กับตีน ท่อนไม้ประวัติศาสตร์

กับตีน-เครื่องจองจำนักโทษ ที่วัดบ้านผับแล้ง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2537)

เมื่อเดือนสิงหาคม 2535 ผู้เขียนบังเอิญได้ไปพบไม้ท่อนหนึ่ง ที่ใต้ถุนศาลาวัดบ้านผับแล้ง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี

เป็นไม้เนื้อแข็งท่อนโต ยาวเมตรกว่าๆ หนาเกือบฟุต เจาะเป็นช่องกลวงทะลุสองด้าน ใหญ่ประมาณว่าสอดขาคนอ้วนๆ เข้าได้พอดี อีกด้านหนึ่งมีช่องที่เล็กกว่าสองช่อง นัยว่าสำหรับตอกลิ่มตรงขาที่สอดเข้าไปไม่ให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้

กับตีน-เมื่อสอด “ตีน” เข้าไปในช่อง แล้วตอกลิ่มตรึงไว้ก็ไปไหนไม่ได้

หากเป็นท่อนไม้ธรรมดาคงไม่น่าสนใจอะไร แต่เรื่องราวจากคำบอกเล่าของหลวงปู่มาเจ้าอาวาส อีกทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านอีกหลายคนที่อยู่บนศาลาวัดวันนั้น เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของไม้ท่อนนี้ ทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาทันที

ผู้เล่าทั้งหลายเรียกไม้ท่อนนี้ว่า “กับตีน”

“กับ” เป็นภาษาอีสาน ในหนังสือสารานุกรม ภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ของปรีชา พิณทอง อธิบายว่า

กับ 1 น. เครื่องดักสัตว์ เรียก กับ..

กับ 2 น. เครื่องจองจำนักโทษผู้ทำความ ผิด เรียก กับ…

สำหรับ “กับตีน” ตัวที่ว่านี้ คือ เครื่องมือที่ชาวบ้านผับแล้งแห่งนี้ทำขึ้นใช้ชั่วคราว เพื่อจองจำนักโทษคนหนึ่ง เมื่อ 90 ปีมาแล้ว นั่นคือเมื่อ พ.ศ. 2445 โน่นเชียว

เปล่าหรอกค่ะ หมู่บ้านนี้ไม่ได้มีคุก หรือสถานกักกันนักโทษอะไรหรอก เขาเพียงจับนักโทษได้ที่นี่ แล้วจองจำไว้ชั่วคราวก่อนส่งทางการต่อไป และกับตีนอันนี้ก็เคยใช้งานเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเอง แล้วมันก็ถูกทิ้งให้จมดินอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ท้ายวัด จนใครๆ ลืมไปหมดแล้ว เจ้าอาวาสและพระเณรในวัดเพิ่งขุดพบ แล้วช่วยกันเคลื่อนย้ายมาไว้ใต้ถุนศาลา เมื่อไม่นานมานี้เอง

หากไม้ท่อนนี้เป็นเครื่องมือจองจำนักโทษจริง ผู้ถูกจองจำคงไม่ใช่นักโทษธรรมดาๆ แน่เลยทีเดียว เพราะดูมันทั้งใหญ่ และหนัก คนๆ เดียวไม่สามารถเคลื่อนย้ายมันไปไหนได้แม้สักคืบ

แน่ละ…ผู้เล่าทั้งหลายต่างยืนยันว่า นี่คือ กับตีนอันเคยตรึงขา อ้ายอะซอง ผู้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของเหล่า ผีบาปผีบุญ กบฏที่สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงให้ชาวบ้านทั่วถิ่นอีสานมาแล้วเมื่อเกือบร้อยปีก่อน

งั้นคงต้องเท้าความกันนิดแล้วล่ะ

เหตุเกิดเมื่อ ร.ศ. 120

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมืองต่างๆ ในภาคอีสาน เช่น ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ ฯลฯ เป็นเพียงหัวเมืองรอบนอกที่อยู่ห่างไกลของสยามประเทศ ต่างเป็นอิสระแก่ตัวเอง เจ้าเมืองมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองราษฎรของตน เพียงแต่ส่งส่วยประจำปีให้แก่ทางกรุงเทพมหานครเท่านั้น

มาจนถึงช่วงเวลานั้น (ร.ศ. 119) ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังสะพัดอยู่ในเอเชีย เหล่าเพื่อนบ้านทั้งหลาย เช่น เขมร ญวน ลาว พม่า ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกหมดแล้ว รัฐบาลสยามจำต้องจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ และริเริ่มที่จะควบคุมตรวจตราหัวเมืองทางภาคอีสาน ให้กระชับรัดกุมยิ่งขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติมา ก่อให้เกิดแรงกดดันแก่เจ้านายในท้องถิ่นบางคน ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบระเบียบใหม่ๆ รวมไปถึงการต้องสูญเสียอำนาจ และผลประโยชน์ที่เคยได้จากราษฎรโดยตรงด้วย

กบฏผีบาปผีบุญในภาคอีสานจึงเริ่มก่อหวอดขึ้น ซึ่งจริงๆ ในช่วงเวลานั้นภาคอื่นๆ ก็มีผู้ก่อกบฏ เช่น กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองทางภาคใต้ เป็นต้น

ผู้มีบุญ

ก่อนนั้นสยามประเทศแผ่อำนาจกว้างไกล ครอบคลุมไปถึงดินแดนลาว เขมร ญวน ราษฎร ทั้งหลายในภูมิภาคเดินทางไปมาหาสู่เป็นปกติ เมื่อหมดฤดูทำนาของแต่ละปีคนบนที่ราบสูงก็จัดขบวนคาราวานไปหาปลา ล่าสัตว์ ที่ลุ่มโขง ที่เมืองต่ำ (เขมร) ขนเนื้อวัวป่า เก้ง กวาง หมู รมควัน ตากแห้งมาตุนไว้กินเป็นเดือนๆ ปีๆ

ครั้นเมื่อดินแดนเหล่านั้นตกอยู่ในบำรุงของฝรั่งเศส ข่าวนักจับปลา ล่าสัตว์ ถูกจับไปขังคุก ถูกฆ่าตายก็ลือมาให้ได้ยินบ่อยๆ สร้างความหวาดหวั่นให้เกิดขึ้นทั่วไป อีกทั้งในปีนั้นเกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงด้วย ทำให้ราษฎรอยู่ในสภาวะทุกข์ยากปากหมอง ยังถูกกดขี่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนอีก ก็เลยทำให้ราษฎรแทบสิ้นหวังในชีวิต

ราษฎรทั่วไปยังไม่มีการศึกษา ยังเชื่อเรื่องงมงาย ผีสาง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันอยู่มาก เป็นช่องทางให้พวกกบฏใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดม

วิธีที่ง่ายที่สุดในการชักจูงก็คือ อ้างตัวเป็น ผู้มีบุญ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถดลบันดาลปัดเป่า ให้ได้ตามความประสงค์ ใครต้องการรอดพ้นจากสภาวะน่ากลัวก็ต้องเข้าเป็นพวก จึงมีผู้หลงเชื่อมากมาย

หมอแถน หมอลำ

สำหรับตัว “อ้ายอะซอง” เจ้าของกับตีนอันนี้ ผู้เล่าทั้งหลายอันได้แก่ หลวงปู่มา เจ้าอาวาส, คุณยายแบน ผู้อาวุโสที่สุดในที่นั้น (อายุ 90 กว่าปี), คุณยายแพง ผู้จำเรื่องราวได้ดีกว่าใคร บอกว่าอ้ายอะซองเป็น หมอแถน (ชาวอีสานมักเรียกผู้ชำนาญการต่างๆ เป็นหมอ เช่น หมอยา หมอลำ หมอตอน หมอแคน หมอม้า ฯลฯ) มีวิชาอาคมมาก แทงฟันไม่เข้า ฆ่าก็ไม่ตาย เป็นคนมาจากถิ่นอื่น มาถึงก็บงการให้ตั้งผาม (ปะรำพิธี) ขึ้นกลางหมู่บ้าน ได้ฤกษ์ยามแล้วก็ทำการส้องแถน คือการทำพิธีอัญเชิญผีให้ผีแถนมาเข้าทรง เพื่อช่วยปัดเป่าทุกข์เข็ญให้ผู้คนที่มาห้อมล้อม

ไท้ หรือ แถน เป็นเทวดาบนฟ้า ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงเรียกพญาแถนบางครั้งเรียก ผีไท้ ผีแถน ชาวอีสานนับถือมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าโลกมนุษย์ที่เป็นไปต่างๆ นานา เพราะการดลบันดาลของพญาแถน ปัจจุบันประเพณีที่เกี่ยวข้องกับแถนยังมีเหลืออยู่บ้าง เช่น การทำบุญบั้งไฟ ส่วนการร้องแถนนั้นเหลืออยู่บ้างในหมู่ชนบางกลุ่มไม่มากนัก แต่พอหาดูได้ ส่วนมากจะส้องเมื่อต้องการรักษาคนเจ็บป่วย

ผู้เล่าทุกคนล้วนแต่เล่าจากความทรงจำที่เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงเมื่อตอนเป็นเด็กเท่านั้น เรื่องจึงออกจะสับสนไม่ชัดเจน บ้างว่าอ้ายอะซอง ถูกนำไปประหารชีวิตที่บ้านนาส่วง อำเภอเดชอุดม บ้างว่าถูกลากไปตัดคอที่ป่าช้าทางตะวันตกของหมู่บ้านนี่เอง

อย่างไรก็ตาม อ้ายอะซองก็คงได้รับความศรัทธาจากชาวบ้านสมัยนั้นมากเหมือนกัน เพราะหลายคนบอกว่าตอนส้องแถนชาวบ้านต่างเอาบั้งเงินบั้งทอง (ชาวอีสานสมัยก่อนเก็บเงินเก็บทองไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่เรียกว่า บั้ง) มาให้ บางคนยกลูกสาวให้เลยก็มี มีหญิงสาวในหมู่บ้านหายไปกับพรรคพวกอ้ายอะซองถึงสองคนด้วยละ

ที่ว่าอ้ายอะซองเป็นหมอแถน นั้นก็พ้องกับที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณเมืองอุบลราชธานีสมัยนั้น ที่ทรงอธิบายไว้ว่า พวกนี้เป็น หมอลำ

เพราะเวลาส้องแถนนั้น ผู้ทำพิธีจะขับลำด้วยคำกลอนที่พรรณนาถึงเรื่องราวแห่งความเดือดร้อนทุกข์ภัยต่างๆ เพื่อบอกกล่าวพญาแถนบนฟ้าให้ลงมาช่วยปัดเป่า

อ้ายอะซอง องค์ลิ้นก่าน

ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน ฉบับของพระวิภาคพจนกิจกล่าวถึงผีบาปผีบุญไว้ว่า พวกหัวหน้าผู้ก่อการจะเรียกเป็นองค์ เช่น องค์มั่น, องค์ขาว, องค์เขียว, องค์ลิ้นก่าน และอีกหลายๆ องค์ แต่ไม่ปรากฏมีชื่อ อะซอง เพียงแต่กล่าวถึงบ้านผับแล้งว่า เจ้าหน้าที่จับองค์ลิ้นก่านที่หนีกระสุนปืนใหญ่ของทหารได้ที่บ้านผับแล้ง อำเภอวารินชำราบ (ปัจจุบันแยกเป็นอำเภอสำโรง)

อ้ายอะซอง กับ องค์ลิ้นก่าน จะเป็นคนเดียวกันหรือไม่จึงยังสรุปไม่ได้ อาจใช่ หรือไม่ใช่ ก็เป็นได้ทั้งสองกรณี

ร่องรอย…ใต้ต้นโพธิ์

อย่างไรก็ตามมีเหตุผลน่าเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ท่อนไม้ “กับตีน” อันนี้เป็นท่อนไม้ประวัติศาสตร์จริง ก็คือ ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ท้ายวัด อันเป็นบริเวณที่พบกับตีนฝังอยู่มีร่องรอยอันแสดงถึงวัฒนธรรมความเชื่อของชาวบ้านที่สืบทอดกันมานานนม เรื่องการฝังศพครั้งที่ 2 เพราะมีเสมา (ชาวบ้านเรียกว่า หลักเข) ที่ทำด้วยไม้จารึกชื่อผู้ตายปักอยู่รายเรียง

หลักเข (เสมา) ในบริเวณที่พบกับตีน

“หลักเข” ตามคติความเชื่อของชาวบ้านแห่งนี้ หมายความว่า ใต้ดินตรงที่หลักปักอยู่เป็นที่ฝังภาชนะบรรจุกระดูกคนตาย ซึ่งแต่ก่อนนิยมใช้หม้อดิน ต่อมากลายเป็นไหบ้าง ขวดโหลบ้าง จนแม้กระทั่งปี๊บน้ำมันก๊าดก็มี แล้วแต่ลูกหลานผู้ทำให้ข้างหลังจะหาได้

แม้ปัจจุบันการฝังกระดูกใต้หลักเขจะค่อยๆ หมดไป กลายเป็นทำช่องบนกำแพง หรือบรรจุในเจดีย์แทน แต่โพธิ์ต้นนี้จะยังมีร่องรอยวัฒนธรรมนี้ให้เห็นอยู่ตราบเท่าอายุของไม้ และภาชนะบรรจุกระดูกจะคงอยู่ได้ เพราะไม่มีใครอยากไปแตะต้องรบกวน บริเวณอันเปรียบเสมือนบ้านใหม่ของผู้ตายหรอก

“กับตีน” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือจองจำ ตรึงขาของคนๆ หนึ่งให้ต้องถูกตัดคอ จึงนอนนิ่งอยู่ที่นี่ให้เราได้เห็นกันวันนี้ไงคะ

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2565