พ.ศ. 2432 พญาผาบผู้นำกบฏชาวนา ต่อสู้กับระบบกรุงเทพฯ

ข้าหลวงที่รัฐบาลกลางส่งขึ้นไปประจำที่เชียงใหม่ หน้าบ้านพักด้านริมน้ำปิงราว พ.ศ. 2445-2460 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่เริ่มมีความขัดแย้งเกิดขึ้น นับตั้งแต่การปะทะกันระหว่างข้าหลวงพิเศษ จัดการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียง กับเจ้าผู้ครอง, ประชาชนในนครเชียงใหม่ ด้วย “ระบบกรุงเทพฯ” ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชน และผลประโยชน์ของบุคคลชั้นสูงพื้นเมือง ในที่นี้ก็เกิดความขัดแย้ง และการปะทะกันขึ้น ใน พ.ศ. 2432 โดยมี “พญาผาบ” หรือ พระยาปราบสงคราม (เดชะ) เป็นผู้นำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมโชติ อ๋องสกุล เคยเขียนบทความชื่อ “การต่อสู้ระหว่างเจ้าถึงกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ หนึ่งศตวรรษแห่งความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพฯ กับล้านนา” (ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2531) ที่อธิบายถึงเหตุการณในครั้งนั้นไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

การเก็บภาษีอากรตาม “ระบบกรุงเทพฯ” ในยุคที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ ผู้มีอำนาจเต็ม เสมือนองค์พระมหากษัตริย์นั้น ได้ทวีความเดือดร้อนแก่ราษฎรพื้นเมืองและสร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายฝ่ายเหนือมากขึ้น เพราะได้มีการเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษี ซึ่งเดิมเคยให้เจ้าภาษีนายอากรเก็บเปลี่ยนให้เจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้เก็บ โดยไม่มีการยกเว้นภาษีที่นาของเจ้านายฝ่ายเหนืออีกต่อไป

ขณะเดียวกันการเก็บภาษีพืชผลโดยเฉพาะภาษีต้นหมาก พลู มะพร้าว เดิมเคยเก็บจากผลและใบ เปลี่ยนมาเก็บจากต้น [1] และเดิมเคยเก็บเฉพาะช่วงที่มีการซื้อขายเกิดขึ้นก่อนจึงเก็บภาษีก็เปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีดังกล่าวปีละครั้งแทน [2] ซึ่งหมายถึงราษฎรจะต้องเตรียมเงินมาสำหรับจ่ายค่าภาษีให้พร้อม เมื่อถึงกำหนดต้องมีจ่าย

การเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บภาษีดังกล่าว ทำให้เจ้าพนักงานของรัฐต้องเผชิญหน้ากับชาวนาและเจ้าของที่นารายใหญ่ คือ เจ้านายฝ่ายเหนือในฐานะผู้เก็บภาษีค่านา ขณะเดียวกันการเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีพืชผลจากการนับจากผลและใบเป็นต้น โดยไม่คำนึงว่าต้นใดให้ผลหรือไม่นั้น ทำให้มูลค่าภาษีที่ต้องประมูลสูงขึ้นกว่าเดิมจำนวนมาก

เช่นปรากฏว่า น้อยวงศ์ผู้ประมูลภาษีได้ต้องจ่ายเงินค่าภาษีให้รัฐถึง 41,000 รูปี ขณะที่หนานทาเจ้าภาษีคนก่อนเคยประมูลเพียง 25,000 รูปี [3] น้อยวงศ์จึงประมูลภาษีสูงกว่าหนานทาถึง 16,000 รูปี ทำให้น้อยวงศ์ต้องดำเนินการเก็บภาษีหมาก มะพร้าว พลู ในพื้นที่ที่ตนได้สัมปทานคือ แขวงจ๊อม แขวงกอก อย่างเข้มงวดยิ่งกว่าเดิม จนถึงขั้นทารุณกรรมราษฎรผู้ไม่มีเงินเสียภาษีอากรเช่นจับกุมข้อมือข้อเท้าราษฎร [4]

อนุสาวรีย์พญาผาบ ในวัดพญาผาบ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (ภาพจาก http://www.banklanglp.go.th)

ท่ามกลางความเดือดร้อนของราษฎร และความเข้าใจของผู้นำท้องถิ่นทุกระดับ พระยาปราบสงคราม (เดชะ) หรือที่ราษฎรพื้นเมืองเรียก พญาผาบ [5] อดีตแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ผู้เคยนำทัพเชียงใหม่รบกับไทยใหญ่ในรัฐฉานจนประสบชัย [6] และเป็นผู้มีอิทธิพลผลประโยชน์เหนือพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง จากเชียงใหม่จรดลำพูน [7] อดทนต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าราษฎรเขตแขวงจ๊อม (ตำบลหนองจ๊อม อําเภอสันทราย เชียงใหม่) จำนวน 4 คน ถูกเจ้าภาษีนายอากรกระทำทารุณกรรม จำขื่อมือขื่อเท้า กักขังไว้ที่บ้านพระยาจินใจ แคว่นจ๊อมเป็นเวลา 4-5 วันแล้ว [8]

พระยาปราบสงครามจึงส่งลูกน้องของตนประมาณ 30 คน ไปถอดขื่อคาราษฎรที่ถูกจับกุมทั้ง 4 คน และใช้กำลังขับไล่พวกเจ้าภาษีออกจากหมู่บ้านแขวงจ๊อม [9] ทำให้บรรดาเจ้าภาษีนายอากรโกรธแค้น ขู่จะนำทหารจากในเมืองเชียงใหม่ออกปราบปราม

สถานการณ์อันตึงเครียดทำให้ราษฎรพื้นเมืองจำนวนประมาณ 2,000 คน [10] เข้าพึ่งบารมีพระยาปราบสงคราม และทำให้มีการก่อตัวเป็นกองกำลังอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นตั้งแต่การสะสมอาวุธ ช้าง ม้า กระสุน ดินดำ เสบียงอาหาร วางเวรยาม และชุมนุมพล บำรุงขวัญที่บริเวณวัดฟ้ามุ่ย วัดประจำหมู่บ้านแขวงจ๊อม มีครูบานาระต๊ะ เจ้าอาวาสวัดฟ้ามุ่ย เป็นองค์ประธานในพิธีเสกน้ำมันแจกจ่ายให้ทาร่างกายเพื่อให้อยู่ยงคงกระพันเหมือนพระยาปราบสงครามผู้นำกองกำลัง [11] เพื่อจะได้มีกำลังใจสู้ศึกอย่างฮึกเหิม

ที่น่าสังเกตคือ ผู้เข้าร่วมเป็นกองกำลังของพระยาปราบสงคราม นอกจากราษฎรผู้เดือดร้อนจากการถูกเก็บภาษีแล้ว ยังมีพวกผู้นำท้องถิ่นระดับแคว้น (กำนัน) แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) หลายคนร่วมด้วย ได้แก่ พระยาขัติยะ แค่นแม่คือ, ท้าวยาวิไชย แก่บ้านป่าบง, พระยารัตนคูหา แก่บ้านถ้ำ, พระยาอินใจ แคว่นจ๊อม, พระยาชมภู แก่หัวฝาย, ท้าว เขื่อนคำ แคว่นกอก และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวพันคำ แสนเทพสุรินทร์ เป็นต้น [12]

เพราะผู้นำระดับท้องถิ่นเหล่านี้ ล้วนเคยมีอำนาจและผลประโยชน์ในท้องถิ่นอย่างมาก แต่ต้องสูญเสียไปเพราะการเปลี่ยนแปลงตาม “ระบบกรุงเทพฯ” [13]

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือเป้าหมายของกองกำลังที่นำโดยพระยาปราบสงครามครั้งนี้มีเพียงเพื่อต้านทหารที่เจ้าภาษีนายอากรขู่จะนำมาปราบเท่านั้น แต่กลับรุกคืบมุ่งบุกนครเชียงใหม่เพื่อสังหารข้าราชการไทยและพ่อค้า เจ้าภาษีนายอากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำปิง โดยพระยาปราบสงครามกำชับกองกำลังของตนเองอย่างเฉียบขาดตอนหนึ่งว่า “..ให้ฆ่าพวกไทยพวกจีนและเผาบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำปิงเสียให้สิ้น….” [14] ไม่ต้องเว้น “แม้แต่หำเท่าตัวจิ้งหรีดก็จงฆ่าอย่าให้เหลือ” [15] เป้าหมายดังกล่าวสะท้อนความคับแค้นใจของผู้นำท้องถิ่นที่มีต่อ “ผู้ปกครองจากฝ่ายใต้” และเจ้าภาษีนายอากรคนจีนที่ทำตนเป็นเครื่องมือขูดรีดของ “ฝ่ายใต้”

เมื่อข่าวการชุมนุมกำลังพลของพระยาปราบสงครามแพร่ถึงภายในนครเชียงใหม่ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษทรงออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้พระยาปราบสงครามเข้ามอบตัว ภายในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2432 มิฉะนั้น ทางการจะส่งกองทหารไปปราบ ขณะเดียวกันก็ทรงส่งคนให้ปลอมเป็นพระภิกษุเข้าไปในหมู่บ้านเกลี้ยกล่อมให้พระยาปราบสงครามยอมมอบตัว แต่ไม่สำเร็จ เพราะพระยารัตนคูหาแก่บ้านถ้ำ ผู้นำของกองกำลังคนหนึ่งรู้ทัน ยับยั้งมิให้พระยาปราบสงครามหลงเชื่อภิกษุปลอม

ตามแผนการพระยาปราบสงครามจะนำกองกำลังบุกเข้านครเชียงใหม่ โดยจะไปตั้งทัพที่วัดเกต ในช่วงวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2432 แต่เมื่อถึงกำหนดปรากฏว่ากองกำลังที่นัดหมายไปไม่พร้อมเพรียงกัน ดังนั้นในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2432 ทางการก็ส่งกองกองทหารเข้าปราบปราม สามารถจับกุมผู้ร่วมมือกับพระยาปราบสงครามจำนวนมาก จึงดำเนินการพิจารณาโทษประหารชีวิตระดับหัวหน้า 12 คน ส่วนระดับรองอีก 15 คน ถูกเฆี่ยนคนละ 90 ที และถูกจำคุกตลอดชีวิต นอกนั้นถูกเฆี่ยนคนละ 30 ทีและถูกภาคทัณฑ์ไว้ [16]

แต่พระยาปราบสงครามสามารถนำบุตรภรรยาหลบหนีไปได้ โดยไปตั้งหลักสู้อีกครั้งที่เมืองโก ด้วยการสนับสนุนของเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุง [17] ทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย เข้าเกี่ยวข้องกับอังกฤษ มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมที่กำลังจะแผ่อิทธิพลเข้าสู่หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า อันมีเชียงตุงเป็นศูนย์กลาง เพราะปรากฏหลักฐานว่าอังกฤษคงมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการที่เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงสนับสนุนพระยาสงครามต่อต้านอำนาจ “กรุงเทพฯ” ด้วย มิสเตอร์อาเซคร์ รองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่จึงไม่ดำเนินการอย่างใด เมื่อทางการไทยขอให้ช่วยติดต่อเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงจับกุมพระยาปราบสงครามให้ด้วย [18] ทั้งยังพยายามบิดเบือนข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังของพระยาปราบสงครามให้ทางการไทยสับสนว่า พระยาปราบสงครามจะขอเดินทางกลับจากเชียงตุงมาเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมญาติพี่น้อง [19]

ขณะที่พระยาปราบสงครามนำกองกำลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นไตเข้ายึดเมืองฝางอย่างง่ายดาย โดยมีเงื่อนงำว่า พระยามหิทธิวงษา เจ้าเมืองฝางจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย เพราะแทนที่จะอยู่ประจำเมืองขณะเกิดปัญหา กลับออกตรวจราชการเมืองด่าน ปล่อยให้หนานอินต๊ะข้อ ผู้ซึ่งหลักฐานต่างๆ ระบุว่าเป็นอาจารย์ของพระยาปราบสงครามเป็นผู้ดูแลเมืองฝางแทน ทำให้พระยาปราบสงครามสามารถยึดเมืองฝางอย่างง่ายดาย และไม่ปรากฏว่าพระยาปราบสงครามทำร้ายบุตรภรรยาญาติพี่น้องพระยามหิทธิวงษา เจ้าเมืองฝางแต่ประการใด [20]

ก่อนบุกเข้านครเชียงใหม่ พระยาปราบสงครามได้ใช้ยุทธวิธีปล่อยข่าวลือเข้าสู่เชียงใหม่เป็นระลอกๆ สร้างความหวาดผวาแก่ผู้คนภายในนครเชียงใหม่ไม่น้อย [21] อย่างไรก็ตามในวันที่ 16 มีนาคม 2432 [22] กองกำลังของพระยาปราบสงครามประมาณ 300 คน ก็ได้ปะทะกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลที่ผานกกิ่ว แขวงเมืองพร้าว ต้องประสบความพ่ายแพ้ แต่พระยาปราบสงครามก็สามารถหนีรอดกลับไปเชียงตุงอีกครั้งหนึ่ง [23]

สถานการณ์ตึงเครียดในนครเชียงใหม่จึงยุติลงอย่างไม่สามารถจับกุมผู้นำทั้งที่อยู่เบื้องหน้า คือพระยาปราบสงคราม และที่อยู่เบื้องหลัง คือเจ้านายฝ่ายเหนือภายในนครเชียงใหม่ ผู้ถูกจำกัดอำนาจและผลประโยชน์จากการจัดระบบใหม่ของกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษเองก็ตระหนักดีว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เจ้านายฝ่ายเหนือต้องมีส่วนสนับสนุนพระยาปราบสงครามแน่นอน ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูล ร.5 ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระยาปราบสงคราม…” [24]

ขณะเดียวกัน ร.5 เองก็ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ใช้มาตรการเฉียบขาดดำเนินต่อเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเคยเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า “…การที่เจ้านายในเมืองเชียงใหม่…มีมลทินมัวหมองไปด้วยเช่นนี้ จำจะต้องตัดรากเหง้าที่สำคัญลงเสียบ้างจึงจะได้…การที่จะตัดรอนความคิดเช่นนี้ จะต้องจัดการทั้งสองอย่าง คือ ตัดรอนเจ้านายหัวเมืองผู้ซึ่งเห็นว่าเป็นใจแนะนำอุดหนุนให้การเช่นนี้เกิดขึ้น และทำโทษแก่ผู้ซึ่งก่อเหตุให้เป็นขึ้นโดยสาหัสให้เป็นการเข็ดหลาบ…” [25]

แต่เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดเพียงพอที่จะมัดตัวเจ้านายฝ่ายเหนือ ผู้สนับสนุนพระยาปราบสงครามได้ ผู้รับเคราะห์ครั้งนี้จึงตกแก่ผู้นำระดับท้องถิ่นและราษฎรผู้ยากจนในหมู่บ้านที่ร่วมมือกับพระยาปราบสงครามซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวนา (peasant) [26]

ปฏิกิริยาของเชียงใหม่ครั้งนี้จึงมีผู้เรียกว่า “กบฏชาวนา” [27]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ “กบฏไทยเขินเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2432” แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ปีที่ 14 เล่ม 1 ม.ค.-มิย.ย. 2523 หน้า 62

[2] สรัสวดี อ๋องสกุล “กบฎพระยาปราบสงครามแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2432” กบฏผู้มีบุญในสังคมไทย พรเพ็ญ ฮันตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย บรรณาธิการ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ 2527 หน้า 135

[3] วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน หน้า 62

[4] สรัสวดี อ๋องสกุล “กบฎพระยาปราบสงครามแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2432” หน้า 135

[5] พระยาปราบสงครามเดิมชื่อ หนานเตชะ เป็นไทยเขิน อยู่บ้านสันป่าสัก ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหมู่ที่ 5 ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เนื่องจากการออกเสียงภาษาถิ่นทางเหนืออักษร “ปร” อ่านเป็น “ผ” เช่น ประเสริฐ อ่าน ผาเสิด “ปราบ” จึงเป็น ผาบ ไปด้วย

[6] สรัสวดี อ๋องสกุล เรื่องเดียวกัน หน้า 130

[7] เรื่องเดียวกัน หน้า 130

[8] เรื่องเดียวกัน หน้า 135

[9] เรื่องเดียวกัน หน้า 136

[10] เรื่องเดียวกัน หน้า 136

[11] เรื่องเดียวกัน หน้า 132 พระยาปราบสงครามอวดอ้างว่าตนอยู่ยงคงกระพัน เคยศึกษาเวทมนตร์คาถาวิชาอยู่ยงคงกระพัน สมัยบวชเป็นพระ ดังนั้นเพื่อให้กองกำลังมั่นใจว่าผู้นำอยู่ยงคงกระพันจริง พระยาปราบสงครามได้ทำพิธีแสดง ณ บริเวณต้นโพธิ์ เขตบ้านพระยาปราบสงครามมีการอบรมน้ำยาที่ต้มร้อนๆ ทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน ความร้อนของน้ำยาที่ต้มนั้นสูงเพิ่มขึ้นทุกๆ วันจนครบ 7 วัน แล้วได้ดันตัวพระยาปราบสงครามขึ้นช้าง โดยหอกไม่ระคายผิวตนเลย สร้างความศรัทธาแก่กองกำลังยิ่งขึ้น

[12] เรื่องเดียวกัน หน้า 139

[13] เรื่องเดียวกัน หน้า 138

[14] เรื่องเดียวกัน หน้า 135 อ้างจาก หจช.ร. 5 ม.58/98 พระยามหาเทพกราบเรียน ฯพณฯ สมุหนายก ที่ 23/108 ลงวันที่ 19 มกราคม ร.ศ. 108

[15] เรื่องเดียวกัน หน้า 136 อ้างจาก การสัมภาษณ์พระอธิการบุญมาก อายุ 70 ปี วัดศรีทรายมูล ต.หนองไคร้ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อ 4 พ.ย. 2523

[16] เรื่องเดียวกัน หน้า 136-137

[17] เรื่องเดียวกัน หน้า 137

[18] วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน หน้า 67-68

[19] เรื่องเดียวกัน หน้า 68

[20] เรื่องเดียวกัน หน้า 64, 68

[21] เมื่อหนานอินต๊ะทราบข่าวว่า พระยาปราบสงครามจะนำกำลังมุ่งสู่ฝางนั้น แทนที่จะมีเตรียมกำลังต่อต้าน กลับปรากฏว่า หนานอินต๊ะนำพานดอกไม้ธูปเทียนออกมาเชิญพระยาปราบสงครามและกองกำลังเข้าเมืองฝาง ในวันที่ 6 มีนาคม ปลายปี 2432

[22] เรื่องเดียวกัน หน้า 137

[23] ก่อนหน้า พ.ศ. 2483 ไทยนับ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เดือนมีนาคมจึงเป็นปลายปี

[24] เรื่องเดียวกัน หน้า 138 และ วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน หน้า 64 การรบครั้งสุดท้ายที่ผากิ่วนกนั้น พระยาปราบสงครามต้องสูญเสียลูกชายไป 2 คน ส่วนตนเองสามารถหนีรอดไปเมืองเชียงตุง และได้กลับเป็นเจ้าเมืองได้อีกครั้ง จนสิ้นอายุขัย

[25] สรัสวดี อ๋องสกุล เรื่องเดียวกัน หน้า 138 อ้างจาก หจช. ร. 5 ม. 58/103 พระองค์เจ้าโสภณบัณฑิต กราบบังคมทูล ร. 5 ที่ 18/119 ลงวันที่ 21 มีนาคม ร.ศ. 108

[26] วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์ เรื่องเดียวกัน หน้า 68 อ้างจาก หจช.ม. 58/103 หนังสือกระทรวงมหาดไทยราชการฝ่ายเมืองนครเชียงใหม่และเมืองแพร่ เมืองน่าน ลำพูน ลำปาง 27 กรกฎาคม ร.ศ. 108 – 27 ธันวาคม ร.ศ. 110

[27] ธรรมนิตย์ วราภรณ์ “บทนำ” กบฏชาวนา วุฒิชัย มูลศิลป์ และธรรมนิตย์ วราภรณ์ บรรณาธิการ กรุงเทพฯ : สมาคม สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 2528 หน้า 9 อธิบายความแตกต่างของคำว่า Farmer และ Peasant


เผยแพรในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2565