ที่มา | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
การสร้างอนุสรณ์ของบุคคลสำคัญที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกยกย่องในคุณูปการของบุคคลนั้น หากบางครั้งอนุสรณ์ของบุคคลคนเดียวกันก็มีการยกย่องในหลายสถานะ ดังเช่นอนุสรณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทั้งฐานะเจ้านายผู้มีคุณูปการต่อทหารเรือ จนทรงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งทหารเรือไทย” ทั้งฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นามว่า “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ”
รายละเอียดเหล่านี้ คเณศ กังวานสุรไกร ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความ “อนุสรณ์กรมหลวงชุมพรฯ จากเกาะไผ่ถึงสัตหีบ : การเปลี่ยนแปลงการระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ ในกองทัพเรือ พ.ศ. 2470 ถึงทศวรรษ 2510” ใน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565
ที่นำเสนอ “การระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ” ที่เปลี่ยนแปลงตามประวัติศาสตร์แต่ละช่วงเวลา ผ่าน “อนุสรณ์กรมหลวงชุมพรฯ”
อนุสรณ์ของกรมหลวงชุมพรฯ ที่มีการสร้างขึ้นในยุคแรกๆ คือ เจ้านายผู้มีคุณูปการต่อทหารเรือ โดยอนุสรณ์แห่งแรกที่สร้างขึ้น คือ อนุสรณ์ระลึกกรมหลวงชุมพรฯ คือ “ประภาคารอาภากร เกาะไผ่”
ประภาคารอาภากร เกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของ พลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เสนาธิการทหารเรือ ลูกศิษย์คนแรกของกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดของพระองค์และได้รับความไว้วางพระทัยอย่างมาก
พระยาราชวังสันมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดความรู้จากกรมหลวงชุมพรฯ ชนิดที่เรียกว่า “เรียนตัวต่อตัวกับพระองค์ท่าน” เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ทรงจัดให้มีการฝึกภาคทะเลช่วงต้น พ.ศ. 2450 พระยาราชวังสันเป็นนักเรียนนายเรือชั้นสูงสุดเพียงคนเดียวได้ทำหน้าที่เดินเรือ ส่วนพระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ก็ทรงเลือกพระยาราชวังสันเป็นหนึ่งในนายทหารเรือที่ติดตามร่วมขบวนเสด็จบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี
ภายหลังเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์แล้ว พ.ศ. 2455 พระยาราชวังสันในฐานะศิษย์และผู้ที่พระองค์ไว้วางพระทัย ประสงค์ที่จะตอบแทนพระคุณของพระองค์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก กระทรวงทหารเรือเองก็ประสบปัญหามีงบประมาณไม่เพียงพอและพยายามลดรายจ่ายต่างๆ ที่สามารถทำได้ ทำให้พระยาราชวังสันไม่สามารถสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ โดยตรงได้
พระยาราชวังสันจึงเลือกที่จะสถาปนาสถานที่ที่กระทรวงทหารเรือมีนโยบายจะสร้างอยู่แล้ว เป็นอนุสรณ์สถานแทน ซึ่งในเวลานั้นกรมอุทกศาสตร์ประสงค์จะสร้างประภาคารที่เกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี พระยาราชวังสันจึงขอให้กรมอุทกศาสตร์ตั้งชื่อประภาคารแห่งนี้ว่า “ประภาคารอาภากร” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอุทิศแด่กรมหลวงชุมพรฯ และหวังให้ประภาคารนี้เป็นเครื่องประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์แก่ชาวเรือ เพื่อ “จักได้แผ่นามแห่งประภาคารอันเป็นพระนามของพระองค์ท่านแพร่หลายไปทั่วทิศานุทิศ กับจักกรึงอยู่ในสมุดปูมของเรือต่าง ๆ ซึ่งได้เคยผ่านไปมาและได้รับประโยชน์จากประภาคารนั้นมาแล้ว เป็นการเผยพระนามให้ปรากฏไปชั่วกาลปาวสานต์” (กรมยุทธการทหารเรือ, 2467-2473)
ทว่า การสร้างประภาคารแห่งนี้มีค่าใช้จ่ายจำนวน 49,177 บาท พระยาราชวังสันจึงแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้งบของกระทรวงทหารเรือ อีกส่วนหนึ่งใช้วิธีขอเรี่ยไรเงินบริจาคแทน เพื่อลดการใช้จ่ายในงบประมาณ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้การเรี่ยไรบริจาคได้ล่าช้ากว่าที่คาด หากประภาคารอาภากรก็สร้างเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2470 และเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯอย่างเป็นทางการแห่งแรกที่ทหารเรือสร้างขึ้น
ขณะเดียวกันในสังคมนอกวงการทหารเรือ ก็มีการระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นามว่า “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” ตั้งแต่ทศวรรษ 2470
ในพระประวัติพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาช่วงที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมระหว่าง พ.ศ. 2474-2476 นายเมืองเริง วสันตสิงห์ ผู้เขียนพระประวัติ ได้เล่าถึงคำเล่าลือในหมู่ชาวบ้านที่อธิบายความสำเร็จน่าอัศจรรย์ของพระองค์ในการปราบปรามโจรผู้ร้ายว่า “กรมชุมพร…พระบิดาของท่านคงจะเสด็จมาช่วยพระองค์ท่านอยู่เสมอ”
ศาลเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ 2 แห่งปรากฏขึ้นในช่วงเวลาระหว่างทศวรรษ 2480-2500 พร้อมเรื่องราวอิทธิปาฏิหาริย์เหนือจริง ได้แก่ ศาลที่ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯ และศาลที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นศาลเคารพบูชากรมหลวงชุมพรฯแห่งแรก และแห่งที่ 2 ตามลำดับที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันและสามารถตรวจสอบเวลาที่ปรากฏขึ้นได้
ศาลทั้งสองสร้างขึ้นเป็นพื้นที่ความทรงจำเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ โดยตรงตามข้อเท็จจริงในฐานะสถานที่ประทับกับสถานที่สิ้นพระชนม์ตามลำดับ และสะท้อนถึงการรับรู้ของผู้คนทั่วไปต่อพระองค์
ศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่ย่านนางเลิ้งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันสืบย้อนไปถึงอย่างน้อยทศวรรษ 2480 โดยปรากฏครั้งแรกในข่าวหนังสือพิมพ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2484 ซึ่งเล่าถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์ของเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ โดยปรากฏในเนื้อข่าวข้างต้นว่า
“ตามข่าวที่เราได้เสนอไปแล้วในหนังสือของเราประจำวันศุกร์ที่ 31 มกราคมถึงเรื่องกรมหลวงชุมพรให้รบ คือได้มีเสียงประหลาดเกิดขึ้นณศาลจ้าวกรมหลวงชุมพร ตำบลนางเลิ้งในยามดึกสงัด…เป็นเสียงปึงปังดังสนั่นหวั่นไหว และผู้คุ้นเคยบนศาลจ้าวได้กล่าวกับผู้แทนของเราว่า จ้าวพ่อคงไม่พอพระทัยอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนกล่าวว่า จ้าวพ่อไม่ปรารถนาจะให้หยุดรบ นอกจากจะรุกต่อไปให้เด็ดขาด
บัดนี้ได้มีข่าวคืบหน้าต่อไปอีกว่า หลังจากฝรั่งเศสได้ยินยอมตกลงในกรณีย์พิพาท…ในเวลาดึกสงัดราวตี 3 ราษฎรบางคนที่เช่าห้องอยู่ใกล้ๆ กับศาลจ้าวพ่อกรมหลวงต่างพากันตกใจตื่นและขนลุกขนพองตกใจกลัวไปตามกัน…ราษฎรผู้หนึ่งกล่าวกับผู้แทนของเราว่า คงเปนเสียงของจ้าวพ่ออีกนั่นแหละ” (หลักเมือง, 2484 : 1, 8)
พ.ศ. 2493 พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร เสด็จไปร่วมสงครามเกาหลี พระองค์ทรงเล่าถึงการประสบอิทธิปาฏิหาริย์ของกรมหลวงชุมพรฯซึ่งช่วยสงบไต้ฝุ่นระหว่างพระองค์ทรงโดยสารเรือไปยังประเทศเกาหลีว่า “วันเดียวตามทางเจอไต้ฝุ่นหลายหนแต่เราบนกรมหลวงชุมพรหายเงียบไปทุกที ศักดิ์สิทธิ์มาก” (เฉลิมศึก ยุคล, 2534 : 150)
อนุสรณ์เพื่อระลึกถึงกรมหลวงชุมพรฯ ที่กล่าวถึงข้างต้น สร้างขึ้นในเวลาที่แตกต่างกัน และระลึกถึงพระองค์ในคุณูปการที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า ความทรงจำต่อกรมหลวงชุมพรฯ มีหลากหลายมิติ ด้วยเรื่องเล่าพระประวัติของพระองค์ที่สังคมรับรู้มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ส่วนจะเป็นด้วยการบันทึกของผู้ใด เจตนาอะไร ในสถานการณ์เช่นไรนั้น ขอได้โปรดติดตามใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2565