ที่มา | คนไกล วงนอก |
---|---|
เผยแพร่ |
กทม. น่าจะเป็นเมืองเดียวในโลกที่ประชากรใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากที่สุด มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่งผู้โดยสารในกทม. เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด? ทำไม กทม. จึงต้องใช้บริการมอเตอร์ไซต์มากมายเพียงนี้?
วินมอเตอร์ไซค์แรกๆ ใน กทม. น่าจะเริ่มที่ซอยงามดูพลี เรือเอกสมบูรณ์ บุญศักดิ์ อดีตผู้จัดการคิวมอเตอร์ไซค์ในซอยงามดูพลี ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร Thailand Business เมื่อปี 2526 ว่า
“ในซอยงามดูพลีมีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แฟลตทหารเรือซึ่งอยู่ห่างจากถนนพระรามสี่ถึง 0.8 ก.ม. มีคนอาศัย 300 ครัวเรือน และมีครัวเรือนอีก 200 ครัวเรือนในชุมชนที่ห่างจากถนน 1.2 ก.ม. คนเหล่านี้รายได้น้อยจึงไม่มีเงินจ้างแท็กซี่หรือค่าสามล้อเข้าออกซอย สมัยก่อนตอนเย็นคนเหล่านี้ต้องเดินเข้าซอยมืดๆ ซึ่งอันตรายเพราะมักมีการจี้ปล้นบ่อยๆ ในซอย ครอบครัวเหล่านี้จึงต้องคอยดูแลลูกหลานของตนเวลาเข้าออก…
ในเดือนมิถุนายน 2524 นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งจึงรวบรวมคนในแฟลตที่มีรถมอเตอร์ไซค์มาตั้งเป็นชมรมมอเตอร์ไซค์แฟลตทหารเรือเพ่ื่อให้บริการรับส่งคนตอนเช้าและเย็น โดยคิดค่าโดยสาร 2-3 บาทต่อคน ในไม่ช้าบริการนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้คนขับหาเงินได้มาก จึงเริ่มมีคนขับมาร่วมชมรมมากขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจไป” (อ้างอิงจาก สมุดปกขาวทีดีอาร์ไอ 3 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2537)
ข้อมูลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปี 2531 จำนวนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพิ่มเป็นกว่า 16,000 คัน จากจำนวนวินเกือบ 900 แห่ง ซึ่งคาดว่าสามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณ 1.2 ล้านคนต่อเที่ยวต่อวันในปี 2531
เหตุที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากจำนวนประชากรใน กทม. ที่เพิ่มขึ้นไม่สัมพันธ์กับบริการขนส่งมวลชน โดยจำนวนประชากร (นับรวมผู้อพยพเข้ามาทำงานใน กทม. ตอนกลางวัน) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2513 มีจำนวน 2.5 ล้านคน, ปี 2531 เพิ่มเป็น 8 ล้านคน และปี 2536 เพิ่มเป็น 10 ล้านคน ขณะที่ช่วงปี 2521-2531 จำนวนรถเมล์เพิ่มขึ้นเพียง 125 คัน (เดิม 4,740 คัน เพิ่มเป็น 4,865 คัน) ส่วนแท็กซี่มีจำนวนเท่าเดิมคือ 13,500 คัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือ การขยายตัวของเมืองที่ขาดการวางผังเมืองที่ดี พื้นที่ถนนทุกประเภทในกทม.มีเพียง 9% ของพื้นที่ในเขตเทศบาล ขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 20% ดังนั้นที่อยู่อาศัยส่วนมากจึงตั้งอยู่ตามซอยต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 10,000 ซอย และซอยเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีบริการรถเมล์ นอกจากนี้ปัญหาการจราจรติดขัด ที่ทำให้คนกรุงต้องเร่งรีบเดินทางไปทำงาน
เมื่อบ้านพักอยู่ในซอยลึก บริการรถเมล์มีจำนวนน้อย, แออัด และล่าช้า ขณะที่แท็กซี่มีราคาแพง “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” จึงเป็นคำตอบเดียวที่ใช่ ภาพของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จอดอยู่ตามปากซอย, ตลาดสด, ศูนย์การค้า, ป้ายรถเมล์ ฯลฯ คอยให้บริการจึงพบเห็นได้โดยทั่วไป
ขณะที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตคนกรุง แต่บริการสาธารณะนี้ก็มีข่าวลือหนาหูว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ โดยผู้เป็นเจ้าของวิน หรือผู้ก่อตั้งวิน ที่มักเป็นข้าราชการ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่นั้นๆ และมีการเรียกเก็บจากผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่ละคัน
ในการเสวนา “ผู้ครองแผนที่ : อำนาจและการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในไทย” (Owner of the Map: Power, politics & motorcycle taxis in Thailand) ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เมื่อ 18 เมษายน 2561) นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า
ตัวเองได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 และทำงานเป็นวินมอเตอร์ไซค์มา 30 ปีแล้ว โดยต้องกล่าวว่า มีมาเฟียครอบงำวินเตอร์ไซค์ 100% โดยต้องส่งเงินให้มาเฟีย 2,500/เดือน ส่งให้ตำรวจ 300/เดือน และส่งค่าน้ำให้หัวหน้าวินอีกวันละ 3 บาท ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาแก้ไขปัญหามาเฟียวินมอเตอร์ไซค์ จนกระทั่งถึงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เปลี่ยนให้เขตต่างในกทม. เป็นผู้ดูแลวินมอเตอร์ไซค์ มีการเสียภาษีให้รัฐแทนการจ่ายเงินให้มาเฟีย
ส่วนสถิติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กรุงเทพฯ มีรถมอเตอร์ไซค์สาธารณะ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 93,077 คัน มีจำนวนวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมด 5,575 วิน จำนวนผู้ขับขี่ 84,547 ราย โดยเขตที่มีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากที่สุด และมีผู้ขับขี่มากที่สุด คือ เขตจตุจักร ที่มี 220 วิน มีผู้ขับขี่ 4,024 ราย
ข้อมูลจาก :
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร. “ทำไมจึงเกิดมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ” ใน, สมุดปกขาวทีดีอาร์ไอ 3 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2537, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์. “วินมอเตอร์ไซค์ : พลวัต-พลังทางเศรษฐกิจและการเมืองในไทย” ใน, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2561
กลุ่มสถิติการขนส่งกองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก. สถิติจำนวนวินและจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร 31 ธันวาคม 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565