ตามหาประตูพระราชวังหลวง “กรุงศรีอยุธยา” ที่หายไป!?

แผนที่ กรุงศรีอยุธยา จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ต้นรัชสมัย สมเด็จพระเพทราชา ตามหา ประตู พระราชวังหลวง ที่หายไป
แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ฉบับ ภาษาฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2236 ตรงกับต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยาฉบับเดอ ลา ลูแบร์ แผ่นแรกสุด (ภาพและคำอธิบายจากหนังสือกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่งเศส ของธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549 หน้า 84)

ตามหา ประตู พระราชวังหลวง “กรุงศรีอยุธยา” ที่หายไป อยู่ตรงไหน!?

แนวกำแพงล้อมรอบ พระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา ที่ปรากฏหลักฐานให้เห็นในปัจจุบันบ่งชี้ว่ามีการแบ่งเขตแนวภายในพระราชวังหลวงออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นนอก มีท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์เป็นพื้นที่ใหญ่ ชั้นกลาง ประกอบด้วยหมู่พระมหาปราสาทต่าง ๆ และชั้นใน เป็นพระที่นั่งประทับและเขตพระราชอุทยาน เขตแนวเหล่านี้มีประตูใหญ่-น้อยกั้น ซึ่งบางแห่งยังปรากฏให้เห็นร่องรอยและซากปรักของประตูด้วย เช่น ประตูบวรเจษฎานารี ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ติดกับด้านหลังของวัดพระศรีสรรเพชญ์ อาจเป็นประตูที่พระสงฆ์ใช้เข้า-ออก เขตพระราชฐาน

ส่วนแนวกำแพงรอบ พระราชวังหลวง มีป้อมก่อที่มุมกำแพง และที่ย่านกลางของแนวกำแพงเพื่องรักษาความปลอดภัยโดยรอบ ป้อมต่าง ๆ เหล่านี้มีชื่อปรากฏในคำบรรยายภูมิสถานอยุธยาและในกฎมณเฑียรบาล เช่น ป้อมท่าคั่น ป้อมศาลาสุมงคลบพิตร ป้อมวัดสีเชียง ป้อมสวนองุ่น และมีประตูน้ำ ประตูบกอีกจำนวนมาก ทั้งที่ปรากฏร่องรอยในปัจจุบันและยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

ที่ด้านทิศใต้ของพระราชวังหลวงมีโบราณสถานที่สำคัญหลายประการคือ ร่องรอยของป้อมที่ย่านกลางของวัดพระศรีสรรเพชญ์ และป้อมที่มุมวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ป้อมดังกล่าวมีสภาพสมบูรณ์พอใช้ กล่าวคือแสดงให้เห็นว่าเป็นป้อมที่ก่อย่อเก็จออกไป ตั้งแนวเชิงเทิน มีไต่เตี้ย และใบเสมา อาจเป็นไปได้ว่า ป้อมมี 2 ชั้น เหตุเพราะชั้นล่างมีการเจาะรูขนาดพอเหมาะกับลำกล้องปืนใหญ่ที่วางสอดไว้ เพื่อโจมตีข้าศึกทางด้านล่าง ส่วนประตูทางด้านทิศใต้มีหลายประตู ดังคำบรรยายภูมิสถานว่า

“ด้านทักษิณ ประตูวิจิตรพิมล 1 ประตูมงคลพิศาล 1 สุดท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์ ถึงประตูหูช้างชื่อ ฤทธิ์ไพศาล ขุนนางเข้าถือน้ำพิพัฒน์วัดพระศรีสรรเพชญ์ 1 มาถึงป้อมปืนกลางตรงวัดสีเชียง 1 มาถึงประตูบวรนิมิตร สำหรับพระมเหษีพระราชบุตรี นางข้างใน ออกถวายเพลิง 1 มาถึงป้อมปืนมุมวัดพระศรีสรรเพชญ์ 1 สุดด้านทักษิณ”

ในที่นี้แสดงว่าด้านตะวันออกของทิศใต้ เริ่มจากป้อมมุมป้อมหนึ่ง ซึ่งในกฎมณเฑียรบาลเอ่ยชื่อว่าป้อมมุมศาลาศาลบัญชี (ปัจจุบันคงเป็นบริเวณลานจอดรถหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ต่อมาเป็นแนวกำแพง และมีประตู 2 ประตู คือ ประตูวิจิตรพิมล และประตูมงคลพิศาล อันเป็นประตูสำหรับเข้าท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์ทางด้านทิศใต้

ประตูมงคลพิศาล นับเป็นประตูพระราชวังประตูหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นทางเข้าท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์ทางด้านทิศใต้ ซึ่งจะมีพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ประดิษฐานอยู่บริเวณแนวกำแพงกั้นแบ่งเขตพระราชฐานชั้นนอกและชั้นกลาง ที่ประตูนี้มีถนนสายหลักยืนยาวลงมาทางทิศใต้จรดแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณประตูไชย ถนนหลวงหรือถนนมหารัถยา สายนี้เป็นสายสำคัญมาก เพราะบรรดาราชทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับอยุธยา ต่างก็จะเริ่มตั้งกระบวนพระราชสาส์นที่ปากประตูไชยแล้วแห่แหนมาจนสุดที่ประตูมงคลพิศาลทั้งสิ้น แม้เอกสารจดหมายเหตุเรื่องคณะทูตลังกาเข้ามาประเทศสยามก็ระบุความในทำนองเดียวกันว่า

“ในวันที่ราชทูตจะเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อเดินทางทางเรือมาถึงประตูกำแพงใหญ่ก็ลงจากเรือเดินเข้าประตูไปสู่ถนนสิตะเนน และขึ้นรถม้า เมื่อราชทูตขึ้นรถม้ามาถึงประตูกำแพงชั้นในก็ลงจากรถและเดินเข้าประตูไป”

ประตู ถนนป่าตอง แผนที่ พระราชวังโบราณ พระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา
ประตูที่อยู่สุดถนนป่าตองในแผนที่พระราชวังโบราณ คือประตูวิจิตรพิมลซึ่งเป็นประตูสำหรับการเข้า-ออกท้องสนามจักรวรรดิ์ทางด้านทิศใต้ ทางด้านซ้ายมือของประตูนี้ ในแนวระนาบกำแหงวัดพระศรีสรรเพชญ์ คือช่องประตูมงคลพิศาลที่หายไป (ทั้งจากในแผนที่และจากสถานที่จริงในปัจจุบัน)

พระยาโบราณราชธานินทร์ อธิบายเพิ่มเติมว่าถนนสายนี้เป็นถนนใหญ่ตรงไปจากหน้าพระราชวัง ไปหักเลี้ยวที่มุมพระราชวังด้านใต้ แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปทางใต้ถึงประตูไชย ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำด้านใต้ เคยแห่รับพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศสกับปรากฏว่าเป็นที่ชุมนุมทัพเรือ ท่าประตูไชยนับเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีความสำคัญอย่างมากเช่น พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บันทึกว่า

เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อครั้งเป็นออกญากลาโหม ได้นำทัพเรือ 100 ลำ เศษและพลอีกราว 3,000 มาขึ้นบกที่ประตูนี้แล้วขึ้นมานำพลไปถึงศาลพระกาฬ คอยเวลาจน 8 ทุ่มได้เวลาจึงยกพลเข้าฟันประตูพระราชวังแล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ประตูมงคลพิศาล จึงเป็น ประตู พระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา ประตูหนึ่งที่มีความสำคัญดังหลักฐานและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่พรรณนามาแล้ว และเห็นสมควรบูรณะขึ้นอีกครั้งให้ถูกต้องตามแบบโบราณต่อไป อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าความกว้างของประตูมงคลพิศาลมีไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับความกว้างของประตูวิจิตรพิมล ทำให้สันนิษฐานว่าลักษณะของประตูทั้งสองอาจต่างกันไปด้วย

เป็นไปได้ว่าประตูวิจิตรพิมล เป็นประตูที่มีความสำคัญกว่า เพราะมีขนาดกว้างใหญ่กว่า มีร่องรอยของร่างสำหรับสอดธรณีประตูขนาดใหญ่ อาจเป็นประตูยอดมณฑปก็เป็นได้ ส่วนประตูมงคลพิศาลอาจเป็นประตูหูช้าง หรือประตูแบบโขลนทวารหรือทรงโดรณ ซึ่งไม่กว้างมากนัก หรืออาจเป็นประตูช่องกุดก็เป็นได้ทั้งสิ้น

ณ ปี พุทธศักราช 2550 นี้ ประตูมงคลพิศาลหายไปเสียแล้ว

ช่อง ประตู มงคลพิศาล แนวกำแพง
ณ พ.ศ. 2550 ช่องประตูมงคลพิศาลอันตรธานหายไป กลายเป็นแนวกำแพงใหม่สวยหรู!

ไม่ทราบว่าเป็นดำริของผู้ใด หรือเป็นอำนาจทิพย์ของเทวดาอารักษ์องค์ใดที่ทำให้ประตูพระราชวังหลวงที่เคยปรากฏร่องรอยช่องประตูอยู่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อันตรธานไปสิ้น ชะรอยว่าผู้นั้นอาจไม่เคยเห็นช่องประตูมาก่อน หรือมีความประสงค์จะใช้พื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจอย่างที่เคยมา

รูปถ่ายที่ส่งมาให้ศิลปวัฒนธรรมนี้ ถ่ายห่างกันราว 4 ปี คือเมื่อปี 2547 ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสสำรวจร่องรอยพระราชวังหลวงอยุธยา พบว่าที่บริเวณนี้มีช่องประตูอย่างชัดเจน ภายหลังคือเมื่อ พ.ศ. 2550 นี้ ก็ปรากฏว่าช่องประตูหายไป กลายเป็นกำแพงใหม่สวยหรู เพียงพอเป็นที่พักพิงสำหรับการค้าขายอย่างเสรี

ขอไหว้วอนเทวดาอารักษ์ช่วยตอบหน่อยเถิดว่า เอาประตูไปไหนและคนเขาจะเข้า-ออก พระราชวังหลวง อย่างใด และจะทำประตูให้ปิดตายอย่างนี้อีกกี่ประตู

ร่องรอย ช่อง ประตู ประตูมงคลพิศาล
ภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2547 ยังปรากฏร่องรอยช่องประตูของประตูมงคลพิศาล

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤษภาคม 2560