จอมพล ป. นายทหารที่สามัญชน ที่ได้ยศ “จอมพล” เป็นคนแรก

(จากซ้าย) พันโท ท่านผู้หญิงละเอียด, จอมพล ป. และว่าที่ร้อยตรี จีรวัสส์ พิบูลสงคราม

ในประวัติของกองทัพไทย มีนายทหารที่เป็น “สามัญชน” ซึ่งได้รับตำแหน่ง “จอมพล” ทั้งหมด 10 นาย ดังนี้

1. เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์อรุณ ฉัตรกุล) 2. เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) 3. จอมพล แปลก พิบูลสงคราม 4. จอมพล ผิน ชุณหะวัณ 5. หลวงยุทธศาสตร์โกศล (ประยูร ยุทธศาสตร์โกศล) 6. จอมพล ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี 7. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 8. จอมพล เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร 9. จอมพล ถนอม กิตติขจร 10. จอมพล เกรียงไกร อัตตะนันทน์

หาก เทพ บุญตานนท์ กลับเสนอ จอมพล ป. เป็นนายทหาร “สามัญชน” คนแรกที่ได้เป็น “จอมพล” โดยตอนหนึ่งใน “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” (สนพ.มติชน, 2565) เขาให้เหตุผลว่า

“ตำแหน่งจอมพล คนแรกคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) [1] ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพบกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกคนหนึ่งคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว. อรุณ ฉัตรกุล) [2] เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่แท้จริงแล้วอาจไม่สามารถจัดว่า นายทหารทั้งสองเป็นสามัญชนได้อย่างเต็มตัวนัก

เพราะเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็เป็นสมาชิกในครอบครัวของชนชั้นสูง โดยมีบิดาคือพระยาสุรศักดิ์มนตรี (สวัสดิ์ ชูโต) ซึ่งเป็นขุนนางในราชสำนัก ส่วนมารดาคือเดิม บุนนาค ซึ่งเป็นสมาชิกของตระกูลบุนนาค อันเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในราชสำนักสยามเวลานั้น

ขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตก็เป็นหลานปู่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก…” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

ขณะที่ประวัติครอบครัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีพื้นฐานเป็นครอบครัวบิดาและมารดาชาวสวนในจังหวัดนนทบุรี จึงควรนับว่า จอมพล ป. เป็น จอมพลสามัญชน คนแรกด้วยเหตุนี้

ส่วนเหตุที่จอมพล ป. ได้รับพระราชทานยศ “จอมพล” นั้น เทพอธิบายไว้ว่า

“เนื่องจากชื่อเสียงและความนิยมในตัว ที่สามารถทวงคืนดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดครองกลับมาได้ สงครามคราวนี้ทำให้จอมพล กลายเป็นวีรบุรุษของชาติ…ด้วยเหตุนี้กระทรวงกลาโหมจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อขอพระราชทานเลื่อนยศจากพลตรีเป็นพลเอก อันเป็นการยกย่องคุณความดีของจอมพล ป. [3]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่นอกจากจะทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์…ทรงเห็นด้วยกับคำกราบบังคมทูลของกองทัพบกเป็นอย่างยิ่งที่จะเชิดชูจอมพล ป. ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงรู้สึกว่าการพระราชทานเพียงยศพลเอกอาจไม่สมเกียรติเมื่อเทียบกับสิ่งที่จอมพล ป. ได้กระทำให้ประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงพระราชทานยศจอมพล โดยพระองค์และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงพระนามและลงนามประกาศพระราชทานยศจอมพล โดยให้เหตุผลในการพระราชทานยศครั้งนี้ไว้ว่า

‘… การที่ประเทศไทยได้ความมีชัยในกรณีพิพาทแห่งการปรับปรุงเส้นเขตต์แดนกับอินโดจีนฝรั่งเศสนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของชาติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยว่าเป็นการเกี่ยวกับเกียรติศักดิ์ของประเทศ ในกรณีย์การสงครามเช่นนี้ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ย่อมดำรงตำแหน่งจอมทัพ แต่เมื่อโอกาสที่แล้วมาพระมหากษัตริย์ไม่มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารของชาติเสมอเหมือนผู้แทนพระองค์ไปอำนวยการในการบังคับบัญชาในยุทธภูมิโดยตลอด …

‘คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ทราบอยู่แล้วว่า นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในกรณีที่ได้ปฏิบัติการไปในครั้งนี้จะไม่ยอมขอรับความชอบตอบแทน แต่ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนเห็นว่า การพระราชทานความชอบในครั้งนี้หาใช่เป็นการฉะเพาะตัวนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามไม่

แต่เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งได้ทำการมีชัย จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีผู้นำที่ทรงเกียรติศักดิ์สูง ทั้งเพื่อในอนุสสรแด่กองทัพไทยที่ได้ความมีชัยชนะในครั้งนี้ด้วย กับเพื่อเป็นแบบอย่างแก่วีระบุรุษผู้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติในภายหน้า’ ” [4] [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

ไม่เพียงแต่จอมพล ป. เท่านั้น ในปี 2485 ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก็รับพระราชทานยศ “พันโทหญิง” จากกองทัพไทย และเป็นครั้งแรกของกองทัพอีกเช่นกันที่ “หญิงสามัญชน” ได้รับพระราชทานยศทางทหาร

 


เชิงอรรถ :

[1] “พระราชทานยศทหารบก,” ราชกิจจานุเบกษา 43 (2 พฤษภาคม พ.ศ. 2469), น. 432.

[2] ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, หนังสืองานศพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2465), น. ซ.

[3] “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ (1. นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม 2. นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย 3. นายนาวา อากาศเอก หลวงอธิกเทวเดช),” ราชกิจจานุเบกษา 57 (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483), น. 279.

[4] “พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ (นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม),” ราชกิจจานุเบกษา 58 (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484), น. 983.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565