ถนนแห่งกรุงธนบุรี : นามถนนตามพระราชดำริ 11 สายในฝั่งธนบุรี

แผนที่ถนนแห่งกรุงธนบุรี พ.ศ. 2503

ในอดีต แม้ว่ากรุงธนบุรีจะอยู่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับกรุงเทพฯ แต่ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ด้วยผู้คนล้วนติดต่อสัญจรไปมาทางน้ำ

ครั้นผู้คนเปลี่ยนมาสัญจรทางบก อาศัยถนน ตรอก ซอย แทนแม่น้ำ ลำคลอง แม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเชื่อมพื้นที่สองฝั่ง กลับกลายเป็นเส้นแบ่ง แยกสองพระนครออกจากกัน

ยิ่งทางฝั่งกรุงเทพฯ มีการพัฒนาบ้านเมืองตามแบบอย่างเมืองในตะวันตก มีทั้งถนน สะพาน รถไฟ ไฟฟ้า และน้ำประปา ส่งผลให้ผู้คนโยกย้ายมาอยู่อาศัย รวมทั้งประกอบกิจการค้าขายและการทำงานในภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่ทางฝั่งกรุงธนบุรียังมีสภาพชุมชนชาวสวนริมคลองแบบดั้งเดิม

ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อถึงวาระเฉลิมฉลองนครหลวงครบ 150 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนาราชธานี ในรูปแบบของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน อีกทั้ง มีพระราชดำริสำคัญให้ตัดถนนสี่สาย ต่อเนื่องจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ทางฝั่งกรุงธนบุรี อันจะเป็นการชี้นำความเจริญให้กับกรุงธนบุรี

เมื่อกระทรวงมหาดไทยรับสนองพระราชดำริ ไปดำเนินการนั้น พบว่า ควรจะมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นอีก 6 สาย และสร้างท่าสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง เพื่อให้ฝั่งกรุงธนบุรีมีระบบทางสัญจรทางบกเพิ่มขึ้น

ระหว่างที่มีการเสนอชื่อนามถนนสายต่างๆ นั้น นอกจากจะมีการแบ่งถนนบางสายออกเป็นสายเหนือและสายใต้แล้ว ยังมีการเสนอให้แยกถนนเพิ่มขึ้นอีก 1 สาย รวมเป็นถนน 11 สาย ดังนี้

ถนนสายที่ 1 เดิมทีถนนสายนี้ มีแนวยาวจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ไปจนถึงคลองดาวคะนอง   กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอให้แบ่งถนนสายนี้ ออกเป็นสายนอก-ใน หรือสายเหนือ-ใต้ เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนประชาธิปใน กับ ถนนประชาธิปนอก ตามพระปรมาภิไธยในภาษามคธ สมัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชว่า ปชาธิโป หรือ ถนนจุฬาโลกใน กับ ถนนจุฬาโลกนอก ตามชื่อสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนพระปกเกล้า กับ ถนนประชาธิปก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนประชาธิปก จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

ครั้งเมื่อการก่อสร้างมีปัญหาไม่เป็นไปตามแผน ถนนสายนี้ที่เริ่มจากเชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ จึงไปสิ้นสุดแค่วงเวียนใหญ่ รวมระยะทางเพียง 1,248 เมตร

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2475 เทศบาลนครธนบุรี ได้ก่อสร้างถนนตามแนวเดิม ไปจนถึงคลองดาวคะนอง รวมทั้งมีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตากสินมหาราช จึงมีประกาศ ให้เรียกขานนามถนนสายนี้ ว่า ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เริ่มจากวงเวียนใหญ่ ไปสิ้นสุดที่คลองดาวคะนอง รวมระยะทาง 3,470 เมตร

แผนที่ฝั่งธนบุรี พ.ศ. 2453

ถนนสายที่ 2 เดิมทีถนนสายนี้ เริ่มตั้งแต่ทิศตะวันตกของวัดอมรินทรารามวรวิหาร ไปถึงถนนสายที่ 4 กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอให้แบ่งเป็นถนนสองสาย คือ สายเหนือและสายใต้ เริ่มแรกพระสารประเสริฐ จึงเสนอชื่อ ถนนประชาธิปก ตามพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ถนนเลิศหล้า เพื่อถวายเป็นที่ระลึกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนสมเด็จเจ้าพระยาเหนือ และ ถนนสมเด็จเจ้าพระยาใต้ เพราะสร้างตามแนวทางที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ได้สร้างไว้แต่ก่อน อีกทั้งเคยเป็นที่ตั้งจวนของสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง 4 องค์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนสมเด็จเจ้าพระยาเหนือ และ ถนนสมเด็จเจ้าพระยาใต้ จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเรียกขาน ถนนสมเด็จเจ้าพระยาเหนือ ว่า ถนนอรุณอัมรินทร์ เนื่องจากถนนตัดผ่านทั้งวัดอมรินทรารามวรวิหาร และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมทั้ง เมื่อมีการก่อสร้างสะพานพระราม 8 มีการขยายถนนอรุณอัมรินทร์ ไปจนถึงเชิงสะพานพระราม 8

ถนนอรุณอัมรินทร์ ปัจจุบันจึงเริ่มจากถนนประชาธิปก ไปสิ้นสุดที่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 40 รวมระยะทาง 4,899 เมตร

ในขณะเดียวกัน ถนนสมเด็จเจ้าพระยาใต้ ที่เริ่มจาก ถนนประชาธิปก ไปสิ้นสุดที่ ถนนลาดหญ้า รวมระยะทาง 1,440 เมตร จะเรียกขานว่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยา  

ถนนสายที่ 3 เดิมทีถนนสายนี้ จะเริ่มจากทางทิศตะวันตกของวัดอมรินทรารามวรวิหารไปจนถึงถนนสายที่ 4 จึงมีความยาวมาก กระทรวงมหาดไทย จึงเสนอให้แบ่งถนนสายนี้ ออกเป็นสายเหนือ-ใต้ เริ่มแรกพระสารประเสริฐ จึงเสนอชื่อ ถนนเลิศหล้า และ ถนนนภาลัย หรือ ถนนเจษฎา และ ถนนบดินทร์ หรือ ถนนเจษฎาบดินทร์ และ ถนนนั่งเกล้า แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนธนบุรีเหนือ กับ ถนนธนบุรีใต้ แต่เมื่อยังไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงเสนอชื่อใหม่ว่า ถนนเจ้ากรุงธนเหนือ และ ถนนเจ้ากรุงธนใต้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนเจ้ากรุงธนเหนือ และ ถนนเจ้ากรุงธนใต้ จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อให้ลงมติเห็นชอบ

ภายหลังมีการรวม ถนนเจ้ากรุงธนเหนือ และ ถนนเจ้ากรุงธนใต้ เป็นสายเดียว และเรียกขานรวมกันว่า ถนนอิสรภาพ เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รบชนะพม่ากอบกู้อิสรภาพในศึกมหาชัย

ปัจจุบัน ถนนอิสรภาพ จะเริ่มจาก ถนนวัดสุทธาวาส ไปสิ้นสุดที่ ถนนลาดหญ้า รวมระยะทาง 4,747 เมตร

ถนนสายที่ 4 เริ่มจากท่าสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านถนนสายที่ 2, 3 และถนนสายที่ 1 ไปถึงคลองบางกอกใหญ่ กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้แบ่งถนนสายนี้ออกเป็นสองสาย เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนสุขุมพันธ์ เพื่อถวายเป็นที่ระลึกในเจ้าทะบวงการพาณิชย์ และ ถนนฉัตรชัย เพื่อถวายเป็นที่ระลึกถึงในเจ้าทะบวงการมหาดไทย แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนธนราชใต้ และ ถนนธนราชเหนือ หรือ ถนนเจ้ากรุงธนใต้ และ ถนนเจ้ากรุงธนเหนือ

ครั้งเมื่อมีการนำชื่อถนนเจ้ากรุงธนไปใช้แล้ว จึงเสนอชื่อใหม่ว่า ถนนลาดหญ้าเหนือ และถนนลาดหญ้าใต้ เพื่อเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท รบชนะกองทัพพม่าที่ตำบลลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อว่า ถนนลาดหญ้าเหนือ และถนนลาดหญ้าใต้ จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อให้ลงมติเห็นชอบ

ปัจจุบันมีการเรียกขาน ถนนลาดหญ้าใต้ ว่า ถนนลาดหญ้า ที่เริ่มจากสำนักการศึกษา ไปสิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่ รวมระยะทาง 1,832 เมตร

ส่วน ถนนลาดหญ้าเหนือ ที่เริ่มจากวงเวียนใหญ่ ไปถึงคลองบางกอกใหญ่ รวมระยะทาง 617 เมตร มีการเรียกขานว่า ถนนอินทรพิทักษ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ถนนสายที่ 5 เดิมทีถนนสายนี้ จะเริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ของโรงพยาบาลศิริราชไปจนถึงถนนสายที่ 3 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ จึงเสนอชื่อ ถนนประชารักษ์ กับ ถนนอิศรารักษ์ เพราะถนนตัดผ่านใกล้วัดหมื่นรักษ์ แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสนอชื่อ ถนนวังหลัง เพื่อรักษาชื่อวังหลัง ไม่ให้สูญหายไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนวังหลัง จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

เมื่อมีการต่อขยาย ถนนวังหลัง ไปจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ผู้คนจึงเปลี่ยนไปเรียกขานกันว่า ถนนพรานนก

ปัจจุบัน ถนนพรานนก จะเริ่มจาก ถนนท่าน้ำศิริราช ไปสิ้นสุดที่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมระยะทาง 1,890 เมตร

แผนที่ถนนแห่งกรุงธนบุรี พ.ศ. 2503

ถนนสายที่ 6 เดิมทีถนนสายนี้ จะเริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของพระราชวังเดิม ไปจนถึงถนนสายที่ 3 พระสารประเสริฐ จึงเสนอชื่อ ถนนอรุณราช เพราะเป็นถนนที่ใกล้วัดอรุณราชวราราม แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนวังเดิม เพื่อรักษาพระราชวังแห่งกรุงธนบุรีไว้ ไม่ให้หลงลืมไป

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนวังเดิม จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

ปัจจุบัน ถนนวังเดิม จะเริ่มจาก ถนนอรุณอัมรินทร์ ไปสิ้นสุดแค่ ถนนอรุณอัมรินทร์ รวมระยะทาง 467 เมตร

ถนนสายที่ 7 เดิมทีถนนสายนี้ จะเริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้ของวัดกัลยาณมิตร ไปจนถึงถนนสายที่ 3 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนกัลยาณมิตร เพราะอยู่ใกล้วัดกัลยาณมิตร แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนท้ายเมือง เพราะอยู่ท้ายเมืองธนบุรี

ต่อมา มีการปรับแบ่งถนน จากถนนสายที่ 2 ถึงถนนสายที่ 3 ให้ชื่อว่า ถนนโพธิ์สามต้น เพื่อเป็นอนุสรณ์มหาชัยครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินรบชนะกองทัพพม่า ที่ตำบลโพธิ์สามต้น และได้พระนครศรีอยุธยาคืนมา เมื่อปี พ.ศ. 2310

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนกัลยาณมิตร และ ถนนโพธิ์สามต้น จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม แนว ถนนกัลยาณมิตร เดิม ปัจจุบันมีการเรียกขานว่า ถนนอรุณอัมรินทร์ซอย 6 ส่วน ถนนโพธิ์สามต้น ปัจจุบันเรียกขานว่า ถนนอิสรภาพซอย 27

ถนนสายที่ 8 เดิมทีถนนสายนี้ จะเริ่มจากท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของโบสถ์ซางตาครูซ ตรงตำบลกุฎีจีน ไปถึงถนนสายที่ 2 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนสินอนนต์ ถนนบำรุงธน หรือ ถนนสินกำนล แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสนอชื่อ ถนนกุฎีจีน เพราะมีศาลเจ้าจีน มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเป็นชื่อตำบลที่รู้จักกันดี

ต่อมามีการเสนอชื่อ ถนนบางแก้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์มหาชัยครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินล้อมจับกองทัพพม่าที่ตำบลบางแก้ว จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2317 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศึกมหาชัยที่รบชนะพม่า ในคราวกู้อิสรภาพสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนบางแก้ว จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน มีเพียงถนนและซอยเล็กอื่นในย่านกุฎีจีน

ถนนสายที่ 9 เริ่มตั้งแต่ท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามท่าน้ำราชวงศ์ ผ่านถนนสายที่ 2, 3 ไปถึงถนนสายที่ 4 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนธนอนันต์ ถนนกำนลสิน หรือ ถนนธนสนอง แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนแขกเทศ ถนนตึกแขก เพราะพวกแขกชาวอินเดีย มาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่ตำบลนั้น หรือ ถนนท่าดินแดง เพื่อเป็นอนุสรณ์มหาชัยครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทตีกองทัพพม่าแตกไปจากเมืองไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2329

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนท่าดินแดง จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

ปัจจุบัน ถนนท่าดินแดง เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่ถนนลาดหญ้า มีระยะทางรวม 900 เมตร

ถนนสายที่ 10 เริ่มตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองคูใต้วัดทางธรรมชาติ ไปถึงถนนถนนสายที่ 2 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนสุวรรณอเนก ถนนทวนทอง หรือ ถนนทองประสาน เพราะเป็นถนนที่อยู่ระหว่างวัดทองธรรมชาติและวัดทองนพคุณ แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนท่าจีน หรือ ถนนท่าเรือ เพราะเป็นที่จอดกำปั่นและเก็บสินค้า หรือ ถนนเชียงใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์มหาชัยครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ช่วยกันตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนเชียงใหม่ จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

ปัจจุบัน ถนนเชียงใหม่ เริ่มจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาทิศใต้วัดทางธรรมชาติ ไปสิ้นสุดที่ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา มีระยะทางรวม 500 เมตร

ถนนสายที่ 11 เริ่มจากส่วนหักโค้งร่วมสายที่ 2 หลังวัดอมรินทร์ ไปจนถึงถนนสายที่ 3 เริ่มแรกพระสารประเสริฐ ได้เสนอชื่อ ถนนอมรินทร์ แต่กรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนอชื่อ ถนนปากพิง เพื่อเป็นอนุสรณ์มหาชัย ครั้งกรมพระราชวังหลังตีกองทัพพม่าแตกที่ตำบลปากพิง แขวงจังหวัดพิจิตร เมื่อปี พ.ศ. 2328

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดชื่อ ถนนปากพิง จึงมีพระราชกระแสให้ส่งเรื่องไปที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เพื่อลงมติเห็นชอบ

ปัจจุบันแนวถนนสายนี้ อยู่ในพื้นที่เขตการรถไฟ จึงเป็นที่รู้จักว่า ถนนรถไฟ โดยเริ่มจากถนนอรุณอมรินทร์ ตรงจุดตัดทางทิศตะวันตกของวัดอมรินทร์ฯ ไปสิ้นสุดที่ ถนนอิสรภาพ ระยะทางรวม 536 เมตร

แผนที่ถนนตามพระราชดำริ 11 สาย
ตารางนามถนนตามพระราชดำริ 11 สาย

ถนน 11 สายในฝั่งธนบุรี ที่อยู่ในแผนการก่อสร้างถนน ต่อเนื่องกับสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระนครหลวงครบ 150 ปี นั้น แม้จะเกิดปัญหาต่างๆ เมื่อรวมกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา ทำให้การก่อสร้างแปรเปลี่ยนไป ทั้งด้านระยะทางและแนวถนน แต่ถนนสายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลต่อโครงร่างเมือง อีกทั้ง เป็นต้นแบบของถนนสายอื่นๆ ในกรุงธนบุรี

ที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาเมือง นอกจากจะเป็นเส้นทางสัญจรทางบกแล้ว ยังมีการเดินสายไฟฟ้าและท่อน้ำประปา อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับชุมชน ล้วนส่งผลให้ฝั่งธนบุรีเจริญก้าวหน้าเหมือนเช่นฝั่งพระนคร


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 เมษายน พ.ศ.2565