ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | วรรณวิภา สุเนต์ตา |
เผยแพร่ |
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เขมรผู้ครองราชย์ท่ามกลางความคลุมเครือของประวัติศาสตร์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 คือผู้สถาปนานครธมศูนย์กลางพุทธศาสนามหายานและสร้างศาสนสถานสำคัญมากมายรอบพระราชอาณาจักร พร้อมกับการจัดสรรเส้นทางและชุมชนอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ในจำนวนปราสาทเหล่านั้นมีปราสาทพระขรรค์อยู่ 2 แห่งที่เป็นศาสนสถานและชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญด้านศิลปกรรมและเรื่องราวของพระองค์ ปราสาทพระขรรค์เมืองนครธม เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 ตารางกิโลเมตร สร้างขยายไปทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองนครธม ส่วนปราสาทพระขรรค์กำปงสวายอีกแห่งหนึ่งนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกเมืองนครธมราว 30 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานที่มีคนรู้จักน้อยกว่ามากแต่มีความสำคัญในด้านศิลปกรรมไม่น้อยไปกว่าที่เมืองนครธมเลย
ตอนหนึ่งของจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองนครธม ได้กล่าวถึงเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองโบราณต่างๆ รอบอาณาจักรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับการสร้างศาสนสถานตามเส้นทาง ปัจจุบันเราได้พบสิ่งก่อสร้างที่จารึกเรียกว่า “บ้านมีไฟ” หรือที่นักวิชาการเรียกว่า “ธรรมศาลา” ตามเส้นทางรอบเมืองนครธม ซึ่งมีลักษณะเป็นศาสนสถานและที่พักแรม โดยตั้งอยู่ในระยะที่ไม่ไกลจากกันมากนัก ซึ่งอาจเดินทางถึงได้ภายในเวลา 1 วัน หรือน้อยกว่านั้น โดยเชื่อว่าเส้นทางเหล่านี้เป็นทั้งเส้นทางการค้า การเดินทัพ และเป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญไปยังศาสนสถานสำคัญ ทั้งที่อยู่ในเขตประเทศกัมพูชาและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
“ธรรมศาลา” ส่วนหนึ่งได้พบในประเทศไทยตามที่จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุว่า เส้นทางจากเมืองนครธมมายังเมืองพิมายในจังหวัดนครราชสีมามีอาคารเหล่านี้เรียงรายอยู่ 17 หลัง อีกส่วนหนึ่งพบในแถบจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอาจเป็นเส้นทางอีกสายหนึ่งที่ติดต่อระหว่างชุมชนโบราณที่ไม่มีใครรู้จักในปัจจุบัน
เส้นทางสำคัญอีกเส้นทางหนึ่งทางทิศตะวันออกของเมืองนครธม มีความยาวมากกว่าและเป็นเส้นทางติดต่อกับเมืองวิชัยในอาณาจักรจามปา ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ยังได้พบเส้นทางโบราณบางส่วนที่เชื่อมโยงเข้ากับศาสนสถานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือในสมัยก่อนหน้าซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ เส้นทางเหล่านี้ไปถึงปราสาทบันทายฉมาร์ และปราสาทพระขรรค์ กำปงสวาย รวมถึงชุมชนเมืองพระตะบองทางตอนใต้ของเมืองนครธม
เส้นทางโบราณจากเมืองนครธมไปยังเมืองกำปงธมทางทิศตะวันออกดังกล่าว เป็นเส้นทางที่ผู้เขียนใช้เดินทางจากเมืองนครธมไปยังปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย ซึ่งได้พบร่องรอยถนนโบราณขนานไปกับทางหลวงสายปัจจุบัน ผ่านสะพานสเปียงปราโต สะพานสร้างจากศิลาแลงและหินทรายข้ามแม่น้ำจิเกรงซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน
ระหว่างเส้นทางจะพบชุมชนทางแยกไม่ไกลจากบริเวณสะพาน ซึ่งปัจจุบันเป็นหมู่บ้านกำปงกเดย และมีถนนไปยังปราสาทสำคัญ 2 แห่ง ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้แก่ปราสาทบึงมาเลีย ปราสาทขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นในศิลปะสมัยนครวัดในช่วงก่อนหน้าการสร้างปราสาทนครวัด และไปสิ้นสุดยังปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย
ที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย หรือที่นักวิชาการส่วนหนึ่งเรียกว่าพระขรรค์กำปงธมแห่งนี้ได้พบศิลปกรรมสำคัญจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศียรของประติมากรรมรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากนี้ยังเป็นศาสนสถานในคติพุทธมหายานที่พบว่าไม่มีร่องรอยการดัดแปลงรูปเคารพ ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองและศาสนาเช่นที่พบในศาสนสถานเมืองนครธม จึงเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษารูปแบบศิลปกรรมได้เป็นอย่างดี
แต่น่าเสียดายปัจจุบันปราสาทได้ถูกทำลายลงอย่างรุนแรงจากการลักลอบโจรกรรมและขนย้ายศิลปกรรมโดยกลุ่มบุคคลมืออาชีพ เป็นผลให้งานศิลปกรรมเช่นรูปนางอัปสรที่สลักอยู่ตามผนังปราสาทเกือบทั้งหมด ถูกเลื่อยไฟฟ้าตัดออกไปจากตัวปราสาท จนดูเหมือนว่าปราสาทอาจตั้งอยู่ได้ไม่นานและจะพังทลายลงในที่สุด และพบว่ามีความพยายามตัดทับหลังจำนวนมากออกไปด้วย รวมถึงการสกัดรูปพระพุทธรูปบางส่วนออกไปอย่างหยาบๆ โดยกลุ่มโจรมือสมัครเล่น
ความห่างไกลและยากที่จะเดินทางเข้าถึงในปัจจุบันทำให้ปราสาทแห่งนี้ขาดการดูแล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฝังกับระเบิดในบริเวณดังกล่าวช่วงที่ประเทศยังมีสงครามและความวุ่นวายเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และยังดำเนินการกู้ไม่เสร็จสิ้นในปัจจุบัน การเดินทางโดยรถยนต์ตามเส้นทางโบราณของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งไม่ไกลจากปราสาทบึงมาเลีย กลับไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบันเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ไม่ปลอดภัย การเดินทางสู่ตัวปราสาทจึงต้องใช้เส้นทางขนาดเล็กซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากทางเกวียนอ้อมเข้าสู่ตัวปราสาทจากอีกทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระยะทางไกลกว่าเส้นทางที่ปรากฏในแผนที่และเดินทางได้เฉพาะในหน้าแล้งเท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากขนาดและแผนผัง พบว่าปราสาทพระขรรค์กำปงสวายแห่งนี้ได้สร้างขึ้นในระเบียบเดียวกับปราสาทพระขรรค์ที่เมืองนครธมอย่างแท้จริง อันประกอบด้วยคูน้ำและกำแพงล้อมรอบปราสาท เมื่อผ่านเข้าสู่ภายในจะพบ “ธรรมศาลา” ทางทิศตะวันออก ในตำแหน่งเดียวกับที่ปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหมเมืองนครธม
กลุ่มปราสาทตั้งหันไปทางทิศตะวันออก มีสะพานทอดเป็นทางเดินยาวมีเสาหินรองรับคล้ายกับที่ปราสาทบาปวนเมืองพระนคร ก่อนผ่านเข้าสู่โคปุระและกำแพงแก้วไปยังปราสาทด้านใน ภายในมีลานยกพื้นและมีสระน้ำขอบหินทรายขนาดเล็ก 4 สระ บนลานมีปราสาทในผังรูปกากบาท และปราสาทขนาดเล็กอีก 4 หลัง ก่อนเดินเข้าสู่โคปุระและกำแพงแก้วชั้นในสุด อันเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานซึ่งปัจจุบันพังทลายลงเกือบหมดแล้ว
จากหลักฐานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน พบภาพสลักหน้าบันและทับหลังในพุทธศาสนามหายานซึ่งมีลักษณะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มทับหลังรูปพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งต่างไปจากทับหลังแบบบายนที่พบในศาสนสถานในเมืองนครธม โดยลายกรอบซุ้มแสดงรูปหงส์คู่ที่ปลายกรอบ คั่นด้วยลายพวงอุบะมีรูปบุคคลสวมศิราภรณ์ขนาดเล็กๆ แทรกอยู่ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบที่นิยมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนครวัดและบายน ทั้งนี้องค์พระพุทธรูปกลับมีความต่างในฝีมือช่าง และบางองค์ดูเหมือนจะมีความประณีตน้อยกว่ามาก
ฟิลลิป สแตร์น นักวิชาการชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าปราสาทประธานของปราสาทพระขรรค์กำปงสวายเป็นงานในศิลปะสมัยนครวัด ในขณะที่กลุ่มโคปุระเป็นศิลปะแบบบายน และเมื่อเปรียบเทียบเพิ่มเติมแล้วพบว่ามีการผสมผสานรูปแบบนครวัดและบายนเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะประติมากรรมรูปนางอัปสรที่ไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบันแต่ยังคงหาดูได้จากภาพถ่ายเก่าของสแตร์น ที่บันทึกไว้เมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางรูปแบบจากศิลปะสมัยนครวัดไปสู่บายนอีกด้วย
ทั้งนี้การวางผังรวมของปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย ยังอาจเปรียบเทียบได้กับปราสาทพระขรรค์เมืองนครธม อันประกอบไปด้วยปราสาทประธาน บาราย และปราสาทเล็กๆ โดยรอบตามแนวแกนตะวันออกและบริเวณกึ่งกลางบาราย ซึ่งได้แก่ปราสาทพระสตึง ปราสาทพระถกล และปราสาทพระดำไรย ในลักษณะเดียวกับกลุ่มปราสาทพระขรรค์เมืองนครธมซึ่งประกอบด้วยปราสาทนาคพัน ปราสาทตาสม ปราสาทไพร ปราสาทบันทายไพร และปราสาทโกรลโกะ ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยบายนทั้งสิ้น ความคล้ายคลึงดังกล่าวชวนให้คิดว่าปราสาทหลังใดสร้างขึ้นก่อนและเป็นต้นแบบให้กับปราสาทอีกหลังหนึ่งหรือไม่
อย่างไรก็ตามเราได้ทราบว่าปราสาทพระขรรค์เมืองนครธมมีจารึกระบุการสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1734 อุทิศถวายแด่พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระราชบิดา แต่ที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย ไม่ได้พบจารึกระบุไว้และไม่อาจทราบได้ว่าชุมชนนี้มีชื่อเดิมว่าอย่างไร นักวิชาการจึงสันนิษฐานเพียงว่าบริเวณชุมชนแห่งนี้มีความสำคัญ โดยอาจเป็นภูมิลำเนาเดิมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองนครธม และอาจเกี่ยวข้องกับพระราชบิดาและความไม่ชัดเจนของพระราชประวัติของพระองค์ช่วงก่อนการครองราชย์ ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มชุมชนและพรรคที่หลากหลาย ทั้งนี้การพบเศียรของประติมากรรมรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปราสาทแห่งนี้ อาจเป็นข้อสังเกตหนึ่งถึงความสำคัญของชุมชนและศาสนสถาน เช่นเดียวกับที่พบในปราสาทหินพิมายในประเทศไทย
สำหรับปราสาทขนาดเล็กรอบปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย เช่นปราสาทพระสตึงทางทิศตะวันออก มีการสลักยอดปราสาทหลังกลางเป็นพระพักตร์เทวบุคคลทั้ง 4 ทิศ ซึ่งเป็นรูปแบบสำคัญที่อาจสร้างขึ้นในระยะแรกๆ ของศิลปะบายน และน่าจะเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับปราสาทตาสมเมืองนครธมและปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งพบการสลักพระพักตร์รูปเทวบุคคลในลักษณะเดียวกับศูนย์กลางอาณาจักรที่ปราสาทบายนและซุ้มประตูเมืองนครธมทั้ง 4 ทิศ สำหรับปราสาทหลังอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน ได้แก่ ปราสาทพระถกล ปราสาทขนาดเล็กกลางบารายปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย ยังได้พบประติมากรรมสำคัญคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย
ความคล้ายคลึงกันและการผสมผสานกันด้านรูปแบบศิลปกรรมทำให้สันนิษฐานได้ว่าปราสาทพระขรรค์ทั้ง 2 แห่งอาจสร้างขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยปราสาทพระขรรค์กำปงสวายอาจสร้างขึ้นในชุมชนเดิมและมีการขยายขอบเขตออกไปในระเบียบแผนผังที่เหมือนกันนั่นเอง ทั้งนี้การศึกษาด้านศิลปกรรมที่พบในบริเวณดังกล่าวอย่างละเอียดจะทำให้การลำดับวิวัฒนาการของศิลปะบายนมีความชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะรูปแบบระยะแรก และอาจสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ไม่ชัดเจนของหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการรวมกันของอาณาจักรอย่างเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง พร้อมกับการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมและการเมืองอย่างสมบูรณ์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
อย่างไรก็ตามความลำบากในการเข้าถึงปราสาทพระขรรค์กำปงสวายในปัจจุบัน ทำให้ยากที่จะดูแลรักษาให้ปลอดภัยทั้งจากการโจรกรรมหรือแม้กระทั่งการเผาป่า ซึ่งล่าสุดมีรายงานจากสำนักข่าวท้องถิ่นในประเทศกัมพูชาว่าการเผาป่าของชาวบ้านโดยรอบในหน้าแล้งเป็นผลให้เกิดไฟลามเข้าไปยังตัวปราสาท สร้างความเสียหายอย่างหนักจนถึงกับพังทลายลงมา เป็นการซ้ำเติมปราสาทพระขรรค์แห่งนี้ให้มีสภาพที่ย่ำแย่ไปกว่าที่เห็นในภาพซึ่งบันทึกไว้ก่อนหน้าไม่นานนัก อนาคตปราสาทพระขรรค์กำปงสวายและปราสาทโดยรอบคงต้องได้แต่รอการอนุรักษ์และพัฒนาซึ่งได้แต่หวังว่าคงจะมีขึ้นในไม่ช้านี้
ขอขอบคุณข้อมูลการเดินทางครั้งนี้จากคุณสรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล และคุณโสวัต มัคคุเทศก์ท้องถิ่นชาวกัมพูชา
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, ๒๕๔๒.
“ไฟไหม้ปราสาทพระขรรค์เสียหายหนัก สร้างมากว่า ๙๐๐ ปี เสี่ยงต่อการพังทลาย” ผู้จัดการรายวัน ประจำวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘ หน้า ๑๐
วรรณวิภา สุเนต์ตา. พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๘.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีรประเสริฐ. ทับหลัง : การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
Boisselier J. Les Anciennes Capitales du Cambodge. http://aefek.free.fr/Lecture.html. 2003.
Stern P. Les Monuments Khmers du Style du Bayon et Jayavarman VII. Paris : Universitaires de France, 1965.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 21 เมษายน 2560