ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นี้ “ประชาธิปไตย” ของประเทศจะมีอายุครบ 90 ปี เส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรในทิศทางใด ก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รวมทั้งช่วงเวลาในระยะนั้น มีบางแง่มุมที่นิตยสาร“ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยหลากหลายบทความที่จะบอกเล่า เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 และบรรยากาศบ้านเมืองก่อน-หลังการปฏิวัติ ดังนี้
หนึ่งคือบทความของ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ที่ชื่อว่า “นักเรียนนายร้อยรุ่น 2474 กำลังสำคัญเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ที่รวบรวมบันทึกของอดีตนักเรียนนายร้อยรุ่นนั้นหลายนาย
ตัวอย่างเช่น บันทึกของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร เมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย ตุ๊ จารุเสถียร ที่บันทึกว่า
“เจ้านายชั้นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ได้นั่งโต๊ะอาหารโต๊ะหนึ่งต่างหากออกไป เขาเรียกว่า ‘โต๊ะเจ้า’ ที่โต๊ะเจ้าปูด้วยผ้าขาว ขณะที่นักเรียนนายร้อยทั่วไปใช้ผ้าน้ำมันสีดำปู เนื่องจากเป็นผ้าที่เช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย ใช้น้ำล้างโดยไม่ต้องซักแล้วเอาผึ่งแดด มีแต่โต๊ะเจ้าโต๊ะเดียวเท่านั้นที่ปูด้วยผ้าขาวสะอาด ส่วนจานชามต่างๆ ของนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบทั่วไปใช้จานชามอะลูมิเนียม เพราะว่าถ้าใช้จานชามกระเบื้องจะแตกหักง่ายในเวลาล้างหรือยกทำความสะอาดหรือเวลานักเรียนนายร้อยใช้ช้อนเคาะจานเคาะชามนั้น แตกต่างไปจากโต๊ะเจ้าที่ใช้จานและชามกระเบื้องอย่างดีสั่งมาจากห้างฝรั่งมีลวดลายสวยงาม
บ๋อยที่เสิร์ฟตามโต๊ะก็มีการแบ่งแยกเช่นกัน โต๊ะเจ้าใช้บ๋อยสองคน แต่ของนักเรียนนายร้อยทั่วๆ ไปใช้บ๋อยคนเดียวต่อสองโต๊ะ อันเท่ากับแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิแตกต่างกันในเวลากินอาหาร แล้วอาหารก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือของเจ้ามีสำรับพิเศษส่งมาจากในวัง ห่อผ้าขาวโดยมหาดเล็กนุ่งผ้าม่วงมาส่งที่โต๊ะ แก้ผ้าขาวออกเชิญสำรับมาวางที่โต๊ะ พวกเจ้านายก็เสวยกันที่โต๊ะ ของอย่างที่นักเรียนนายร้อยกิน ท่านไม่เสวย ทำให้พวกเรามีความรู้สึกว่า พวกเจ้าทำอะไรและมีอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากพวกนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบธรรมดา”
นั่นคืออารมณ์ของสังคมบางส่วน ก่อน 24 มิถุนายน 2475
หนึ่งคือบทความของ ณัฐพล ใจจริง ที่ชื่อ “ ‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร’ : ความทรงจำของ ‘เยาวรุ่น’ เมื่อ 90 ปีก่อน” ที่รวบรวมความรู้สึกของเยาวชนคนหนุ่มสาวเวลานั้น เมื่อรู้ข่าวการปฏิวัติของคณะราษฎร ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
ตัวอย่างหนึ่งที่ สวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส. นครสวรรค์ 12 สมัย ที่ในวันนั้นยังเป็นนักเรียนมัธยมวัดราชบพิธ เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า
“…พวกเราวิ่งบ้างเดินบ้างไปเสาชิงช้า เพื่อไปต่อที่พระบรมรูปทรงม้า มีชาวบ้านมารวมตัวกันที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นหมื่น พูดกันให้แซดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพระองค์ท่าน และมีการแจกใบปลิว…มีข้อความในใบปลิว 2 แผ่นใหญ่ อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลง และพูดถึงผู้ริเริ่ม คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วย พอเวลาประมาณ 10.00 น.โมงเช้า คนที่พูดเหมือนในรูปใบปลิว จึงยืนฟังอยู่ ท่านพูดว่า พวกเราคณะทหารและพลเรือน ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากในหลวง เพื่อเอาอำนาจในการปกครองประเทศมาให้ประชาชน ตามอย่างอารยประเทศ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย…ผมอยู่ที่พระบรมรูปทรงม้าถึงเที่ยงวัน ฟังชาวบ้านที่มาชุมนุมนับหมื่นคนพูดวิจารณ์รัฐบาลของในหลวง”
ไม่เพียงแต่เท่านั้น การปฏิวัติ 2475 ยังจุดประกายให้กับคนหนุ่มสาวอีกหลายต่อหลายรุ่น เช่น กรณีกลุ่มอนุรักษนิยมก่อกบฏบวรเดชขึ้น เมื่อกำลังของทัพกองบวรเดชยกทัพมาประชิดพระนครในกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ไม่เพียงกระตุ้นให้ทหารกองหนุนจำนวนมากรายงานตัวเข้าประจำการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเหล่าพลเมืองหญิงชาย ลูกเสือ และนักเรียนหญิง อาสาสมัครฯ เข้าช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อต้านฝ่ายกบฏ
ตัวอย่างหนึ่งคือ นางสาวพยงค์ กลิ่นสุคนธ์ เยาวรุ่นสตรีชาวสมุทรสาคร ที่เดินทางจากบ้านมาสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อต่อรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือไปยังนครราชสีมา ขอสมัครเป็นอาสาสมัครไปแนวหน้าปราบกบฏบวรเดช
หรือตัวอย่างของลูกเสือคนหนึ่งสังกัดโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง สวมเครื่องแบบแล้วหายตัวออกไปจากบ้านไปช่วยทหารลำเลียงอาวุธทั้งคืน ที่ให้คำอธิบายกับพ่อแม่ว่า ตนเองไปช่วยปกป้องรัฐธรรมนูญ หากไม่มีรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้อย่างไร
หนึ่งคือบทความของ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ “อ่านความหมาย ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ ในสมัยคณะราษฎร” กล่าวถึงเหตุการณ์หลังวันที่ 24 มิถุนายน ที่มีการสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หมุดคณะราษฎร”
หมุดคณะราษฎร เคยถูกฝังตรึงอยู่กลางลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นสถานที่ที่คณะราษฎรประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ดังข้อความที่ปรากฏบนหมุดอย่างชัดเจน ความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”
การประกอบพิธีฝังหมุดคณะราษฎร นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมคณะผู้ก่อการ ในการวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 เวลาบ่าย 14.30 บางส่วนว่า
“พี่น้องผู้ร่วมตายทั้งหลาย
ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่าตำบลใดเป็นที่ๆเราได้เคยร่วมกำลัง ร่วมใจ ร่วมความคิด กระทำการ, เพื่อขอความอิสสรเสรีให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือนๆ และบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบ ว่าจุดนั้นอยู่แห่งใดแน่. ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย, เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม, ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย”
จึงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญประกอบพิธีในวันที่ 10 ธันวาคม 2479
อันตรงกับช่วงเวลาการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 ที่มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 8-13 ธันวาคม ที่มีการจัดงานถึง 3 แห่ง ได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชอุทยานสราญรมย์ และสนามหลวง โดยสมาคมคณะรัฐธรรมนูญพระนครและธนบุรีเป็นเจ้าภาพจัดงานกำหนดสถานที่ ขณะที่ราชการประกาศหยุดราชการ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 ธันวาคม
ที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนจากบทความของนักเขียนทั้ง 3 ท่าน ส่วนที่เหลือขอท่านผู้อ่านได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมิถุนายนนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2565