เผยต้นตอความพ่ายแพ้ของพรรคอัมโน พรรครัฐบาลที่ปกครองมาเลเซียมานานกว่า 61 ปี

(ซ้าย) มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 7 (MALAYSIA-POLITICS / AFP) (ขวา) นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตีมาเลเซียคนที่ 6 (ITALY-SUMMIT-EU-ASIA-ASEM / AFP)

การเมืองของประเทศมาเลเซียถูกปกครองภายใต้การนำของพรรคอัมโน หรือ United Malays National Organization (UMNO) มาอย่างยาวนานถึง 61 ปี แต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 ได้เกิดปรากฏการณ์สำคัญคือ มหาเธร์ โมฮัมหมัด แนวร่วมฝ่ายค้าน สามารถเอาชนะพรรค UMNO ลงได้

การพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่นำโดยนาจิบ ราซัก นับว่าเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของประเทศมาเลเซีย โดยหนังสือ WHEN WE VOTE พลวัตการเลือกตั้งตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ (มติชน, 2563) ได้อธิบายถึงปัจจัยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลมาเลเซียไว้ดังนี้


พฤติกรรมคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของผู้นำฝ่ายรัฐบาล

พฤติกรรมคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของผู้นำฝ่ายรัฐบาลปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด แนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่าย Barisan Nasional (BN) ภายใต้การนำพรรคของ United Malays National Organization (UMNO) ซึ่งผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานประเมินกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อปัญหาคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง และการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลต่ำเกินไป ทั้งที่สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่การเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 12 (ค.ศ. 2008) อำนาจของฝ่ายรัฐบาลเริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อฝ่าย BN ได้ที่นั่งไม่ถึง 2 ใน 3 ของสภาฯ เป็นครั้งแรก ในช่วงนั้นกระแสความไม่พอใจต่อการผูกขาดอำนาจและการใช้อำนาจอย่างไม่โปร่งใสของรัฐบาลเริ่มปรากฏตัวผ่านกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง

มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนหลายครั้ง จนก่อตัวเป็นพลังฝ่ายค้านที่มาจากการจับมือกันระหว่างภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งดำเนินแนวทางการต่อสู้บนท้องถนนและนอกรัฐสภา ร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต่อสู้ในสภาฯ

การประสานความร่วมมือดังกล่าวนับว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการเมืองมาเลเซีย เพราะฝ่ายรัฐบาลถูกท้าทายจากพลังการเมืองที่เข้มแข็งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อการเมืองภาคประชาชนกับการเมืองภาคพรรคการเมืองมาผนวกกันทำให้ฝ่ายค้านมีทั้งกำลังคน กำลังเงิน องค์กร และการจัดตั้งที่แข็งแกร่งกว่าฝ่ายค้านในยุคก่อนๆ

ทั้งนี้ แนวร่วมฝ่ายค้านได้นำเสนอชุดนโยบายทางเลือกให้แก่สังคมที่ต่างไปจากฝ่ายรัฐบาล คือ
1. นโยบายกระจายรายได้ที่ไม่แบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ 2. นโยบายช่วยเหลือชนชั้นแรงงานให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 3. สร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อลดการผูกขาดและเศรษฐกิจแบบพวกพ้อง และสุดท้าย 4. การเปิดเสรีทางการเมือง

ซึ่งแนวทางเช่นนี้มุ่งหาการสนับสนุนจากชนชั้นแรงงาน นักศึกษา ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ คนชนชั้นกลาง นักธุรกิจกระดับกลางที่ไม่มีเส้นสาย กลุ่มเชื้อชาติที่ไม่ใช่ชาวมาเลย์ และกลุ่มประชากรที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงพุ่งขึ้นสูงในการเลือกตั้งครั้งถัดมาเมื่อ ค.ศ. 2013 ซึ่งผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงการแข่งขันที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย เมื่อแนวร่วมฝ่ายค้านหรือ Pakatan, people’s Alliance (PR) ที่นำโดยนายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี สามารถชิงที่นั่งจำนวนมากจากฝ่ายรัฐบาลมาได้

แม้แนวร่วมฝ่ายรัฐบาลหรือ BN ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก สามารถชนะเลือกตั้ง แต่ก็ได้ที่นั่งลดลง (ได้ 133 ที่นั่งจาก 222 ที่นั่ง ขณะที่ฝ่ายค้านได้ 89 ที่นั่ง) ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายรัฐบาลได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ (popular vote) น้อยกว่าฝ่ายค้านด้วย เป็นดัชนีที่ชี้ว่าประชาชนเริ่มหันเหไปสนับสนุนฝ่ายค้านที่มีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง…

นอกจากนั้น ประชาชนยังรู้สึกไม่พอใจมาตรการหลายประการที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และเป็นเป็นที่ชัดเจนว่าจงใจเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายรัฐบาล อาทิ การกำหนดวันเลือกตั้งให้ตรงกับวันทำงานกลางสัปดาห์แทนที่จะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์

โดยคาดหวังว่าประชาชนจะมาใช้สิทธิน้อยลง (จนประชาชนออกมาประท้วงอย่างถล่มทลาย รัฐบาลจึงยอมประกาศให้วันเลือกตั้งเป็นวันหยุด) การไม่ยอมให้พรรคของมหาเธร์จดทะเบียน การไม่ยอมให้แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านจดทะเบียนร่วมกันเป็นพรรคเดียวแบบเดียวกับฝ่ายรัฐบาล การกีดกันการโฆษณาหาเสียงของฝ่ายค้าน การตัดสิทธิผู้สมัครฝ่ายค้านหลายราย

การกำหนดให้ช่วงหาเสียงมีระยะเวลาสั้นลง การเปลี่ยนวิธีการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งให้มีความยุ่งยากมากขึ้น การที่รัฐบาลไม่ยอมเชิญองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ได้รับความเชื่อถือมาร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งที่ได้รับความเชื่อถือมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้…มาตรการเหล่านี้แทนที่จะช่วยรัฐบาลกลับทำให้เกิดกระแสโต้กลับ ประชาชนทั่วไปมองว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจ กลั่นแกล้งฝ่ายค้าน และบิดเบือนการแข่งขัน

สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางเลือก ทำให้ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจที่ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำรัฐบาลเผยแพร่อย่างรวดเร็วในวงกว้าง

แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะประสบความสำเร็จในการควบคุมสื่อทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสื่อออนไลน์และเครือข่ายสื่อส่วนตัวของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รัฐบาลของนายนาจิบตระหนักดีว่าสื่อออนไลน์และเครื่อข่ายสื่อส่วนตัวมีอิทธิพลอย่างสูงต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะเขตเมือง คนมีการศึกษา และคนรุ่นใหม่

ทั้งยังกลายเป็นช่องทางที่ฝ่ายค้านใช้สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นานรัฐบาลนาจิบผ่านกฎหมายที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ชื่อกฎหมายต่อต้านข่าวปลอม (Anti-fake news law) โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมและปิดกั้นการส่งต่อข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์และสื่อสังคม แต่การออกกฎหมายนี้อย่างกระชั้นชิดในช่วงฤดูหาเสียงเลือกตั้งกลับทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีกับรัฐบาลพรรค UMNO ว่าทำทุกวิถีทางเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม

การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าประชาชนลงคะแนนเสียงเพื่อลงโทษรัฐบาล และโหวตเพื่อให้โอกาสฝ่ายค้านได้ขึ้นมาบริหารประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากการที่พรรคฝ่าย BN ได้ที่นั่งลดลงอย่างมากจาก 133 ที่นั่งเหลือเพียง 79 ที่นั่ง ส่วนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศก็ลดลงจากร้อยละ 47 เหลือเพียงร้อยละ 34

ที่สำคัญนักการเมืองระดับรัฐมนตรีและระดับผู้บริหารฝ่ายรัฐบาลยังถูก “ล้มยักษ์” สอบตกกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นฝ่ายรัฐบาลยังพ่ายแพ้ในเขตเลือกตั้งซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของตนเองอีกด้วย

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2565