ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
เรื่องอื้อฉาวจากเกร็ดพระราชประวัติรัชกาลที่ 4 กับกรณี “ลอบปลงพระชนม์”
กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ เพื่อให้เกิด “มโนทัศน์” เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย กลายเป็นแบบแผนของอุดมคติในการเขียนประวัติศาสตร์ไทย ที่จะส่งผลให้พระราชวงศ์จักรีและบ้านเมืองของพระองค์ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงถาวร พบได้ในพงศาวดารไทยทุกฉบับจากอดีตถึงปัจจุบัน
แต่ฉบับที่เน้นความสำคัญของพระมหากษัตริย์มากที่สุด ในการรักษาอิสรภาพและจรรโลงบูรณาการของชาติ เพื่อให้คนไทยยอมรับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายใต้พระราชวงศ์จักรี คือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการชำระหรือทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เช่น เมื่อบรรยายถึงพระคุณสมบัติและพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงช่วยให้เมืองไทยรอดพ้นจากการคุกคามของชาวตะวันตก ก็ทรงอรรถาธิบายอย่างสวยสดงดงามจน “ไม่มีที่ติ” เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่เสื่อมคลาย และอ้างถึงเคล็ดลับในการดำเนินรัฐประศาสโนบายแบบสั้นๆ ว่า ทรงต่อสู้มาด้วย “ความยากลำบาก” และ “มิใช่เรื่องง่าย”
เคล็ดลับที่ว่านั้น มักจะไม่มีคำอธิบายต่อไปอีก ว่าเกิดขึ้นอย่างไร และเพราะเหตุผลกลใด จึงเป็นการอำพรางประเด็นเรื่อง “ความยากง่าย” ออกไปจนหมด ปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินพระบรมราโชบายจึงไม่มีการพูดถึง มีแต่ความสำเร็จเท่านั้นที่ “ต้องการให้รู้” และจำเป็นต้องรู้ อรรถรสของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จึงเป็นศาสตร์ที่ตายและไม่มีวิวัฒนาการดังเช่นวิทยาการแขนงอื่นๆ ในการศึกษาของคนไทย
หลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์ไทย กล่าวไว้ในหนังสือมหาบุรุษของท่านว่า “พงศาวดารของเรายังมิได้ทำขึ้นครบบริบูรณ์ เรายังไม่มีหนังสือเล่มใด สำหรับการศึกษาให้ทราบประวัติอันแท้จริง ตลอดถึงนิสัยใจคอ และจริยาวัตรของมหาบุรุษเราให้ลึกซึ้งได้” [1]
ถ้าสามารถเปิดใจกับความจริงที่ว่านี้ได้ จึงจะอ่านเรื่องนี้สนุก เพราะสิ่งที่จะพบต่อไปนี้ไม่มีในหนังสือพงศาวดารไทย แต่เป็นเกร็ดนอกพงศาวดาร ของการศึกษาประวัติศาสตร์อีกวิธีหนึ่ง จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็อาจจะเคย “ทรงอ่าน” และ “มีพระราชวินิจฉัย” มาแล้วก็ได้ รู้ได้จากการที่ทรงเป็นสมาชิกบอกรับ “หนังสือพิมพ์อังกฤษ” จากลอนดอนอยู่หลายฉบับ ข่าวสารต่างๆ ช่วยให้พระองค์ทรงก้าวทันโลก รู้ทันเหตุการณ์ ทรงเชื่อว่าหนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศของพระองค์ได้ [3]
รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระทัยเปิดกว้างและเป็นกลาง หลายครั้งที่ทรงแสดงให้เห็นว่า “รับได้” กับคำวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้จะเกินเลยไปบ้างก็ไม่ทรงถือ เช่น ในกรณีพวกฝรั่งเปรียบเปรยถึงพระองค์และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์อังกฤษที่สิงคโปร์ ตรัสว่า “เรื่องของเมืองไทย ไปเขียนอยู่ในหนังสือพิมพ์ ปิดไว้ไม่ใคร่อยู่”
โดยเฉพาะกับทูตไทยที่จะไปยุโรป ทรงตักเตือนทุกคนให้ระมัดระวังตัวในการให้ข่าว เพราะทรงรู้ว่าสำนักข่าวอังกฤษเป็นผู้กว้างขวาง และมักจะชอบขุดคุ้ยเรื่องของพระองค์ไปกล่าวถึงอยู่เสมอ มีพระราชปรารภอีกว่า “อังกฤษเขามาอยู่ที่กรุงก็มาก อะไรอย่างไรเขาก็รู้” [4]
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทรงเชื่อว่าสำนักพิมพ์อังกฤษซึ่งเก่าแก่และมีมานาน ให้ข่าวสารที่เป็นความจริง และน่าติดตามที่สุด ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ในลอนดอนฉบับหนึ่งเปิดโปง “เรื่องอื้อฉาว” จากราชสำนักไทยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของพระราชวงศ์ชั้นสูงที่สุด ต่อสาธารณชนทั่วไป ข่าวนั้นไปถึงอังกฤษก่อนคณะราชทูตไทยจะเดินทางตามไปในปีถัดมา (ค.ศ. 1857) แต่ในสยามข่าวสะเทือนขวัญดังกล่าวไม่ได้รับการเผยแพร่แต่อย่างใด เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หน่วยข่าวกรองอังกฤษตีแผ่กรณี “ลอบปลงพระชนม์” ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รายงานไว้ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) ตรงกับปีมะโรงอัฐศก จ.ศ. 1218 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งพงศาวดารไทยให้ภาพขัดแย้งว่าเป็นปีที่สงบราบรื่น และเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง [2]
หนังสือพระราชประวัติรัชกาลที่ 4 เล่มหนึ่งชี้เบาะแสความไม่ลงรอยกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับอัครมหาเสนาบดีของพระองค์ แต่ก็มิได้ชี้ชัดว่า “ถึงขีดอันตราย” เพียงแต่ยืนยันว่าหนักข้อเข้าทุกที [1]
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้รับพระมหากรุณาแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหม มีอำนาจยิ่งใหญ่ในวงราชการแผ่นดิน เพราะราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ท่านคนเดียว จึงมีคนระแวงกันว่า เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตแล้ว จะมีผู้แย่งราชสมบัติ
แม้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเกรงกลัวหวาดหวั่นอำนาจของท่าน ถึงกับทรงสะสมกระสุนดินดำและเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้มากมาย ทั้งนี้เพราะไม่ทรงวางพระทัยในตัวท่านช่วงเลย แม้แต่รัชกาลที่ 4 เองก็ทรงเตรียมการบางอย่างไว้เหมือนกัน เช่น โปรดให้เซ้งตึกและที่ดินไว้ในสิงคโปร์ เพื่อพระราชทานให้พระราชโอรสธิดาเป็นสิทธิ์ขาดเฉพาะตัว หากต้องตกยากพลัดพรากจากบ้านเมืองไปในวันข้างหน้า [1]
การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายคำสารภาพใน พ.ศ. 2409 ต่อรัชกาลที่ 4 ว่าที่ทรงตระเตรียมอาวุธกระสุนไว้ก็เพื่อปกป้องราชบัลลังก์จากผู้คิดการร้าย เป็นสิ่งย้ำเตือนรัชกาลที่ 4 อยู่เสมอ มิให้ทรงประมาท [1]
การเปลี่ยนแปลงบทบาททางการเมืองของ “ผู้นำสยาม” อย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่กี่ปี ก่อให้เกิดบรรยากาศเย็นชาในราชสำนักไทย ประการแรก การที่กลุ่มขุนนางสายสกุลบุนนาค ที่มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นหัวหน้าสำคัญ สนับสนุนให้เจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์ เพราะเห็นว่าทรงผนวชมานาน ทำให้ไม่ทรงมีไพร่พล ที่จะเป็นฐานกำลังทหารเพื่อลิดรอนอำนาจทางการเมืองของขุนนางตระกูลนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงแก้เกมการเมืองด้วยการสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีกำลังพลอยู่ในพระหัตถ์เช่นกัน ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ก็เพื่อคานอำนาจขุนนางทางอ้อม
ประการที่สอง ผลประโยชน์ทางการเงินและการค้าขาย การผูกขาดทางภาษีอากร และ ฯลฯ ที่คนในตระกูลบุนนาคครอบครองอยู่ กำลังถูกตัดรอนโดยข้อผูกมัดในสนธิสัญญาใหม่ๆ กับชาติตะวันตก เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงเปิดทางให้พวกอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกาเข้ามาทำ ย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางอำนาจบริหารปกครองของขุนนางในระบบเก่า และกระทบกระเทือนความมั่งคั่งร่ำรวยของตระกูลของท่านที่สร้างสมมาเป็นเวลาช้านาน
ล้วนแต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านพระบรมราโชบายแผนใหม่ การที่ต่างฝ่ายต่างสะสมกำลังทหาร จึงเป็นการคุมเชิงกันอยู่ในสายตาของคนทั่วไป แต่เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาของผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมือง และไม่ประสงค์จะสูญเสียอิทธิพลนั้นไป
สิ่งที่ตามมาคือ การที่ความรู้สึกภายในราชสำนักไทยเล็ดลอดออกไปสู่ “มือที่สาม” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงหวั่นพระทัยหนักหนา คือ “หนังสือพิมพ์ฝรั่ง”
ในระหว่างที่คณะราชทูตไทยเชื้อสายบุนนาคนับสิบคนเดินทางสู่ราชสำนักยุโรป ความหวังดีของรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะชี้แจงว่าพวกทูตานุทูตที่ทรงส่งไป อันที่จริงเป็นพระญาติวงศ์ผู้ใกล้ชิด ไม่ส่งผลดีต่อพระองค์เลย ในอังกฤษทรงแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) ราชทูต โดยตระกูลแล้วเป็นราชนิกุลเชื้อพระวงศ์ในพระเจ้ากรุงสยาม ในฝรั่งเศสทรงยอมรับว่า พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นพระญาติอันสนิทกับพระเจ้ากรุงสยามถึงสามแผ่นดินมาแล้ว [4]
ที่รู้ว่าเป็นผลเสีย เพราะพวกฝรั่งพากันเข้าใจผิดว่า พระประยูรญาติที่ทรงยกย่องให้เกียรติเหล่านั้น เป็นตัวแทนของกษัตริย์สยามที่จะได้สืบสันตติวงศ์ต่อไปในอนาคต!
หนังสือพิมพ์ The Illustrated London News ของอังกฤษ พิมพ์ใน ค.ศ. 1858 (พ.ศ. 2401) สร้างความไขว้เขวไปทั่วกับข่าวการถึงแก่พิราลัยของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “ครอบครัว” ของรัชกาลที่ 4 ดังกล่าวแล้ว จึงพิมพ์ว่าเป็นการเสด็จสวรรคตของกษัตริย์องค์ที่ 1 ในสยาม [8]
หนังสือพิมพ์ L”Illustration ของฝรั่งเศส พิมพ์ปี ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) ยืนยันว่า “ราชทูตไทยเล่าเรื่องความเป็นไปในราชสำนักที่ทำให้เราต้องอึ้ง เป็นที่รู้กันว่า หลังจากรัชกาลของคิงมงกุฎ (รัชกาลที่ 4) สิ้นสุดลงแล้ว ประมุขคนใหม่ไม่มีผู้ใดเหมาะสมเท่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่เป็นรองจากกษัตริย์ทางด้านปกครองอยู่ ณ กรุงสยามในเวลานี้” [9]
ความเข้าใจผิดเพี้ยนลักษณะนี้คงจะสร้างความตะขิดตะขวงใจกับฝ่ายไทยไม่น้อย ทั้งๆ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงเตือนแล้วเตือนอีก แต่ “เรื่องซุบซิบ” ที่ไม่มีมูล ก็สามารถกลายเป็น “ข่าวลือ” ขึ้นมาได้ง่ายดาย สำหรับชาวอังกฤษ ในประเทศที่ไม่คุ้นเคยกับระบบอุปถัมภ์ของชาวสยาม
ในปี พ.ศ. 2399 เมื่อข่าว ลอบปลงพระชนม์ ในกรุงเทพฯ แพร่สะพัดไปถึงอังกฤษนั้น ทางเมืองไทยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น คือ…
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหม อัครมหาเสนาบดีแทนบิดา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) ที่เพิ่งถึงแก่พิราลัย อังกฤษขอเข้ามาแก้สัญญาเบาริ่ง ทูตอเมริกันและทูตฝรั่งเศส ขอเข้ามาทำสัญญาการค้าและพาณิชย์ ทูตฝรั่งเศสขอไปเยี่ยมราชสำนักเขมร สุดท้ายคือ ไทยเตรียมส่งคณะทูตไปอังกฤษ [2] พร้อมกับแบบจำลองเครื่องขัตติยราชูปโภคของกษัตริย์สยามเพื่อถวายแด่พระราชินีอังกฤษ พวกขุนนางหัวเก่าที่ยังยึดจารีตโบราณ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับพระบรมราโชบายนี้เท่าใดนัก ทว่าจำเป็นต้องเงียบเฉยไว้ แต่ไม่รีรอที่จะแสดงตัวเป็นผู้ต่อต้านชาวยุโรปทุกวิถีทาง
จะเห็นได้ว่าจุดสนใจแทบทั้งหมดเน้นไปที่ความคืบหน้าทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลไม่น้อยสนองกลับมาทางด้านการค้าและพาณิชย์ ตลอดจนบทบาทและอิทธิพลของชาวต่างประเทศในราชสำนักไทย และที่สำคัญคือจุดยืนของรัฐบาลไทยในเวทีการเมืองสากล ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิทธิ์และเสียงของขุนนางในระบบเก่าจึงค่อยๆ หมดไป
ถึงแม้ความวิตกกังวลในเรื่องคิดการกบฏ เพื่อแย่งชิงราชสมบัติจะดำเนินต่อไปจนตลอดรัชกาลที่ 4 แต่ก็ไม่ปรากฏว่ารัชกาลที่ 4 ทรงปักพระทัยเชื่อว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้ต้องสงสัย จึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นปกติต่อท่านเรื่อยมา และไม่เคยลิดรอนอำนาจของท่านลงแม้แต่น้อย เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ ถึงกระนั้นก็ทรงไม่สามารถลบล้างความกินแหนงแคลงใจให้สูญสิ้นไปได้
ในกรุงรัตนโกสินทร์ ประชาชนไม่ค่อยคุ้นเคยกับการคิดทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในยุโรปเรื่องทำนองนี้เป็นข่าวอยู่เสมอ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษ ทรงถูกลอบยิง 4 ครั้ง ในรอบ 3 ปีตอนต้นรัชกาล เหตุเกิดขณะประทับอยู่บนรถม้าพระที่นั่งตลอด แต่ก็ทรงรอดชีวิตมาได้ เป็นเรื่องแปลกที่คนร้ายในอังกฤษเป็นพวกโรคจิตทั้งสิ้น และพระนางก็ทรงอภัยโทษให้ในภายหลัง
ในฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงถูกข่มขู่อย่างหนัก หลังจากที่ “ลัทธินโปเลียน” ของพระองค์เข้าครอบงำยุโรปเป็นเวลาหลายปี ทำให้ทรงมีศัตรูรอบด้าน การที่ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงปัญหาเรียกร้องอิสรภาพในอิตาลี เป็นสาเหตุของความอาฆาตมาดร้าย
เรื่องมีอยู่ว่า ทรงสนับสนุนให้ชาวอิตาเลียนเป็นอิสระจากออสเตรีย แต่แล้วทรงกลับพระทัยล้มเลิกแผนการลงกลางคัน ทำให้พวกอิตาเลียนชาตินิยมโกรธแค้นมาก นายออซานี นักปฏิวัติหัวรุนแรงคิดแผนประทุษร้ายนโปเลียนที่ 3 ขณะเสด็จไปทอดพระเนตรละครที่โอเปร่า กลางกรุงปารีส ในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1858 เขาปาระเบิดประสิทธิภาพสูง 3 ลูก ไปที่รถม้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จถึง แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 9 คน และบาดเจ็บอีกราว 150 คน
นโปเลียนที่ 3 และพระนางยูเจนี เสด็จลงจากรถม้าอย่างทุลักทุเลแต่ปลอดภัย ขณะที่ชุดราตรีสีขาวของพระนางเปื้อนไปด้วยเลือดของราชองครักษ์ ทั้งสองพระองค์ฝืนพระราชดำเนินฝ่าฝูงชนที่แน่นขนัดต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้าน ท่ามกลางเสียงปรบมือและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกึกก้องทั่วทั้งโรงละคร
คดี ลอบปลงพระชนม์ ในอังกฤษและฝรั่งเศส ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และเป็นข่าวอยู่หลายวัน กับถูกบันทึกอยู่ในพงศาวดารอย่างละเอียดลออ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชประวัติ ที่ถูกกล่าวขวัญว่าเป็น “ราคาของความสำเร็จ” ที่ไม่ได้มาแบบถูกๆ [6]
กล่าวฝ่ายในเมืองไทย บังเอิญเรื่องอื้อฉาวที่เป็นข่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนเปลี่ยนแผ่นดิน แต่อยู่ในปีที่ 5 ซึ่งยังเป็นช่วงต้นรัชกาลที่ 4 การแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ของฝ่ายตรงข้ามต่อราชบัลลังก์ยังไม่ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัดนัก ความร้าวฉานใดๆ ในวงราชการยังมิได้อุบัติขึ้น รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงรอบรู้ในเรื่องศิลปวิทยาการแบบตะวันตก และแตกฉานในการเมืองระหว่างประเทศ จึงเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นองค์ประมุขของประเทศ ตามสภาวะของยุคสมัยที่กำลังปรับเปลี่ยน บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียด ถ้ามีอยู่จริงก็น่าจะมีเค้ามาจากการเสียผลประโยชน์อย่างรุนแรง และความขัดแย้งกับพระวิเทโศบายต่างประเทศ ที่รุดหน้าเร็วเกินไป ทำให้คนบางกลุ่มรับไม่ได้ นี่คือข้อสันนิษฐานเบื้องต้น
แต่ที่ผิดสังเกตและ “น่าพิจารณา” อย่างยิ่ง ซึ่งทำให้สมมุติฐานมีน้ำหนักขึ้นไปอีก คือ “คำให้การ” ของคนในครอบครัวบุนนาคเอง ชี้เบาะแสความระหองระแหงว่ามีมูลความจริง ปรากฏอยู่ในพระดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นเชื้อสายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) มีไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ พระราชโอรส ความว่า…
“เพราะแม่รู้อยู่เต็มใจว่าชาวฟากข้างโน้น (สกุลบุนนาค มีถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่ฝั่งธนบุรีเป็นส่วนมาก จึงเรียกว่าชาวฟากข้างโน้น-ผู้เขียน) นั้น เป็นที่รังเกียจของเจ้านายเป็นอันมาก เพราะผู้ใหญ่บางคนทำยุ่งเหยิงไว้ ความชั่วเลยมาแปดเปื้อนแก่พวกลูกหลานต่อมา แลพวกเหล่านั้นกองพันโตหนักด้วย ประการหนึ่งตัวของลูกก็ไม่ใช่เป็นเจ้านายสามัญ ความระแวงสงไสยมันอาจต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นเจ้าฟ้าปัญญาดี แลมีญาติข้างแม่มาก เพราะฉนั้นจึงเห็นว่า การที่จะแก้ความรแวงว่าจะหมายเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ก็มีอย่างเดียวที่จะต้องทำให้ทูนหม่อมโต (รัชกาลที่ 6) ท่านรักใคร่ไว้วางพระทัยจริง ให้ปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายมากๆ เท่านั้น” [5]
คำว่า “ทำยุ่งเหยิงไว้” และ “ความชั่วจึงมาแปดเปื้อนลูกหลาน” เป็นคำพูดค่อนแคะที่มีความนัยโยงใยไปถึงความไม่ดีไม่งาม ที่ผู้ใหญ่ในตระกูลบางท่านสร้างไว้กับเจ้านายในอดีตนั่นเอง
ไม่ว่าจริงหรือเท็จ ข่าวสะเทือนใจชิ้นหนึ่งจากกรุงเทพฯ สร้างความอกสั่นขวัญหายต่อชาวโลกมาแล้ว ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนจากประเทศเล็กๆ ที่สุขสงบเช่นสยาม
หนังสือพิมพ์ประเภทอนุรักษนิยมเก่าแก่ของอังกฤษชื่อ Illustrated Times มีคอลัมน์พิเศษเรียกส่วนข่าวกรองต่างประเทศ (Foreign Inteligence) เปิดโปงข่าวที่สามารถทำให้นักประวัติศาสตร์ไทยตาโต…
“ความล้มเหลวในการลอบปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงสยาม”
เราได้รับรายงานที่โลดโผนจากสำนักข่าวของเราในมัทราส (เมืองขึ้นอังกฤษในอินเดีย) ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้รับทูลเชิญ เมื่อ 2 เดือนมาแล้ว (ตรงกับเดือนตุลาคม ค.ศ. 1856) ให้เป็นองค์ประธานในงานเลี้ยง ซึ่งจัดให้มีขึ้นโดยพสกนิกรที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในกรุงสยาม งานนี้เป็นงานใหญ่ พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบรับคำเชิญนั้น ซึ่งปกติขัดกับพระราชประเพณีแห่งราชสำนักกรุงเทพฯ พระอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสงสัยคลางแคลงพระทัยในคำเชิญที่ผิดปกติวิสัย แน่นอนมันดูผิดสังเกต จึงได้ทูลถวายคำแนะนำมิให้เสด็จไป ด้วยแน่พระทัยว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นภัยต่อพระองค์
แต่เนื่องจากได้ทรงตอบรับไปแล้ว จึงไม่มีพระราชประสงค์จะแสดงความรังเกียจสงสัย เพราะอุปทานดังกล่าว แต่เพื่อเป็นทางออกที่ดี จึงทรงออกอุบายส่งบุคคลอื่นปลอมตัวไปแทนในงานนั้น บุคคลนั้นจะต้องสวมใส่ฉลองพระองค์เลียนแบบกษัตริย์เพื่อให้ดูสมจริง ข้าราชบริพารคนหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตา ความสูง และลักษณะท่าทางคล้ายคลึงพระเจ้าอยู่หัวที่สุด ถูกคัดเลือกส่งไปเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว หมายกำหนดการสำหรับเวลาที่จะเสด็จไปถึงงานเลี้ยงเป็นตอนเที่ยงคืน กษัตริย์ตัวปลอมเดินตามแผนที่วางไว้ทุกขั้นตอน
เมื่อไปถึงบริเวณงาน จึงถูกอัญเชิญเข้าสู่ที่ประทับ ณ พระราชบัลลังก์ที่จัดเตรียมไว้เป็นพิเศษ ทันทีที่นั่งลง ก็เกิดเสียงระเบิดขึ้นสนั่นหวั่นไหว ความรุนแรงของระเบิดปลิดชีพตัวแทนผู้เคราะห์ร้ายของพระเจ้าอยู่หัวในพริบตา พร้อมกับราชองครักษ์และผู้ติดตามอีก 7 คน ซึ่งยืนอารักขาอยู่ ณ ที่นั่น [7]
ขอประเมินเชิงวิเคราะห์ “ภาพโดยรวม” จากข่าวที่ฝรั่งสืบทราบมาดังนี้ :-
1. เจ้าของงานต้องเป็นบุคคลผู้กว้างขวาง มีความใกล้ชิดเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนักเป็นอย่างดีคนหนึ่ง
2. พระอนุชาที่กล่าวถึงน่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มากกว่ากรมหลวงวงศาธิราชสนิท เพราะองค์แรกนั้นเป็นผู้สันทัดกรณีมากกว่า
3. ส่วนความคืบหน้าในการสอบสวนคาดว่า ยากที่จะชี้ตัวผู้บงการได้ เพราะจากรูปการณ์แล้วมีบุคคลสำคัญๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายท่าน ซึ่งเป็นการยากต่อการสืบพยาน การรายงานข่าวจึงไม่คืบหน้าต่อไปอีก
แต่สิ่งที่เหลือเชื่อพอๆ กับเหตุการณ์ คือไม่มีการแก้ข่าวจากท่าน ดี. เค. เมซัน กงสุลสยามประจำกรุงลอนดอนในเรื่องนี้แต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่คำประท้วงใดๆ จากทางการสยามหลังข่าวนี้แพร่ออกไป อีก 11 เดือนต่อมา คณะราชทูตสยาม โดยการนำของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) น้องชายร่วมมารดาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็เดินทางมาถึงอังกฤษตามโครงการที่วางไว้ สำนักพิมพ์ Illustrated Times มีโอกาสเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงสยามอีกครั้งหนึ่งอย่างครึกโครม และทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่ซื่อสัตย์ต่อไป โดยไม่เสียคะแนนนิยมแม้แต่น้อยจากชาวสยาม
ความลี้ลับซับซ้อนจากเกร็ดพงศาวดารไทยในเรื่องนี้ สนับสนุนความจริงที่ว่ายังไม่มีหนังสือเล่มใด สำหรับการศึกษาให้ทราบประวัติอันละเอียดถ่องแท้ของมหาบุรุษได้ สิ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นได้ดี ก็คือการเปิดใจพิจารณาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ บ้าง ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่ทางประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน เพื่อเก็บรักษาไว้ซึ่งเรื่องราวสำคัญบางแง่บางมุมในแผ่นดินมิให้เสื่อมสูญสิ้นไปในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม :
- ก่อนพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ทรงกราบทูล “ความลับ” เรื่องใดถวายรัชกาลที่ 4 ?
- รัชกาลที่ 4 ทรงปิดเรื่อง “ฟันปลอม” เป็นความลับ-ไม่ทรงให้แพทย์แตะพระโอษฐ์
- “เหตุการณ์อัศจรรย์” หลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต ในเอกสารอภินิหารการประจักษ์
เอกสารประกอบการค้นคว้า :
[1] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (เล่ม 1). กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516.
[2] ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. พระนคร : พระจันทร์, 2477.
[3] ประยุทธ สิทธิพันธ์. พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เล่มต้น. กรุงเทพฯ : สยาม, 2516.
[4] พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2521.
[5] ลายพระหัตถ์สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ฯ. พิมพ์ในงานพระเมรุ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ พ.ศ. 2493.
[6] Aronson, Theo. Queen Victoria & The Bonapartes. London, 1972.
[7] หนังสือพิมพ์ Illustrated Times. London, 6 December 1856.
[8] หนังสือพิมพ์ Illustrated London News. 6 March 1858.
[9] หนังสือพิมพ์ Le Monde Illustre. 13 July 1861.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2560