สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเจ้าคำก่าน้อย แห่งไทยใหญ่

ภาพประกอบเนื้อหา - พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จ.ลำปาง กับฉากหลัง (ขวา) ภาพจิตรกรรมสมเด็จพระนเรศวรตามจับพญาจีนจันตุ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา จาก ศิลปวัฒนธรรม, 2559 (ซ้าย) “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

บทความนี้เคยเป็นหนึ่งในเรื่องขึ้นปก นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2545 โดย พิมุข ชาญธนะวัฒน์ ขณะเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านห้วยแห้ง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และเป็นผู้อ่านท่านหนึ่งของศิลปวัฒนธรรม ได้ส่งมาให้พร้อมคำอธิบายที่ว่ามา

“ผมได้พบบทความเกี่ยวกับประวัตศาสตร์ ซึ่งตีพิมพ์ใน ‘SAHN STATE ARMY NEWS’ เป็นหนังสือพิมพ์ของกลุ่มกองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ ฉบับ May, June 2000 Vol. 2, No. 4 หน้า 16-18 เขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจ้าคำก่ายน้อย

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ทำเป็น 4 ภาษา คือ ไทยใหญ่ ไทย อังกฤษ และพม่า จึงอยากส่งมาให้บรรณาธิการอ่านดูบ้าง ไม่ทราบว่าจะมีความสนใจหรือไม่ หรือจะมีความเห็นอย่างไรกับบทความนี้”

วันนี้จึงขอนำเสนอมาอีกครั้งดังนี้


 

เมืองไตยหรือไทยใหญ่ ในอดีตกาลปกครองโดยเจ้าฟ้าซึ่งแต่ละเมืองจะมีเจ้าฟ้าปกครอง 1 พระองค์ บรรดาเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ มีความปรองดองสามัคคีกันอยู่เสมอ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง เช่น ไทย, ลาว, อาสัม และยูนนานเป็นต้น ซึ่งเมืองเหล่านี้ก็จะปกครองโดยเจ้าฟ้า (กษัตริย์) และถือว่าเป็นเชื้อสายเดียวกันกับเมืองไตย เป็นบ้านพี่เมืองน้อง ส่วนประชาชนก็ถือว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ติดต่อช่วยเหลือกันมาตลอดถึงแม้บางครั้งอาจจะมีเรื่องบาดหมางกันบ้าง แต่ก็ไม่มีความรุนแรงถึงขั้นต้องจัดกองทัพเข้าต่อสู้กันแม้แต่ครั้งเดียว (ในสมัยก่อนที่พม่าจะเข้ามาปกครอง)

ในการสืบเชื้อสายเจ้าฟ้าขึ้นครองบ้านเมืองนั้น ต้องเป็นเชื้อสายเจ้าฟ้าโดยตรงของเมืองนั้นๆ หากเมืองใดไม่มีทายาทสืบทอด ก็จะอัญเชิญเจ้าชายต่างเมืองที่มีความใกล้ชิดมากที่สุด และมีคุณสมบัติในการที่จะขึ้นครองบ้านเมืองได้มาปกครองเมือง

“แสนหวี” ก็เป็นหนึ่งในจำนวนเมืองของไตยที่ถูกระบุในประวัติศาสตร์ “เมืองไตยเก้าไฮหอ” (เมืองกอง, เมืองยาง, สองสบ, แสนหวี, สี่ป้อ, เมืองปาย, เมืองนาย, เมืองมีด และย่องห่วย) และเป็นเมืองที่มีความเจริญมากเมืองหนึ่งของเมืองไตย

เจ้าฟ้าแสนหวีองค์ที่ 11 คือ “เจ้าคำหีบฟ้า” ทรงสมรสกับ “เจ้านางคำมุ่ง” ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ มีพระราชโอรสพระนามว่า “ขุนคำแสงฟ้า” และพระราชธิดาพระนามว่า “เจ้านางคำหนั่น”

ต่อมา “เจ้าขุนคำแสงฟ้า” ได้เสวยราชย์ขึ้นครองเป็นเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีในปี พ.ศ. 2066 (1523 AD) มีพระราชโอรสทั้งหมด 5 พระองค์

ต่อมาพระโอรสองค์ที่ 2 พระนามว่า “เจ้าคำปากฟ้า” ได้เสวยราชย์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองแสนหวีในปี พ.ศ. 2092 (1549 AD) และได้อภิเษกกับ “เจ้านางโหลง” มีพระโอรส 3 พระองค์คือ 1. ขุนคำแก้ว (เจ้าคำก่ายน้อย) 2. ขุนคำแสนจุ่ง 3. ขุนคำเข่ง

เจ้านางคำหนั่น ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของเจ้าขุนคำแสงฟ้า ต่อมาได้เป็นเจ้านางเมืองอังวะในปี พ.ศ. 2094 (1551 AD) และเจ้าคำปากฟ้า (ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของเจ้าคำหนั่น) และเจ้าคำแก้วได้ทำการศึกกับเมืองอังวะ ถูกเจ้าเมืองอังวะเป็นเชลยศึก ต่อมาเจ้าเมืองอังวะได้ทรงรับสั่งให้ประหารเจ้าคำปากฟ้า ส่วนเจ้าคำแก้วนั้น เจ้านางคำหนั่นได้ทรงเลี้ยงไว้ในเมืองอังวะ

กล่าวถึงเมืองแสนหวี หลังจากที่เจ้าคำปากฟ้าได้สิ้นพระชนม์แล้ว ขุนคำแสนจุ่ง และขุนคำเข่งซึ่งยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น จึงต้องให้อำมาตย์สำเร็จราชการแทนดูแลเมืองแสนหวีแทนชั่วคราว ต่อมาในปี พ.ศ. 2099 (1556 AD) บุเรงนองยกกองทัพเข้าตีเมืองอังวะขึ้นไปจนถึงซูมทราย, เมืองมีด, สี่ป้อ, เมืองยาง และจับเจ้าฟ้าไตยเป็นเชลยศึก กล่าวหาว่าศาสนาของไตยไม่ถูกต้องตามพระพุทธศาสนา จึงได้จับพระสงฆ์และสามเณรไตยไว้แล้วนำเอาพระสงฆ์จากเมืองพม่ามาเป็นเจ้าอาวาสแทน ในขณะเกิดศึกทางเมืองแสนหวีก็ได้พาเอาขุนคำแสนจุ่งและขุนคำเข่งหลบหนีไปยังเมืองที่มีเจ้าฟ้าไตยปกครองซึ่งอยู่ในยูนนาน

พ.ศ. 2100 (1557 AD) บุเรงนองได้ยกทัพเข้าตีเมืองนาย, ย่องห่วย, ลอกจอก และเมืองปาย องค์รัชทายาทเจ้าฟ้าเมืองนาย ที่สืบเชื้อสายมาจาก “เจ้ามังราย” สิ้นพระชนม์ ก็เป็นอันสิ้นสุดรัชกาล หมดทายาทสืบต่อราชวงศ์ ส่วนเมืองนาย คงเหลือไว้เพียงร่องรอยซากปรักหักมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลังจากบุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองนายจนแตกกระเจิงแล้ว ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ และกวาดต้อนจับผู้ที่มีฝีมือความรู้ด้านการช่างไว้

เมื่อบุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่แล้ว ยกทัพต่อไปตีเมืองแสนหวี เจ้าคำแก้วถูกบุเรงนองกักบริเวณให้อยู่แต่ในเมืองอังวะเท่านั้น สาเหตุที่บุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองไตย เหตุเพราะเมืองไตยให้ความช่วยเหลือแก่ไทย

หลังจากที่บุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองไตยได้สำเร็จแล้ว ได้กระทำดังนี้

(1) ให้นำพระธิดาและพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นหญิงกลับเข้าไว้ในหอ, วัง บางคนก็ถูกนำไปเป็นนางสนมเหนือหัวของพม่า บางคนก็ให้สมรสกับลูกอำมาตย์ หรือทหาร บางคนก็เป็นบ่าวรับใช้ในหอ, วัง

(2) ให้นำพระโอรสและบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นชายกลับเข้าอยู่ในหอ, วัง ให้ศึกษาด้านการปกครองและการทหาร ซึ่งความจริงแล้วเป็นการปราม เนื่องจากพม่าเกรงว่าเจ้าฟ้าไตย และประชาชนในเมืองไตย อาจจะลุกขึ้นมาแข็งข้อได้

(3) หากทหารพม่ายกทัพไปทำศึกเมืองใดก็ตาม เจ้าฟ้าไตยต้องนำกำลังทหารพร้อมทั้งช้าง, ม้า และเสบียงอาหาร เข้าทำการช่วยเหลือสนับสนุนพม่าทันที

ในปี พ.ศ. 2102 (1559 AD) บุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองกะเซ และได้จับเจ้าฟ้าเมืองกะเซส่งมายังเมืองหงสาวดี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2105 (1562 AD) บุเรงนองได้ยกทัพเข้าตีเมืองมาว, เจ้ควาง, โหซา, นาซา, เมืองนา และจันตา (ปัจจุบันอยู่ในยูนนานประเทศจีน ในสมัยก่อนเจ้าฟ้าไตยเป็นผู้ปกครองเมือง) ได้จับเอาเจ้าฟ้าเมืองสี่ป้อและผู้นำในเมืองไตยไปเป็นจำนวนมาก โดยมากบุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองไตย ไม่ว่าเป็นที่ใดก็ตามหากเจ้าเมืองไม่ยอมสวามิภักดิ์ ก็จะจับส่งไปยังเมืองหงสาวดี

ในปี พ.ศ. 2106 (1563 AD) บุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองไทย เหตุเพราะต้องการช้างเผือก แต่ทางไทยไม่ยอมให้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2107 (1564 AD) ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่, เชียงห่ม และล้านช้าง

ในปี พ.ศ. 2108 (1565 AD) ขณะที่บุเรงนองยกทัพเข้าตีเมืองไทย, ลาว, เชียงใหม่, เชียงห่มนั้น เจ้าฟ้าไตย และทหารไตยที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้น ถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังในเมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของพม่าต้องหนีไปอยู่ที่ “เมืองทละ” การเผาหอ, วังในครั้งนี้เจ้าฟ้าไตยให้เหตุผลว่า เพราะพม่าทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไตย หลังจากบุเรงนองทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตยและคนไตยหมื่นกว่าคนทำการเผาทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี

ในปี พ.ศ. 2110 (1567 AD) บุเรงนองยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และส่งข่าวไปยังเจ้าเมืองอังวะ เมื่อเจ้าเมืองอังวะรับทราบ ได้รับสั่งให้เจ้าคำแก้วนำกำลังทหารล่องตามแม่น้ำเกียว เพื่อเข้าสมทบกับทหารพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา การสู้รบในครั้งนี้บุเรงนองได้ร่วมมือกับเจ้าเมืองสองแคว (เจ้าเมืองพิษณุโลก และพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เจ้าคำแก้วได้ร่วมรบในการศึกครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นเจ้าคำแก้ว ได้ทรงพำนักอยู่กรุงศรีอยุธยาโดยมิได้กลับเมืองไตย และได้เปลี่ยนพระนามเป็น เจ้าคำก่ายน้อย ส่วนพระมหาธรรมราชาได้สถาปนาขึ้นครองเป็นกษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2112 เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลา 15 ปี

พ.ศ. 2125 (1582 AD) เหล่าเจ้าฟ้าไตยได้ร่วมกันแข็งข้อต่อพม่า นันทบุเรง (โอรสของบุเรงนอง) ได้จัดทัพเข้าปราบปรามเหล่าเจ้าฟ้าไตย และขอความช่วยเหลือมายังอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพมาช่วยซึ่งในขณะนั้นนันทบุเรงได้มีแผนการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวร แต่พระองค์ทรงทราบจึงนำทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา และทรงประกาศอิสรภาพเมื่อเดือน 6 ปี 2127 (1584 AD) ต่อมาในเดือน 7 ปีเดียวกัน หงสาวดียกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และศึกครั้งนี้อยุธยาเป็นฝ่ายชนะ จับได้เชลยศึกเมืองหงสาวดีได้ 10,000 คน ช้าง 120 เชือก ม้า 100 ตัว และเรือ 400 ลำ

พ.ศ. 2133 (1590 AD) เดือน 8 แรม 13 ค่ำ สมเด็จพระนเรศวร ขณะนั้นมีพระชนม์ได้ 35 ชันษา ทรงสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้น 8 ปีให้หลังทรงได้จัดทัพเข้าตีเมืองหงสาวดี

พ.ศ. 2135 (1592 AD) เดือนอ้าย ขึ้น 7 นันทบุเรงรับสั่งให้พระมหาอุปราช ซึ่งเป็นราชโอรส เป็นจอมทัพนำทัพออกตีกรุงศรีอยุธยา จนถึงเดือนยี่ แรม 2 ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชต้องพระแสงของ้าวขาดคอช้าง ทำให้กองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินกลับไป และผลดีของการทำยุทธหัตถีในครั้งนี้ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพใหญ่เข้ามารุกรานอีก

พ.ศ. 2141 (1598 AD) ยะไข่กับเมืองตองอูร่วมกันยกทัพเข้าตีเมืองหงสาวดี จนถึง พ.ศ. 2142 (1599 AD) จับนันทบุเรงได้ และส่งไปยังเมืองตองอู “นาดฉิ่นหน่อง” ได้วางยาพิษสังหารนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ และสมเด็จพระนเรศวร ได้ยกทัพเข้าล้อมเมืองตองอูอยู่ประมาณเดือนกว่า แต่ก็ไม่สามารถตีตองอูได้ เพราะขาดเสบียงอาหาร จึงต้องยกทัพกลับ

ฝ่ายเจ้าคำแก้ว (เจ้าคำก่ายน้อย) เมื่ออยู่ในพระนครศรีอยุธยาก็ได้ช่วยพระมหาธรรมราชา และสมเด็จพระนเรศวร โดยเจ้าคำก่ายน้อยและสมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษากันและทรงเห็นพ้องกันว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีกองทัพเข้มแข็งและถาวรต่อไปในภายหน้า เพราะทรงเห็นว่า เมืองไทยนั้นควรมีความพร้อมเพรียงและสามัคคีกัน ในส่วนของเมืองไตยนั้น เจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไตยทุกๆ เมือง ในปี พ.ศ. 2143 (1600 AD) สมเด็จพระนเรศวรทรงมีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าเมืองตั้งแต่เมืองปั่น, เมืองนาย, ย่องห่วย ไปจนถึงภาคกลาง ภาคเหนือถึงกิ่งมะ, เมืองติม, เมืองแลม, เมืองเฮิม (ปัจจุบันอยู่ในยูนนาน) ในภาคพื้นที่เมืองไตย เจ้าฟ้าไตยทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นราชอาณาจักรขึ้น โดยสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้นำ

ด้านพม่า หลังจากนันทบุเรงถูกจับตัวไปอยู่ที่เมืองตองอู แล้วพระอนุชานันทบุเรงได้หลบหนีไปอยู่ที่เมืองพุกาม หลังจากทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาแล้ว จึงได้รวบกำลังทหารเข้าตีเมืองอังวะและเปลี่ยนพระนามเป็น เจ้าสี่ฮะสุธรรมราชา และสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าเมืองอังวะ และได้คิดขยายอำนาจโดยนำทัพเข้าตีย่องห่วย, เมืองปาย จนถึงเมืองนาย

ในขณะที่เจ้าคำก่ายน้อยทรงพำนักอยู่ที่เมืองแสนหวี ทางเมืองจีนได้ส่งคนมาเชิญเจ้าคำก่ายน้อยเสด็จไปยังเมืองจีนและให้เมืองไตยยอมเป็นเมืองขึ้นของจีน แต่เจ้าคำก่ายน้อยไม่ยอม ทำให้เมืองจีนโกรธมาก จึงร่วมกับเมืองอังวะ รวมกันนำทัพเข้าตีเมืองไตย ในปี พ.ศ. 2147 (1604 AD)

สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าว จึงได้จัดกองทัพทหารไทย, มอญ และล้านนา โดยสมเด็จพระนเรศวรและพระอนุชาทรงนำทัพ ในปี พ.ศ. 2147 (1604 AD) เดือนยี่ แรม 6 ค่ำ โดยเสด็จทางชลมารคจนถึงพะเยา และสถลมารคจนถึงกำแพงเพชร และทรงพักแรมที่เชียงใหม่ประมาณ 1 เดือน ทรงได้รับสั่งพระอนุชาของพระองค์ นำกำลังส่วนหนึ่งขึ้นทางเมืองฝาง ส่วนสมเด็จพระนเรศวรนำทัพขึ้นทางเมืองหางและตั้งค่ายพักแรมที่ป่างลาบแก้ว หลังจากนั้นไม่นาน ได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็ได้สิ้นพระชนม์ที่เมืองหาง ตรงกับปี พ.ศ. 2147 (1604 AD) เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ วันจันทร์ สิริรวมพระชนมายุได้ 50 ชันษา ครองราชย์นาน 15 ปี

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีศพของสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองหางแล้ว ทางกองทัพไทยยกกำลังทหารกลับเมืองไทยโดยมิได้ไปช่วยเหลือเมืองไตย ทางด้านเจ้าคำก่ายน้อยได้นำกำลังทหารไตยเข้าสู้รบกับทหารพม่าและทหารจีนอีกส่วนหนึ่ง

เจ้าฟ้าไตยพอทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสิ้นพระชนมชีพไปแล้ว ทำให้หมดกำลังใจที่จะสู้ต่อไปเพราะคิดว่า หากสู้รบต่อไปก็ไม่สามารถรบชนะทหารพม่าได้ จึงไม่ได้นำทหารมาช่วยเหลือเจ้าคำก่ายน้อยและเจ้าคำก่ายน้อยก็ได้สิ้นพระชนมชีพในสนามรบที่เมืองแสนหวี ในปี พ.ศ. 2148 (1605 AD)

ส่วนทางเจ้าเมืองอังวะ หลังจากเจ้าคำก่ายน้อยได้สิ้นพระชนม์แล้วจึงได้เดินทางกลับ และได้สิ้นพระชนม์ในระหว่างทางในปีเดียวกันนั้นเอง

หลังจากสมเด็จพระนเรศวรและเจ้าคำก่ายน้อยได้สิ้นพระชนม์แล้ว เจ้าฟ้าไตยก็ได้บูรณะบ้านเมืองและกองทัพขึ้นมา นำกำลังทหารเข้าสู้รบกับทหารพม่าและทหารเมืองจีนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเจ้าฟ้าไตยในเมืองไตยเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก แตกแยกไม่ปรองดองสามัคคีกันเหมือนก่อน เกิดความระส่ำระสาย อาณาจักรที่สมเด็จพระนเรศวรร่วมกับเจ้าคำก่ายน้อยช่วยกันสร้างขึ้นมาจึงเป็นอันล่มสลายลง

ซึ่งหากว่าสมเด็จพระนเรศวรและเจ้าคำก่ายน้อยยังทรงพระชนมชีพอยู่ ความมุ่งมั่นในการผนึกกำลังจะเป็นผลสำเร็จเพียงใด ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองไตยจะมีมากมายเพียงใด ก็เป็นความหวังของชนรุ่นหลังที่จะผสานสืบทอดเจตนารมณ์ของอุดมการณ์ต่อไป

เคือแสน (รัฐฉาน)

1 พฤษภาคม 2543

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2565