กล่องหิน หรือโลงศพหิน 3,000 ปี? ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ จังหวัดตาก

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบ และสำนักงานศิลปากรที่ 5 สุโขทัย กรมศิลปากร โดยองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบสนับสนุนงบประมาณในการขุดค้น และสำนักงานศิลปากร ที่ 5 สุโขทัย สนับสนุนในส่วนของงานวิชาการ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ทางด้านวัฒนธรรมและโบราณคดีของชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

การค้นพบ

แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ ตั้งอยู่ในเขตบ้านวังประจบ หมู่ 1 ตำบลวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ฝั่งตรงข้ามกับหน่วยป่าไม้ประจำรักษ์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองตาก ประมาณ 23 กิโลเมตร

Advertisement

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 นายสาม สุขจิตร อายุ 73 ปี ได้นำนักโบราณคดีมาสำรวจพื้นที่แห่งนี้ โดยอยู่ในเขตบ้านของนายสมจิตร วงษ์กล่ำ อายุ 62 ปี สภาพก่อนการขุดค้นได้พบแผ่นหินโผล่เหนือพื้นดิน วางตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้อมูลจากการสอบถามชาวบ้าน ทราบว่าเมื่อหลายปีที่แล้วมีคนเคยลักขุดได้พบภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกำไลหิน แต่ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้ได้สูญหายไปแล้ว และแตกพังหมด

ผลการขุดค้น

ผลการขุดค้นได้พบวัตถุที่มีลักษณะเป็นกล่องหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดยาวประมาณ 190 เซนติเมตร กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร โดยนำแผ่นหินรูปทรงสี่เหลี่ยมหลายแผ่นมาเรียงต่อ ๆ กัน เป็นพื้น ฝาปิด และฝาด้านข้างทั้ง 4 ด้าน แผ่นหินบางแผ่นมีการขัดฝนให้เรียบ ชนิดหินที่นำมาทำเป็นหินชั้น (Sedimentary rock) ซึ่งเป็นหินที่ไม่พบในละแวกนี้ แต่เป็นการลำเลียงมาจากพื้นที่ห่างไกลออกไป

สภาพดั้งเดิมด้านในคงกลวง ไม่มีดินภายใน แต่ในช่วงเวลาหนึ่งฝาปิดได้แตกพังทลายลงมาทำให้โบราณวัตถุที่พบภายใน เช่น ภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกำไลหิน ภายในตัวกล่องหินนี้ไม่พบโครงกระดูก ดังนั้นจึงยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นโลงศพหิน (ตามที่หนังสือพิมพ์ประโคมข่าว) เมื่อเปิดพื้นด้านล่างออกก็ไม่พบว่ามีโบราณวัตถุหรือโครงกระดูกมนุษย์อยู่

โบราณวัตถุที่พบภายในกล่องหินรูปสี่เหลี่ยมประกอบด้วยเศษภาชนะดินเผาพบกระจายตัวอยู่ทั่วไป ภาชนะดินเผา (หม้อดิน) ขนาดเล็ก วางอยู่ภายในกล่องหินทางทิศใต้และตะวันตก ภาชนะดินเผาที่พบนี้มีทั้งหมด 6 กลุ่ม แต่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เพียง 1 ใบ ส่วนอีก 5 ใบมีสภาพแตกผุมาก เพราะความชื้น และดินที่มีสภาพเป็นกรด

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ได้จากการขุดค้นคือ ชิ้นส่วนกำไลทำจากหิน จำนวน 1 ชิ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกำไลที่เคยขุดค้นทางโบราณคดีได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่ม (วังสะแล) ที่อยู่ห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตร

กล่องหิน หรือโลงหิน

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น

จากหลักฐานทั้งหมดพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่า กล่องหินนี้สันนิษฐานว่า เป็นวัฒนธรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมหินใหม่ มีอายุประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว (ค่าอายุที่ได้นี้เป็นค่าอายุที่เปรียบเทียบ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดด้วยวิธีการทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป)

หน้าที่การใช้งานของกล่องหินนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าเป็นโลงศพของคนโบราณหรือไม่ เพราะจากการขุดค้นไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ภายในกล่องหิน และไม่พบเถ้ากระดูกใด ๆ ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปหน้าที่การใช้งานได้แน่ชัด แต่กล่องหินนี้คงเป็นของสำคัญของคนสมัยโบราณ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อบางอย่าง หรือที่เก็บสิ่งของสำคัญ ซึ่งคงต้องมีการดำเนินงานขุดค้นทางด้านโบราณคดีต่อไปในจุดอื่น ๆ ที่พบกล่องหินในลักษณะเช่นเดียวกันนี้

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กล่องหิน หรือโลงศพหิน 3,000 ปี? ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก” เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มิถุนายน 2565