ผู้เขียน | กลับบางแสน |
---|---|
เผยแพร่ |
ในปัจจุบันโลกได้พบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปยังทุกมุมโลก การแพร่ระบาดในครั้งนี้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต เศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไปอย่างมาก
ในประวัติศาสตร์โลกและประเทศไทยก็เคยพบกับวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน หนึ่งในโรคระบาดนั้นคืออหิวาตกโรคโดยเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงและสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในหนังสือของ ชาติชาย มุกสง เรื่อง จากปีศาจสู่เชื้อโรค ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย (มติชน, 2563) ได้กล่าวถึงการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งสำคัญในสังคมไทย ดังนี้
การระบาดของอหิวาตกโรคครั้งสำคัญในสังคมไทย
(ทั้งนี้ไม่นับการระบาดที่เกิดขึ้นประจำทุกปีในหน้าแล้ง แต่ไม่ลุกลามไปเป็นการระบาดใหญ่)
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2363-2364 (ค.ศ. 1820-1821) การระบาดทั่วเอเชีย (Asiatic Cholera) เกิดระบาดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) เกิดระบาดอย่างหนักในกรุงเทพฯ ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 (พ.ศ .2382-2397/ค.ศ. 1839-1854) ที่เริ่มระบาดจากอินเดียไปทั่วยุโรป อเมริกา ระบาดเข้าไทยโดยผ่านปัตตานี สงขลา และหลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ระบาดโดยทางเรือเข้าสมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ซึ่งระบาดหนักในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2392 (ค.ศ. 1849) เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 เช่นกัน
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2403 ไข้ป่วงระบาดมาจากเมืองตากเมืองระแหงก่อนจะระบาดตามลำน้ำปิงเข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่รุนแรงมากนัก
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2516 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2406-2417/ค.ศ. 1863-1874) ครั้งนี้รัชกาลที่ 5 ใช้การรักษาพยาบาลแทนการใช้พิธีกรรมทางศาสนาเช่นที่เคยมีมา โดยเปลี่ยนมาใช้ยารักษาที่ปรุงโดยพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ 2 ขนาน ด้วยการแจกจ่ายไปสู่ราษฎรผ่านการตั้งโอสถศาลาตามบ้านข้าราชการ
ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2424 (ค.ศ.1881) มีการตั้งโรงพยาบาลเอกเทศปราบอหิวาตกโรคครั้งแรกในกรุงเทพฯ ถึง 48 แห่ง
ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2434 (ค.ศ.1891) ระบาดหนักในภาคกลางของประเทศโดยเฉพาะพื้นที่มณฑลนครชัยศรี
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2443-2446 (ค.ศ. 1900-1903) จากภาคกลางเกิดการระบาดขึ้นไปทางเหนือถึงพิษณุโลก พิชัย และพิจิตร
ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2449-2453 (ค.ศ. 1907-1910) มีการระบาดไปทั่วพื้นที่ภาคกลาง
ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2461-2463 (ค.ศ. 1918-1920) เกิดการระบาดจากพม่าทางจังหวัดตาก มาตามลำน้ำปิงและเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2468-2472 (ค.ศ. 1925-1929) เกิดการระบาดจากพม่ามาตามแม่น้ำแม่กลองเข้าปากน้ำและเข้ากรุงเทพฯ มีการตั้งโรงพยาบาลเอกเทศขึ้นในต่างจังหวัด
ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2501-2502 (ค.ศ. 1958-1959) อหิวาตกโรคระบาดครั้งสุดท้ายเริ่มจากในกรุงเทพฯ แล้วระบาดไปยัง 38 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็สงบอย่างรวดเร็วจากการร่วมมือกันปราบปรามของหน่วยงานราชการต่างๆ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2565