“น้ำมันพืช” ขวดพลาสติกบุกครัวคนไทยตั้งแต่เมื่อไหร่?

ขวด น้ำมันพืช
น้ำมันพืช (ภาพประกอบจาก กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ)

ในสมัยก่อนน้ำมันที่ใช้ในการทำอาหารประเภทผัดๆ ทอดๆ มักจะเป็นน้ำมันหมูเป็นหลัก น้ำมันพืช ที่ใช้ก็มีบ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมากนัก เพราะน้ำมันหมูเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเนื้อหมู ซึ่งเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่นิยมบริโภคกันมาก

ต่อมาใน พ.ศ. 2505 รัฐบาลส่งเสริมให้มีการผลิตน้ำมันพืชภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า จึงเกิดโรงงานสกัดน้ำมันพืชขนาดกลางและขนาดใหญ่ทยอยเปิดขึ้น รวมถึงโรงงานกลั่นน้ำมันพืชบริสุทธ์ด้วย

Advertisement

โดยน้ำมันพืชที่นิยมใช้ในระยะแรกๆ มี 2 ชนิด คือ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง

1. น้ำมันมะพร้าว หรือที่บางคนเรียกว่า “น้ำมันบัว” เป็นน้ำมันพืชที่สำคัญในอดีต แต่ก็มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นระยะ เนื่องจากมีการใช้หรือบริโภคมะพร้าวในรูปแบบอื่นๆ เช่น ทำเป็นทำกะทิ หรือบริโภคสด ส่วนที่เหลือจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำมัน

2. น้ำมันถั่วลิสง ซึ่งก็มีการบริโภคเป็นอาหารโดยตรงเช่นเดียวกับมะพร้าว

ภายหลังเริ่มมีการใช้ “น้ำมัน” จากพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว และน้ำมันปาล์ม แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มากนัก ไม่ว่าอย่างไรน้ำมันหมูก็ยังเป็นนิยมและมีปริมาณการใช้มากที่สุด

พ.ศ. 2511 รัฐบาลส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันที่จังหวัดสตูลและจังหวัดกระบี่ หลังจากนั้นอีกประมาณ 6 ปีก็มีการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

พ.ศ. 2520 เริ่มมีผู้ประกอบการน้ำมันพืชรายใหญ่เข้ามาทำธุรกิจ และมีการผลิตน้ำมันพืชบรรจุขวดพลาสติกขนาด 1 ลิตร ที่ดูสะอาดปลอดภัย และสะดวกในการใช้มากขึ้น จากเดิมที่บรรจุเป็นปี๊บขนาด 13.75 ลิตร แล้วแบ่งจำหน่าย ขณะเดียวกันความนิยมในการบริโภคน้ำมันพืชก็เปลี่ยนจากน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง มาเป็นน้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันรำข้าว ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันหมู

ประกอบความสนใจของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น น้ำมันหมูในขณะนั้นจึงถูกมองว่าอาจมีทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง การบริโภค น้ำมันพืช จึงได้รับความนิยมมากขึ้น และมีน้ำมันจากพืชหลายชนิดให้เลือกใช้มากขึ้น เช่น น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันงา, น้ำมันรำข้าว, น้ำมันมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ดร. สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง, น.ส. ฐิติมา ทรงกสุล. รายงานการศึกษาเรื่อง อุตสาหกรรมน้ำมันพืช, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, เมษายน 2536


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2565