“กบฏ เสธ. ฉลาด” ความพยายามรัฐประหารซ้อนหลัง 6 ตุลาฯ เหลวไม่เป็นท่าเพราะนัดแล้วไม่มา

พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ความแตกแยกในกองทัพ และการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดูมีท่าทีรุนแรงขึ้นมาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (คณะรัฐประหาร มี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นผู้นำ) เรียก พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ ไปรายงานตัว แต่ พลเอก ฉลาด นอกจากจะไม่ไปรายงานตัวแล้ว วันที่ 9 ตุลาคม นั้นเอง พลเอก ฉลาด ยังได้เรียกนายทหารระดับคุมกำลัง และระดับผู้บังคับหน่วยหลายหน่วย ไปประชุมที่บ้านพักส่วนตัวย่านลาดพร้าว ดังนั้น คณะปฏิรูปฯ จึงมีคำสั่งปลด พลเอก ฉลาด ออกจากราชการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2519

เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการสุมไฟความร้าวฉานในกองทัพ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งมี พลเอก ฉลาด และพลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ กับอีกกลุ่มหนึ่งมี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่, พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ, พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อย่างไรก็ตาม ฝ่าย พลเอก ฉลาด ตกเป็นรอง เพราะถูกย้ายเข้ากองบัญชาการทหารสูงสุด และกลุ่มทหารระดับคุมกำลังที่ให้การสนับสนุนก็ถูกสลาย

พลเอก ฉลาด จึงหลีกหน้าไปบวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาจึงสึก และพยายามก่อการรัฐประหาร ล้มคณะปฏิรูปฯ และรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พลเอก ฉลาด มี พ.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ (ยศขณะนั้น) นายทหารผู้ใกล้ชิดร่วมเป็นผู้ปฏิบัติงานคนสำคัญ และเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ความพยายามรัฐประหารในครั้งนั้นไว้อย่างละเอียด

พ.ต. สนั่น สรุปแผนการรัฐประหารครั้งนี้ว่า พลเอก ฉลาดเป็นผู้วางแผน และประสานงานกำลังส่วนต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยมอบหมายให้ พ.ต. สนั่น เป็นผู้ประสานการปฏิบัติ แต่เมื่อเห็นรายชื่อหน่วยทหาร ทั้งในกรุงเทพฯ ปราจีนบุรี ลพบุรี และกาญจนบุรี แล้ว พ.ต. สนั่น คิดว่า “ไม่เชื่อใจคนบางคนได้เต็มร้อยนัก” โดยเฉพาะหน่วยทหารในกรุงเทพฯ ว่าจะกล้าพอหรือไม่ ด้วยเหตุว่า “เราไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วทำการปฏิวัติ คือไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบแล้วทำ แต่เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ เป็นฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่า ไม่มีอำนาจรัฐ กระแสก็ไม่ให้ เพราะเขาเพิ่งปฏิวัติกันไปใหม่ ๆ”

เมื่อถึงวันลงมือรัฐประหาร ในเช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 กำลังทหาร 1 กองร้อยในกรุงเทพฯ นำโดย พ.ต. อัศวิน หิรัญศิริ (บุตรชายของ พลเอก ฉลาด) เข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี เป็นกองบัญชาการของคณะรัฐประหาร ในส่วนของ พันตรี บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กับพันตรี วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ นำกำลังทหารจากกาญจนบุรีเข้ามาสมทบตามแผน พ.ต. สนั่นเล่าบรรยากาศภายในกองบัญชาการของคณะปฏิวัติว่า

“เวลานั้นเห็นนายทหารระดับอาวุโสของกองทัพบกที่มีชื่อเสียงมากหน้าหลายตาที่นั่งกันอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ท่านพลเอก มานะ รัตนโกเศศ ตอนนั้นมียศเป็นพลตรี แล้วก็มี พลตรี อรุณ ทวาทศิน ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ยังมีนายทหารตำรวจอีกมากที่อยู่ในระดับคุมกำลังทั้งสิ้น ซึ่งนั่งกันอยู่ที่โต๊ะประชุมยาว ผมคิดเอาว่าทุกท่านที่นั่งกันอยู่ในที่และเวลานั้นต้องทราบเรื่องราวหรือได้รับการติดต่อจาก พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ แล้วทั้งนั้น ไม่เช่นนั้นคงไม่มานั่งกันอยู่อย่างนั้นแน่ ๆ”

แต่แล้วเค้าลางของความไม่แน่นอนก็ปรากฏขึ้น เมื่อการเชิญตัว พลเอก เสริม ณ นคร ไม่สำเร็จตามแผน ซ้ำคณะรัฐประหารกลับไม่ได้มีแผนการจับกุมบุคคลสำคัญของคณะปฏิรูปฯ และรัฐบาลเป็นตัวประกันไว้อีกด้วย ดังที่ พ.ต. สนั่น บันทึกว่า “ที่ต้องเชิญตัวพลเอก เสริม เพราะพลเอก ฉลาด กับพลเอก เสริม เป็นเพื่อนที่รักกันมาก ส่วนคนอื่น ๆ ไม่ได้มีความคิดที่จะจับตัวท่านไว้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรืออาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีก็ตาม ในแผนการของเราไม่ได้กำหนดเอาไว้ว่าจะจับตัวท่านผู้นำเหล่านี้”

อย่างไรก็ดี คณะรัฐประหารยังคงเดินหน้าต่อไป จนกระทั่งออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับแรก ทว่า ประกาศของคณะรัฐประหารเป็นไปในลักษณะประนีประนอม ไม่กล่าวโทษคณะปฏิรูปฯ ไม่กล่าวโทษรัฐบาลธานินทร์ นอกจากอ้างลอย ๆ ว่า สาเหตุของการรัฐประหารมาจาก “ความไม่หวังดีต่อบ้านเมืองของคนบางกลุ่ม” 

หลังออกแถลงการณ์ฉบับแรก คณะรัฐประหารเริ่มพบว่า หน่วยทหารที่อยู่ในบัญชีนัดหมายไม่มาตามนัด และยังเกิดเหตุสำคัญขึ้นในห้องประชุมกองบัญชาการของคณะรัฐประหาร เมื่อ พล.ต. อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เข้าแย่งปืนเอ็ม 16 จาก ร.ท. ชูชีพ ปานวิเชียร นายทหารจากกองพล 9 กาญจนบุรี ไปไว้ได้ พ.ต. สนั่น เล่าเหตุการณ์ต่อจากนั้นว่า

“พล.อ. ฉลาด สั่งให้ พล.ต. อรุณ วางปืน แต่พอสิ้นคำว่าวางปืน เสียงปืนก็ดังระเบิดขึ้นนัดหนึ่ง ร่างของ พล.ต. อรุณ ทวาทศิน ชะงัก ตาเบิกกว้าง แต่มือทั้งสองยังกระชับปืนเอ็ม 16 เอาไว้มั่นอยู่ในท่าที่พร้อมจะยิง เมื่อสถานการณ์ยังเป็นอย่างนั้น ปืนพกขนาด .38 ในมือของ พล.อ. ฉลาด จึงระเบิดเสียงขึ้นอีกเป็นนัดที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ดังตามขึ้นมาอีก คราวนี้ร่างของ พล.ต. อรุณถึงกับทรุดฮวบลงกับพื้น”

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง พล.อ. ฉลาด สั่งให้เรียกรถพยาบาลเข้ามารับ พล.ต. อรุณ ไปส่งโรงพยาบาลกลาง แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ช่วงสายของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และออกประกาศแจ้งให้ประชาชนทราบสถานการณ์ พร้อมกับสั่งการให้นำกำลังทหารเข้าปิดล้อมกองบัญชาการของคณะรัฐประหารที่สวนรื่นฤดี โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติว่า ทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียเลือดเนื้อ

ตกบ่าย กำลังฝ่ายคณะรัฐประหารหมดทางสู้ กำลังทหารที่ออกไปยึดพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มวางอาวุธมอบตัวกับฝ่ายรัฐบาล จนเหลือเฉพาะที่สวนรื่นฤดีที่ถูกล้อมด้วยกำลังรถถัง แต่ไม่มีการยิงต่อสู้กัน รัฐบาลจึงส่งตัวแทนเข้าเจรจา คือ พ.ต. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารรุ่นเดียวกับ พ.ต. อัศวิน โดย พ.ต. สุรยุทธ์ แจ้งคณะรัฐประหารว่า พล.อ. เกรียงศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะเป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาลมาเจรจาเพื่อทำข้อตกลง โดยรัฐบาลยื่นข้อเสนอให้ พล.อ. ฉลาด และพวกผู้ก่อการยอมแพ้ และจะให้หลี้ภัยไปอยู่ที่ไต้หวัน

นายทหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วย พล.อ. ฉลาด, พ.ต. สนั่น, พ.ต. บุญเลิศ, พ.ต. วิศิษฐ์ และ พ.ต. อัศวิน ก็ออกจากสวนรื่นฤดีไปยังบ้านพัก พล.อ. ฉลาด ย่านลาดพร้าวเพื่อเตรียมตัวออกเดินทางไปไต้หวัน โดยจะขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง

ความพยายามรัฐประหารจะกลายเป็นกบฏ ทิ้งไว้แต่เพียงปริศนา “นัดแล้วไม่มา” แต่เรื่องราวยังไม่จบ คณะผู้ก่อการทั้ง 5 คน ที่อยู่บนเครื่องบิน และพร้อมจะออกเดินทางไปยังไต้หวันแล้วนั้น แต่แผนเดินทางกลับถูกยกเลิกกะทันหัน นำสู่ปริศนา “คำสั่งประหารชีวิต” พลเอก ฉลาด โดยถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2520

ปิดฉาก “กบฏ เสธ. ฉลาด”

 


อ้างอิง :

บัญชร ชวาลศิลป์. (พฤษภาคม, 2565). กบฏ เสธ. ฉลาด : ปริศนาแรก “นัดแล้วไม่มา”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 7.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2565