“ลัดโพธิ์” คลองลัดแห่งประวัติศาสตร์

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

ลัดโพธ์ คลองลัดที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดขึ้น ตรงบริเวณคอคอดทั้งสองของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมกว้าง 6 เมตร ยาว 1,000 เมตร ปากคลองอยู่ในพื้นที่ตำบลทรงคนอง ส่วนปลายคลองอยู่ในพื้นที่ตำบลบางยอ

สมัยก่อนเมื่อยังไม่มีการขุดคลองลัดตรงนี้ การเดินทางด้วยเรือจะต้องขึ้นไปตามลำน้ำแล้วค่อยอ้อมคุ้งโค้งลงมา ทำให้ต้องเสียเวลาเป็นวัน กล่าวกันว่าแม่ค้าพายเรือขายข้าวเหนียวกว่าจะพ้นโค้งดังกล่าว ข้าวเหนียวก็บูดเสียก่อน ชาวบ้านเลยเรียกบริเวณนี้ว่า “โค้งข้าวเหนียวบูด”

Advertisement
แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยา ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ พิมพ์ในเนเธอร์แลนด์ ปี 2275 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ หมายเลข 1 ที่ตั้งคลองลัดโพธิ์, หมายเลข 2 บริเวณกระเพาะหมู รวมพื้นที่ 5 ตําบล (ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคลธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ลัดโพธิ์ มีประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงระดับชาวบ้าน สมัยอยุธยาตอนปลาย ลัดโพธิ์ถือว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ พระมหากษัตริย์เกือบทุกพระองค์ใช้เส้นทางนี้เสด็จประพาสตรวจหัวเมืองชายทะเล และใช้สกัดทัพข้าศึกด้วย นอกจากนี้พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระยังทรงโปรดการใช้ชีวิตกลางแจ้ง โดยจะเสด็จลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเข้าลัดโพธิ์เพื่อทรงเบ็ด ณ เมืองสมุทรปราการ

สำหรับราษฎร ลัดโพธิ์ถือว่าเป็นเส้นเลือดสำคัญในการสัญจรไป-มา และติดต่อค้าขายระหว่างกัน จะเห็นได้ว่า ในสมัยโบราณนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงกันเงินในท้องพระคลังไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการขุด-ลอก และทะนุบำรุงคลองให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีอยู่เสมอ

ลัดโพธิ์ในพงศาวดาร

พงศาวดารรัตนโกสินทร์ ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บันทึกเกี่ยวกับลัดโพธิ์ไว้ว่า “ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า หากปล่อยลัดโพธิไว้เช่นนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำเค็ม น้ำจะไหลบ่าเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาราษฎร และอีกประการหนึ่งข้าศึกจะใช้เป็นเส้นทางเข้าโจมตีพระนครอย่างง่ายดาย จึงโปรดให้กรมพระราชวังหลังและเจ้าต่างกรมทั้งปวง พร้อมกันเสด็จโดยทางชลมารค ลงไปปิดคลองลัดโพธิ์ ดำรัสให้เกณฑ์กันขึ้นไปรื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมาถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง และน้ำเค็มจะไหลไปทางแม่น้ำใหญ่เป็นทางอ้อมก็มิสู้เค็มถึงพระนคร ราษฎรทั้งหลายได้รับพระราชทานน้ำจืดเป็นสุขทั้งสิ้น”

ลัดโพธิ์ในอดีต

กาลเวลาเกือบสามร้อยปี ทำให้ลัดโพธิ์เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยและเกิดที่นั่นต่าง กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เมื่อราว 50 ปีก่อนขณะที่ลัดโพธิ์ยังใช้การได้ ตอนกลางมีทำนบดินฝีมือชาวบ้าน ตรงช่องทางน้ำไหลเข้า-ออกใช้ไม้กระดานกั้นเอาไว้ ส่วนการป้องกันการต่างระดับของน้ำ จะทำโดยการลดหรือเพิ่มจำนวนแผ่นไม้ เช่นระดับน้ำสูงก็ใช้แผ่นไม้มาก และระดับน้ำน้อยก็เอากระดานออกให้เหลือพอกับระดับน้ำ แผ่นไม้นี้จะกั้นเฉพาะฤดูน้ำเค็มเท่านั้น ฉะนั้นในฤดูนี้เรือทุกชนิดจะผ่านตรงนี้ไม่ได้ เรือจะต้องขึ้นสาลี่ที่มีรางผาดผ่านขึ้นบนสันทำนบลงมาอีกฟากหนึ่ง เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เมืองไทยคงไม่มีสาลี่ให้เห็นอีกแล้ว กรรมวิธีการทดน้ำและการขนส่งเรือทางสาลี่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำกิน-นอนอยู่ที่นี่เลย ชาวบ้านยังจำได้ว่า “ป้าเย็น” เป็นเจ้าหน้าที่คนล่าสุด

ริมคลองมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ ต้นลำพู ต้นโกงกาง ต้นโพธิ์ทะเล ต้นเตยหนาม ต้นจาก ต้นเหงือกปลาหมอขึ้นปกคลุมไปทั่ว ในลำน้ำมีโพงพางกางอยู่ทั่วไป แสดงว่าปลาก็ใช้ลัดโพธิ์เป็นทางเข้า-ออกเหมือนกัน นอกจากนี้ราษฎรยังใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อค้าขาย ปรากฏว่า ในบริเวณใกล้เคียงมีตลาดท้องน้ำถึง 3 แห่ง อาทิ ตลาดท้องน้ำวัดปริวาส ตลาดท้องน้ำวัดจันทร์นอก ตลาดท้องน้ำวัดบางกอบัว ลัดโพธิ์ดูออกจะรับบทบาทหนัก ควรได้รับสมญานาม “ลัดโพธิ์ คลองสุเอซแห่งเมืองพระประแดง”

ตรงทำนบมีศาลเจ้าพ่อปู่ลัดโพธิ์เป็นศาลแรกที่มีความเก่าแก่ ส่วนอีกแห่งหนึ่งจะอยู่ที่ปากคลองฝั่งขวา ชาวบ้านแถบนั้นนับถือและศรัทธามาก มีทุกข์ร้อนประการใดมักไปบอกกล่าว และแก้บน ลิเก ละคร มีมิได้ขาด ศาลทั้งสองแห่งชาวบ้านช่วยกันทะนุบำรุงรักษามิได้ขาด

จุดจบของลัดโพธิ์

ต่อมาเมื่อความเจริญแบบเมืองหลวงได้แพร่ขยายมายังบริเวณแถบนี้ ประกอบกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้มีอำนาจระดับอำเภอ และจังหวัด สั่งการให้ตัดถนนรถ เพชรหึง-บางกอบัว ถนนสายดังกล่าวได้ตัดผ่าทับคลองตรงที่เคยเป็นทำนบมาก่อน ไม่มีสะพานข้ามหรือแม้แต่ท่อระบายน้ำ หน้าน้ำท่วมน้ำจะไหลพุ่งข้ามถนน เสียงทัดทานจากชาวบ้านไม่มีความหมาย

เมื่อผู้คนหันมาใช้ถนนแทนคลอง น้ำที่เคยไหลเข้าออกกลับสงบนิ่ง คลองเริ่มตื้นเขินขาดการเอาใจใส่บำรุงรักษา กอจากเริ่มงอกออกจากตลิ่งและปกคลุมไปทั่วท้องน้ำ ราษฎรต่างเข้ามายึดปลูกบ้านอาศัยถือว่าเป็นที่ว่างเปล่า จากคลองที่เคยกว้างกลับตื้นเขินจนหาร่องรอยไม่ได้ ฤดูน้ำหลากบริเวณโค้งข้าวเหนียวบูดจะจมอยู่ใต้น้ำทุกปี

ลัดโพธิ์กับรัฐบาล

รัฐบาลชุดก่อนๆ เรียกบริเวณนี้ว่า “กระเพาะหมู” และต้องการจะเอาบริเวณนี้เป็นปอดของกรุงเทพฯ หรือกรุงเทพฯ ไม่มีปอดกระมัง ในสมัยนั้นยังจำกันได้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครมีนโยบายจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นสีเขียว มีการประกวดคำขวัญ เชิญชวนตั้งแต่เยาวชนจนถึงคนแก่คนเฒ่า แต่แล้วต้นมะฮอกกานีอายุเกือบร้อยปีริมถนนสาธรก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ นั่นหรือคือการอนุรักษ์หรือทำลายกันแน่

กระเพาะหมูในยุคโลกาภิวัตน์

สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เข้ามาดำเนินงานสร้างความเจริญแบบสายฟ้าแลบในพื้นที่ 5 ตำบล ห้ามปรามมิให้ประชาชนขายที่ ถ้าจะขายต้องขายให้กับสิ่งแวดล้อม ถนนแต่ก่อนเป็นเพียงดินลูกรัง เปลี่ยนมาเป็นถนนคอนกรีตเรียบสนิท ตรอกซอกซอยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด น้ำไฟสว่างไสวไปทั่ว ทางเดินตามริมกระโดงสวนจากแผ่นปูนสี่เหลี่ยม เปลี่ยนมาเป็นสะพานคอนกรีตลอยพักสุดลูกหูลูกตา เวลาเดินต้องคอยหลบมอเตอร์ไซค์ จะมาเดินผิวปาก ลมโชยเช่นแต่ก่อนคงไม่ได้ ชาวบ้าน-ชาวสวน (บางคน) พากันตัดโค่นต้นไม้ ปลูกห้องแถวให้เช่า ถือเป็นอาชีพเสริมน้อมรับนโยบายของรัฐบาลอย่างเหมาะเจาะทีเดียว

เมื่อพิจารณากันเผินๆ จะเห็นว่าความเจริญข้างต้นจะทำให้ชีวิตและการเป็นอยู่ของสังคมดีขึ้น แต่ความจริงแบบนี้อาจจะดีและเหมาะสมกับบางท้องถิ่นเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่นี้ ส่วนใหญ่เป็นคนทำสวนใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ-ดิน-ต้นไม้ ข้าพเจ้ามิใช่นักอนุรักษ์แบบหัวฝา ลองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีกับเดี๋ยวนี้ว่าต่างกันเพียงไร

น้ำที่เคยใสสะอาด สามารถใช้อุปโภค-บิโภคกลับดำสนิท มีน้ำไว้สำหรับดูและสูดกลิ่นเท่านั้น ผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาอาศัยเพียงเพื่อซุกหัวนอนเท่านั้น สลัมกลางสวนเกิดขึ้นมากมาย ภัยสังคมเกิดขึ้นไม่แม้แต่ละวัน ริมถนนที่สวยงามเต็มไปด้วยขยะและสิ่งของเหลือใช้ ส่งกลิ่นควันคละคลุ้งไปทั่ว บรรดารถสิบล้อวิ่งทำเวลาเข้า-ออกทั้งวันทั้งคืนหาความสงบมิได้ ในน้ำไม่ปรากฏแม้แต่เงาของกุ้ง-ปลา นี่คือผลพวงของความเจริญที่ไม่มีขีดจำกัด

การคืนชีพของลัดโพธิ์

คุณยายที่ดูแลศาลเจ้าพ่อปู่ลัดโพธิ์กล่าวว่า “เมื่อไม่มีลัดโพธิ์ ยายก็เลยขายเรือไปเพียงไม่กี่ตังค์”

และแล้วเมื่อ (หลัง) น้ำท่วมใหญ่ปีสามแปด รัฐบาลประกาศนโยบายอย่างแจ่มชัดว่า จะให้กรมชลประทานดำเนินการขุด-ลอกคลองลัดโพธิ์ เพื่อใช้ระบายน้ำเข้า-ออกเหมือนเช่นแต่ก่อน ชาวบ้าน บริเวณโค้งข้าวเหนียวบูดหรือกระเพาะหมูเมื่อทราบข่าว ต่างอนุโมทนาอย่าให้การรอคอยต้องเป็นหมัน ถ้าเป็นเพียง “ข่าวโคมลอย” ลัดโพธิ์คงเป็นเพียงตำนานที่ต้องลบไปจากความทรงจำอย่างแน่นอน

 


ขอบพระคุณผู้เอื้อเฟื้อและให้ข้อมูล

อาจารย์เพ็ญพรรณ พันธุ์แพทย์, อาจารย์ชุมพล ชุมจิตร, อาจารย์สุมล ออมสิน, อาจารย์ไพฑูรย์ เทศเนตร์, คุณยายองุ่น แดงแพร, คุณจำรัส ศิริบุญ, คุณสมชาย ศรีปาน และคุณวิสาข์ ถนอมทรัพย์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2565