ถ้า “เกาหลีเคยเป็นส่วนหนึ่งจีน” แล้วอย่างนี้ “ไทย” จะเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปด้วยมั้ย?

ชาวเกาหลีใต้ประท้วงหน้าสถานทูตจีนเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เกาหลีเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน (AFP PHOTO / YONHAP )

“….แล้วเขาก็เข้าเรื่องประวัติศาสตร์ระหว่างจีนกับเกาหลี ไม่ใช่แค่เกาหลีเหนือ แต่เป็นเกาหลี [ที่รวมทั้งสองประเทศ] ซึ่งคุณก็รู้ล่ะว่าเป็นการพูดย้อนกลับไปเป็นพันๆ ปี ผ่านสงครามมาหลายต่อหลายครั้ง และเกาหลีจริงๆ แล้วก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน หลังจากได้ฟังสัก 10 นาที ผมก็รู้สึกได้ว่ามัน…มันไม่ง่ายเลย” โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงการสนทนาระหว่างเขากับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนซึ่งเลคเชอร์ประวัติศาสตร์คาบสมุทรเกาหลีให้กับเขาด้วย (ทรัมป์ พบสี จิ้นผิง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2560)

ประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเกาหลีใต้ มีประชาชนหนึ่งซึ่งประกอบด้วยนักประวัติศาสตร์และนักกิจกรรมออกมาประท้วงหน้าสถานทูตจีนในกรุงโซล แสดงความไม่พอใจผู้นำจีนที่ไปเป่าหูผู้นำสหรัฐฯ ด้วยประวัติศาสตร์ชาตินิยมฉบับนักล่าดินแดน ซึ่งชาวเกาหลีถือว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีในอธิปไตยของชาติ

Advertisement

สำหรับเนื้อหาจริงๆ ที่ สี พูดกับ ทรัมป์ จะเป็นยังไง มีการแปลความตรงตัวหรือไม่นั้นยังไม่มีใครออกมายืนยัน ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเอง (Lu Kang) ก็ไม่ยอมปริปาก บอกแต่ว่า “คนเกาหลีไม่ควรจะต้องกังวลเรื่องนี้”

แต่ทางเกาหลีใต้เขาร้อนรนมาก จากรายงานของ AFP บอกว่า สื่อหลักๆ อย่างเช่น JoongAng Ilbo กล่าวว่า “ถ้า ทรัมป์ ถ่ายทอดถ้อยคำของ สี อย่างถูกต้อง มันย่อมเป็นการท้าทายอย่างร้ายแรงต่ออัตลักษณ์ของชาวเกาหลี” หรือหนังสือพิมพ์ Chosun ที่ใช้บทบรรณาธิการโจมตี สี ว่ามี “มุมมองแบบนักล่าดินแดนก่อนยุคสมัยใหม่” และกล่าวว่า ทรัมป์ เป็นคนที่ไม่ประสาในเรื่องอ่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเอาซะเลย

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ออกมากล่าวว่า “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กระจ่างชัดซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้ก็คือ เกาหลีมิได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและจีนในช่วงเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา”

ขณะที่ ชอย วุน-ดู (Choi Woon-do) นักวิจัยจาก Northeast Asian History Foundation มองว่า คำพูดของ ทรัมป์ นั้นไม่ควรต้องไปใส่ใจเท่าไรนักหรอก มันอาจเป็นการพูดให้ง่ายเข้าว่า หรือไม่ก็เป็นการตีความหมายในคำพูดของ สี ผิดไปก็ได้ เพราะคนจีนก็รู้จักระบบรัฐบรรณาการระหว่างจีนกับเกาหลี หรือกับประเทศอื่นๆ อย่างเวียดนามเป็นอย่างดี แต่ ทรัมป์ อาจจะไม่เข้าใจกระจ่างนัก เลยอาจคิดเอาเองว่า การอยู่ใต้อิทธิพลในระบบรัฐบรรณาการ เหมือนกับการตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนก็เป็นได้ (Korea JoongAng Daily)   

การตีความว่า รัฐบรรณาการไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนก็เพราะ รัฐเหล่านี้ยอมรับว่าจีนมีสถานะที่เหนือกว่ายอมส่งค่าไถ่ให้แต่โดยดีเพื่อแลกกับผลประโยชน์นานาประการที่จะได้จากการได้รับการยอมรับจากฮ่องเต้ ซึ่งจีนก็จะไม่เข้ามายุ่งกับการจัดการเรื่องการปกครองภายในรัฐนั้นๆ รัฐเหล่านี้จึงยังมีอำนาจเต็มในการจัดการตนเอง ซึ่งอาณาจักรไทย หรือสยามในอดีต ก็มีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะคล้ายๆ กันนี้

แต่คำอธิบายแบบนี้อาจจะต่างไปจากความเข้าใจในอดีต ที่รัฐใหญ่มักมองรัฐเล็กที่เข้ามาอ่อนน้อมยอมรับว่าตนด้อยกว่า มีสถานะเป็นประเทศราช และอาณาเขตของรัฐใหญ่ย่อมรวมไปถึงดินแดนของประเทศราชเหล่านี้ด้วย ซึ่งประชาชนของรัฐเจ้าพ่อลักษณะนี้บางส่วนถึงปัจจุบันก็ยังเชื่อว่า ดินแดนอดีตประเทศราชเหล่านี้ครั้งหนึ่ง เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรในอดีตที่ตัวเองเกิดไม่ทันโดยแท้ สี จิ้นผิง ก็อาจจะคิดทำนองเดียวกันก็เป็นได้ (ถ้าคำพูดที่ ทรัมป์ อ้างมาเป็นความจริง)

เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นว่า ธรรมเนียมจิ้มก้องนั้น ถือว่าการเป็นยอม “อ่อนน้อม” และยอมเป็น ข้าขอบขันธเสมา” ต่อจีน แต่ก็ทรงแก้ต่างเรื่องการส่งบรรณาการของไทยให้กับจีนเอาไว้ว่า เกิดจากความไม่รู้ของพระเจ้าแผ่นดินไทยในอดีต จึงถูกล่ามล่อลวงเอาได้ ดังพระวินิจฉัยซึ่งปรากฏในประกาศของพระองค์เมื่อปี 2411 มีความตอนหนึ่งว่า

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นหลงใหล เชื่อคำพวกจีนเหล่านั้นกราบทูลหลอกลวงต่างๆ ช่างโง่เง่าทั้งพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดี จึงยอมให้จีนพวกนั้นแต่งตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์นเป็นหนังสือจีน แต่ว่ารับสั่งว่าให้ล่ามจีนพวกนั้นแต่งตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์นซึ่งเป็นอักษรไทยแลความไทย ฝ่ายพวกจีนทั้งนั้นก็แต่งย้ายเสียใหม่ตามใจชอบของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้นแต่งเป็นหนังสือจีน ก็กลับความเสียอย่างอื่น เขียนใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ยไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่งขออ่อนน้อมยอมตัวถวาย เป็นข้าขอบขันธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แลขอถวายเมืองเป็นเมืองก้อง ๓ ปีครั้งหนึ่ง พอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งเอกอุดมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงทั่วโลกจะขอให้พระเจ้ากรุงปักกิ่งทรงพระมหากรุณาอนุญาตให้สำเภาของพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ไปมาค้าขายที่เมืองจีนเหมือนได้โปรดให้ซื้อสิ่งของบนสวรรค์มาใช้ในเมืองไทยไกลทะเลกันดารด้วยเถิด…”

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏนามศิลปิน, สีฝุ่น สมัยรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานในพระที่นั่งอัมพรสถาน กรุงเทพฯ (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่มที่ 1)

“…ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระด้างกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งซิ่ว ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอดลงมาหลายชั่วอายุคน ความโง่เป็นไปทั้งนี้ ต้นเหตุใหญ่เพราะว่าหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลายพอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือจีนก็ไม่มี ก็เมื่องมงายโง่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งหลายในเวลาก่อนนั้น แลเสนาบดีไทยก็โง่งมมาด้วยหลายชั่วแผ่นดินนั้น เพราะความมักง่าย ครั้นทูตเก่าแลล่ามเก่าตายไปหมดแล้ว ได้ยินว่าคราวหนึ่งมีล่ามจีนเป็นคนซื่อแปลความตามฉบับหนังสือจีนที่จริงแจ้งความจริงให้ท่านเสนาบดีไทยในเวลาที่ล่วงแล้วเป็นลำดับมานั้นให้รู้แท้แน่ว่า จีนกวางตุ้งดูหมิ่นดูแคลนมีหนังสือมาสั่งให้ไปก้อง คือให้ไปอ่อนน้อม…”

พระวินิจฉัยของพระองค์ออกจะทรงใช้คำที่รุนแรงอยู่บ้าง แต่หากพิจารณาในเชิงข้อเท็จจริงแล้ว การมีความสัมพันธ์อย่างรัฐบรรณาการระหว่างไทยกับจีนในอดีต ก็มีผลตอบแทนที่ดีทั้งในด้านการทูตและการค้า ผู้นำอาณาจักรไทยในอดีตคงเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่าเรื่องของเกียรติหรือศักดิ์ศรีว่าด้วยความเท่าเทียมระหว่างรัฐอธิปไตยที่พึงมีเสมอกัน อันเป็นอุดมคติที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง จึงมิได้ถือสาและได้ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2560