“แฉ” แผนใช้พงศาวดาร ยึดกรุงธนบุรี “ซ้ำ”

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

การทำรัฐประหารเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีไปสู่กรุงรัตนโกสินทร์ สำเร็จราบคาบในคราวเดียวหรือจะให้ละเอียดกว่านั้นคือ ศึกกลางเมืองยึดกรุงธนบุรีสำเร็จเด็ดขาดด้วยเวลาเพียง 7 ชั่วโมง และตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ไม่มีแรงปฏิกิริยาใด ๆ จากกลุ่มอำนาจเก่าหรือฝ่ายพระเจ้าตากเลย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีเวลาบริหารกิจการสร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองคือสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในราชอาณาจักรในยุคสมัยเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้เกิดจาก “หนามหน่อ” พระเจ้าตาก แต่เป็นความขัดแย้งภายในกับวังหน้า “น้องชาย” ของพระองค์เอง

แต่งานปราบปรามกรุงธนบุรียังมิได้ลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์แท้ดังที่ทราบกัน ยังคงมีสิ่งที่ต้องชำระสะสางกันอีกเพื่อให้กรุงรัตนโกสินทร์มีความสง่างามประดุจรัตนชาติซึ่งไร้ตำหนิรอยร้าว

13 ปี หลังจากการปราบดาภิเษกเปลี่ยนแผ่นดิน การยึดกรุงธนบุรีได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งกระทำโดยปราศจากการใช้กำลังและความรุนแรง แต่เป็นการยึดกรุงธนบุรีโดยใช้ “พระราชพงศาวดาร” เป็นอาวุธ

โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีในช่วงปลายรัชกาล นับตั้งแต่เค้าลางแห่งการรัฐประหารเริ่มเกิดขึ้น โครงสร้างของเนื้อความในพระราชพงศาวดารก็วิบัติผันแปรไปตามเหตุการณ์ เพื่อสนับสนุนให้เนื้อเรื่องตอนฉากจลาจลในพระนคร เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล และสมควรแก่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การ “ชำระ” พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี โดยมีพระมหากษัตริย์เสด็จเป็นองค์ประธานเกิดขึ้นในแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งแรกเมื่อ ปีเถาะ จุลศักราช 1157 หรือพุทธศักราช 2338 ปรากฏในบานแผนกว่า

“บานพะแนก ศุภมัสดุ ศักราช 1157 ปีเถาะ สัปตศก (พ.ศ. 2338) สมเด็จพระบรมธรรมมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลราชย์ ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร” [1]

ครั้งนี้เป็นการชำระพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งมีเนื้อความตอนกรุงธนบุรีรวมอยู่ด้วย แต่มักมีการตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อความในตอนท้ายนั้น “ผันแปร” ไปตามอำนาจทางการเมืองกลุ่มใหม่ และอาจเชื่อถือไม่ได้มากนัก

“หากทว่าเมื่อพิจารณาเนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับนี้อย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อความนั้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2321 เป็นต้นไป เริ่มผิดเพี้ยนไปจากการจดบันทึกที่มีมาก่อน กล่าวคือเริ่มกลายเป็นลักษณะพระราชพงศาวดารดังที่เป็นมาตลอดรัชกาล การกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างรวบรัด ในที่สุดก็นำไปสู่เรื่องการจลาจลและการ ‘เสียพระจริตฟันเฟือนไป’ ในปลายรัชกาล

เพราะฉะนั้น เนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นก็คงเขียน ในรัชสมัยของพระองค์มาถึงประมาณเพียงไม่เกิน พ.ศ. 2320-2321 และเนื้อความย่อ ๆ ที่เหลือนั้นก็เป็นสิ่งที่มาเพิ่มเติมกันในราชวงศ์จักรี อาจจะในครั้งที่โปรดให้ชำระพระราชพงศาวดารเมื่อ พ.ศ. 2338 ก็เป็นได้

ด้วยเหตุดังนั้น จึงฟังไม่ได้มากนักสำหรับข้อมูลในปลายรัชกาล” [2]

กล่าวคือในตอนต้นรัชกาลพระราชพงศาวดารยังมีลักษณะ “ยอพระเกียรติ” อยู่มาก ทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวอันมีภินิหารนับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า [3] แต่ถึงปลายรัชกาลนั้นทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการ [4] มีเหตุมาจากทรงนั่งพระกรรมฐานจนทำให้ “พระสติฟั่นเฟือน”

จิตรกรรมพระราชประวัติ “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ยังมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ชาติสยามในช่วงกรุงธนบุรีอย่างมาก เนื่องจากถูกใช้เป็นต้นฉบับในการ “ชำระ” พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ในเวลาต่อมา [5] เช่น พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม (ฉบับหมอบรัดเล) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นต้น

โดยพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับมีความเกี่ยวเนื่องกันดังนี้ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เป็นต้นแบบให้ฉบับพระพนรัตน์ใช้ “ชำระ” ดัดแปลง แต่งเติม ฉบับพระพนรัตน์เป็นต้นฉบับที่หมอบรัดเลใช้พิมพ์ และฉบับหมอบรัดเล เป็นต้นฉบับในการชำระของฉบับพระราชหัตถเลขา

เนื้อความส่วนใหญ่ในพระราชพงศาวดารทั้ง 4 ฉบับ จึงสอดคล้องและเสริมซึ่งกันและกันในรายละเอียดที่ตกหล่น แต่ส่วนที่ต่อเติมเสริมเข้ามานี้มักจะถูกตั้งข้อสังเกตในความน่าเชื่อถืออยู่บ่อยครั้ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เราไว้ใจพระราชพงศาวดาร “ฉบับหลวง” เหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด

สะกดรอย พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เริ่มต้นเข้าเรื่องตอนปลายกรุงธนบุรีเมื่อ เดือน 2 ปีฉลู จุลศักราช 1143 (พุทธศักราช 2324) โดยกล่าวถึงการยกทัพใหญ่ไปตีกรุงกัมพูชา มีเนื้อความดังต่อไปนี้

“ครั้นปีฉลูตรีศก (จ.ศ. 1143 พ.ศ. 2324) เดือนยี่ ดำรัสให้จัดทัพเป็น 6 ทัพ ให้เจ้าพระยาสุรศรีเป็นทัพหน้า พระเจ้ากษัตริย์ศึกเป็นจอมทัพหลวง กรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นทัพหนุน เจ้าพระยานครสวรรค์เป็นยกรบัตร กรมขุนรามภูเบศรเป็นทัพหลัง พระยาธรรมมาเป็นกองลำเลียง ยกไปตีเมืองพุทไธเพ็ชร์

ฝ่ายการแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นก็ผันแปรต่าง ๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินเสียพระจริตฟั่นเฟือนไป

ฝ่ายพุทธจักรอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนไปเป็นหมู่ มิได้เป็นปกติเหมือนแต่ก่อน เหตุพระเจ้าแผ่นดินนั้นทรงนั่งอูรุพัทธ์ โดยพระกรรมฐานสมาธิ และยังภิกษุทั้งปวงให้คารวะเคารพนบนมัสการแก่พระองค์

ฝ่ายการในอากาศเล่า ก็วิปริตต่าง ๆ คือมีอุกาบาตรและประทุมกาษบันดาลตกเป็นต้น” [6]

โดยสรุปเนื้อความนี้มีใจความสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1. เดือน 2 ปีฉลู จัดทัพไปกรุงกัมพูชา 2. แผ่นดินผันแปรเพราะพระเจ้าตากเสียพระจริต 3. พุทธจักรปั่นป่วนเพราะพระเจ้าตากต้องการให้พระภิกษุไหว้พระองค์ ซึ่งสำคัญว่าบรรลุโสดาบัน

นอกจากใจความสำคัญแล้วสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นได้ถูก “หมกเม็ด” ไว้ในเนื้อความนี้คือ เรื่องการลำดับเวลา เนื้อความตอนนี้เรียงลำดับเวลาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “หลัง” จากเจ้าพระยาจักรี (พระเจ้ากษัตริย์ศึก) ยกทัพไปกรุงกัมพูชาแล้ว จึงเกิดเหตุแผ่นดินผันแปรด้วยพระเจ้าตากเสียพระจริตฟั่นเฟือน และพุทธจักรแปรปรวน

ก่อนจะถอดรหัสพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่าฟั่นเฟือนอย่างไร ควรตรวจสอบพระราชพงศาวดารฉบับอื่นไปในคราวเดียวกันนี้ โดยจะยกเอา พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งมีเนื้อความใกล้เคียงกับฉบับหมอบรัดเลมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ครั้งนี้

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงตอนปลายกรุงธนบุรีไว้คล้ายกันแต่ยืดยาวกว่า จึงขอตัดแต่ใจความสำคัญมาพอสังเขป แต่คงการลำดับเรื่องไว้

เริ่มต้นเมื่อกรุงธนบุรีทราบข่าวจลาจลที่กรุงกัมพูชา ในเดือน 2 ปีชวด หรือก่อนเจ้าพระยาจักรีจะยกทัพไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

“สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้า พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ กับพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมาเก่าเป็นเกียกกายกองหนุน พระยานครสวรรค์เป็นยกกระบัตรทัพ พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศเป็นทัพหลัง พระยาธรรมาเป็นกองลำเลียง ทั้งหกทัพเป็นพลหมื่นหนึ่งยกไปตีเมืองพุทไธเพชร” [7]

เจ้าพระยาจักรี กลับจากราชการทัพกรุงกัมพูชา ขณะที่เกิดจลาจลในกรุงธนบุรี (ภาพจิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนโดย นายขำ จากหนังสือจิตรกรรมและประจิมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2, 2536)

ต่อมาก็กล่าวถึงการเดินทัพสู่กรุงกัมพูชา ให้รายละเอียดว่าใครตั้งทัพอยู่ที่ไหน แล้วจึงตัดภาพไปที่เจ้าฟ้าทะละหะ ยกครัวหนีทัพเจ้าพระยาจักรี แล้วไปขอกำลังกองทัพญวนให้มาช่วย

ย่อหน้าต่อมาจึงตัดภาพกลับมายังกรุงธนบุรีในทันที เนื้อความคล้ายกับฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) แต่แตกต่างกันในรายละเอียดดังนี้

“ฝ่ายการแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่าง ๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสูติ พระจริตนั้นก็ฟั่นเฟือนไป

ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน” [8]

เนื้อความในฉบับพระราชหัตถเลขาต่างจากฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บ้างบางแห่ง คือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ได้บอกว่าพระเจ้าตากฟั่นเฟือนเพราะอะไร แต่ฉบับพระราชหัตถเลขานี้กล่าวชัดเจนว่าเป็นเพราะทรงนั่งพระกรรมฐาน แต่ไม่ได้บอกว่าพุทธจักรแปรปรวนเพราะอะไร โดยยกไปกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป และย่อหน้าใหม่นี้ก็ขึ้นต้นปีใหม่ เป็น ปีฉลู

“…ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน

ครั้นลศักราช 1143 ปีฉลู ตรีศก ทรงพระกรุณาให้แต่งทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องราชบรรณาการลงสำเภาออกไป ณ เมืองจีนเหมือนตามเคยมาแต่ก่อน และปีนั้นโปรดให้หลวงนายฤทธิเป็นอุปทูตออกไปด้วย

ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ โรงพระแก้ว ให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้พระโสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์บุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด” [9]

สรุปเนื้อความจากฉบับพระราชหัตถเลขา ก็จะได้ลำดับความสำคัญดังนี้ 1. ปีชวด เตรียมทัพไปกรุงกัมพูชา 2. การแผ่นดินผันแปรเพราะพระเจ้าตากนั่งพระกรรมฐานพระสติฟั่นเฟือน 3. พุทธจักรแปรปรวน 4. ขึ้น ปีฉลู ส่งทูตไปจีน 5. พระเจ้าตากฟั่นเฟือนมีพระราชดำรัสถามพระราชาคณะเรื่องพระไหว้คฤหัสถ์บรรลุโสดาบันได้หรือไม่ ในเดือน 9 ซึ่งจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

นี่คือเรื่องราวตอนปลายกรุงธนบุรีตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร

สรุปความจากพระราชพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับได้ ดังนี้ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า เดือน 2 ปีฉลู เจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา ต่อด้วยพระเจ้าตากพระสติฟั่นเฟือน โดยไม่ระบุวันเวลา

ส่วนฉบับพระราชหัตถเลขา เริ่มที่เดือน 2 ปีชวด จุลศักราช 1142 เจ้าพระยาจักรีเตรียมทัพไปกรุงกัมพูชาแล้วยกทัพไป (โดยไม่ได้บอกวันเวลา) ตามมาด้วยปีฉลู จุลศักราช 1143 ส่งทูตไปจีนในเดือน 7 และพระเจ้าตากมีสัญญาวิปลาส ในเดือน 9

เมื่อรวมความทั้ง 2 ฉบับเข้าด้วยกันแล้วเรียงลำดับเนื้อความสำคัญ ๆ ตามพระราชพงศาวดารก็จะลงตัวพอดี ได้ความว่า 1. เดือน 2 ปีชวด เตรียมทัพ 2. เดือน 2 ปีฉลู ยกทัพ 3. เดือน 7 ปีฉลู ส่งทูตไปจีน 4. เดือน 9 ปีฉลู เกิดเหตุพระเจ้าตากมีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส

แต่เรื่องนี้เป็นการ “หมกเม็ด” เพื่อยึดกรุงธนบุรีซ้ำในพระราชพงศาวดาร เพื่อสร้างเรื่องราวสนับสนุนเงื่อนไขการทำรัฐประหาร ทำให้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ “ยุคเข็ญ” ปลายกรุงธนบุรีทั้งหมด เกิดขึ้นหลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา พูดง่าย ๆ คือเมื่อเจ้าพระยาจักรีทิ้งบ้านเมืองไปราชการสงคราม บ้านเมืองข้างหลังก็วุ่นวาย

ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ได้จำกัดวงเพียงแค่พระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เท่านั้น เนื้อความเช่นนี้ได้ส่งผลต่อแนวความคิดต่อข้อเขียนในยุคหลัง ๆ ต่อมาอีกยาวนาน

ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราไม่จำเป็นต้องใช้หลักฐาน “ใหม่ ๆ” มาพิสูจน์เรื่องนี้ หากแต่ให้หลักฐานเก่านั้นพูดด้วยตัวเอง ก็จะพบว่ามีการวางหมากกลและความยอกย้อนไว้หลายจุด เพื่อใช้พระราชพงศาวดารสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารกรุงธนบุรีนั่นเอง

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ถอดรหัสปริศนาพงศาวดารกรุงธนบุรี

ภาพแห่งความสยดสยองต่อไปนี้ ถูกวางจังหวะบรรยายไว้ “หลัง” จากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชาในเดือน 2 ปีฉลู

เริ่มต้นจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงพระเจ้าตากมีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาสในเรื่อง “ไหว้คฤหัสถ์” วันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งบันทึกเนื้อความไว้ต่อท้ายเมื่อขึ้นปีฉลู แล้วยังได้บรรยายภาพถึงความวุ่นวายต่าง ๆ ในศาสนจักร พระสงฆ์จำนวน 500 รูป ต้องโดนพระราชอาญา สร้างความสลดสังเวชยิ่งนัก

“บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนา มีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมาก ที่มีศรัธราเข้ารับโทษ ให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มี” [10]

และนี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีใช้เป็นข้ออ้างข้อหนึ่งในการทำรัฐประหาร ต้องเดินทางกลับจากกรุงกัมพูชากลางศึกเป็นการด่วน

แต่ตามความเป็นจริงนั้น วิธีการนับเดือนตามปฏิทินโบราณเราถือเอาเดือน 5 เป็นต้นปี การนับปีตามคติเก่าคือ ขึ้นปีใหม่ในเดือน 5 แล้วตามด้วยเดือน 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน 9 เดือน 10 เดือน 11 เดือน 12 เดือน 1 (อ้าย) เดือน 2 (ยี่) เดือน 3 และ สิ้นปีที่เดือน 4

ดังนั้นหากพระเจ้าตากมีพระสตินั่นเฟือนในเดือน 9 จึงหมายความว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีจะยกทัพไปกรุงกัมพูชาในเดือน 2 คือเจ้าพระยาจักรีรู้เหตุอยู่ก่อนแล้ว มิได้มารู้เรื่องนี้เอากลางศึกจนต้องยกทัพกลับมา ตามที่พระราชพงศาวดารต้องการจะบอก หรือที่ชัดกว่านั้นในหนังสือไทยรบพม่า ที่ว่า “ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ยกกองทัพไปเขมรแล้วไม่ช้า ทางพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีสัญญาวิปลาส” [11]

ยิ่งไปกว่านั้นในหนังสือจดหมายเหตุโหร กลับบันทึกเรื่อง “ไหว้คฤหัสถ์” ข้อกล่าวหาพระเจ้าตากสัญญาวิปลาส ต่างจากพระราชพงศาวดารถึง 1 ปีเต็ม คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า เป็น วันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 (ปีฉลู) ในขณะที่จดหมายเหตุโหรบันทึกว่า ปีชวด จุลศักราช 1142 “ณ วันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 ราชาคณะแย้งกัน ข้างหนึ่งว่าไหว้คฤหัสถ์ไม่ได้ เป็นโทษต้องตี 30, 50 / 500 องค์” [12] ตรงกับจดหมายเหตุโหรฉบับพระยาประมูลธนารักษ์ ความว่า “ปีชวด จ.ศ. 1142 วันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 ราชาคณะวิวาทกันด้วยไหว้คฤหัสถ์ผู้ส่งสมาบัติ ข้างหนึ่งว่าไหว้ได้ ข้างหนึ่งว่าไหว้ไม่ได้ เปนโทษ” [13]

หากยึดเอาจดหมายเหตุโหรเป็นหลักในการพิจารณาจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ห่างกันถึง 1 ปี ยิ่งยืนยันชัดเจนว่าพระราชพงศาวดารนั้นโยกย้ายวันเดือนปีพร้อมกับการ “ร่ายยาว” ถึงเหตุการณ์น่าสลดสังเวชเรื่องพระถูกทำร้ายนั้นก็เพื่อ “หาเหตุ” ยึดกรุงธนบุรี โดยใช้พระราชพงศาวดารเป็นเครื่องมือ

ข้อสรุปก็คือ ไม่ว่าจะใช้พระราชพงศาวดารหรือจดหมายเหตุโหร พระเจ้าตากก็ไม่ได้ฟั่นเฟือน หลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา

ตัดสลับ ลับ ลวง พราง ในพงศาวดาร

สิ่งที่เกิดขึ้นในพระราชพงศาวดาร ตอนอวสานพระเจ้าตาก ไม่เพียงแต่การใช้กลวิธีสลับวันเดือนปี เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับเหตุผลของการรัฐประหารอย่างได้ผล ทำให้ผู้อ่านจินตนาการภาพแห่ง “กลียุค” ได้อย่างต่อเนื่อง ลงตัวมีจังหวะจะโคน ยังมีเทคนิคการ “ตัดสลับ” เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น เพื่อ “ถ่วงเวลา” การยกทัพกลับของเจ้าพระยาจักรี ให้ตรงกับการจลาจลในกรุงธนบุรีพอดิบพอดี

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จับความต่อจากเรื่อง “ไหว้คฤหัสถ์” เป็นเรื่องกบฏพระยาสรรค์ ในวันเสาร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู จุลศักราช 1143 หลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชาแล้ว 2 เดือน ซึ่งความจริงวันเวลาดังกล่าว เป็นวันที่พระยาสรรค์ยกทัพเข้าล้อมกรุงธนบุรีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นพระราชพงศาวดารได้บรรยายฉากความวุ่นวายในพระนครในเรื่อง กรณีพันศรี พันลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน รวมถึงราษฎรทั้งหลาย ลักลอบขายสินค้าต้องห้าม ทำให้ผู้กระทำผิดทั้งหลาย (ซึ่งพระราชพงศาวดารว่าเป็นผู้บริสุทธิ์) ถูกโทษปรับ โทษเฆี่ยนกันเป็นจำนวนมาก “บ้างตายบ้างลำบากได้ความยากไปจนหัวเมือง เอก, โท, ตรี, จัตวา มีหน้าคล้ำไปด้วยน้ำตา” เป็นเงื่อนไขให้นายบุนนาคบ้านแม่ลา ขุนสุระ ทนไม่ไหวริเริ่มก่อเหตุกบฏเพื่อยึดกรุงธนบุรี โดยชักชวน พระยาสรรค์ ซึ่งพระเจ้าตากใช้ให้ไปปราบกลุ่มนายบุนนาค แต่กลับแปรพักตร์เข้าเป็นพวกนายบุนนาคย้อนกลับมาตีกรุงธนบุรี

ด้านพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกต่อจากเรื่อง “ไหว้คฤหัสถ์” เป็นเรื่องเดียวกัน คือ คดีพันศรี พันลา แถมด้วยเรื่องเงินในท้องพระคลังหาย ตามมาด้วยเรื่องวุ่น ๆ อีกมาก เช่น ในเดือนอ้าย ปีฉลู [14] มีพระราชดำรัสให้จับพวกญวนที่คิดกบฏฆ่าเสีย 31 คน แล้วจึงตัดเข้าเรื่องกบฏพระยาสรรค์ในเดือน 4 ปีฉลู

ส่วนเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงคดีพันศรี พันลา และเงินในท้องพระคลังหาย ว่าเกิดขึ้นหลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชาแล้ว “อยู่ภายหลังกรุงธนบูรีเกิดโกลี” [15] ปิดท้ายด้วยกรณีกบฏพระยาสรรค์

เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อเขียนในยุคหลังพุ่งเป้าความผิดทั้งหมดไปที่พระยาสรรค์ ยกให้เป็น “ผู้ร้าย” ในฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรี ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มก่อการจลาจลโค่นพระเจ้าตาก และภายหลังก็คิดจะยึดราชบัลลังก์เสียเอง ทั้งที่ตกลงกันไว้ก่อนแล้วว่าจะยกราชสมบัติให้กับเจ้าพระยาจักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 (ภาพลายเส้นบนธนบัตรใบละ 500 บาท พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2539)

ปัญหาก็คือ พระราชพงศาวดารระบุชัดว่า เจ้าพระยาจักรีมีแผนที่จะ “ปราบยุคเข็ญ” ก่อนหน้ากบฏพระยาสรรค์อยู่แล้ว ตามเนื้อความในพระราชพงศาวดารว่า

“แต่ก่อนเมื่อพระยาสรรค์ยังไม่เข้าตีกรุงธนบุรีนั้น ฝ่ายพระยาสุริยอภัยผู้ครองนครราชสีมาได้ทราบข่าวว่าแผ่นดินเป็นจลาจลมีคนขึ้นไปแจ้งเหตุ จึงออกไป ณ เมืองนครเสียมราบ แถลงการแผ่นดินซึ่งเกิดยุคเข็ญนั้นแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ๆ จึงให้พระยาสุริยอภัยรีบยกกองทัพลงมายังกรุงธนบุรีก่อน แล้วจะยกทัพหลวงตามลงไปภายหลัง พระยาสุริยอภัยก็กลับมา ณ เมืองนครราชสีมา ให้พระยาอภัยสุริยาปลัดผู้น้องอยู่รักษาเมือง แล้วก็จัดแจงกองทัพได้พลไทยลาวพันเศษ ก็รีบยกลงมา ณ กรุงธนบุรี” [16]

เนื้อความต่อจากนี้ถูกเทคนิค “ตัดสลับ” ด้วยฉากการรบระหว่างพระยาสุริยอภัยกับพระยาสรรค์ จนสงครามกลางเมืองสงบเรียบร้อย ต่อมาจึงตัดกลับไปที่เจ้าพระยาจักรี เนื้อเรื่องคล้ายกับว่าเมื่อการจลาจลยุติแล้วเจ้าพระยาจักรีจึงยกทัพกลับมา กรมหลวงนรินทรเทวีบันทึกไว้ว่า “ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึงสองครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนครฯ” [17] หรือแม้แต่ข้อเขียนในยุคหลังอย่าง เจ้าชีวิต ก็กล่าวว่า “เมื่อข่าวไปถึงเจ้าพระยาจักรีที่กัมพูชา พระเจ้าตากสินน่าจะทรงถูกถอดจากราชสมบัติ และถูกจับเข้าที่กุมขังแล้ว” [18]

แต่ในพระราชพงศาวดารยังมีความต่อเนื่องกัน หลังจาก “ให้พระยาสุริยอภัยรีบยกกองทัพลงมายังกรุงธนบุรีก่อน” และเป็นเนื้อความสำคัญที่ทำให้รู้ว่า ก่อนเกิดกบฎพระยาสรรค์ เจ้าพระยาจักรีได้สั่งเลิกทัพที่กรุงกัมพูชาทั้งหมด แล้วเดินทางกลับมายังกรุงธนบุรีทันที

“ฝ่ายเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อให้พระยาสุริยอภัยมาแล้ว จึงแต่งหนังสือบอกข้อราชการแผ่นดินอันเป็นจลาจล ให้คนสนิทถือไปแจ้งแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเปญ ให้กองทัพเขมร พระยายมราช เข้าล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ไว้อย่าให้รู้ความ แล้วให้รีบเลิกทัพกลับเข้ามา ณ กรุงโดยเร็ว แล้วให้บอกไปถึงพระยาธรรมาซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ เมืองกำพงสวาย ให้จับกรมขุนรามภูเบศจำครบไว้ แล้วให้เลิกทัพตามเข้ามา ณ กรุงธนบุรี” [19]

เท่ากับว่าก่อนเกิดกบฏพระยาสรรค์นั้นเจ้าพระยาจักรีได้วางแผนยึดกรุงธนบุรีไว้ก่อนแล้ว เห็นได้จากคำสั่งเลิกทัพ และคำสั่งให้ล้อมกรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระราชโอรสพระเจ้าตาก) ไว้กลางกรุงกัมพูชา ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดกบฏพระยาสรรค์หรือไม่ เจ้าพระยาจักรีก็ยึดกรุงธนบุรีอยู่ดี แต่พระราชพงศาวดาร “ถ่วงเวลา” ที่จะกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของเจ้าพระยาจักรีไว้ มาเปิดตัวอีกครั้งจนเกือบถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง รอจนกระทั่งสงครามกลางเมืองสงบลงจึงกลับสู่กรุงธนบุรี

ผูกเรื่องสร้างภาพลวง

การแก้กลตัวเลขวันเดือนปีทำให้เราทราบว่า เรื่องพระสติฟั่นเฟือนเกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา กับการถอดรหัสตัดสลับ ทำให้รู้ว่าเจ้าพระยาจักรีคิดยึดกรุงธนบุรีก่อนกบฏพระยาสรรค์ ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสิ่งที่เจ้าพระยาจักรีเรียกว่า “ราชการแผ่นดินอันเป็นจลาจล” ในหนังสือแจ้งเหตุแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ขณะอยู่กรุงกัมพูชา และจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นหลังเดือน 2 ที่เจ้าพระยาจักรียกทัพไปแล้ว กับเดือน 4 ก่อนเกิดกบฏพระยาสรรค์ เกิดจลาจลอะไรขึ้นระหว่าง 2 เดือนนี้?

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนกบฏพระยาสรรค์ว่าเป็นเรื่อง พันศรี พันลา หรือคดีลักลอบขายสินค้าต้องห้าม เป็นเหตุให้ข้าราชการ ราษฎร ถูกจับปรับโบยตีเป็นอันมาก และอาศัยเหตุนี้กลุ่มนายบุนนาคบ้านแม่ลาโดยมีพระยาสรรค์เป็นผู้นำ จึงคิดก่อการกบฏขึ้นเพื่อเปลี่ยนแผ่นดิน “ถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้ครอบครองแผ่นดินสืบไป” [20]

น่าเสียดายที่พระราชพงศาวดารไม่ได้บอกวันเดือนปีของคดีพันศรีพันลาไว้ จึงไม่รู้แน่ว่าเกิดเหตุขึ้นเมื่อใด และเหตุนี้จะตรงกับ “ข้างกรุงธนบุรีนั้นก็ผันแปรต่าง ๆ” หรือไม่

กรมหลวงนรินทรเทวีจดเรื่องมีโจทก์ฟ้องว่ามีการลักลอบขายสินค้าต้องห้ามไว้หลังการ “ฆ่าญวน” ที่เกิดขึ้นในเดือน 1 แทรกกลางด้วยเรื่องเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชาเมื่อกลางปีฉลู แล้วต่อด้วยกรณีพันศรี พันลา และเงินในท้องพระคลังหาย ซึ่งกรณีพันศรี พันลา นั้น ก็คือเรื่องเดียวกับการลักลอบขายสินค้า ทำให้ช่วงเวลานี้จึงค่อนข้างสับสนว่า คดีพันศรี พันลา เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา

แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จดเรื่องพันศรี พันลา และคดีเงินในท้องพระคลังหาย ไว้ต่อท้ายกรณี “ไหว้คฤหัสถ์” (เดือน 9) โดยไม่ระบุวันเดือนปีที่แน่นอน แต่ชี้ให้เห็นว่า “ในขณะนั้นบ้านเมืองก็เกิดจลาจลเดือดร้อน” [21] และหลังจากนี้ก็บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามระบบ สรุปย่อ ๆ ได้ดังนี้ เดือน 12 เกิดทุนิมิตบนอากาศ, เดือน 1 ฆ่าญวน, เดือน 2 ประหารนักโทษ 9 คน, เดือน 3 ประหารจีน 8 คน และคนวางเพลิง 7 คน, เดือน 4 เกิดทุนิมิตบนอากาศ และกบฏพระยาสรรค์

จะเห็นได้ว่าในกรณีพันศรี พันลา ที่อาจจะเป็นการจลาจลตามข้ออ้างของเจ้าพระยาจักรีนั้น พระราช พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ระบุวันเดือนปี กรมหลวงนรินทรเทวีก็ไม่ระบุวันเดือนปี บอกเพียงว่า เกิดขึ้นกลางปีฉลู ส่วนฉบับพระราชหัตถเลขาก็ไม่ได้ระบุวันเดือนปีเช่นกัน แต่ทั้ง 3 ฉบับนี้บรรยายเหตุการณ์ไว้อย่างจะรุนแรง เช่น กรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า “เหตุผลกำม์ของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็น ด้วยพระบารมีชุ่ม พื้นชื่นผล จนมีแก่น ปลายแผ่นดิน แสนร้อนรุมสุมรากโคนโค่นล้ม ถมแผ่นดิน ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น” [22]

เมื่อไม่มีฉบับใดอ้างอิงวันเดือนปีที่ชัดเจนก็ยากที่จะระบุได้ว่าเหตุการณ์พันศรี พันลา เกิดขึ้นก่อนหรือหลังเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา เพราะนี่คือข้ออ้างสุดท้ายที่เหลืออยู่ขณะนี้ และหากมีความสำคัญอย่างที่พระราชพงศาวดารพยายามจะบอกโดยนัยเช่นนี้แล้ว เหตุใดจึงไม่ระบุวันเดือนปีที่ชัดเจน ในขณะที่จดหมายเหตุโหรไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้เลย

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ อู่ต่อเรือบ้านเสม็ดงาม อ.เมือง จ.จันทบุรี

แต่ยังมีข้อสังเกตข้อหนึ่งคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ไม่ได้ระบุเดือนไว้ 2 เดือน คือ เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “ไหว้คฤหัสถ์” ณ วันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9 แล้วต่อด้วยกรณีพันศรี พันลาโดยไม่ระบุวันเดือนปี ต่อจากนั้นจึงกลับเข้าระบบอีกครั้ง “ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี แรม 1 ค่ำ เดือน 12 บังเกิดทุนิมิตบนอากาศ เมฆปรากฏเป็นคันกระแพงฝ่ายทิศบูรพ์” [23]

ดังนั้นจึงมี 2 เดือนที่ข้ามไปไม่ได้ระบุในที่นี้ คือ เดือน 10 และเดือน 11 ซึ่งเป็นเนื้อความเรื่องกรณีพันศรี พันลา และเงินในท้องพระคลังหาย

จะบังเอิญหรือไม่ก็ตาม เดือน 10 และเดือน 11 ที่พระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุไว้นี้ ไปสอดคล้องกับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พอดิบพอดีว่า

“ข่าวที่วิปริตขึ้นในกรุงธนบุรีเห็นจะทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ เมื่อราวเดือน 11 หรือเดือน 12 จึงให้รอการที่จะทำสงครามกับญวนไว้ แล้วให้พระยาสุริยอภัยผู้หลาน กลับมายังเมืองนครราชสีมา ให้คอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี ถ้าเห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดจลาจลจริง ก็ให้รีบยกกองทัพเมืองนครราชสีมา เข้ามารักษากรุงธนบุรีไว้ พระยาสุริยอภัยก็กลับมาคอยฟังเหตุการณ์อยู่ ณ เมืองนครราชสีมา” [24]

นั่นเท่ากับว่า แม้แต่กรณีพันศรี พันลา ก็เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีจะยกทัพไปกรุงกัมพูชาอย่างน้อย 2-3 เดือน แต่พระราชพงศาวดารได้อำพรางเรื่องนี้ไว้ แล้วผูกเรื่องสร้างภาพให้เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชาเหมือนกับเนื้อความตอนอื่น ๆ อีกครั้ง

เมื่อไม่มีสัญญาวิปลาส ไม่มีคดีพันศรี พันลา ไม่มีกบฏพระยาสรรค์ หลังเจ้าพระยาจักรียกทัพไปกรุงกัมพูชา ถ้าเช่นนั้น “ข่าวว่าแผ่นดินเป็นจลาจล” ของเจ้าพระยาจักรีก็อาจจะไม่ใช่อะไรอื่นนอกเสียจาก

ข่าวเตรียมการยึดกรุงธนบุรีล่วงหน้านั่นเอง!

 


เชิงอรรถ :

[1] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. (กรุงเทพฯ : ชัยวิโรจน์การพิมพ์, 2535), น. 26.

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,” ใน กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2538), น. 113.

[3] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 26.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 69.

[5] อุบลศรี อรรถพันธุ์, การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2524, น. 112.

[6] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น. 69.

[7] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 439.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 440.

[9] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 440. 

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 441.

[11] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า, (กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2545), น. 518.

[12] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8. จดหมายเหตุโหร. (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2507), น. 118.

[13] จดหมายเหตุโหรฉบับพระยาประมูลธนารักษ์. พิมพ์แจกในงานศพ นางช้อย ชูโต, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรณธนากร, 2464), น. 11.

[14] ในฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าเป็นปีชวด “อนึ่ง ในปีชวด โทศก (จ.ศ. 1142 พ.ศ. 2323) นั้น ให้จับญวนกบฏมาประหารเสียทั้งพรรคพวกเป็นอันมาก” น. 68.

[15] กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 66.

[16] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 446.

[17] กรมหลวงนรินทรเทวี, อ้างแล้ว. น. 70. ศึกกลางเมือง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกพระเจ้าตากรบพระยาสรรค์ ครั้งที่ 2 พระยาสรรค์รบพระยาสุริยอภัย

[18] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2514), น. 132.

[19] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 น. 449. 

[20] เรื่องเดียวกัน, น. 444.

[21] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 442. 

[22] กรมหลวงนรินทรเทวี. อ้างแล้ว. น. 67. 

[23] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, น. 444. 

[24] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. อ้างแล้ว. น. 519.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “’แฉ’ แผนใช้พงศาวดาร ยึดกรุงธนบุรี ‘ซ้ำ’” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565