ประเทศไทยก็เคย “ปฏิเสธอำนาจศาลโลก” (ก่อนยอมปฏิบัติตามแต่โดยดี)

พระสงฆ์กัมพูชาเดินบนซากปรักหักพังของปราสาทเขาพระวิหารเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2013 (AFP PHOTO/ TANG CHHIN SOTHY)

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA) มีคำวินิจฉัยตัดสินข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนในกรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แต่จีนได้ยืนยันจุดยืนของตนมาแต่ต้นว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล

แม้จีนจะประกาศอย่างมั่นใจว่าตนเองมีสิทธิโดยชอบเหนือพื้นที่พิพาท แต่กลับปฏิเสธอำนาจศาลและไม่ยอมต่อสู้คดี (อาจเพราะรู้แต่แรกว่าสิทธิที่ตัวเองอ้างไม่ได้อยู่บนฐานที่ได้รับการยอมรับตามหลักกฎหมายสากลซึ่งจีนมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม) และแสดงท่าทีแข็งกร้าวว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ทำให้จีนถูกมองว่าทำตัวเป็น “อันธพาล” อยู่เหนือกฎหมาย (เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในประเด็นนี้เช่นกัน)

ย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีก่อน ไทยก็เคยมีข้อพิพาทระหว่างประเทศกับกัมพูชาเหนือดินแดนเขาพระวิหาร โดยคดีนี้กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งข้อต่อสู้สำคัญของไทยประการหนึ่งก็คล้ายกับจีนเมื่อไทยประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาล ICJ แต่ที่ต่างไปจากจีนก็คือไทยแต่งทนายเข้าสู้คดีในศาลฯ อย่างภาคภูมิ

เหตุที่ไทยปฏิเสธอำนาจของ ICJ ฝ่ายไทยต่อสู้ว่า เนื่องจากไทย “ไม่เคยยอมรับอำนาจของ ICJ มาก่อน” ICJ จึงไม่มีอำนาจอะไรมาบังคับไทย!

ทั้งนี้ ต้องขออธิบายก่อนว่า ICJ เกิดขึ้นในปี 1945 (พ.ศ. 2488) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะฝ่ายตุลาการขององค์การสหประชาชาติ เพื่อแทนที่ “ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ” (PCIJ) หรือ “ศาลโลก” ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1920 (พ.ศ. 2463) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในฐานะองค์กรลูกขององค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งสิ้นสภาพไปพร้อมๆกันหลังครามโลกครั้งที่ 2

ฝ่ายไทยอ้างว่า ไทยเคยยอมรับอำนาจของ PCIJ ในปี 1929 (พ.ศ. 2472) แต่เมื่อศาลแห่งนี้สิ้นสภาพไปแล้วพร้อมกับองค์การสันนิบาตชาติ ไทยย่อมไม่มีความผูกพันใดๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามองค์กรศาลภายใต้องค์การสหประชาชาติซึ่งตั้งขึ้นภายหลัง และการประกาศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1950 (พ.ศ. 2493) เพื่อรับรองอำนาจของ “PCIJ” ย่อมไม่มีผลอันใดเพราะ PCIJ ไม่มีตัวตนอยู่แล้วในขณะนั้น

ทั้งนี้ หนังสือประกาศดังกล่าวของไทยถึงเลขาธิการสหประชาชาติมีความดังนี้

“ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่า โดยคำประกาศลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2472 [1929] รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ยอมรับเขตอำนาจบังคับของศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ [PCIJ] ตามมาตรา 36 วรรคสองของธรรมนูญศาลโลกมีระยะเวลา 10 ปี และอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการปฏิบัติต่างตอบแทนกัน ต่อมา ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 [1940] คำประกาศนั้นก็ได้รับการขยายออกไปอีก 10 ปี

บัดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่จะแจ้งให้ทราบว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ขยายคำประกาศดังกล่าวข้างต้นออกไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 [1950, หลัง PCIJ สิ้นสภาพไปแล้ว เช่นเดียวกับองค์การสันนิบาตชาติ] ภายใต้ข้อจำกัด เงื่อนไข และข้อสงวนเช่นเดียวกับคำประกาศ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2472” (คัดจากเนื้อหาที่อ้างโดย บวรศักดิ์ อุวรรโณ ใน “แฉเอกสาร ‘ลับที่สุด’ ปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505-2551”)

ข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยเหมือนจะฟังขึ้นแต่กลับฟังไม่ขึ้น เพราะความพยายามที่จะเล่นคำของฝ่ายกฎหมายที่ยืนยันว่า “ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ” (PCIJ) ไม่ใช่ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (ICJ) ซึ่งจริง แต่หากพิจารณาจากคำประกาศข้างต้น เห็นได้ว่าตอนที่ออกประกาศ ไทยน่าจะมอง ICJ ว่าเป็นองค์กรซึ่งมีความต่อเนื่องมาจาก PCIJ จึงยังคงเรียกด้วยชื่อเดิมต่อไป

หากไทยเห็นว่า ICJ ไม่เกี่ยวอะไรกับ PCIJ ไทยจะมีคำประกาศดังกล่าวไปยัง “เลขาธิการสหประชาชาติ” ด้วยเหตุอันใด และในปีที่มียื่นประกาศดังกล่าวก็ล่วงเลยเวลาที่องค์การสันนิบาตชาติได้สิ้นสภาพไปมานานกว่า 4 ปี (เช่นเดียวกับ PCIJ) ไทยคงไม่ “ตกข่าว” ขนาดไม่รู้ว่าองค์กรทั้งสองไม่มีอยู่ในโลกมานานแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 1961 (พ.ศ. 2504) ศาล ICJ จึงมีคำพิพากษาในข้อโต้แย้งเบื้องต้นของฝ่ายไทยตามคำพิพากษาย่อที่กล่าวว่า

“…หากศาลใช้หลักการตีตามปกติวิธี คำประกาศดังกล่าวย่อมไม่อาจมีความหมายอื่นใดนอกไปจากการยอมรับอำนาจบังคับของศาลปัจจุบัน [ICJ] เนื่องจากไม่มีศาลอื่นที่คำประกาศดังกล่าวจะเกี่ยวเนื่องได้อีก ประเทศไทยซึ่งตระหนักรู้ถึงการสิ้นสภาพของศาลเดิม [PCIJ] อยู่แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลประการอื่นในการยื่นประกาศถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ตามมาตรา 36 วรรคสี่แห่งธรรมนูญ [Statue of the International Court of Justice] นอกเสียจากเป็นการประกาศยอมรับอำนาจบังคับของศาลปัจจุบันตามวรรคสองของมาตราดังกล่าว…”

หลังคำพิพากษาเบื้องต้นออกมาเป็นโทษดังนี้ ไทยก็มิได้อิดออดแต่ยังคงต่อสู้ตามระบบจนสุดท้าย ศาลฯ ตัดสินว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายในอธิปไตยของกัมพูชา” และไทยก็น้อมรับคำพิพากษาแต่โดยดี (แต่ถ้าไทยเป็นมหาอำนาจระดับเดียวกับจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด)


อ้างอิง: คำพิพากษาย่อ (26 พฤษภาคม 1961) ของ ICJ ว่าด้วยคำโต้แย้งเบื้องต้นในข้อพิพาทเกี่ยวกับเขาพระวิหาร <http://www.icj-cij.org/docket/files/45/4859.pdf>