กรณีพิพาทของพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน  

วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน ตําบลบ้านโฮ่ง อําเภอบ้านโฮ่ง

พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน [1] คือพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้สะเดาหวาน เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรประทับบนฐานไม้สี่เหลี่ยม มีห่วงเหล็กสองห่วงซ้ายขวาสำหรับยกองค์พระ พระเจ้าไม้องค์นี้มีพุทธลักษณะงดงาม ได้สัดส่วน พระพักตร์อิ่มบุญ พระโอษฐ์ยิ้มน้อยๆ

พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานในปัจจุบันเท่าที่ได้พบมีอยู่ 3 องค์ องค์ที่ 1 ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ทางด้านใต้ของพระสถูปในพระวิหารหลวง สภาพเก่าแก่กว่าสององค์ที่จะกล่าวถึง ลงรักปิดทอง สูง 2.40 เมตร ที่ฐานด้านหน้ามีคำจารึกด้วยอักษรล้านนา (ตัวเมือง) ดังนี้

“พุทธศักราชได้ 2472 ปีกัดไส้ เดือนยี่เพง เมงวัน 5 [2] ไทยเมืองเหม้า ปถมมูลสัทธา ผู้ข้าทังหลายทังพายในแลพายนอก วันตกวันออกขอกใต้แลหนเหนือ พายในมีธุเจ้าภม (ข้อความลบเลือน)[3] ตำบลบ้านโห้ง [4] ชู่ตน หนพาย นอกหมายมีท่านขุนโห้ง [5] หั้นแล นายบุญปัน [6] กิ่งอำเภอบ้านโห้ง แล (ข้อความลบเลือน) แก่นายทังหลาย ค็ได้ปฏิสังขรณ์ยังสารูปเจ้าปรมสะเลียมหวานในวันเดือนยี่เพง เปนอันแล้ว นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ”

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารจัตุรมุขวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน สูง 2.40 เมตร ลงรักปิดทองทั้งองค์ ที่ฐานด้านหลังมีคำจารึกด้วยอักษรล้านนาว่า “คณะสัทธาบ้านให้ง สล้างถวายเมื่อวัน 6 ขึ้น 12 ฅ่ำ เดือน 8 พุทธศักราช 2500 หนานยง บุญสุทธิ์ ขวัก” [7]

องค์ที่ 3 ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาปฏิบัติธรรมวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน สูง 150 เซนติเมตร ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีอักษรล้านนาจารึกบนแผ่นไม้ลักษณะคล้ายไม้ป้ายชื่อคัมภีร์ ตอกตะปูติดกับฐานด้านหน้า มีความว่า “สัทธาชาวบ้านโห้งหลวงสร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวานพุทธศักราช 2500” [8]

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานทั้ง 3 องค์นี้ องค์แรกกับองค์ที่สองเป็นที่รู้จักของคณะศรัทธาทั่วไป [9]

พระเจ้าของชาวบ้านโฮ่ง

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ประดิษฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทองนั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด นอกจากคำจารึกที่ปรากฏตามที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น ชาวอำเภอบ้านโฮ่งอ้างว่า พระพุทธรูปไม้องค์นี้เป็นสมบัติของวัดพระแท่นสะเลียมหวาน (ชื่อเดิมของวัดพระเจ้าสะเลียมหวาน) ในสมัยหนึ่งวัดนี้ได้ร้างไป ชาวบ้านจึงได้นำเอาวัตถุโบราณของมีค่าต่างๆ ของวัดไปฝากไว้ที่วัดแห่งอื่น เช่น พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว สูง 36 นิ้ว ฝากไว้ที่วัดสันเจดีย์ ตำบลบ้านโฮ่ง และอีกองค์หนึ่งซึ่งมีขนาดเดียวกัน นำไปฝากไว้ที่วัดบ้านล้อง ส่วนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง

พระครูสังวรญาณ (นั่งบนเก้าอี้) กับพระครูอดุลธรรมคณี

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานไปอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองได้อย่างไร และด้วยมูลเหตุใดไม่ปรากฏหลักฐาน ท่านพระครูสังวรญาณ [10] ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“ครั้งเมื่ออาตมายังเป็นสามเณรอยู่นั้นประมาณปี พ.ศ. 2465 ได้ไปไหว้พระธาตุจอมทอง พ่อขุนศรีซึ่งเป็นมิตรกับพ่อขุนโห้งและเป็นแคว่น (กำนัน) จอมทอง ได้บอกกับอาตมาว่า ลูกเณรเหย ที่วัดนี้มีพระเจ้าของชาวบ้านโฮ่งอยู่องค์หนึ่ง ใหญ่ขึ้นมาก็นำกลับไปบ้านลูกเณรเสีย ตอนนั้นอาตมายังเป็นเด็ก รู้แต่ว่าเป็นพระของชาวบ้านโฮ่ง พอไหว้พระธาตุเสร็จแล้วก็มาไหว้พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ข้าวของต่างๆ ที่มีผู้นำมาถวายพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน อาจารย์วัดก็จะบอกว่า เอาไปให้ชาวบ้านโฮ่ง เพราะว่าเป็นพระของชาวบ้านโฮ่ง”

ปฏิสังขรณ์

พระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองนั้นมีความสำคัญต่อชาวบ้านโฮ่งอย่างมาก เมื่อมีงานประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ คณะศรัทธาชาวบ้านโฮ่งจะจัดดอกไม้ ธูปเทียน ตลอดจนสำรับกับข้าวอย่างดีเพื่อนำมาถวายพระพุทธรูปไม้องค์นี้โดยเฉพาะ จนถือเป็นประเพณีที่ต้องกระทำทุกปี ด้วยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า พระพุทธรูปไม้องค์นี้เป็นของชาวบ้านโฮ่ง

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2472 พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ชำรุดและผุพังเกือบทั้งองค์ ท่านพระครูสังวรญาณเล่าว่า [11]

“ก่อนปีที่จะเอามาซ่อมนั้น พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ถูกปลวกกินเกือบทั้งองค์ นอกนั้นก็ผุเกือบหมดองค์ คงเหลือแต่แก่นเท่านั้นที่ทำให้พระยืนองค์อยู่ได้ ชาวบ้านจอมทองได้นำไปกองรวมกับเครื่องประดับพระธาตุอื่นๆ จะเคลื่อนย้ายออกไป ชาวบ้านก็กลัวจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ คณะศรัทธาจึงบอกให้พ่อขุนศรีไปบอกให้พ่อขุนโห้งว่า พระเจ้านี้เป็นของชาวบ้านโฮ่ง ให้ชาวบ้านโฮ่งเอาไปซ่อม”

ก่อนเดือนเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2472 ชาวอำเภอบ้านโฮ่งโดยการนำของท่านครูบามหาวงค์ ขุนโห้ง หาญผจญ และคนอื่นๆ ได้อัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ชำรุดกลับมาซ่อมที่วัดบ้านโฮ่งหลวง ท่านพระครูสังวรญาณเล่าต่อไปว่า

“พระเจ้าไม้สะเลียมหวานชำรุดมาก ครูบามหาวงค์นำมาตั้งไว้ที่ศาลาบาตร ให้ครูบานวล (ธรรมเสนา) เป็นสล่าเค้า (หัวหน้าช่าง) มีอาตมาและเณรรูปอื่นๆ เป็นลูกมือ ครูบานวลใช้มีดถากและขูดในส่วนที่ผุออกหมด มันผุเหมือนจับเถ้าฟาง ได้ชิ้นส่วนที่ขูดออก 3 บาตรพูน ตอนนั้นเป็นฤดูเข้าพรรษาแล้ว อาตมาและศรัทธาอีกหลายคนไปเอายางรักที่บ้านแม่อาว อยู่เขตติดต่ออำเภอบ้านโฮ่งกับอำเภอป่าซางเพื่อมาผสมกับสมุก อาตมาเป็นคนผสม มีชาวบ้านมาดูทุกวัน ทั้งชาวบ้านและเณรถูกรักขบ (แพ้ยางรัก) 10 กว่าคน มีอาตมา ครูบานวลและสามเณรบางรูปที่รักไม่ขบ พอคลุกรักเสร็จก็นำมาโปะที่องค์พระ ส่วนครูบานวลก็ซ่อมในส่วนสำคัญๆ ที่ต้องแต่งให้งาม ปีนั้นฝนมาก ยิ่งเป็นกลางพรรษาฝนตกทุกวัน ส่วนที่ซ่อมก็ไม่แห้งสักที ถ้าแดดดี 9 วัน 10 วันก็ปิดทองได้ ขุนโห้งกับคนอื่นๆ ก็รับบริจาคเงินเพื่อซื้อทองคำเปลว ได้เงินมากอยู่”

รีบอัญเชิญกลับ

ยังไม่ถึงวันออกพรรษา ศรัทธาชาวจอมทองก็ส่งคนมาตามเอาพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับคืนวัดพระธาตุศรีจอมทอง ท่านพระครูสังวรญาณเล่าว่า

“ฝนก็ตกหนัก รักกับหาง (ชาด) ยังไม่แห้ง ทองก็ปิดได้บางส่วน ศรัทธาชาวจอมทองบอกให้เอาพระกลับคืนด่วน ถ้าไม่นำกลับภายในวันสองวันชาวจอมทองจะตายหมด เพราะห่ากำลังลง เจ้านาย (คนทรง) ทางจอมทองบอกว่าที่เกิดการล้มตายกันนี้ ก็เพราะพระเจ้าไม้สะเลียมหวานไม่อยู่วัด ทางศรัทธาชาวบ้านโฮ่งก็ว่า ยังเป็นยามกลางพรรษาอยู่ จะอัญเชิญไปไหนไม่ได้ รอให้ออกพรรษาก่อนจะรีบนำกลับคืน ชาวจอมทองไม่ค่อยพอใจ เกรงว่าชาวบ้านจะตายเพิ่มขึ้น เพราะผีไม่พอใจ แต่ก็ไม่กล้าขัดรีตเก่ารอยเดิมที่ว่าในระหว่างพรรษาพระต้องจำพรรษาอยู่ที่เดิม ครั้นเมื่อพ้นวันออกพรรษาได้ไม่กี่วันฝนยังตกน้ำนอง ครูบามหาวงค์ ขุนโห้งและคนอื่นๆ ก็ขออาสาชาวบ้านให้ช่วยกันหามพระเจ้าไม้สะเลียมหวานส่งคืนวัดพระธาตุศรีจอมทอง ชาวบ้านก็กลัวกันไม่มีใครคนใดอยากไปจอมทอง”

พ่อหนานยง บุญสุทธิ์

เกี่ยวกับเรื่องการรีบอัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับจอมทองนั้น พ่อหนานยง บุญสุทธิ์ เล่าว่า

“ยามน้ำนองไปไหนก็ลำบาก จะหามพระเจ้าไปทางบ้านหนองปลาสวายซึ่งเป็นทางตรงก็ไปไม่ได้ ขึ้นดอยลอยห้วยมันยาก จึงต้องหามแปดไต่ตามรางรถไฟบริษัททำไม้ฝรั่งขึ้นไปทางเหนือ แล้วค่อยเอาใส่เรือล่องน้ำปิงขึ้นฝั่งจอมทอง ตอนเอาข้ามน้ำปิงนั้นต้องผูกเรือสองลำขนานกัน เอาพระเจ้าใส่กลางให้คนว่ายน้ำพยุงไป พอลงน้ำได้เรือก็จม พระลอยน้ำ ดีที่ชาวจอมทองเก่งน้ำ เลยช่วยกันพยุงเข้าฝั่งได้ พอพระเจ้าถึงวัดพระธาตุก็ชำรุดหลายแห่ง ทองที่ปิดไว้ก็หลุดต้องไปปิดทองใหม่อีกครั้ง ส่วนเงินที่ขุนโห้งรับบริจาคก็ถวายพระธาตุทั้งหมด เมื่อพระเจ้าไม้สะเลียมหวานคืนกลับวัดเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าชาวจอมทองยังตายอีกหลายคน” [12]

การซ่อมแซมพระเจ้าไม้สะเลียมหวานในครั้งนี้ เรียบร้อยสมบูรณ์ตามคำที่จารึกไว้ที่ฐานพระดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นคือ เมื่อเดือนยี่เพง (วันเพ็ญเดือน 12) ปี 2472 โดยครูบามหาวงค์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีขุนโห้ง หาญผจญ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

การเรียกร้องความเป็นกรรมสิทธิ์ในพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน

ความกินแหนงแคลงใจกันระหว่างคณะศรัทธาสองฝ่าย คือ จอมทองกับบ้านโฮ่งนั้น เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ในองค์พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ความกินแหนงแคลงใจกันนี้ มิได้ลุกลามจนทำให้เกิดการถกเถียง หรือใช้กำลังเข้าแย่งชิง แต่กลับเกิดขึ้นในลักษณะการเจรจาต่อรองกัน ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะความเกรงใจในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน อีกทั้งเรื่องเช่นนี้ เป็นเรื่องของศีลของธรรม ซึ่งถ้าฝ่ายใดแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร ต้องไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากบุคคลที่ทราบเรื่อง การเจรจาขอพระเจ้าไม้องค์นี้เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่วัดพระเจ้าสะเลียมหวานจึงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว และเกิดขึ้นในลักษณะคนใหญ่พูดจากัน

การเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในครั้งแรก ท่านพระครูสังวรญาณเล่าว่า น่าจะเกิดขึ้นก่อนการปฏิสังขรณ์โดยการนำของครูบามหาวงค์กับขุนโห้ง หาญผจญ ด้วยซ้ำ เล่ากันว่าขุนโห้งและคณะศรัทธากลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ เพื่อขอเข้าพบเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้น [13] เพื่อให้ท่านอนุญาตให้พระเจ้าไม้สะเลียมหวานคืนสู่วัดเดิม คำขอเป็นอย่างไรไม่ปรากฏ แต่ผลก็คือเจ้าหลวงได้พิจารณาให้เป็นการตัดสินใจของคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทองเอง

การเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อครั้งการนำพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับมาซ่อมแซม (พ.ศ. 2472)  ความอิกขลิกใจ คงเกิดขึ้นในครั้งนี้ พระครูสังวรญาณเล่าว่า

“ชาวจอมทองว่าเป็นพระของชาวบ้านโฮ่ง ให้ชาวบ้านโฮ่งเอาไปซ่อม พอเอามาซ่อมไม่แล้วดีก็บอกให้เอาพิก (กลับ) คืน บอกให้คืนกลางพรรษาเลย ขอร้องอย่างไรก็ไม่ยอม จะเอาพิกเดี่ยวนั้น ครูบาอาจารย์หลายท่านก็ไม่อยากทำตาม บางท่านว่าเป็นพระเจ้าของเราแท้ๆ แต่ถ้าไม่นำไปคืนก็จะเสียสัจจะ เพราะเป็นเรื่องของคนใหญ่พูดกัน” [14]

การกลับคืนสู่ถิ่นเดิมครั้งนี้ ถือเป็นการกลับมาครั้งแรกหลังจากไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทองอยู่นาน

การเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในครั้งต่อมาเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 เมื่อคณะกรรมการระดับอำเภอ ร่วมกับคณะสงฆ์และศรัทธาชาวบ้านโฮ่งดำริจะสร้างวัดพระเจ้าสะเลียมหวานขึ้นตรงมูลดินของวัดพระแท่นสะเลียมหวานเดิมที่ยังมีซากโบราณสถานอยู่ เพื่อร่วมฉลอง 25 พุทธศตวรรษหรือกึ่งพุทธกาล ทางคณะศรัทธาจึงได้ติดต่อไปยังวัดที่ได้นำวัตถุมงคลของวัดเดิมไปฝากไว้เช่นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ฝากไว้ที่วัดบ้านสันเจดีย์และบ้านล้อง พระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่ประดิษฐานที่วัดพระธาตุศรีจอมทองกลับคืนมาสู่วัดเดิม เพื่อนำมาเป็นประธานในการดำเนินการสร้าง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ทางคณะศรัทธาได้นำกลับมาประดิษฐานรอไว้ก่อน ส่วนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานนั้น ท่านพระครูสังวรญาณพร้อมคณะศรัทธาได้เดินทางไปเจรจาขอจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง ผลก็คือ คณะศรัทธาฝ่ายจอมทองอนุญาตให้ยืมมาเป็นประจักษ์พยานการสร้างวัดเพียงหนึ่งพรรษาเท่านั้น และเมื่อแล้วเสร็จก็ให้นำกลับคืนวัดพระธาตุตามเดิม ด้วยเกรงว่าถ้าอยู่บ้านโฮ่งนานไป จะทำให้เกิดการตายกันอีกเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในคราวนำพระเจ้าไม้สะเลียมหวานมาซ่อมครั้งนั้น

การอัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานจากวัดพระธาตุศรีจอมทองมาบ้านโฮ่งในครั้งนั้น พระครูอดุลธรรมคณี ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน ดังนี้

“กระทำเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2499 เมื่อท่านพระครูสังวรญาณได้รับอนุญาตให้อัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานมาบ้านโฮ่งได้นั้น จึงดำเนินการให้คณะกรรมการจัดขบวนแห่โดยศรัทธาประชาชนจากตำบลศรีเตี้ยไปรับและแห่มา วันแรกถึงวัดศรีเตี้ย พักค้างคืนที่วัดศรีเตี้ย 1 คืน เพื่อให้ศรัทธาได้ทำบุญสรงน้ำ นมัสการ ฟังพระธรรมเทศนา เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นหลังจากนั้นเวลา 12.00 น. ออกเดินทางจากวัดศรีเตี้ยโดยมีคณะศรัทธาตำบลเหล่ายาวไปรับ และคณะศรัทธาประชาชนหมู่บ้านต่างๆ ได้ร่วมขบวนแห่พระเจ้าไม้สะเลียมหวานเป็นที่ครึกครื้น มีขบวนฆ้อง กลอง จำนวนหลายชุดและพักตามวัดต่างๆ เพื่อให้ศรัทธาประชาชนทำบุญทรงนำตลอดทาง ในวันที่ 2 ของการเดินทางแวะค้างคืนที่วัดหล่ายแก้ว มีพิธีอบรมสมโภชเช่นเดียวกับวัดศรีเตี้ย และวันสุดท้ายคณะศรัทธาตำบลบ้านโฮ่งได้ไปรับขบวนแห่จากวัดหล่ายแก้ว เมื่อมาถึงวัดพระแท่นสะเลียมหวานจึงได้จัดงานสมโภชเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน” [15]

พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน (องค์ใหม่) ที่วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน จังหวัดลำพูน โดยมีพุทธลักษณะและมีขนาดเท่ากับองค์เดิมทุกประการ

ครั้นเมื่อดำเนินการสร้างวัดได้สำเร็จลุล่วง มีการฉลองสมโภชแล้ว จึงได้อัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานกลับสู่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ทางคณะศรัทธาวัดพระเจ้าสะเลียมหวานจึงได้สร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์เล็กขึ้น เพื่อประดิษฐานไว้แทนองค์เดิมที่อัญเชิญกลับ แต่เนื่องจากพระพุทธรูปที่แกะใหม่นี้องค์เล็กกว่าองค์เดิมมาก ทางคณะศรัทธาจึงได้ให้ พ่อหนานยง บุญสุทธิ์ ซึ่งเป็นสล่าหลวง (ช่างใหญ่) แกะพระเจ้าไม้สะเลียมหวานขึ้นอีกองค์หนึ่ง โดยให้มีพุทธลักษณะและมีขนาดเท่ากับองค์เดิมทุกประการ [16] และช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ได้มีการแต่งตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน เพื่อสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้พระเจ้าไม้องค์นี้

การเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่เกิดขึ้นครั้งหลังสุด เกิดขึ้นปี พ.ศ. 2505 ท่านพระครูสังวรญาณได้พยายามทวงคืนพระเจ้าไม้สะเลียมหวานอีกครั้ง ในครั้งนี้มีคณะกรรมการระดับอำเภอเข้าร่วมด้วย กล่าวคือศึกษาธิการอำเภอบ้านโฮ่งได้ร่วมกันทำหนังสือขอไปยังเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขออัญเชิญพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์เดิมกลับมาประดิษฐานคู่กับองค์ใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 ในหนังสือขอคืนนั้นมี ความตอนหนึ่งว่า “…ขอเมตตานำกลับคืนวัดเดิม เพราะวัดพระธาตุจอมทองก็มีพระธาตุเด่นเป็นศรีสง่าอยู่แล้ว…” [17] ทางเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ได้โอนการตัดสินใจในครั้งนี้ให้เป็นของคณะศรัทธาวัดพระธาตุศรีจอมทอง ผลก็คือ เจ้าอาวาสและคณะศรัทธาไม่ยินยอม

การเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ไม่เป็นผลหลายต่อหลายครั้งนั้นทำให้คณะศรัทธาชาวบ้านโฮ่งท้อใจ โดยเฉพาะท่านพระครูสังวรญาณกล่าวว่า “อาตมาก็ท้อใจ และรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถทำตามคำของพ่อขุนศรีที่ให้นำพระเจ้าของชาวบ้านโฮ่งคืนวัดเดิมได้”

เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านโฮ่งก็ไม่อยากฟื้นเรื่องราวในอดีตอีก พระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่ก็เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านโฮ่ง และต่างก็เชื่อว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับองค์เดิมทุกประการ เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าสะเลียมหวานรูปปัจจุบันกล่าวยืนยันว่า “องค์ใหม่ก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน เพราะตลอดเวลา 38 ปีมานี้ เมื่ออัญเชิญออกสรงน้ำ ฝนก็ตกทุกครั้ง” [18]

ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ก็ไม่มีการเรียกร้องกรรมสิทธิ์อีก เรื่องราวอันเกี่ยวกับพระเจ้าไม้สะเลียมหวานจึงกลายเป็นเรื่องเล่าขานไป เมื่อคนรุ่นใหม่ได้ไหว้ได้สาพระเจ้าไม้องค์ใหม่ ก็เข้าใจกันว่า เป็นพระเจ้าไม้องค์เดิมที่มีประวัติการสร้างนานมาแล้วๆ ที่เข้าใจกันเช่นนี้ อาจเพราะตำนานที่เรียบเรียงขึ้น ได้สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่ได้อย่างสำเร็จลุล่วง และเหมือนจะประกาศว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่แท้จริง

ตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน

การสร้างตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานของฝ่ายบ้านโฮ่งเมื่อปี พ.ศ. 2500 นั้น ก็เพื่อยืนยันความเป็นกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง เพื่อสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์และเพื่อเพิ่มความสง่างามให้แก่พระเจ้าไม้สะเลียมหวาน อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดงหลักฐานว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งผู้คนเคารพนับถือนั้น มิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ

ตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานฝ่ายบ้านโฮ่ง เป็นตำนานลายลักษณ์ที่เขียนขึ้นจากตำนานมุขปาฐะ โดยท่านพระมหาศิลป์ สิกขาสโภ ได้เรียบเรียงขึ้นตามคำบอกเล่าของท่านพระครูสังวรญาณ เมื่อวันที่ 3 เดือนมกราคม พ.ศ. 2500 และได้จัดตีพิมพ์เป็นฉบับสมบูรณ์ในตอนหลัง ตำนานนั้นมีดังต่อไปนี้

“ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาในดินแดนแถบนี้โดยมีพระอานนท์ตามเสด็จมาถึงตำบลหนึ่งซึ่งมีต้นสะเดาขึ้นอยู่หนาแน่น ห่างไกลจากย่านชุมชน พระพุทธองค์ทรงบิณฑบาตในละแวกนั้น ได้ภัตตาหารพอสมควรแล้ว ก็ทรงแวะพักเสวยภัตตาหารภายใต้ต้นสะเดาใหญ่ต้นหนึ่ง เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วพระองค์ก็ทรงเข้าสมาธิสุขสมบัติจนกระทั่งเวลาบ่ายคล้อยเกิดความอัศจรรย์ กล่าวคือ เงาต้นไม้สะเดายังคงอยู่กับที่เพื่อถวายให้ร่มเงาแด่พระพุทธองค์

พระอานนท์เกิดความสงสัยจึงทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์มีพุทธดำรัสว่า ต่อไปเบื้องหน้าจะมีบุคคลผู้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา นำไม้สะเดาต้นนี้ไปแกะสลักเป็นพุทธรูปไว้บูชา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จออกจากโคนต้นสะเดาไปแล้ว สะเดาต้นนั้นซึ่งเคยมีรสขมกลับมีรสหวาน ในกาลต่อมาก็มีบุคคลผู้ไม่ปรากฏนามผู้หนึ่งพบว่า สะเดาต้นนี้มีรสหวานผิดแปลกจากต้นสะเดาทั่วๆ ไป ประกอบกับได้ยินคำเล่าขานเกี่ยวกับเรื่องที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับอยู่โคนต้นสะเดาต้นนี้ บุคคลผู้นั้นจึงได้ล้มต้นสะเดาและให้ช่างแกะสลักเป็นพระพุทธรูปยืนลงรักปิดทองแล้วให้ประดิษฐานไว้สักการบูชาประจำไว้ที่หมู่บ้าน

ตั้งแต่นั้นมาดินแดนบ้านโฮ่งก็อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาลซึ่งก็เพราะด้วยบารมีแห่งพระเจ้าไม้สะเลียมหวานนี่เอง ชาวเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมาหลายชั่วอายุคน จนเวลาล่วงผ่านไปนานถึง 700 ปี ได้มีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สันนิษฐานว่า เพราะประชาชนเชื่อกันว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานมีอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ประชาชน ชาวจอมทองจึงอัญเชิญไปเพื่อประสิทธิผลดังกล่าว” [20]

ตำนานฉบับนี้ ถือเป็นต้นแบบของตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป ผู้เล่าตำนาน (พระครูสังวรญาณ) กล่าวว่า “เรื่องตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานนี้ มีเล่ากันมานานแล้ว แต่ที่เป็นคัมภีร์ใบลานนั้นไม่ปรากฏว่ามีอยู่หรือไม่” [21]

จากตำนานฝ่ายบ้านโฮ่งนี้ มีข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่งคือ ในเรื่องมิได้กล่าวถึงการสร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์ใหม่แม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างขึ้นร่วมเหตุการณ์การเกิดกรณีพิพาท

ตำนานฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความสง่างามแก่พระเจ้าไม้สะเลียมหวานซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าสะเลียมหวาน เพื่อให้เกิดความศรัทธา และความมั่นใจแก่ประชาชนในพระเจ้าไม้องค์นี้ หรืออาจเพื่อให้เข้าใจกันว่าพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์เดิมได้คืนสู่วัดเดิมแล้ว

ในส่วนตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานฝ่ายจอมทองที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์นั้น ได้เขียนบนแผ่นป้ายวางไว้ใกล้กับที่ประดิษฐานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานมีใจความว่า

“ตามตำนานกล่าวว่า สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ได้มาโปรดพวกละว้าในถิ่นนั้น พวกละว้าได้จัดอาสนะให้ประทับนั่งภายใต้ต้นสะเลียม จึงมีพุทธทำนายว่าต่อไปคนจะตัดต้นสะเดาไปแกะเป็นพระพุทธเจ้ามีนามว่าพระเจ้าสะเลียมหวาน พระพุทธรูปองค์นี้มีปาฏิหาริย์ คือเวลามีงานสรงน้ำจะมีฝนตกทุกครั้งแม้จะย้ายประเพณีไปจัดในเดือนเมษายน ฝนก็ตกตลอดงาน ประชาชนจึงตั้งนามพระองค์นี้อีกนามว่า พระเจ้าฝนแสนห่า”

ตำนานนี้ย่อจากตำนานที่ท่านพระครูสังวรญาณเล่าให้พระมหาศิลป์สิกขาสโภฟัง และพระมหาศิลป์ได้ส่งไปพิมพ์เผยแพร์ในวารสารของการพระศาสนาภาค 5 ปีที่ 6 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2500 และต่อมาพระครูอดุลธรรมคณีได้จัดพิมพ์เป็นเล่มร่วมกับเรื่องอื่นๆ ในภายหลัง

พ่อหนานหมื่น วงศ์แปง

นอกจากตำนานฉบับนี้แล้วผู้เขียนได้สอบถามจาก พ่อหนานหมื่น วงศ์แปง และพ่อน้อยอินตา ไชยวงศ์ ผู้ดูแลวิหารวัดพระธาตุศรีจอมทองทั้งสองท่านได้เล่าตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานให้ผู้เขียนฟังว่า

“แต่เดิมนั้น ชาวอำเภอบ้านโฮ่งเกิดความเดือดร้อน เพราะเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลายปี ขุนโห้งพร้อมกับชาวบ้านโฮ่ง จึงเดินทางมาขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่วัดศรีจอมทองไปอำเภอบ้านโฮ่ง เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ครั้นเมื่อขบวนแห่ข้ามน้ำแม่ปิงไปสู่อำเภอบ้านโฮ่ง ตรงวังสะแกง ฝนก็ตกตลอดเส้นทาง เมื่อไปถึงที่แห่งหนึ่งใกล้กับวัดพระเจ้าสะเลียมหวานในปัจจุบัน ขุนโห้งได้นำพระธาตุพักยังร่มอยู่ใต้ต้นสะเลียมใหญ่ ก็เกิดอัศจรรย์คือเงาตะวันไม่เคลื่อนไปตามตะวันยามบ่าย

ขุนโห้งจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อนำพระบรมสารีริกธาตุกลับวัดพระธาตุศรีจอมทองแล้วจะโค่นต้นสะเลียมต้นนี้สลักขวักเป็นพระพุทธรูป เพื่อถวายวัดให้อยู่คู่พระธาตุ ด้วยความอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นเพราะพระธาตุ เมื่อนำพระธาตุออกจากร่มต้นสะเลียมแล้ว เงาตะวันก็บ่ายไปตามทิศที่ควรจะเป็น ขุนโห้งจึงถวายที่ดินให้กับวัดพระธาตุศรีจอมทองให้เป็นนาพระธาตุมีความกว้างเท่ากับเงาสะเลียมต้นนั้นทาบไปถึง ที่ดินแปลงนี้อยู่หน้าวัดพระเจ้าสะเลียมหวานในปัจจุบัน มีเนื้อที่กว้างประมาณ 12 ไร่ ชาวบ้านโฮ่งเคยมาขอพระเจ้าไม้สะเลียมหวานคืนหลายครั้ง ทางจอมทองไม่ยอม เพราะพระเจ้าองค์นี้ ขุนโห้งได้ถวายให้อยู่เป็นคู่พระธาตุแล้ว” [22]

จากตำนานที่ฝ่ายจอมทองได้กล่าวมานี้มีข้อน่าสังเกต คือ เค้าเรื่องน่าจะได้มาจากตำนานของฝ่ายบ้านโฮ่งผนวกกับเร่ื่องการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบ้านโฮ่ง กับการมีที่นาพระธาตุอยู่ที่บ้านโฮ่งมากล่าวอ้างยืนยัน เพื่อให้เป็นหลักฐานสำคัญและให้สอดคล้องกับเรื่องการสร้างพระเจ้าไม้สะเลียมหวานเพื่อถวายพระธาตุ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านพระครูสังวรญาณ ได้กล่าวว่า

“เรื่องการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากจอมทองมาบ้านโฮ่ง เล่ากันว่าเคยอัญเชิญมาสองครั้ง ประมาณก่อนปี พ.ศ. 2472 ครั้งหนึ่ง และหลังปีนั้น 2472 อีกครั้งหนึ่ง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นปีไหน ที่อัญเชิญมานั้นเพราะบ้านโฮ่งแล้งฝนมานาน เมื่ออัญเชิญมาฝนก็ตกจริงๆ ขุนโห้งและคณะศรัทธาจึงได้ดำริเพื่อตอบแทนคุณพระธาตุโดยรับบริจาคเงินซื้อที่นาจำนวน 12 ไร่ ถวายพระธาตุในราคา 500 บาท แต่เรื่องการถวายพระเจ้าไม้สะเลียมหวานคู่พระธาตุนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นพระเจ้าคู่บ้านนามเมือง” [23]

จากตำนานที่ได้กล่าวไปนี้ฝ่ายจอมทองพยายามแสดงให้ทราบว่า พระเจ้าไม้องค์นี้เป็นของคู่พระธาตุ และหลายคนยังเข้าใจว่า ขุนโห้งได้ถวายแก่วัดพระธาตุแล้ว ดังนั้นการที่ชาวบ้านโฮ่งจะนำพระเจ้าไม้องค์นี้กลับคืนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ว่าขุนโห้งสร้างถวายวัดนั้น คงเกิดจากคำจารึกที่ฐานพระ แต่ข้อความในจารึกนั้น มิได้กล่าวว่า ถวายวัดพระธาตุ มีแต่คำว่าได้ “ปฏิสังขรณ์” เท่านั้น หรือขุนโห้ง อาจจะถวายจริง เพื่อเป็นการแทนคุณพระธาตุที่บันดาลให้ฝนตก และการถวายนั้นก็น่าจะเกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2472 นั้นแล้ว เพราะการมีที่นาพระธาตุอยู่ที่หน้าวัดพระเจ้าสะเลียมหวานก็เป็นประจักษ์สัญญาประการหนึ่งว่าเหตุใดต้องเป็นที่นาตรงนี้แทนที่จะเป็นที่แห่งอื่น

อย่างไรก็ตามเมื่อชาวบ้านโฮ่งไม่สามารถทวงพระเจ้าไม้สะเลียมหวานองค์เดิมคืนได้จึงได้สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าไม้องค์นี้ขึ้นมาใหม่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตำนานขึ้นมารองรับ การจัดงานประเพณีสรงน้ำที่ยิ่งใหญ่ในทุกปีคือวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ จัดขึ้นก่อนการสรงน้ำพระธาตุจอมทองซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ การสร้างศาลาสำหรับสรงน้ำพระโดยเฉพาะ หรือการจัดพิมพ์หนังสือตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานรวมถึงประวัติการสร้างวัด และที่สำคัญคำขวัญของอำเภอบ้านโฮ่ง ก็มีคำว่า กราบไหว้พระเจ้าสะเลียมหวาน รวมอยู่ด้วย [24]

สรุป

ข้อพิพาทของพระเจ้าไม้สะเลียมหวานนี้ เกิดจากการอ้างกรรมสิทธิ์ในพระพุทธรูปไม้องค์นี้ระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่กล่าวว่าเป็นสมบัติของชุมชนของตน ฝ่ายนี้พยายามทวงคืนด้วยความระมัดระวังยิ่ง เพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชา มิใช่เป็นเครื่องประดับ ความพยายามในการทวงคืนนั้นก็เพราะความเชื่อมั่นว่าเป็นสมบัติของชุมชนตน โดยมีชื่อวัดเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้ว

อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มชาวบ้านที่ครอบครองพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ ฝ่ายนี้พยายามปกป้องสมบัติของตนเองเช่นเดียวกับการปกป้องรักษาพระธาตุ ดังนั้นหากคืนพระพุทธรูปไม้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะทำให้ความยิ่งใหญ่ของพระธาตุลดลง เพราะการปกป้องครั้งนี้ถือว่าเป็นการรักษาอำนาจและศรีสง่าของพระธาตุศรีจอมทองให้คงอยู่ และอาจเป็นการเสียเหลี่ยมครั้งยิ่งใหญ่ถ้าส่งคืนวัดเดิม ทั้งๆ ที่พระเจ้าไม้องค์นี้ก็มิได้เสริมค่าของพระธาตุศรีจอมทองให้มีศรีสง่าเพิ่มขึ้นมากไปกว่าเดิม หรือว่าชาวจอมทองต้องการจะรักษารีตเก่ารอยเดิมที่ว่าของที่ถวายไว้แล้วเหตุใดต้องมาทวงคืน

กรณีพิพาทนี้แสดงให้เห็นถึงการข่มใจสงบของกลุ่มชนการมิได้แสดงออกในด้านการใช้วาจาหยาบคายหรือการใช้กำลังเข้าตัดสินแย่งชิง แต่กลับกระทำกันโดยใช้หลักทางจิตวิทยาระหว่างผู้ขอกับผู้ที่ไม่ให้ ต่างฝ่ายก็ต่างมีวิธีการของตน

ประเด็นที่น่าสนใจอีกก็คือ การใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือในการทวงคืนของชาวจอมทองนั้นสามารถใช้อย่างได้ผล ถึงแม้เรื่องเช่นนี้จะไม่สมเหตุสมผลในปัจจุบันก็ตาม แต่ในอดีตเมื่อหกสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นไม่สามารถสรุปเรื่องเช่นนี้ได้ง่ายนัก และไม่น่าเชื่อเลยว่า กรณีพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นกับพระพุทธรูปไม้องค์นี้เพียงองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดความอิกขลิกใจ ระหว่างศรัทธาทั้ง 2 อำเภอได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว

ในส่วนทรรศนะของผู้เขียนนั้น ไม่อาจจะกล่าวยืนยันว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นของฝ่ายใด หากแต่ถ้าท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปนมัสการพระเจ้าไม้สะเลียมหวานทั้งสององค์แล้ว และได้เห็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทั้งสององค์ดังกล่าวนี้ ท่านสามารถตัดสินใจได้เลยว่า พระเจ้าไม้สะเลียมหวานน่าจะประดิษฐานอยู่ ณ อำเภอใด ระหว่างบ้านโฮ่งกับจอมทอง

 


เชิงอรรถ :

[1] คำว่า พระเจ้า คนล้านนาใช้เรียกพระพุทธรูป เช่น พระเจ้าตนหลวงเมืองพะเยา พระเจ้าเก้าตื้อวัดสวนดอก พระเจ้าทันใจ พระเจ้าฝนแสนห่า เป็นต้น ส่วนคำว่า สะเลียมหวาน หมายถึงสะเดาที่มีรสจืด ไม่ขมมากเช่นปกติ

[2] ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (เดือน 12 ใต้) ปี มะเร็งเอกศก พ.ศ. 2472

[3] ข้อความที่ลบเลือนไปนี้ คงเกิดจากรักกับชาดที่ยังไม่แห้งสนิทไหลมาลบข้อความที่จารไว้ มีชัดเพียงอักษร ภม จากการสัมภาษณ์ท่านพระครูสังวรญาณ และพ่อหนานยง บุญสุทธิ์ ทั้งสองท่านกล่าวตรงกันว่า น่าจะเป็นนามของครูบาพระมหาวงค์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ครูบามหาวงค์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่งหลวงสมัยนั้น และเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์นี้

[4] คำว่า โห้ง หมายถึงที่ลุ่ม เช่นที่นาที่มีน้ำขังอยู่ หรือเป็นที่ลุ่มกว่าที่อื่นๆ เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า นาโห้ง หรือที่โห้ง ส่วนคำว่า โฮ่ง คงเขียนตามเสียงที่ปรากฏ คนล้านนาออกเสียงสองคำนี้ต่างกัน คำจารึกที่ฐานพระเจ้าไม้สะเลียมหวานเขียน โห้ง ทุกคำ

[5] ท่านขุนโห้ง หรือพ่อขุนโห้ง หาญผจญ เล่ากันว่า เป็นบุตรของพ่อพญาชูพัน เมื่อโตขึ้นได้ไปทำงานที่อำเภอลี้ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้มาดูแลตำบลบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปากบ่อง (อำเภอป่าซางในเวลาต่อมา) จังหวัดลำพูน มีภรรยาชื่อ เกี๋ยงคำ มีบุตร 2 คน และธิดา 2 คน ปัจจุบันได้เสียชีวิตหมดแล้ว พ่อขุนโห้งเสียชีวิตเมื่อปี 2482 อายุได้ 60 ปี

[6] นายบุญปัน (อ่าน บุน-ปัน) ท่านพระครูสังวรญาณว่า น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการ ส่วนพ่อหนานยง บุญสุทธิ์ ว่าน่าจะเป็นตำรวจหัวหน้าสถานีตำรวจบ้านโฮ่งขณะนั้น

[7] ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ใต้ พ.ศ. 2500 และคำ ขวัก หมายถึงแกะสลัก คนล้านนามักเรียกรวมกับคำว่า สลักขวักไม้ พ่อหนานยง บุญสุทธิ์ ปัจจุบัน (2538) อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61 บ้านโฮ่ง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

[8] พระพุทธรูปองค์นี้มีความงามด้อยกว่า 2 องค์ที่กล่าวไว้ข้างต้น สร้างขึ้นก่อนองค์ที่ประดิษฐานในวิหารจัตุรมุข โดยนำไม้สะเลียมมาจากบ้านป่าป๋วยมาแกะ ท่านครูบาพระครูศิลภรณ์ภิมล เจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่งหลวง (2461-2517) สร้างถวาย

[9] มีพระเจ้าไม้สะเลียม อีก 2 องค์ ที่วัดกอสะเลียม ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แกะจากไม้สะเลียม (ไม่หวาน) ต้นสูงใหญ่ซึ่งเป็นไม้นามหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2514 ชาวบ้านจะนำมาแห่เพื่อให้คนในหมู่บ้านสรงน้ำตอนปีใหม่เมือง

[10] พระครูสังวรญาณ ปัจจุบัน (2538) อายุ 82 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าสะเลียมหวานและเจ้าคณะอำเภอบ้านโฮ่ง ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์สังวราราม อำเภอบ้านโฮ่ง สัมภาษณ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2538

[11] สัมภาษณ์เมื่อ 4 ตุลาคม 2538

[12] สัมภาษณ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2538

[13] สัมภาษณ์ พระครูสังวรญาณ เมื่อ 4 ตุลาคม 2538 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ระหว่างปี พ.ศ. 2454-2482

[14] สัมภาษณ์เมื่อ 4 ตุลาคม 2538

[15] ดู อดุลธรรมคณี, พระครู. ตำนานพระเจ้าสะเลียมหวาน. ลำพูน : โรงพิมพ์ลพูนการพิมพ์, 2529 หน้า 21

[16] พ่อหนานยง บุญสุทธิ์ ผู้แกะพระองค์นี้เล่าว่า ก่อนนำพระองค์เดิมคืน ทางคณะศรัทธาได้นำไม้สะเลียมต้นใหญ่จากบ้านแม่ลอบ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง มาให้ตนแกะสลักทั้งดิบ โดยวัดส่วนให้เท่ากับพระองค์เดิมและให้มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการ ทำอยู่ 10 กว่าวันก็เสร็จ ชาวจอมทองได้มาเห็นพระองค์ใหม่ก็เข้าใจกันว่า ชาวบ้านโฮ่งได้แกะพระใหม่เปลี่ยนเอาองค์เก่าไว้เสียแล้ว

[17] ตอนนั้นพระครูอดุลธรรมคณี เป็นเลขาเจ้าคณะอำเภอ เป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างหนังสือฉบับนี้ และคำว่า ขอเมตตา นั้น ในสำนวนล้านนามีความหายว่า ขอได้โปรดเอ็นดูสงสาร หรือขอความกรุณาเป็นที่สุด

[18] ตามคำกล่าวของพระอธิการสมบัติ ธีรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าสะเลียมหวานรูปปัจจุบัน สัมภาษณ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2538

[19] สัมภาษณ์ นางสมพร วงศ์ฝั้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการอำเภอบ้านโฮ่ง เมื่อ 8 ตุลาคม 2538

[20] ดู อดุลธรรมคณี, พระครู. เรื่องเดิม. หน้า 1-6

[21] สัมภาษณ์เมื่อ 8 ตุลาคม 2538 และตามรายชื่อคัมภีร์ ตำนานต่างๆ ที่ทางสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจจัดถ่ายไมโครฟิล์มคัมภีร์ตามวัดทั่วภาคเหนือ พบตำนานมากกว่า 500 ชื่อ ไม่ปรากฏตำนานพระเจ้าไม้สะเลียมหวาน

[22] สัมภาษณ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2538

[23] สัมภาษณ์เมื่อ 8 ตุลาคม 2538 และเรื่องเกี่ยวกับที่นาพระธาตุนี้ ถ้าชาวบ้านจะทำนาก็ต้องนำค่าเช่าไปให้ทางวัดพระธาตุศรีจอมทองทุกปี ก่อนปี 2500 ยังไม่มีการสำรวจเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่รู้ว่า เป็นนาพระธาตุเท่านั้น แต่เมื่อมีการทวงพระเจ้าไม้สะเลียมหวานจากวัดพระธาตุ ชาวจอมทองจึงทวงที่นาพระธาตุที่ขุนโห้งถวายไว้ และออกเอกสารสิทธิ์ให้เป็นสมบัติของวัดพระธาตุ

[24] คำขวัญของอำเภอบ้านโฮ่งมีว่า “หอมแดงเยี่ยม กระเทียมลือนาม งามดอยกาน หวานลำไย กราบไหว้พระเจ้าสะเลียมหวาน

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์บำเพ็ญ ระวิน ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้คำปรึกษา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2565