ความทรงจำคนรุ่น 2475 เกี่ยวกับ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”

ภาพถ่ายหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จากอัลบั้มภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2479 โดยช่างภาพนิรนาม (ภาพถ่ายโดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

“หมุดคณะราษฎร” หรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ถูกวางฝังลงไปบนพระลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ปัจจุบันแม้ว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อปี พ.ศ. 2560 และถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” แต่หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญก็ได้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคณะราษฎร จนมีการนำมาออกแบบใหม่ให้เข้ากับปัจจุบันและนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งยังเคยนำไปฝังไว้บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคปัจจุบัน

บทความ อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” สมัยคณะราษฎร ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2565 เขียนโดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ งานศึกษานี้ผ่านการค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ ที่ร่วมสมัย 2475 หลายชิ้น เพื่อพิสูจน์และหาความหมายของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในยุค 2475 โดยเริ่มต้นที่การอ่านสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ ในพิธีฝังหมุด ซึ่งพระยาพหลฯ ได้กล่าวจุดประสงค์ของการปฏิวัติ 2475 ว่า “สำหรับเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืม และเป็นอนุสรสืบต่อไปในภายภาคหน้า” และหลักฐานที่ใช้มากคือหลักฐานประเภทหนังสือพิมพ์ร่วมสมัย เพื่อให้เห็นความสนใจของประชาชนหรือหน่วยงานร่วมสมัยนั้นๆ ต่อหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

Advertisement
ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2565

บทความนี้ สนใจไปที่ความหมายของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายก้าวหน้ามองว่าหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ของคณะราษฎรจนมีการเรียกหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญว่า “หมุดคณะราษฎร” ไปจนถึงให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายนซึ่งเป็นวันอภิวัฒน์สยามมาก แต่ในช่วงแรกของยุค 2475 ซึ่งตรงกับรัฐบาลพระยาพหลฯ ในส่วนของวันที่ 24 มิถุนายน และ 27 มิถุนายน วันอภิวัฒน์สยามและวันประกาศรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก เพราะรัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจเก่า ในช่วงสองปีแรกหลังการปฏิวัติ โดยไปให้ความสำคัญกับวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันฉลองรัฐธรรมนูญ โดยมีการฉลองจนเป็นมหกรรมการฉลองรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายอำนาจเก่าได้จบลงไปหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ทำให้คณะราษฎรมีอำนาจมากขึ้น วันที่ 24 มิถุนายน และ 27 มิถุนายน ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น หมุดคณะราษฎรคือหนึ่งในการให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน ดังปรากฏในตัวหมุดว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” อันเป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน หลัง พ.ศ. 2479 เพราะในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2480 รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 24 และ 27 มิถุนายน เป็น “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ” และ “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว” ในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามวันที่ 24 มิถุนายน ก็ได้กลายเป็นวันชาติและวันสนธิสัญญา

แม้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญจะสื่อความหมายให้เห็นถึงความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน แต่ตัวหมุดก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญโดยฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลฯ มากนัก จากการต้องการประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจเก่า เห็นได้จากไม่มีพิธีที่รัฐบาลกำหนดให้มีการสร้าง

ภาพหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ตีพิมพ์ในหนังสือ “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” (พ.ศ. 2482) ภาพจาก: นริศ จรัสจรรยาวงศ์ อ้างจาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2565)

พิธีฝังหมุดคณะราษฎรไม่มีในกำหนดการในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2479 ทั้งยังไม่พบหลักฐานว่างานนี้จัดโดยหน่วยงานไหน ศรัญญู เทพสงเคราะห์ สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากกลุ่มคนในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ตระหนักถึงความสำคัญในวันที่ 24 มิถุนายน และ 27 มิถุนายน และได้ขอความร่วมมือจากทางราชการให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพิธีการ และให้พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีการ ในส่วนของหลักฐานยังไม่พบภาพถ่ายในพิธีฝังหมุด

รูปแบบการฝังหมุดของพระยาพหลฯ ก็ได้ฝังราบเรียบไปกับพระลานพระบรมรูปทรงม้า ไม่ได้โดดเด่นอะไรไปมากกว่าพระบรมฯ ก็สะท้อนได้ว่าเป็นความพยายามประนีประนอมไม่แตกหักอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ทางอำนาจกับฝ่ายอำนาจเก่า

นอกจากนี้สัญลักษณ์ที่เป็นที่นิยมทั้งจากประชาชนและรัฐบาลคือ “พานรัฐธรรมนูญ” มีการนำพานรัฐธรรมนูญมาใช้ประดับตกแต่งกับของหลายอย่าง รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งประกอบพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ที่มีการชูรัฐธรรมนูญอยู่ยอดสูงสุด และการชูสัญลักษณ์ของคณะราษฎรในส่วนประกอบของตัวอนุสาวรีย์ ก็ทำให้หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญถูกเบียดบังจนลดบทบาทลงไปอีก

ในบทความของศรัญญู เทพสงเคราะห์ ยังได้ให้รายละเอียดของพิธีกรรมการฝังหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ความหมายเกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ และยังมีการกล่าวถึงการปฏิบัติการทางการเมืองหลัง 2475 ที่ส่งผลให้ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” มีส่วนผลักดันความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ขอได้โปรดติดตามอ่านเพิ่มเติมในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2565

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. อ่านความหมาย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” สมัยคณะราษฎร. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43. ฉบับที่ 8, มิถุนายน 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2565