ธรรมเนียมชื่อ “ค่ายทหาร” ตามสถานที่ตั้ง เป็นตามบุคคลสำคัญ

ภาพประกอบจาก http://www.loei.go.th/

บุคคล, สิ่งของ, อาคาร, องค์กร ฯลฯ มีการตั้ง “ชื่อ” เฉพาะตัว เพื่อง่ายและสะดวกในการสื่อสาร หลายครั้งชื่อที่ตั้งแต่แรกก็มีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุผลต่างๆ เช่น ความเป็นศิริมงคล, เปลี่ยนตามเจ้าของใหม่, สมัยนิยม ฯลฯ

สำหรับชื่อ “ค่ายทหารนั้น” ที่ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญนั้น เทพ บุญตานนท์ อธิบายไว้ใน ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” (มติชน, 2565) โดยขอสรุปเนื้อหาพอสังเขปมานำเสนอดังนี้

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 กองทัพสมัยใหม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นมานั้นยังไม่มีการพระราชทานชื่อค่ายทหารต่างๆ ชื่อค่ายทหารในเวลานั้นมักเรียกตาม “สถานที่ตั้ง” หรือ “ชื่อกรมทหาร” นั้นๆ เช่น โรงทหารที่ตั้งอยู่บริเวณสวนดุสิต ก็ชื่อ “โรงทหารดุสิต” หรือ โรงทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 7 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ชื่อ “โรงทหารกรมทหารราบที่ 7 อุตรดิตถ์” เป็นต้น

ในรัชกาลที่ 6 ยังคงเรียกชื่อค่ายทหารต่างๆ ตามที่ตั้งหรือชื่อกรมทหาร เช่น ค่ายของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้ชื่อว่า “ค่ายกรมทหารราบที่ 1”

ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แนวปฏิบัติดังกล่าวถูกสืบทอดต่อกันมา คณะราษฎรยังคงเรียกชื่อค่ายทหาร ตามชื่อกรมทหาร เช่น ค่ายกองทหารราบที่ 4

กระทั่ง พ.ศ. 2494 จึงเริ่มมีการเปลี่ยนชื่อ “ค่ายทหาร” ไปตามบุคคลสำคัญ

ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก พล.ท. ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลภานุวัธน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อค่ายทหารจำนวน 5 แห่ง ในจังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช

รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อค่ายทหารทั้ง 5 แห่ง ดังนี้ ได้แก่ “ค่ายสมเด็จพระนเรศวร” แก่ค่ายที่จังหวัดพิษณุโลก, “ค่ายพิชัยดาบหัก” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดอุตรดิตถ์, “ค่ายสุรนารี” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดนครราชสีมา, “ค่ายประจักษ์ศิลปาคม” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดอุดรธานี และ “ค่ายวชิราวุธ” แก่ค่ายทหารที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ต่อมา พ.ศ. 2495 พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ขอพระราชทานชื่อค่ายทหารเพิ่มเติม ดังนี้ “ค่ายพหลโยธิน” แก่กรมจเรทหารปืนใหญ่, “ค่ายจิรประวัติ” แก่กรมทหารที่จังหวัดนครสวรรค์, “ค่ายสุรศักดิ์มนตรี” แก่กรมทหารที่จังหวัดลำปาง และ “ค่ายกาวิละ” แก่กรมทหารที่จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อค่ายทหารต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานนั้นมีความเกี่ยวโยงกันระหว่างจังหวัดนั้นๆ กับวีรบุรุษและวีรสตรีประจำท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์ของชาติ เช่น ค่ายพระยาพิชัยดาบหักที่จังหวัดอุตรดิตถ์, ค่ายสุนารีที่จังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามพระราชนิยมในเวลานั้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 26 พฤษภาคม 2565