ผู้เขียน | บูรพาวิถี |
---|---|
เผยแพร่ |
พระมหากษัตริย์ของไทยเกือบทุกพระองค์มักจะทรงผนวชในพระพุทธศาสนาก่อนขึ้นครองราชย์ เพื่อทรงนำหลักธรรมต่างๆ มาใช้ในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะหลักทศพิธราชธรรม หมายถึงธรรมะ 10 ประการ สำหรับพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ทรงปฏิบัติตนเป็นพุทธมามกะ และทรงอุปถัมภกพระพุทธศาสนามาโดยตลอด เช่น การบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา รวมทั้งเสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งส่วนมากมักจะอยู่ในเขตเมืองหลวง มีเพียงบางครั้งเท่านั้นที่เสด็จไปตามหัวเมืองต่างๆ แต่ไม่ปรากฏในทุกรัชกาล จะมีเพียงนานๆ ครั้งเท่านั้น เพราะการเดินทางในอดีตมีความลำบากต้องเดินทางด้วยเท้า หรือใช้ช้าง ม้า วัว เรือเป็นพาหนะ ตามแต่สภาพท้องที่ที่เสด็จประพาสไป
ในสมัยอยุธยาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก (คราวเสด็จไปทำศึกสงครามกับพม่า) ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี หลังจากพรานบุญไปพบรอยพระพุทธบาท และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทหลายครั้งหรือแทบทุกปี เกิดประเพณีการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทถือมาจนกระทั่งสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จไปเป็นแม่กองในการยกพระมณฑปพระพุทธบาทเสียใหม่แทนของเก่าที่พวกจีนคลองสวนพลูเผา หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีอีก จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีอีกครั้งหนึ่ง
การจาริกแสวงบุญเป็นกิจกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยแบบจารีตโดยศาสนสถานที่ได้รับความนิยมเดินทางไปเยือนอย่างสูงจากการเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธบาท เมืองสระบุรี, พระปฐมเจดีย์ เมืองนครปฐม และพระแท่นดงรัง เมืองกาญจนบุรี โดยประเพณีบูชาพระพุทธบาทกลางเดือน 3 และการเดือน 4 ยังคงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
ดังจะเห็นได้จาก นิราศพระบาทของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ 2350 คราวที่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทเมื่อวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 (วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2350)
การเดินทาง “ไปไหว้พระบาท” นั้น ไม่ใช่การจาริกแสวงบุญเพื่อสร้างสมบุญบารมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ผู้เดินทางจะได้รับความเพลิดเพลินจากธรรมชาติอันแปลกตาระหว่างการเดินทางและบริเวณเขาสุวรรณบรรพต มีสถานที่งดงามน่าเที่ยวชมอีกหลายแห่ง อาทิ เขาโพธิลังกา ถ้ำประทุนคีรี น้ำตกธารเกษม ดังนั้น การ “ไปไหว้พระบาท” จึงเป็นการเดินทางเพื่อความสุขสำราญจากการชมความงดงามของธรรมชาติ การพักผ่อนหย่อนใจและการพบปะกันของหนุ่มสาว ดังที่สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียงกับพระพุทธบาท รวมทั้งกิจกรรมของหนุ่มสาวไว้ว่า
มาถึงเชิงคีรีที่มีถ้ำ ศิลาง้ำเงื้อมแหงนเป็นแผ่นเผิน
ไม้รวกรอบขอบเขาลำเนาเนิน พิสเพลินพฤกษาบรรดามี
อันชื่อถ้ำแต่บุรำบุราณเรียก สําเหนียกถ้ำประทุนคีรีศรี
สำคัญปากคูหาศาลามี ชวนสตรีเข้าถ้ำทั้งหกคน
เที่ยวชมห้องปล่องหินเป็นพู่ห้อย มีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย ใครปาดป้ายด้วยดินหม้อเหมือนแมวคราว
ครั้นออกจากคูหาเห็นหน้าเพื่อน มันมอมเปื้อนแปลกหน้าก็ฮาฉาว
บ้างถูกเล็บเจ็บแขนเป็นริ้วยาว ก็โห่กราวกรูเกรียวไปเที่ยวดง ฯ
ถึงถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำกินนรนั้น สะพรั่งพรรณพฤกษาป่าระหง
ดูคูหาก็เห็นน่ากินนรลง เป็นเวิ้งวงลึกแลตลอดริม
พาดพะองจึงจะลงไปเล่นได้ เป็นเหวใหญ่ลองโยนด้วยก้อนหิน
เสียงโก้งก้างก้องกึงไม่ถึงดิน กว่าจะสิ้นเสียงผาเป็นช้านาน
นอกจากนี้ยังมีงานวรรณกรรมนิราศอีกหลายเรื่องของสุนทรภู่ ที่ได้แต่งขึ้นในระหว่างการเดินทางไปนมัสการศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา เช่น นิราศภูเขาทอง และนิราศพระประธม ซึ่งสุนทรภู่ได้บรรยายให้เห็นภาพของสิ่งที่เขาพบเจอระหว่างการเดินทางตามเส้นทางไปนมัสการจาริกแสวงบุญ รวมไปถึงสิ่งแปลกใหม่ที่ได้พบเห็นผ่านบทกลอนที่เสนาะไพเราะ โดยได้มีการพรรณนาเปรียบเทียบสถานที่ต่างๆ กับการใคร่ครวญถึงนางอันเป็นที่รัก ดังปรากฏให้เห็นผ่านคำกลอนในการเดินทางเพื่อไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง ดังนี้
“ประทับท่าหน้าอรุณอารามหลวง ค่อยสร้างทรวงทรงศีลพระชินสีห์
นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้ ไว้เป็นที่โสมนัสทัศนา
ด้วยได้ไปเคารพพระพุทธบาท ทั้งสถูปบรมธาตุพระศาสนา
เป็นนิสัยไว้เหมือนเดือนศรัทธา ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ…”
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2557). ชีวิตและงานของสุนทรภู่ : ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่. กรุงเทพฯ : แสงดาว.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2565