“ปืนใหญ่ระเบิด” สนั่นวัดประยุรวงศาวาส กับการผ่าตัดครั้งแรกในสยาม สู่อนุสาวรีย์ปืนแตก

วัดประยุรวงศาวาส แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายบริเวณ วัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี นิวาสสถานของสกุลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 5

เหตุการณ์ “ปืนใหญ่ระเบิด” ที่วัดประยุรวงศาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2379 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นำไปสู่การรักษาคนเจ็บด้วยการผ่าตัดแบบฝรั่งขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม โดยผู้ที่ทำการผ่าตัดคือ หมอบรัดเลย์

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นเอาไว้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้สร้างวัดประยุรวงศาวาส และทำการฉลองวัด ในการนั้นมีพระสงฆ์เอาปืนเปรียม หรือปืนบาเรียม ซึ่งเป็นปืนใหญ่โบราณ ที่ชำรุดถูกทิ้งอยู่ในวัดกระบอกหนึ่งมาทำไฟพะเนียง (ดอกไม้เพลิงหรือดอกไม้ไฟแล้วใส่ดินปืนและฝอยเหล็กจุดลุกพุ่งขึ้นเป็นช่อ)

ปรากฏว่าเมื่อจุดแล้วทำให้กระบอกปืนใหญ่ระเบิดแตกกระจายเป็นหลุมกว้างถึง 4 ศอก เหล็กปืนที่แตกพุ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงวัดราชบูรณะบ้าง ตกที่ปากคลองหลอดบ้าง หรือก็คือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงฝั่งพระนครซึ่งนับว่าไกลมากทีเดียว ส่วนพระสงฆ์ผู้ทำไฟพะเนียงซึ่งเข้าไปจุดไฟด้วยตนเองนั้นถึงกับมรณภาพกับที่ นอกจากนี้ยังมี ขุนชัยนายอำเภอ ศิษย์วัด แม่ครัว กับคนลาวตักน้ำก็เสียชีวิตกับที่ รวม 7 คน และมีผู้บาดเจ็บถูกหามไปรักษาอีกหลายคน โชคดีที่ขณะจุดนั้นอยู่ข้างหอกลอง คนที่มาร่วมงานฉลองวัดไม่ค่อยรู้ เพราะไปดูดอกไม้กลหน้าโบสถ์ หากมีคนรู้และมาดูไฟพะเนียงนี้ อาจจะมีคนตายคนเจ็บอีกมาก

อนุสาวรีย์ปืนแตก วัดประยุรวงศาวาส (ภาพจาก (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2540))

ในหนังสือ Bangkok Calendar ฉบับปี ค.ศ. 1870 (ปี พ.ศ. 2413) ของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่า “15 First surgical operation in B. 1837” หมายความว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี ค.ศ. 1837 (ปี พ.ศ. 2380) 2 วันให้หลังจากเหตุการณ์ได้ทำการผ่าตัดแบบฝรั่งเป็นครั้งแรกในบางกอก 

ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 12 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าเป็นการผ่าตัดแขนพระรูปหนึ่งที่ถูกปืนคราวฉลองวัดประยุรวงศาวาส ส่วนในหนังสือ Abstract of the Journal of Rev. Dan Beach Bradley, M.D. Medical Missionary in Siam 1835-1873 หรือหนังสือย่อไดอารี่ของหมอบรัดเลย์ กล่าวว่าเหตุการณ์ปืนแตกเกิดในวันที่ 13 มกราคม ปี ค.ศ. 1837 (ปี พ.ศ. 2380) หมอบรัดเลย์ซึ่งพักอยู่ไม่ไกลจากวัดประยุรวงศาวาสมากนัก ถูกตามตัวให้ไปรักษาคนบาดเจ็บ แต่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บันทึกเหตุการณ์วันที่ 15 เอาไว้เลย ที่กล่าวใน Bangkok Calendar ก็มิได้ระบุว่าผ่าตัดแขนพระแต่อย่างใด บางทีอาจเป็นไปได้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ จะทรงทราบมาจากที่อื่นก็เป็นได้

หลังเหตุการณ์นั้นจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ทรงเจดีย์ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2379 (นับศักราชอย่างเก่า) ต่อมา ปี พ.ศ. 2428 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้รื้อย้ายอนุสาวรีย์ไปสร้างใหม่ตรงสระเต่าหน้าวัดประยุรวงศาวาส อนุสาวรีย์แห่งใหม่นี้ไม่ได้ทำเป็นรูปเจดีย์เหมือนอย่างเดิม หากทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม มีปืนใหญ่ 3 กระบอกปักลงไปในแท่น หัวท้ายมีรูปหัวสิงโตยื่นออกมา หน้าแท่นมีแผ่นหินอ่อนจารึกข้อความเป็นภาษาไทย กับอังกฤษอย่างละแผ่น ความว่า

“อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีจุลศักราช 1198 ให้เป็นที่รกแห่งปืนใหญ่ระเบิดให้เปนที่เสียชีวิตรหลายในเวลามีงานมหกรรมการฉลองพระอารามนี้ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ ผู้สร้างพระอารามนี้

ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในปีรกา สัปตศักราช 1247 โดยปัจฉิมบุตรของท่านพระยาภาสกรวงศ เพื่อให้เป็นที่รฦกถึงพระเดชพระคุณท่านผู้สร้างสืบไป”

ดังนั้น รูปถ่ายอนุสาวรีย์รูปนี้ถ่ายเมื่ออนุสาวรีย์ยังเป็นทรงเจดีย์ มิใช่ทรงแท่นสี่เหลี่ยม จึงเป็นอนุสาวรีย์อันเก่า และควรถ่ายก่อนการปฏิสังขรณ์ปี พ.ศ. 2428

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. (มกราคม, 2540). อนุสาวรีย์ปืนแตก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 18 : ฉบับที่ 3.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2565