ผู้เขียน | กลับบางแสน |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 นับได้ว่าเป็นยุคที่ประชาธิปไตยกลับมาเบ่งบานอีกครั้ง กล่าวคือ ทหารถูกลดบทบาทลง ในขณะที่นักการเมืองเริ่มเข้ามีบทบาทในรัฐสภาเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการก่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่สำคัญคือนักธุรกิจใหญ่เริ่มเข้ามาในแวดวงการเมือง
อย่างไรก็ดี แม้บริบททางการเมืองดูจะกลับสู่เสถียรภาพ แต่ประเทศไทยกลับต้องเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” จากการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงเป็นอย่างมากและกระทบไปทุกภาคส่วนในประเทศ แต่ความหวังกลับมาอีกครั้งหลังจากเกิดพรรคการเมืองชื่อว่า พรรคไทยรักไทย โดยหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ของ คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร (มติชน, 2557) อธิบายไว้ดังนี้
ไทยรักไทย
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เขาเป็นนักธุรกิจใหญ่ประสบความสำเร็จสูงสุดตั้งแต่ก่อนวิกฤต สามารถสะสมความมั่งคั่งมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลา 5 ปี จากที่เขาทำธุรกิจมือถือเป็นกิจการกึ่งผูกขาดโดยได้สัมปทานจากรัฐบาล และนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น
ราวๆ พ.ศ. 2537 เขาลงเล่นการเมือง ให้ภาพเป็นนักธุรกิจสมัยใหม่ในธุรกิจไฮเทค เขาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รอดมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ…และบริษัทในธุรกิจบริการที่พึ่งตลาดภายในเป็นหลัก…
นักธุรกิจใหญ่สนใจการเมืองครั้งนี้ คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2475 พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2535 ในครั้งก่อนๆ นั้นนักธุรกิจใหญ่หมดความสนใจการเมืองอย่างรวดเร็ว
แต่ในครั้งนี้พวกเขามีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น และวิกฤตทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นต้องเข้ายึดกุมอำนาจรัฐ เพื่อให้ช่วยบริหารจัดการกับโลกาภิวัตน์ในแนวทางที่เป็นประโยชน์กับพวกเขา ทักษิณเสนอตัวเองเป็นนักธุรกิจตัวฉกาจที่จะช่วยให้ทั้งบริษัทขนาดเล็กและใหญ่ฟื้นตัวจากวิกฤตได้อย่างฉับพลัน
พรรคใหม่นี้จับกระแสความรู้สึกหลังวิกฤตได้ดี ชื่อพรรคไทยรักไทยสะท้อนอารมณ์ชาตินิยมที่พุ่งขึ้นในขณะนั้น พรรคชูคำขวัญ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน” และสัญญาว่าจะปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทุกด้านเพื่อให้ไทยแข็งแกร่งทันสมัย และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายของโลกยุคใหม่
แสดงวิสัยทัศน์สร้างความแข็งแกร่งเพื่อให้จัดการกับโลกาภิวัตน์ได้ พรรคติดต่อกับเอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหวที่ชนบทให้ช่วยคิดแผนการหาเสียงเลือกตั้งที่ตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตต่อภาคชนบท ได้แก่ โครงการปลดหนี้ให้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้านละล้าน และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
คำโฆษณาของพรรคใช้ศัพท์แสงท้องถิ่นเรื่องการเพิ่มอำนาจให้ชุมชนและการพัฒนาจากรากหญ้า ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี หลวงตามหาบัว และขบวนการชาวชนบทหลายแห่ง ล้วนสนับสนุนพรรคใหม่
แรงหนุนจากประชาชนในระดับรากหญ้า จูงใจให้เจ้าพ่อท้องถิ่นต่างๆ ให้การสนับสนุนกับพรรคใหม่ ด้วยตระหนักว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องแพ้การเลือกตั้งเนื่องจากไปอิงอยู่กับนโยบายของไอเอ็มเอฟ
ทักษิณใช้เงินจำนวนมากในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง วางแผนอย่างแนบเนียน ประสานงานดี และมียุทธศาสตร์เด่นอย่างที่ไม่มีพรรคใดทำมาก่อน ผลของการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 คือพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. 248 คน จากทั้งหมด 500 คน ขาดไปเพียง 2 คนก็จะได้เสียงข้างมากในรัฐสภา
หลังจากนั้นดึงอีก 2 พรรคเข้ามาร่วมกับพรรคไทยรักไทย (รวมทั้งพรรคของพลเอกชวลิต) จนในท้ายที่สุดมี ส.ส. ในพรรคเกือบ 300 คน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยปักหลักแน่นที่ภาคใต้และเป็นพรรคใหญ่ที่สุด กลายเป็นพรรครองลงมา
นอกจากแข็งแกร่งจากที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาแล้ว ทักษิณยังได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญใหม่ที่คณะผู้ร่างตั้งใจจะให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงและให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ทักษิณใช้ประโยชน์จากการสื่อสารสมัยใหม่เต็มที่ ออกรายการคุยกับประชาชนทางวิทยุทุกวันอาทิตย์
ทักษิณบอกเล่าถึงกิจกรรมที่ทำเพื่อประชาชน เป็นตัวเด่นในหน้าหนังสือพิมพ์และข่าวทีวี รัฐบาลของทักษิณดำเนินนโยบายที่ให้สัญญาไว้ภายในปีแรกที่เป็นรัฐบาล ส่งผลให้แรงหนุนจากสาธารณชนพุ่งขึ้นไปอีก
ทักษิณให้สัญญาว่าจะไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจฟื้นจากวิกฤต แต่จะทำให้เมืองไทยยกระดับเป็นสมาชิกของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มโออีซีดี (OECD) โดยจะปรับเปลี่ยนให้ข้าราชการทำงานในระบบที่เกื้อหนุนธุรกิจภาคเอกชนอย่างเต็มที่ เขากล่าวว่า “บริษัทก็คือประเทศ ประเทศก็คือบริษัท…บริหารเหมือนกัน”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565