ตำนาน “Calliope” (คัลไลโอพี) เทพีกรีกจากซีรีส์ “The Sandman”

เทพี Calliope วาดโดย Charles Meynier เมื่อ ค.ศ. 1798

ซีรีส์ “The Sandman” ตอนพิเศษ EP.11 “Dream of a Thousand Cats/Calliope” ที่ช่วงหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ “Calliope” (คัลไลโอพี) เธอเป็นใคร?

Calliope เป็น 1 ใน 9 ปวงเทพีพี่น้องที่เกิดจาก Zeus กับนาง Mnemosyne โดยเทพีทั้ง 9 เป็นผู้บันดาลศิลปวิทยาการด้านต่าง ๆ ทั้งมหากาพย์ ประวัติศาสตร์ เพลง ดนตรี กวีนิพนธ์ โหราศาสตร์ ฯลฯ และเรียกเทพีเหล่านี้ว่า “Muse”

เทพี Calliope วาดโดย Cesare Dandini ในศตวรรษที่ 17

ความน่าสนใจของเทพี Muse คือ เป็นต้นกำเนิดของคำว่า “Museum”

สันนิษฐานว่า รูปปั้นของเทพี Muse จะตั้งเรียงรายที่ห้องโถงยาว (Gallery) ในเทวสถานของเทพปกรณัมกรีก หากศิลปินต้องการความดลบันดาลใจ หรือที่ได้รับความสำเร็จแล้ว ก็จะมาจุดประทีป เผาเครื่องหอม และถวายพวงมาลัย แด่เหล่าเทพี

ลักษณะห้องโถงยาวที่ประดับรูปปั้นเทพี Muse จึงสื่อความหมายถึงสถานที่แห่งการบันดาลศิลปวิทยาการ จนเมื่อถึงยุค Renaissance ที่มีการสะสมโบราณวัตถุที่เป็นศิลปวิทยาการของกรีก-โรมัน และนำมาจัดแสดงตามห้องโถงยาว นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “Museum” หรือ “Mouseion” ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึง “ที่อยู่ของเทพี Muse ซึ่งบันดาลศิลปวิทยาการ”

สำหรับ Calliope เธอเป็นเทพีแห่งบทกวีและมหากาพย์ (Epic Poetryวรรณกรรมที่แสดงวีรกรรมของมหาวีรบุรุษ) มีสัญลักษณ์ คือ แผ่นจาร และเหล็กจาร หรืออุปกรณ์สำหรับจดบันทึก (จาร) จิตรกรรมในสมัยหลังก็มักวาดภาพ Calliope อยู่คู่กับหนังสือ ซึ่งยังคงคติในการสื่อถึงการประพันธ์วรรณกรรม

เทพี Calliope วาดโดย Charles Meynier เมื่อ ค.ศ. 1798

กล่าวกันว่า มหากวี “Homer” ผู้ประพันธ์มหากาพย์ “Iliad” (อีเลียด) ซึ่งแต่งขึ้นราว 800 ปีก่อนคริสตกาล ก็ไม่กล้าอวดว่าตนเป็นผู้แต่ง ได้แต่ขอร้องให้เทพี Muse เสด็จมาช่วยดลบันดาลในการประพันธ์มหากาพย์นี้ ปรากฏในบทประพันธ์ที่มักขึ้นต้นด้วยคำสรรเสริญเทพี Muse ความว่า

“จงเดือดดาลเถิดเทพี เล่าเรื่องร้าย อาฆาตพญาอะฆิลีส ฆาตกรที่มัจจุราชจองไว้ ที่นำชาวกรีกให้เสียหาย จนวิญญาณหาญถูกฟาดลงไปสู่แดนนรกนับไม่ถ้วน วีรชนล้วนที่ตายกลายเป็นเหยื่อ โอชาแห่งสุนัขและนกอีแร้ง ตามพระประสงค์ของ Zeus กำหนดไว้ เริ่มเถิด เทพธิดา (Muse) ครั้นสองท่านเกิดเคืองกัน อากาเมมโนนยอดนราและอะฆิลีสมหาวีระ”

ผู้ที่จะมาดลบันดาลใจมหากวี Homer ก็คงเป็น Calliope เทพีแห่งบทกวีและมหากาพย์นั่นเอง และนี่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ซีรีส์ “The Sandman” หยิบเอามาใช้ใน EP.11 ว่า Calliope นั้นสำคัญอย่างไรต่อ “นักเขียน” ผู้ไร้แรงบันดาลใจในการประพันธ์วรรณกรรม และเมื่อได้ครอบครอง Calliope แล้ว เทพีได้ดลบันดาลความต้องการให้เขาสมปรารถนาอย่างไร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไมเคิล ไรท์. (ตุลาคม, 2547). “พิพิธภัณฑ์” เกี่ยวกับเทพธิดาอย่างไร?. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25 : ฉบับที่ 12, น. 26-27


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2565