พระยาพหลฯ-คณะราษฎร มาทำอะไรที่ “วัดแคนอก” ก่อนปฏิวัติ 2475

พระอุโบสถหลังเก่าของวัดแคนอก จังหวัดนนทบุรี (ภาพจากเพจ วัดแคนอก)

บทนำ

หากย้อนไปในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ปฏิวัติใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร” โดยมี “พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” เป็นผู้นำการปฏิวัติ 

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้วางแผนลงมือปฏิวัติช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จุดประสงค์ในการปฏิวัติของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ปรากฏในโทรเลขตอนหนึ่งที่กราบถวายบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ดังนี้

คณะราษฎรไม่พึงประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติอย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น [1]

การดำเนินการของคณะราษฎรครั้งนี้เป็นการกระทำที่ใหญ่หลวง หากกระทำไม่สำเร็จ หรือข่าวแพร่ไปถึงราชสำนักจะต้องรับโทษเป็น “กบฏ” ถูกประหารชีวิต ดังนั้นกลุ่มผู้นำจึงต้องวางแผนเป็นการลับ รวมถึงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้การปฏิวัติครั้งนี้สำเร็จ จนเกิดเป็นเรื่องเล่าของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ที่กล่าวว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้มาตั้งสัจอธิษฐานต่อหน้าพระประธานในอุโบสถ และ สร้างหอระฆังเพื่อแก้เคล็ด ไว้ที่วัดแห่งนี้

1 วัดศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนนทบุรี

วัดแคนอก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก อยู่เลขที่ 33 หมู่ 2 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซอยนนทบุรี 23 (ซอยวัดแคนอก) ตามประวัติสันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดแคร่เบ็ญจ้น” เป็นวัดที่ชาวรามัญ อันมีพระยารามัญมุนี เป็นหัวหน้าที่อาศัยอยู่บริเวณนี้สร้างขึ้น มีหลักฐานเจดีย์ทรงรามัญ 2 องค์ เรียกว่า เจดีย์มุเตา ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดแค”

เมื่อปี พ.ศ. 2457 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ได้ทรงเห็นว่าวัดแคมีอยู่ถึง 2 วัดในเมืองนนทบุรี จึงโปรดให้เรียกวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำว่า “วัดแคนอก” และวัดที่อยู่ในสวนว่า “วัดแคใน” เพื่อสะดวกในการเรียกชื่อ

ปัจจุบันวัดแคนอกมีอุโบสถ 2 หลัง อุโบสถหลังเก่าสร้างหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทิศตะวันตก หน้าอุโบสถมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ หน้าบันเป็นไม้สลักลวดลายพฤกษาดอกโบตั๋น พระประธานมีขนาดใหญ่ปางมารวิชัย เป็นสถานที่ที่มีเรื่องเล่าว่าพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้มาตั้งสัจอธิษฐานในอุโบสถแห่งนี้ ต่อมาอุโบสถหลังเก่าเกิดการชำรุดตามกาลเวลา ทางวัดจึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2533 โดยยังคงศิลปกรรมตามแบบอุโบสถหลังเก่า แต่ได้ปรับเปลี่ยนทิศอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และได้อัญเชิญพระประธาน รวมถึงองค์พระพุทธรูปต่างๆ จากอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ มีพระครูศรีสิทธิการ (สมใจ ธมฺมเวที ป.ธ. 6) พระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะตำบลบางกระสอ (นิสิตปริญญาเอกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

2 เรื่องเล่าคณะราษฎรกับวัดแคนอก

เมื่อเดินทางไปวัดแคนอกเพื่อสำรวจ และเก็บข้อมูลจากชาวชุมชน พบว่าผู้ที่รับรู้เรื่องเล่าเกี่ยวกับคณะราษฎรกับวัดแคนอกส่วนใหญ่เป็นบุคคลเก่าแก่ในชุมชน หรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดคุ้นเคยกับวัดแคนอก เรื่องเล่าคณะราษฎรกับวัดแคนอกเป็นเรื่องเล่าที่เล่ากันสืบต่อมาว่า

เมื่อปี พ.ศ. 2475 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ผู้นำคณะราษฎร ได้นำคณะผู้คิดปฏิวัติมาวางแผนการที่วัดแคนอก และได้กราบสักการะพระประธานในอุโบสถแล้วเกิดความเลื่อมใสที่เห็นพระประธานหันหน้าทางทิศตะวันตก และสถานที่ได้ปกคลุมไปด้วยต้นโพธิ์ใหญ่มีอายุหลายร้อยปี คิดว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นสถานที่สถิตของเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ ก็เลยพากันมาอธิษฐานจิตถวายต่อพระพุทธศาสนา ถ้าแม้กระทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาที่ตรงนี้ให้เจริญ และแม้ละโลกนี้ไปแล้วก็ขอให้เอาอัฐิ มาบรรจุที่นี่เพื่อให้เป็นการบูชา เมื่อท่านได้ละโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานตระกูล “พหลโยธิน” ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ ณ วัดแคนอกแห่งนี้ และให้ลูกหลานได้บำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญต่อไป 

ต่อมาเมื่อการปฏิวัติสำเร็จลุล่วงพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้มาสร้างหอระฆังรูปทรงดอกบัวตูมถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยมีความดำริว่า “เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนองแก่เรา จึงสร้างซุ้มทั้ง 4 ทิศ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันหอระฆัง โดยให้หอระฆังตรงกลางเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของท่าน ต่อมาได้สร้างโรงเรียนให้แก่ชุมชนท้องถิ่นให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียน ให้ชื่อว่า โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1

เรื่องเล่าข้างต้นเป็นเนื้อหาที่เล่าสืบต่อกันมาในชุมชนวัดแคนอก นอกจากนี้ยังพบเรื่องเล่าที่คล้ายกันในหนังสือเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดนนทบุรี แต่เพิ่มเติมเรื่องเล่าที่ไม่ปรากฏในเรื่องเล่าของชุมชนชาววัดแคนอก ถึงเหตุผลในการเลือกวัดแคนอกเป็นสถานที่ในการประชุมวางแผน ดังนี้

ทำเลที่ตั้งวัดมีความเป็นมงคล ตั้งอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง สามารถมองเห็นเกาะเกร็ดได้อย่างชัดเจน พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จึงแปลความหมายไว้เป็นสิริมงคล 2 ประการ คือ

1 สถานที่ตั้งวัดแคนอกเปรียบเสมือนหัวมังกร เกาะเกร็ดเปรียบเสมือนท้องมังกร  หัวมังมังกรมีความหมายถึงสัญลักษณ์นักบริหาร และการบัญชาการ

2 สถานที่ตั้งวัดแคนอกอยู่ในระยะที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลทอดตัวตรง มีความหมายถึงความซื่อสัตย์ต่อกันของสมาชิกคณะราษฎรที่กำลังจะคิดวางแผนทำการที่ยิ่งใหญ่ [2]

3 ร่องรอยคณะราษฎรกับวัดแคนอก

เมื่อเดินเข้าไปในวัดแคนอกด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้พบกับอุโบสถหลังเก่า ต้นโพธิ์ใหญ่ตามที่ปรากฏในเรื่องเล่า โดยเฉพาะ “หอระฆัง” ที่ประดับป้ายหินอ่อนระบุว่าตระกูลพหลโยธินสร้าง พ.ศ. 2478 และร่องรอยคณะราษฎรอื่นๆ ดังนี้

หอระฆังตระกูลพหลโยธิน

หอระฆังสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ทรงมณฑป (ทรงดอกบัวตูม) หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา (ทิศตะวันตก) หอตรงกลางสร้างเป็น 2 ชั้น มีบันไดเหล็กเดินขึ้นชั้นบน ด้านล่างมีซุ้มรอบทั้งสี่ทิศ ตรงกับเรื่องเล่าว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้คิดถึงเหตุการณ์ในการปฏิวัติว่า “เราเคยชนะคนอื่นด้วยหอกด้วยดาบ อีกไม่ช้านานหอกและดาบนั้นคงคืนสนองแก่เรา จึงสร้างหอระฆังให้มีซุ้มทั้ง 4 ทิศ” เป็นนัยเพื่อ “แก้เคล็ด” และป้องกันอันตรายจากสิ่งร้ายต่างๆ มีรั้วเพียงหนึ่งด้านประดับปูนปั้นแสดงปีที่สร้างคือ 2478 ซุ้มทิศเหนือบรรจุอัฐิ “พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์)” และภายในซุ้มทิศที่ปิดด้วยแผงเหล็กดัดประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ จากการสืบค้นเอกสารเพื่อสอบทานกับเรื่องเล่านี้ พบว่ามีการกล่าวถึง “หอระฆังวัดนนทบุรี” ในพินัยกรรมของท่านว่า

หอระฆัง วัดแคนอก (ภาพจากเพจ วัดแคนอก)

พระพุทธรูปที่ท่านเชษฐบุรุษได้สะสมไว้เป็นที่เคารพบูชาก็ได้จัดแบ่งองค์ใหญ่และองค์รองๆ ให้แก่บุตรตามลำดับ ส่วนองค์ที่ได้รับเป็นที่ระลึกในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นพระประจำวันพฤหัสซึ่งเป็นวันเกิด ให้บรรจุอัฐิไว้ที่ฐานรองและผนึกด้วยซีเมนต์ นำไปไว้ที่หอระฆังวัดนนทบุรี [3]

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าหอระฆังวัดนนทบุรีที่ถูกกล่าวถึงในพินัยกรรม คือหอระฆังวัดแคนอกแห่งนี้ ในซุ้มทิศใต้บรรจุอัฐิ “นายแนบ-คุณหญิงสะไบ พหลโยธิน” ซึ่งนายแนบ พหลโยธิน เป็นบุคคลในคณะราษฎรได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการคณะราษฎร (รัฐมนตรี) ชุดแรกในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 [4] นอกจากนี้ยังมีอัฐิบุคคลสำคัญในตระกูลพหลโยธินอีกจำนวนมาก เช่น อัฐิของบิดาคือพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) อัฐิของพี่ชายคือพลโท พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) อัฐิของพี่สะใภ้คือนางล้วน จารุรัตน์ (พหลโยธิน) เป็นต้น

โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1

โรงเรียนวัดแคนอก ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 เดิมอาศัยศาลาการเปรียญของวัดแคนอกเป็นสถานที่เรียน สอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยอยู่ในความอุปการะของเจ้าอาวาสวัดแคนอก โดยมีนายกมล ถนัดกิจ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2477 “คณะราษฎร” ได้ร่วมทุนกันจัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นเป็นอนุสรณ์ อาคารเรียนนี้มีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาใต้ถุนสูง 2 ชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นบนมี 3 ห้องเรียน โดยห้องกลางได้ทำเป็นมุขอาคารยื่นออกมา ชั้นล่างเป็นโถงโล่ง มีบันไดทางขึ้น-ลง 2 ข้างของหน้ามุข พื้นชั้นบนเป็นไม้ตะแบก ฝาห้องโดยรอบอาคารชั้นบนเป็นไม้สัก พื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตปูด้วยกระเบื้อง จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจากศาลาการเปรียญของวัดแคนอกไปอยู่ที่อาคารเรียนถาวร แล้วให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1” หรือ โรงเรียนวัดแคนอก (คณะราษฎรบำรุง 1) ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

การสร้างอาคารเรียนถาวรของคณะราษฎรมีความสอดคล้องกับเรื่องเล่าที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ได้เคยมาที่วัดแคนอก และอธิษฐานจะบำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญ การตั้งชื่อโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 1 จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนวัดแคนอกเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ได้รับการทำนุบำรุงจากคณะราษฎร หลังจากนั้นจึงเกิดโรงเรียนราษฎรบำรุงในแห่งอื่นๆ

สถูปอัฐิตระกูลจารุรัตน์

สถูปอัฐิตระกูลจารุรัตน์มีลักษณะเป็นทรงปรางค์ ตรงกลางทำโล่งเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา (ทิศตะวันตก) ฐานปรางค์มีแผ่นจารึกหินอ่อนด้านหน้า และด้านหลังแสดงถึงปี พ.ศ. และชื่อผู้สร้าง ด้านข้างมีลายปูนปั้นแสดงปีที่สร้างในระบบปีพุทธศักราช และระบบปีคริสตศักราช  แผ่นจารึกหินอ่อนด้านหน้า มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าพระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน) กับคุณหญิงศรีสังกร (ตาบ จารุรัตน ต.จ. สกุลเดิมวัชราภัย) ได้คำนึงโดยตระหนักถึงการที่ท่านแต่ก่อนๆมาได้ทำการกุศลสร้างพระปรางค์ไว้พระพุทธรูปสำหรับเปนสักการะบูชาแลภายใต้พระปรางค์บรรจุอัฐิแลประดิษฐานไว้ในอารามนั้น  ทำให้ข้าพเจ้าเห็นพ้องต้องกับความคิดของท่านแต่ก่อน จึงบังเกิดเลื่อมใสศรัทธาพร้อมใจกันสร้างพระปรางค์นี้ไว้ในพระพุทธสาสนา ณ วัดแคนอกจังหวัดนนทบุรี ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่หลวงชำนิบรรณาคม (มา จารุรัตน) บิดาในสมัยที่ได้ทำการกุศลเมื่อ ณ วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พระพุทธศักราช 2462 ซึ่งครบรอบปีนับแต่วันที่ถึงแก่กรรม  ข้าพเจ้าขออุทิศให้ผู้มีนามสกุลจารุรัตนบรรจุอัฐิเท่าส่วนตามธรรมเนียมเก็บไว้ทำบุญที่บ้านนั้นมาไว้ในพระปรางค์นี้ต่อๆไปได้ด้วย ข้าพเจ้าได้บรรจุอัฐิหลวงชำนิบรรณาคม (มา จารุรัตน) ลงในพระปรางค์นี้ไว้แล้ว  สมมุติเปนปฐมบรรพบุรุษย์ของสกุลจารุรัตน ในเหตุที่เปนผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลนี้ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอยู่อีกข้อหนึ่งว่า เมื่อถึงฤดูเทศกาลทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนตามธรรมเนียมที่นิยมกันแล้ว ผู้สืบสกุลจารุรัตน ควรชักชวนกันมาทำ ณ ที่นี้เพื่อจะได้มีโอกาสติดต่อในการเกื้อกูลพระสงฆ์ แลปฏิสังขรณ์อารามนี้ให้เจริญขึ้น ตามกำลังแห่งความศรัทธา เหมือนดังที่หลวงชำนิบรรณาคม (มา จารุรัตน) ได้เคยชักจูงญาติ แลเชื้อเชิญมิตรสหายให้มากระทำ ตลอดกาลจนถึงเวลาที่ได้ถึงแก่กรรมลง ดุจหนึ่งได้รับมรฎกทางกุศลสืบเนื่องต่อๆมาอีกฉนั้นเทอญ

แผ่นจารึกหินอ่อนด้านหลัง มีเนื้อความถึงผู้สร้าง และปีที่สร้างโดยตรง ดังนี้

มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน เนติบัณฑิตย์ ปีที่ 1 ร.ด.ม. ศิลป์.)ท.จ.น. ช.ร.ด.ม. ศิลป องค์มนตรี ผู้ช่วยกรรมการศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้าหลวงพิเศษ นายฐะเบียรเนติบัณฑิตย์ฯ กรรมการเนติบัณฑิตย์สภา แลกรรมการสอดส่องความประพฤติทนายความ อายุ 42 ปี สร้างพระปรางค์นี้ เมื่อพระพุทธศักราช 2462 

ถึงแม้พระปรางค์ตระกูลจารุรัตน์จะไม่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรโดยตรง เพราะได้สร้างก่อนการปฏิวัติกว่า 10 ปี และบุคคลในสายตระกูลจารุรัตน์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มคณะราษฎร แต่สายตระกูลจารุรัตน์มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติกับตระกูลพหลโยธิน ทั้งที่ปรากฏการบรรจุอัฐินางล้วน จารุรัตน์ ในหอระฆังตระกูลพหลโยธิน หรือการทำนุบำรุงวัดแคนอกในชั้นลูกหลานที่ตระกูลพหลโยธิน และตระกูลจารุรัตน์ได้ทำร่วมกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องเล่าคณะราษฎรที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ตั้งสัจอธิษฐานว่า “แม้ละโลกนี้ไปแล้วก็ขอให้เอาอัฐิ มาบรรจุที่นี่เพื่อให้เป็นการบูชา  เมื่อท่านได้ละโลกนี้ไปแล้ว ลูกหลานตระกูลพหลโยธิน ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ ณ วัดแคนอกแห่งนี้ และให้ลูกหลานได้บำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญต่อไป” และตามความต้องการพระยาศรีสังกร ว่า “ผู้สืบสกุลจารุรัตน  ควรชักชวนกันมาทำ ณ ที่นี้เพื่อจะได้มีโอกาสติดต่อในการเกื้อกูลพระสงฆ์  แลปฏิสังขรณ์อารามนี้ให้เจริญขึ้น”  เพราะจากการสำรวจ  และสอบถามพระสงฆ์ภายในวัดพบว่าเชื้อสายของตระกูลพหลโยธิน และตระกูลจารุรัตน์ยังคงมาทำนุบำรุงวัดแห่งนี้เป็นประจำ  และบริจาคปัจจัยสร้างเสนาสนะต่างๆ ปรากฏหลักฐานคือการบริจาคปัจจัยสร้างเมรุวัดแคนอก มีป้ายหินอ่อนสลักชื่อผู้บริจาคไว้ว่า “ลูกหลานญาติมิตร สกุลพหลโยธิน-จารุรัตน์ อุทิศให้ คุณหญิงสะไบ พหลโยธิน 600,000บาท

สรุป

หลังจากที่คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) ชุดแรกในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 2 ของประเทศ ติดต่อกันถึง 5 สมัย ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 จึงทำการยุบสภา และปฏิเสธรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เกิดวันที่ 29  มีนาคม พ.ศ. 2430 เป็นบุตรคนที่ 5 ของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) และคุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา มีบุตรธิดารวม 7 คน ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุได้ 60 ปี

เรื่องเล่าท้องถิ่นของชาววัดแคนอกถึงผู้นำคณะราษฎร 2475 ที่มาตั้งสัจอธิษฐาน และสร้างหอระฆังแก้เคล็ดที่วัดแห่งนี้อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดในเรื่องมิติของเวลา ว่าพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ได้มาที่วัดแห่งนี้ปี พ.ศ. 2475 จริงหรือไม่ หรือเรื่องเล่ากล่าวว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ได้สร้างหอระฆังก่อนแล้วจึงสร้างโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง แต่จากหลักฐานพบว่าโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงได้สร้างขึ้นก่อนการสร้างหอระฆัง อย่างไรก็ตามร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับคณะราษฎรที่ปรากฏในวัดแคนอกจึงเป็นไปได้ว่าเรื่องเล่าท้องถิ่นเรื่องผู้นำคณะราษฎร 2745 นี้มีเค้ามูล อย่างน้อยที่สุดน่าจะยืนยันได้ว่า พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) ต้องรู้จักวัดแคนอก อีกทั้งต้องมีความผูกพันกับวัดแคนอกเป็นอย่างดีถึงขนาดเขียนไว้ในพินัยกรรมว่า ให้นำอัฐิส่วนหนึ่งมาไว้ที่ “หอระฆังวัดนนทบุรี”

ในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบ 80 ปีแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) อนุสรณ์อันเป็นที่ระลึกถึง “ผู้นำคณะราษฎร” นอกจากนามของถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 หรือ อนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรีแล้ว อีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญ และอาจดูเหมือนจะมีความผูกพันกับท่านมากกว่าที่อื่นๆ คือ “หอระฆังตระกูลพหลโยธิน” วัดแคนอก จังหวัดนนทบุรี

 


เชิงอรรถ :

[1] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มิถุนายน 2541.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ

[2] ปรุงศรี วัลลิโภดม, บรรณาธิการ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

[3] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มิถุนายน 2541.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ

[4] นคร พจนวรพงศ์; และ อุกฤษ  พจนวรพงศ์. (2549). ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ; ขวัญนคร.

บรรณานุกรม :

จำนงค์ ทองประเสริฐ. (2550). พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้เป็นยิ่งกว่า เชษฐบุรุษ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

นคร พจนวรพงศ์; และ อุกฤษ  พจนวรพงศ์. (2549). ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ; ขวัญนคร.

ปรุงศรี วัลลิโภดม, บรรณาธิการ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

พันธลักษณ์. (2547). นายกรัฐมนตรีของไทย. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ 19.

ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์. (2552). 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” 29 มิถุนายน 2541.  กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2565