เสาะหาหลักฐานครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จากตระกูล เดอ ฟอร์บัง

ภาพวาดของเชวาลิเอร์ เดอะ ฟอร์บังในเครื่องแต่งกายแบบขุนนางสยาม มาจากหนังสือบันทึกความทรงจำของฟอร์บังตีพิมพ์ในอัมส์เตอร์ดัมเมื่อปี ค.ศ. 1729 (พ.ศ.2272)

งานที่ข้าพเจ้าสนใจเป็นอย่างมากคือการหาหลักฐานใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเผยแพร่ เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสไปประเทศฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนจากโครงการสปาฟาและรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อไปดูงานพิพิธภัณฑ์ ข้าพเจ้าจึงได้คิดหาทางหาเอกสารประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยใหม่ๆ ที่เก็บรักษาอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ เพื่อนำกลับมาเผยแพร่ สำหรับหลักฐานที่เก็บรักษาอยู่ตามหอจดหมายเหตุ หรือหอสมุดต่างๆ นั้นเป็นโอกาสที่ผู้สนใจโดยทั่วไปสามารถค้นหาได้อยู่แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้คิดหาวิธีการอีกวิธีหนึ่งกล่าวคือ

ข้าพเจ้าทราบดีว่าที่ประเทศฝรั่งเศสนั้นความสำนึกในทางประวัติศาสตร์ของชาติ และของบุคคลเป็นไปอย่างสูง และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติฝรั่งเศสมานานนับศตวรรษแล้ว กลุ่มบุคคลที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม หลายครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นบุคคลอยู่ในตระกูลสูง และได้เดินทางกลับไปยังประเทศฝรั่งเศสพร้อมด้วยของขวัญที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานมากมาย และบางตระกูลยังคงมีชื่อเสียงอยู่จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวของบุคคลในกตระกูลเขาซึ่งได้เดินทางมายังตะวันออกเมื่อ 300 ปีก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าคาดว่าคงยังทราบกันอยู่เป็นอย่างดีของเชื้อสายผู้สืบตระกูลที่ยังอยู่ในปัจจุบัน

Advertisement

สื่อที่จะทำให้การติดต่อกับเชื้อสายของตระกูลเก่าๆ ที่เคยเดินทางมายังสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คือ หนังสือใครเป็นใครของประเทศฝรั่งเศส

ในหนังสือเล่มนั้นจะบรรจุชื่อบุคคลผู้มีชื่อเสียงหรือสำคัญๆ ทุกๆ คนของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน คุณกันยา ใจมั่น เพื่อนคนไทยของข้าพเจ้าที่ทำงานอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีสในเวลานั้นได้หาหนังสือเล่มนั้นให้ ข้าพเจ้าได้เลือกเปิดดูชื่อตระกูลต่างๆ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุ ว่าเคยเดินทางมายังประเทศสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้แก่ตระกูล เดอ ลาลูแบร์ เดอ โวดริคูร์ เดอ โชมอง เดอ ฟอร์บัง ฯลฯ

ในที่สุดข้าพเจ้าคงพบเพียงสกุลเดียวคือสกุล เดอ ฟอร์บัง (และยังมีสกุลโชมอง แต่มิใช่ เดอ โชมอง จึงไม่เกี่ยวข้องกับตระกูล เดอ โชมอง) ชื่อบุคคลที่ปรากฏในหนังสือใครเป็นใครสำหรับตระกูลนี้คือ มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง

ภาษาฝรั่งเศสของข้าพเจ้านั้นใช้การได้เพียงซื้ออาหารหรือถามชื่อถนนหนทางเท่านั้น เมื่อได้ชื่อของเขาแล้ว เพื่อนรุ่นพี่คนไทยที่ทำงานอยู่ที่สถานทูตเช่นกันคือ คุณวิสูตร ตุลยานนท์ ได้กรุณาร่างจดหมายที่สละสลวยส่งไปยังมาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บังให้ สาระสำคัญในจดหมายนั้นคือ ข้าพเจ้าทำงานในพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยและสนใจประวัติศาสตร์ครั้งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 และที่พิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่นั้นมีโอกาสต้องเผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสอยู่เสมอ เช่น การจัดนิทรรศการ การอภิปรายนำชม หากเขามีหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับสยามที่ยังคงเก็บรักษาอยู่ในตระกูลของเขา เช่น ของขวัญที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานให้ หรือเอกสารต่างๆ ก็ขอได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย เพื่อข้าพเจ้าจะได้ขออนุญาตศึกษาและถ่ายภาพ

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้รับจดหมายตอบจาก มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ซึ่งได้กล่าวว่า ของขวัญต่างๆ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชทานแก่เคานต์ เดอ ฟอร์บัง ได้สูญหายหมดแล้ว คงเหลือเพียงจดหมายฟอลคอลที่สามารถถ่ายเอกสารมอบให้ได้ และขอให้นัดวันขอพบ ข้าพเจ้าได้นัดวันขอพบคือวันที่ 5 มีนาคม 2527

มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ข้าพเจ้าได้ขอนำเพื่อนคนไทยคือ คุณขจิต จิตเสวี ในเวลานั้นกำลังทำปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์และมีความสนใจประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากได้ช่วยเป็นล่าม เราได้เดินทางไปพบมาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บังที่บ้านของเขาเลขที่ 23 ถนนเดลเลอเสต์ กรุงปารีสในวันดังกล่าว

มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง อายุ 82 ปี บุคลิกไม่ถือตัว เป็นกันเอง ลักษณะอย่างนี้มิได้หาพบง่ายๆ สำหรับชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไป ตำแหน่งมาร์ควิสนำหน้าชื่อแทนจะใช้ว่าเมอซิเออร์ดังเช่นชายชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไปแสดงว่าเป็นเชื้อสายตระกูลขุนนาง มาร์ควิสเล่าว่าเคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยแล้วและเคยไปที่เมืองลพบุรีด้วย มาร์ควิสได้เตรียมข้อมูลพร้อมยินดีที่ให้ข้าพเจ้านำมาเผยแพร่ได้ ข้าพเจ้าและคุณขจิต จิตเสวีได้คุยกับมาร์ควิสตลอดบ่ายวันนั้นอย่างสนุกสนาน

เรื่องราวของเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือที่มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง เรียกว่าเคานต์โลด เดอฟอร์บัง ซึ่งดำรงชีวิตห่างจากมาร์ควิสนานถึง 300 ปีนั้น มาร์ควิสรู้เรื่องเป็นอย่างดี และสามารถเล่าให้ฟังได้อย่างไม่ติดขัดจนดูเหมือนว่าเรื่องราวของตระกูลเขาเมื่อ 300 ปีมานั้นยังผ่านไปไม่นาน

ในขณะที่เราแอบฉงนอยู่ในใจนั้น มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ได้เพิ่มความฉงนเพิ่มให้อีกโดยมอบหนังสือชื่อ หกศตวรรษของตระกูลเดอฟอร์บัง ที่พิมพ์เพียง 170 เล่ม ในหนังสือเล่มนี้กล่าวละเอียดถึงบทบาทบุคคลสำคัญๆ ในตระกูลของเขานับตั้งแต่ ค.ศ. 1391 และแน่นอนก็มีเรื่องของเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง หรือราชทินนามไทยว่า ออกพระศักดิสงคราม อยู่ด้วย

การพบปะกับมาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ในวันนั้นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยในอนาคตอย่างที่ข้าพเจ้าคาดไม่ถึง มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ได้เริ่มหยิบสิ่งที่ได้เตรียมไว้เพื่อมอบและอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังที่ละสิ่ง

แรกสุดมาร์ควิส ได้ให้ดูหนังสือ ชื่อบันทึกส่วนตัวเคานต์ เดอ ฟอร์บัง ฉบับตีพิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัม เมื่อ ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2291 ตรงกับปลายสมัยอยุธยา) หนังสือฉบับนี้อาจจะหาได้ที่หอสมุดทั้งในกรุงปารีสและกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นหนังสือประเภทที่ถูกกำหนดว่าเป็นหนังสือหายาก และคงไม่มีเจ้าของหรือบรรณารักษ์ผู้ใดอนุญาตให้ถ่ายเอกสารเป็นแน่ ในโอกาสนี้มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บังได้อนุญาตให้ข้าพเจ้ายืมถ่ายเอกสารด้วยความเต็มใจ

สิ่งต่อมาที่มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ได้มอบให้และอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ได้คือบทความที่มาร์ควิสเองเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ “การผจญภัยในสยาม” (โดยเคานต์ เดอ ฟอร์บัง ทั้งหมด 14 แผ่น มีอ้างอิงที่น่าสนใจโดยเฉพาะที่เท้าความจากจดหมายในหมู่ตระกูลเดอ ฟอร์บัง เอง) บทความนี้ข้าพเจ้าได้มอบให้เพื่อนคนหนึ่งได้ช่วยกรุณาแปลและเราคงจะได้ทราบรายละเอียดกันในไม่ช้า

สำหรับสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าสำคัญที่สุดในการพยายามได้พบมาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง นั้นคือ การได้รับภาพเอกสารจดหมายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ที่เขียนถึงเคานต์ เดอ ฟอร์บัง ในขณะที่เป็นผู้บัญชาการป้อมเมืองบางกอก เขียนเป็นภาษาโปรตุเกส จำนวน 12 ฉบับ จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1686 เข้าใจว่าจดหมายทั้ง 12 ฉบับนี้ เมื่อเคานต์ เดอ ฟอร์บัง ได้เดินทางจากสยามกลับประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1688 นั้น ได้นำจดหมายดังกล่าวไปด้วย และคงเก็บรักษาอยู่ ณ บ้านตระกูล เดอ ฟอร์บัง จึงได้มีทะเบียนบัญชีเลขจดหมายเหตุบนกระดาษจดหมายนั้นทุกฉบับ

จดหมายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ถึงออกพระศักดิสงคราม (เคานต์ เดอ ฟอร์บัง) เมื่อ ค.ศ. 1686

ปัจจุบันต้นฉบับจดหมายทั้ง 12 ฉบับนี้มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง กล่าวว่า เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุเมืองเซงต์ มาร์เซล (ใกล้เมืองมาร์ซายส์ ภาคใต้ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่เดิมของตระกูล เดอ ฟอร์บัง)

เท่าที่ข้าพเจ้าทราบนั้น จดหมายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ทั้ง 12 ฉบับนี้ ยังไม่เคยถูกตีพิมพ์เผยแพร่หรือเปิดเผยต่อวงการประวัติศาสตร์มาก่อน ข้าพเจ้าได้ขอความร่วมมือจากผู้ที่รู้ภาษาโปรตุเกสที่อยู่ในประเทศไทย ได้กรุณาแปลเป็นภาษาไทยเพื่อจะได้พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไปแล้ว และเราคงจะรู้ว่าในรายละเอียดของจดหมายทั้ง 12 ฉบับ ของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้นจะมีประเด็นอะไรที่ใหม่สำหรับประวัติศาสตร์ไทยครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์บ้างในไม่ช้า

สิ่งสำคัญอันดับรองที่ข้าพเจ้าได้จากการพบมาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง อีกนั้นคือ รับมอบภาพถ่ายเคานต์ เดอ ฟอร์บัง ซึ่งถ่ายจากภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ปราสาทของมาร์ควิส เดอ ฟอร์บัง ลา บาร์บอง ที่เมืองมาร์ซายส์ เคานต์ เดอ ฟอร์บัง ในภาพวาดนั้นสวมเสื้อยศแบบขุนนางไทยครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์คือสวมเสื้อครุยและสวมลอมพอกแหลม มีภาพขุนนางสยามอื่นๆ ประกอบอีกหลายคนและกำลังทำท่ายื่นมือขวาออกไปยังสถานที่ที่ตัดสินใจสร้างป้อมที่เมืองบางกอก ภาพถ่ายจากภาพสีน้ำมันที่มาร์ควิส อองรี เดอ ฟอร์บัง ให้ข้าพเจ้ามานั้นเป็นเพียงภาพขาวดำ และมาร์ควิสได้สัญญาว่าจะพยายามติดต่อญาติของเขาที่ครอบครองภาพดังกล่าวนี้ที่เมืองมาร์ซายส์ ขอถ่ายเป็นภาพสีและจะส่งมาให้ข้าพเจ้าภายหลัง

มาร์ควิส ฮองรี เดอ ฟอร์บัง ยังกล่าวว่าในตระกูลของเขานั้นยังคงเก็บรักษาจดหมายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสถึงเคานต์ เดอ ฟอร์บัง อีก 12 ฉบับแต่ไม่อาจถ่ายภาพเอกสารมอบให้ได้ นอกจากนั้นยังมีจดหมายจากเคานต์ เดอ ฟอร์บัง เขียนไปยังญาติของเขาในประเทศฝรั่งเศสอีกมีข้อความพาดพิงถึงการรับราชการในราชสำนักสยาม

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการพยายามค้นหาหลักฐานจากผู้สืบตระกูลหนึ่งของชาวฝรั่งเศสผู้ที่เคยเข้ามาในสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ข้าพเจ้าจึงอยากจะขอเรียนไว้ในตอนท้ายนี้ว่าความพยายามใดๆ ที่จะหาหลักฐานข้อมูลใหม่ๆ ของไทย ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังคงเป็นไปได้อยู่เสมอ สำหรับผลงานที่ข้าพเจ้าได้ทำนั้นถือได้ว่าเป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” เท่านั้น

ข้าพเจ้าไม่พร้อมทั้งเรื่องภาษาและเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือเวลาซึ่งข้าพเจ้ามีไม่มากนักและต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันไป ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสเสนอแนะว่า หากมีส่วนราชการหรือสถาบันการศึกษาใดที่พร้อมด้วยบุคคลรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี มีงบประมาณและตั้งใจรวบรวมหลักฐานประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เพียงอย่างเดียวก็จะได้ ผลงานอย่างมีระบบและเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เมื่อหลักฐานต่างๆ ได้นำกลับมาประเทศด้วยวิธีถ่ายภาพ ถ่ายเอกสาร หรือวิธีอื่นใดก็แล้วแต่ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับอนุชนรุ่นหลังในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้เป็นอย่างดี การเขียนประวัติศาสตร์ที่ได้รวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วนหมดสิ้นแล้วเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นการบรรลุ (ขั้นต้น) ของงานประวัติศาสตร์ที่ดี

[ล้อมกรอบ]

ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์คงจะรู้จักชื่อเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เป็นอย่างดี ท่านผู้นี้เป็นขุนนางฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งนอกเหนือจากออกญาวิชาเยนทร์ ฝรั่งชาติกรีกที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดและไว้วางพระทัย

เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เป็นขุนนางชาวฝรั่งเศสที่รักการผจญภัย เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ฝรั่งเศสมีความประสงค์จะส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามโดยเฉพาะจะพยายามโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนานั้น เชอวาลิเอร์ เดอ โชมอง ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้เป็นราชทูตเพื่อดำเนินการในภารกิจดังกล่าว

เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ก็ได้อาสาสมัครเดินทางร่วมมากับคณะทูตชุดดังกล่าวด้วย และได้เดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ. 2228 เมื่อคณะทูตจะเดินทางกลับ สมเด็จพระนารายณ์ได้ขอตัวเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ไว้รับราชการกับราชสำนักสยามต่อไป โดยอุปนิสัยของเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ซึ่งชอบการผจญภัยอยู่แล้ว ก็ยินดีอยู่ทำงานในประเทศสยาม สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้เป็นผู้บัญชาการป้อมอยู่ที่เมืองบางกอก และได้อยู่รับราชการจนถึง พ.ศ. 2230 จึงได้กลับประเทศฝรั่งเศส (ก่อนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต)

เมื่อกลับไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ได้เขียนบันทึกเรื่องราวชีวิตของตนเป็นภาษาฝรั่งเศสชื่อ Memoires des Comte de Forbin Chef D’Escardre, Chevalier de L’Ordre Meliatire de Sainte Louis และบางตอนของบันทึกนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า จดหมายเหตุฟอร์บัง ถูกกำหนดให้เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ 80 บันทึกนี้น่าสนใจอ่านเป็นอย่างยิ่ง เป็นภาพของสยามที่ถูกมองอีกด้านหนึ่งต่างไปจากบันทึกของชาวฝรั่งเศสอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน

บันทึกของชาวฝรั่งเศสอื่น ๆ นั้นมักจะพร่ำพรรณนาถึงความร่ำรวยของอาณาจักรสยาม

ในทางตรงข้าม เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง บันทึกว่าอาณาจักรนี้ไม่ได้ร่ำรวย ชาวบ้านล้วนแต่ยากจนอาศัยอยู่ในบ้านเล็กๆ ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยจาก พระพุทธรูปหล่อโลหะองค์ใหญ่ๆ ที่ชาวฝรั่งเศสอื่นกล่าวว่าทำด้วยทองคำน้ำหนักมากมายนั้น สำหรับ เดอ ฟอร์บัง กล่าวว่าแท้จริงแล้วเป็นพระพุทธรูปที่ถูกปิดทับด้วยแผ่นทองคำบางๆ จนดูเหมือนว่าทำด้วยทองคำ หรือกล่าวว่าเรือนพักแรมของทางการที่ได้จัดสร้างให้พักตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นพลับพลาสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบไม้ พอคณะทูตเดินทางออกจากพลับพลานั้นจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วรื้อพลับพลานั้นย้ายไปสร้างดักไว้ข้างหน้าต่อไป หรือกล่าวว่าคนไทยนั้นแท้จริงแล้วเป็นคนขลาด เมื่อเกิดกบฏมักกะสันซึ่งเป็นชาวมุสลิมลี้ภัยก่อความวุ่นวายในกรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ชาวไทยมิได้หาญกล้าสู้กับความบ้าบิ่นกับพวกกบฏแต่อย่างใด

และจากบันทึกเล่มเดียวกันนี้เราสามารถมองเห็นบุคลิกภาพของเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เป็นอย่างดีว่าเป็นคนตรง มีความจงรักภักดีต่อหน้าที่การงานและต่อสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างมาก บุคลิกภาพดังกล่าวนี้ตรงกันข้ามกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งเป็นผู้ที่รับราชการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตน ประจบสอพลอ ทำสิ่งใดก็มีเล่ห์กลเพทุบาย สมเด็จพระนารายณ์มิได้รู้เท่าทัน หรือรู้เท่าทันก็มักจะให้อภัย

ในที่สุดบุคคลทั้งสองก็ขัดแย้งกันและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2565