณะนั้นสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าเสดจ์ลงมาแต่เมืองพระพิศณุโลก เสดจ์อยู่ในวังใหม่ สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า ก็เสดจ์ยกทับเรือตามพญาจีนจันตุลงไปในเพลากลางคืนนั้น แล้วตรัสให้เรือประตู เรือกรร แลเรือท้าวพญาทังหลาย เข้าล้อมสำเภาพญาจีนจันตุ แลได้รบพุ่งกันเปนสามารถ พญาจีนจันตุก็ให้โล้สำเภาไปกลางน้ำรบต้านทานรอลงไป สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้า ก็ตรัสให้เอาเรือประตู เรือกรร เข้าจดท้ายสำเภาพญาจีนจันตุ จะให้พลทหารปีนสำเภาขึ้น แล้วเอาเรือพระธินั่ง หนูนเข้าไปให้ชิดสำเภา แลทรงปืนนกสับยิงถูกจีนผู้ใหญ่ตายสามคน พญาจีนจันตุก็ยิงปืนนกสับมาต้องรางปืนต้นอันทรงนั้นแตก พญาจีนจันตุรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ พลทหารข้าหลวงจะปีนขึ้นสำเภามิได้ พญาจีนจันตุให้เร่งโล้สำเภารูดหนีลงไป สมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าก็เสดจ์ตามรบพุ่งลงไปถึงเมืองธนบุรี พญาจีนจันตุก็ให้เร่งโล้สำเภาออกไปพ้นปากน้ำตกฦก ฝ่ายสมเดจ์พระราชบิดาก็เสดจ์หนูนทับสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าลงไปถึงเมืองพระประแดง ภอสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้ายกกลับขึ้นมาภบเสดจ์ทูลการทั้งปวงให้ทราบ สมเดจ์พระ
ราชบิดากับสมเดจ์พระนเรศวรเปนเจ้าก็เสดจ์ขึ้นมายังพระนคร…” 

สงครามครั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกัมพูชา เช่น พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ และราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา รวมทั้งพระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในกรุงกัมพูชาธิบดี แต่อย่างใด

ภาพจิตรกรรมสมเด็จพระนเรศวรตามจับพญาจีนจันตุ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา

พระยาละแวกตีเมืองเพชรบุรีครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๑๒๔

หลังจากที่ตีเมืองเพชรบุรีใน พ.ศ. ๒๑๒๑ ไม่สำเร็จ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระยาละแวก (สมเด็จพระ
บรมราชาที่ ๔ นักพระสัฏฐา) ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้สามารถตีเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ ดังความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่า

“…ศักราช ๙๔๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๒๔)…อนึ่งในเดือน ๓ นั้น พรญาละแวกยกพลมาเมืองเพ็ชรบุรี ครั้งนั้นเสียเมืองเพ็ชรบุรีแก่พรญาละแวก…”

วัดตรอแลงแกง ศูนย์กลางเมืองละแวก

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า พระยาละแวกยกทัพเรือ มีพล ๗๐๐๐๐ มาตีเมืองเพชรบุรี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชให้เจ้าเมืองยโสธรธานีและเจ้าเมืองเทพธานีไปช่วยพระยาศรีสุรินทรฤๅไชยเจ้าเมืองเพชรบุรีรบศึก ครั้งนั้นเสียเมืองเพชรบุรี เจ้าเมืองทั้ง ๓ เสียชีวิตในที่รบ พระยาละแวกกวาดต้อนครัวกลับไป

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า

“…๏ ลุะศักราช ๙๒๔ ปีจอ จัตวาศก…ครั้นถึงเดือนสาม พญาลแวกก็ยกทับเรือมา พลประมาณเจ็ดหมื่น มาเอาเมืองเพ็ชบูรี ในขณะนั้น สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสให้เมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ออกไปรั้งเมืองเพ็ชบูรี จึ่งพระศรีสุรินทฦๅไชยเจ้าเมืองเพ็ชบูรี แลเมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ก็ช่วยกันตกแต่งการที่จะรบพุ่งป้องกรรเมือง ครั้นพญาลแวกยกมาถึง ก็ให้ยกพลขึ้นล้อมเมืองเพ็ชบูรีอยู่สามวัน แล้วให้ยกพลเข้าปล้นเมืองเพ็ชบูรี ให้พลทหารเอาบันไดพาดปีนกำแพงเมือง แลชาวเมืองเพ็ชบูรีรบพุ่งป้องกรรเปนสามารถ ข้าศึกชาวลแวกต้องสาตราวุทธตายเปนอันมาก จะปีนป่ายปล้นมิได้ก็พ่ายออกไป แต่พญาลแวกยกเข้าปล้นดั่งนั้นถึงสามครั้งก็มิได้เมือง แล้วตำหริะว่าจะปล้นอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามิได้ไซ้จะเลีกทับคืนไป

ขณะนั้นเจ้าเมืองเพ็ชบูรี แลเมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี มิได้สมัคสมานด้วยกัน ต่างคนต่างบังคับบันชา แลอยู่ป้องกรรแต่หน้าที่ซึ่งได้เปนพนักงานรักษานั้น มิได้พร้อมมูนคิดอ่านด้วยกันซึ่งจะแต่งการป้องกรรข้าศึก ครั้นถึงวันแปดค่ำ พญาลแวกยกเข้าปล้นตำบลคลองกระแชงแลประตูบางจาน ชาวเมืองต้านทานเปนสามารถ ข้าศึกเผาหอรบทลายแล้วปีนกำแพงเข้าได้ในที่นั้น ก็เสียเมืองเพ็ชบูรีแก่พญาลแวก แลเสียเจ้าเมืองเพ็ชบูรี เมืองยศโสธรราชธาณี เมืองเทพราชธาณี ตายในที่นั้น พญาลแวกก็กวาดครัวอพยบเลีกทับคืนไปเมือง…” 

สงครามครั้งนี้ปรากฏในพงศาวดารของกัมพูชาเพียงแต่มีการกล่าวถึงปีศักราชคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย โดยระบุว่าเป็นสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๓ ดังความในพงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗ ว่า

“…ลุศักราช ๑๕๐๒ (จ.ศ. ๙๔๒) ศกมะโรงนักษัตร พระชันษาได้ ๒๘ ปี…เมื่อปีมะโรงนั้น พระองค์ให้ยกกองทัพไปตีเขตแดนกรุงไทยชนะได้ครอบครัวบ้าง แล้วเสด็จกลับมา…”

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในกรุงกัมพูชาธิบดี กล่าวว่าใน จ.ศ. ๙๒๔ มีการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกัมพูชา ๓ ครั้ง ดังความที่ผู้เขียนแปลมาต่อไปนี้

“…ลุจุลศักราช ๙๒๔ ปีจอจัตวาศก พระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพมาตีเอาได้เมืองจันทบูร เมืองระยอง เมืองฉะเชิงเทรา เมืองนาเรือง เมืองนครราชสีมา แล้วก็ถอยกองทัพกลับคืนไปพระนคร ส่วนทหารที่อยู่ประจำเมืองทั้ง ๕ ก็ถอยกองทัพกลับคืนมาพระนครด้วย แล้วทรงได้จัดพลทหารเจ็ดหมื่นยกทัพเรือไปตีเมืองเพชรบุรี เมืองจันทบุรี และธนบุรี นั้นฝ่ายกองทัพสยามที่เสียชีวิต เจ้าเมืองเพชรบุรี ๑ เทพบุรี ๑ เจ้าเมืองโสธรราชธานี ๑ ใกล้เทศกาลวสันตฤดูจึงทรงให้กวาดต้อนครัวเมืองเพชรบุรีมาให้อยู่ในเมืองจันทบุรี และจัดพระทศราชา พระสุรินทราชาให้รักษาเมืองเพชรบุรีเสร็จ เสด็จถอยทหารกองทัพคืนมาพระนคร หลังจากนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพมาตีเอาเมืองเพชรบุรี เมืองจันทบุรีคืนได้ พระทศราชา พระสุรินทราชาก็ถอยกองทัพคืนมาพระนคร…”

พระประธานภายในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เพชรบุรี

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงสงครามคราวพญาละแวกตีเมืองเพชรบุรีครั้งที่ ๒ ตามหลักฐานกัมพูชาระบุว่าเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระปรมินทราชา หรือพระบรมราชาที่ ๓ แห่งกรุงละแวกซึ่งเป็นพระบิดาของนักพระสัฏฐา


เชิงอรรถ

๑ คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์สำนักนายกรัฐมนตรี. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๔. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๓), น. ๑๘๘-๑๙๐.

อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ภาษาไทย-เขมร. (กรุงเทพฯ : บริษัท ครีเอท มายด์ จำกัด, ๒๕๕๒), น. ๑๓๒.

 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน เล่ม ๖ (หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๖) เลขที่ ๖ ตู้ ๑๐๘ มัดที่ ๑ ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๗/๔/๒๔๘๒.

อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ภาษาไทย-เขมร. น. ๑๓๔.

 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน เล่ม ๖ (หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๖) เลขที่ ๖ ตู้ ๑๐๘ มัดที่ ๑ ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๗/๔/๒๔๘๒.

 “พงศาวดารเขมร จ.ศ. ๑๒๑๗,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๙), น. ๑๔๖.

 พฺระราชพงฺสาวตารเขฺมร (J.S.R.C.), น. ๙๙.

บรรณานุกรม

คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์สำนักนายกรัฐมนตรี. ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๔. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๑๓.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. “พระราชหัตถเลขาเมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี,” ใน วารสารรวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับพิเศษ. ฉบับที่ ๒๖ พุทธศักราช ๒๕๔๗.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา. จดหมายระยะทางไปมณฑลราชบุรี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร,
๒๕๑๖.

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑๒, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๙.

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน เล่ม ๖ (หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๖) เลขที่ ๖ ตู้ ๑๐๘ มัดที่ ๑ ประวัติ ได้จากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๗/๔/๒๔๘๒.

อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ศานติ ภักดีคำ (บรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ภาษาไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : บริษัท ครีเอท มายด์ จำกัด, ๒๕๕๒.