ฮวงจุ๊ยแบบไทยๆ

ประตูเมืองเชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442)

ประตูผีคือประตูที่ให้ผีออกจากเมือง ทำสำหรับให้ผีออกอย่างเดียว มิได้ประสงค์ให้ผีวิ่งสวนทางเข้าเมืองได้ เมื่อผีออกจากเมืองทางประตูนี้ได้ แล้วจะใช้เป็นทางเข้าเมืองบ้างจะทำอย่างไรจึงจะให้ผีรู้ว่าห้ามเข้า จึงเป็นเรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

คนไทยรู้จักผีในสองลักษณะคือ ผีในลักษณะที่เป็นรูปธรรมคือศพของผู้ที่ตายแล้ว ดังมีคำพูดว่า “หามผีเข้าป่าช้า” อีกลักษณะหนึ่งนั้นผีเป็นนามธรรม คือวิญญาณของผู้ตาย บางครั้งเล่ากันว่าปรากฏเป็นรูปให้คนเห็น เลยพูดกันว่า “ถูกผีหลอก”

ที่จริงคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมในเมืองไทยไม่กลัวหรือรังเกียจผี ดังเช่นหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี หรือที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหลุมศพที่ฝังอยู่ในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย บางครั้งก็ฝังอยู่ใต้พื้นกระท่อมทับที่คนเป็นๆ อาศัยอยู่ เพราะผีเหล่านี้คือบรรพบุรุษของเขาเอง เมื่อตายไปแล้วก็ยังอยู่ด้วยกันได้

คงเป็นสมัยเมื่อคนรับศาสนาจากอินเดียเมื่อพันกว่าปีมานี้ ผีถูกทำให้เป็นที่รังเกียจและปนกันกับสิ่งชั่วร้าย ดังนั้น เมืองที่สร้างในสมัยที่รับศาสนาแล้วจึงต้องมีประตูผี เพื่อนำผีออกไปเผาหรือฝัง หรือทิ้งไว้ที่นอกเมือง ที่เห็นชัดคือกรุงเทพฯ มีประตูผีอยู่ตรงกับวัดสระเกศ ภูเขาทอง เมืองนครธมของกัมพูชาสมัยโบราณมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเมืองด้านละหนึ่งประตู แต่ที่ด้านทิศตะวันออก เพิ่มประตูผีอีกหนึ่งประตู จึงมีประตูรวมทั้งสิ้นห้าประตู

เมืองเชียงใหม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีห้าประตูเหมือนกัน แต่ด้านที่มีสองประตูกลับไปอยู่ด้านทิศใต้ ประตูใดประตูหนึ่งจึงต้องเป็นประตูผีอย่างแน่นอน ส่วนเมืองสุโขทัยเก่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส ซึ่งเมืองเชียงใหม่รับเอารูปแบบไปกลับมีเพียงสี่ประตูบนกำแพงแต่ละด้าน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเชื่อกันเสียแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของสุโขทัยเป็นบันทึกจากปากคำของพ่อขุนรามคำแหงที่บอกเล่าว่า เมืองสุโขทัยมีสี่ปากประตูหลวง เลยไม่มีใครพยายามหาประตูผีอีกประตูหนึ่งอันเป็นประตูที่ห้า ซึ่งน่าจะอยู่ที่ด้านทิศตะวันออกเหมือนเมืองนครธม

กำแพงและประตูเมืองต่างๆ โดยทางกายภาพก็เพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายข้าศึกศัตรูมิให้เข้ามารบกวน ทำร้ายคนในเมือง ในขณะเดียวกันย่อมมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันความชั่วร้ายมิให้เข้ามาแผ้วพานด้วย ที่เมืองเชียงใหม่จึงมีการขุดค้นพบเลขยันต์จารึกบนหินตามป้อมมุมเมืองและบางประตูเมือง

รองศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รวบรวมคัมภีร์โบราณได้รายชื่อเทวดารักษาประตูเมืองดังนี้ เทพบุตรสุรักขิโตรักษาประตูช้างเลือกหรือเชียงเรือกกับประตูท่าแพด้านทิศตะวันออก (ด้านนี้มีกำแพงสองชั้น) เทพบุตรไชยภูมโมรักษาประตูด้านทิศใต้ คือประตูเชียงใหม่กับอีกประตูหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าคือประตูขัวก้อมที่อยู่บนกำแพงชั้นนอก (ด้านนี้มีกำแพงสองชั้นด้วย) เทพบุตรสุรชาโตรักษาประตูเมืองด้านทิศตะวันตก คือประตูสวนดอก และเทพบุตรคันธรักขิโตรักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ (จากหนังสือกำแพงเมืองเชียงใหม่, 2529)

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนากษัตริย์เชียงใหม่ ราว พ.ศ. 1900 กว่า ได้สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักนอกเมืองด้านทิศเหนือ ยังไม่ทันได้ปลงพระศพก็เกิดศึกติดพันจำต้องนำพระศพเข้าเก็บในเมืองเป็นการชั่วคราว แต่จะนำเข้าทางประตูเมืองไม่ได้เพราะผีเข้าประตูไม่ได้ เนื่องจากประตูด้านนี้คือประตูช้างเผือกมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มกันอยู่ จึงต้องรื้อกำแพงด้านนั้นเป็นช่องเพื่อนำพระศพเข้ามาเก็บรักษาไว้ในเมืองชั่วคราว ผีพระเจ้ากือนาจึงเข้าเมืองได้

เกิดปัญหาอีก เพราะถ้าหากประตูเมืองทุกประตูมีภูมิคุ้มกันห้ามผีผ่านเช่นนี้ เมื่อมีคนตายในเมืองผีก็จะออกจากเมืองไม่ได้ ผีก็จะล้นเมืองเป็นแน่ ดังนั้นแต่ละเมืองที่ไม่ชอบผีแล้ว เช่นนี้จึงต้องมีประตูผีให้ผีผ่านออก นั่นคือ ประตูผีจึงไม่มีการลงเลขยันต์เชิญเทวดามาเป็นภูมิคุ้มกันมิให้ผีผ่าน มีได้แต่บานประตูไว้ป้องกันข้าศึกโจรผู้ร้ายแต่กันผีเข้าไม่ได้ จึงต้องมีสัญลักษณ์ไว้ห้ามผีเข้า

เมืองนครธมโบราณของกัมพูชาสามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุด ประตูผีจะอยู่ตรงกันกับปราสาทพิมานอากาศ ศาสนสถานประจำพระราชวังบริเวณภายในเกือบกลางเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทพิมานอากาศหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตรงกับประตูผีพอดี ผีเลยไม่กล้าเข้าประตูมา

สำหรับกรุงเทพฯ นั้น สังเกตยากกว่าว่าประตูผีจะอยู่ตรงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมือง เพราะตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ มาในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ผังเมืองกรุงเทพฯ ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ถนนที่ตัดในสมัยรัชกาลที่ 5 มีทิศทางที่มิได้รักษาคติเดิมเกี่ยวกับประตูผี จึงไม่อาจยึดถือแนวทางตามเส้นถนนจากประตูผีเพื่อหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จับตาเฝ้าประตูอยู่ได้ ดังนั้นจึงต้องตัดทิศทางที่เกิดจากผังเมืองใหม่อันเป็นภาพลวงนี้ออกไป และขึ้นไปบนภูเขาทองมองลงมาจากที่สูง ก็จะเห็นพระอุโบสถพระแก้วมรกตในบริเวณพระบรมมหาราชวัง หันหน้าตรงมายังประตูผี พระแก้วมรกตนี้เองที่ทรงปกปักรักษากรุงเทพมหานคร คอยระวังมิให้ผีและความชั่วร้ายเข้ามาในเมือง

ที่เมืองเชียงใหม่ดูยากกว่า เพราะไม่รู้ว่าประตูใดแน่ระหว่างประตูเชียงใหม่ กับประตูสวนปรุงซึ่งอยู่ด้านทิศใต้จะเป็นประตูผี ทักษาของเมืองเชียงใหม่ที่รองศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ค้นได้จากใบลานเก่าๆ ก็เป็นเอกสารที่เป็นความเชื่อร่วมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในช่วงฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลาร่วม 100 ปี ทักษาของเมืองคือเรื่องการเชื่อถือเช่นว่า มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองที่แจ่งศรีภูมิเป็นศรีของเมือง ประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตกเป็นบริวารเมือง ประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือเป็นเดชเมือง ฯลฯ ส่วนด้านทิศใต้คือประตูเชียงใหม่กับประตูสวนปรุงเป็นมรณะเมืองทั้งสองประตู เลยยังไม่รู้ว่าประตูใดเป็นประตูผี

อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว แห่งวิทยาลัยครูเชียงใหม่กล่าวไว้ในหนังสือ กำแพงเมืองเชียงใหม่ (2529) เล่มเดียวกันว่า คนเชียงใหม่ที่อยู่ในเมืองแถวกำแพงเมืองด้านทิศใต้ เมื่อมีคนตายและจะหามศพออกไปนอกเมืองในปัจจุบัน จะหามศพออกทางประตูสวนปรุง ไม่ยอมออกทางประตูเชียงใหม่ เนื่องจากเห็นเป็นประตูสำคัญ ซึ่งความจริงนั้นน่าจะเป็นเพราะชาวเชียงใหม่ส่วนหนึ่งยังสืบทอดขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการนำศพออกทางประตูผีมากกว่า แม้ว่าจะจำไม่ได้แล้วว่าประตูสวนปรุงนั้นคือประตูผีของเมืองเชียงใหม่ในอดีต

การที่ประตูผีของเมืองเชียงใหม่อยู่ด้านทิศใต้ ผิดจากเมืองอื่นๆ ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก เพราะสุสานของเมืองเชียงใหม่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนการสร้างกำแพงเมืองและประตูเมืองด้านทิศใต้ เมื่อประตูผีมาอยู่ด้านนี้อาจจะทำความลำบากใจให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองที่จะหันมาทางด้านนี้ เนื่องจากเป็นความเคยชินเป็นประเพณี แล้วว่าต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อห้ามทางพระพุทธศาสนาที่จะให้หันไปทางทิศอื่น จึงเป็นการง่ายสำหรับสมัยนี้ที่จะหาว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดในเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ตรงแนวประตูสวนปรุง และหันมาทางทิศใต้เข้าหาประตูบ้าง

ลองลากเส้นตรงในแนวเหนือใต้จากประตูสวนปรุงเข้าไปในเมืองจะมีวัดที่อยู่ประมาณเส้นนี้หลายวัด กล่าวจากใต้ไปเหนือ เช่น วัดพวกหงส์ วัดหมื่นเงินกอง วัดปันแจ่ม วัดมณเฑียร ฯลฯ เป็นต้น อาคารทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหาร ของวัดต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกทั้งสิ้น วัดพระสิงห์เป็นวัดที่อยู่ตรงกับแนวนี้ที่สุดและเป็นวัดสำคัญที่สุดในบรรดาวัดทั้งหลายที่กล่าวมา สิ่งสำคัญในวัดคือวิหารหลวงและวิหารลายคำก็หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเพียงโบสถ์หลังใหญ่หลังเดียวเท่านั้นที่วางทิศทางขวางกับอาคารอื่นๆ เพราะหันหน้ามาทางทิศใต้ตรงกับประตูสวนปรุงพอดี จึงอาจกล่าวได้ว่า พระประธานในโบสถ์วัดพระสิงห์มีความหมายเกี่ยวกับการห้ามผีเข้าเมืองเชียงใหม่

ส่วนที่เมืองสุโขทัยเก่าไม่มีประตูผีเพราะไม่ได้หากัน ลองเลิกสนใจกับที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่าเมืองมี 4 ปากประตูหลวง หรือคิดเสียว่าที่บอกว่ามีสี่ประตูนั้นกล่าวแต่ประตูหลวง ประตูผีไม่ได้กล่าว แล้วลองหาดูก็จะพบประตูผีอย่างแน่นอน เพราะถ้าเมืองนี้ไม่มีประตูผีจริงๆ แล้ว ป่านนี้คงมีผีอยู่เต็มเมืองแล้วเป็นแน่

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565