ควีนวิกตอเรีย-เจ้าชายอัลเบิร์ต โมเดลที่เล่าลือว่าราชสำนักคิดจะใช้

ควีนวิกตอเรีย-เจ้าชายอัลเบิร์ต ในพิธีราชาภิเษกสมรส

ควีนวิกตอเรีย (ค.ศ. 1819-1901) พระราชินีอังกฤษทรงขึ้นครองราชย์ (ค.ศ. 1838-1901) รัชกาลของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด และได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน เพราะมีอาณานิคมมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่ส่งเสริมควีนวิกตอเรียก็คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต ( ค.ศ. 1819-1861)

เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีของพระองค์นั้นเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการปกครองคนจึงมีส่วนช่วยประสานงานกับรัฐบาล และเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ แทนควีน ตลอดจนนำพาประเทศผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองไปได้หลายครั้งหลายหน ฯลฯ

และนั่นคือ “โมเดล” ที่เล่าลือว่าครั้งหนึ่งราชสำนักไทยเคยคิดจะใช้

รายละเอียดเรื่องนี้ วีระยุทธ ปีสาลี อธิบายไว้ในบทความชื่อ “ขัตติยารีศึกษา: การศึกษาของเจ้านายสตรี จากวิถีจารีตสู่วิถีสมัยใหม่” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565) ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี

มีหลักฐานจากบันทึกเล่าเบื้องหลังการกระทำสัตย์ปฏิญาณครั้งที่ 2 ของแกนนำกลุ่มสยามหนุ่มราว พ.ศ. 2424 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะส่งพระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ดังความว่า

“เหตุที่ได้กระทำสัตย์ขึ้นครั้งนี้ เพราะกรมพระราชวังบวรฯ มิศเตอร์น๊อกกงสุลอังกฤษคิดจะเอาพระโอรสองค์ใหญ่มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวิลัย (พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส) ส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อมิศเตอร์น๊อกจะเปิดเผยที่เมืองอังกฤษว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระบรมราชโอรส มีแต่พระราชธิดาองค์ใหญ่คือกรมขุนสุพรรณฯ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระโอรส พระโอรสนี้จะเป็นรัชทายาทต่อไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้แล้ว จึงทรงพระวิตกคิดให้สมเด็จวังบูรพากำกับให้กรมขุนสุพรรณออกไปเรียนวิชาณะประเทศอังกฤษ ความที่ทรงหวังในเวลานั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนสุพรรณเปนกวีนวิกตอเรีย สมเด็จวังบูรพาเปนปรินอารเบิตเวลานั้น

ได้จัดผู้ที่จะตามเสด็จไปประเทศยุโรปไว้พร้อม ถึงกับได้กำหนดวันที่จะเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เวลานี้ข้าราชการทั่วไปพากันตื่นเต้นเข้าไปเฝ้าอยู่ทั่วทุกชั้น เวลานั้นจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นจึงได้รับเหตุดังกล่าวนี้ ในไม่กี่เดือนก็ได้ทราบเกล้าฯ ว่า สมเด็จพระพรรวะสมาตุฉาเจ้าทรงพระครรภ์ ในไม่ช้าก็ประสูตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชดำริห์ดังที่กล่าวนี้จึงเปนอันระงับไป” [1]

จากข้อความในเอกสารจะเห็นได้ว่าหลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศประสูติก็ทรงระงับพระราชดำริที่จะส่งพระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ไปศึกษาที่อังกฤษ กระทั่งสิ้นสุดรัชกาลก็ไม่มีพระราชดำริส่งเจ้านายฝ่ายในไปเรียนต่างประเทศอีก

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :

[1] เกษม ศิริสัมพันธ์. “แกนนำของกลุ่มสยามหนุ่มเมื่อต้นรัชกาลที่ 5,” ใน วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ). จัตุศันสนียาจารย์. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม, 2547), น. 67-68.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม 2565