ค่ายกักกันวอร์ซอ เมื่อผู้ถูกกักกันกลายเป็นนักรบ อะไรจะเกิดขึ้น ?!?

พลจัตวา เจอร์เกน สตรูป ผู้รับผิดชอบการกวาดล้างค่ายกักกันวอร์ซอ ยืนท่ามกลางนายทหารที่มีอาวุธครบมือ

ฝ่ายเยอรมันเชื่อว่าการกวาดล้างชาวยิวให้หมดไปจากค่ายกักกันวอร์ซอในเดือนเมษายน ค.ศ. 1943 นั้นเป็นภารกิจง่ายๆ เพราะถึงที่สุดแล้วพวกเขาคือ “เผ่าพันธุ์ผู้เป็นนาย” นับตั้งแต่มีการจัดตั้งค่ายกันกันแห่งนี้ขึ้นมาในฤดูร้อน ค.ศ. 1940 พวกนาซีก็ควบคุมชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวอย่างไร้ความปรานี ค่ายกักกันแห่งนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐสูง 3 เมตร ยาว 18 กิโลเมตร โดยรอบปิดกั้นพื้นที่ภายในออกจากส่วนอื่นๆ ของกรุงวอร์ซอโดยสิ้นเชิง ทิ้งให้ชาวยิว 360,000 คนตายไปตามยถากรรมด้วยเชื้อโรคและความอดอยากภายในเนื้อที่ประมาณ 3.56 ตารางไมล์

ช่วงแรกๆ ราว 2 ปีครึ่งของการก่อตั้งค่ายกักกันแห่งนี้มีชาวยิวหลายหมื่นคนเสียชีวิตลงภายในค่าย ดังนั้นในตอนต้น ค.ศ. 1943 จึงเหลือผู้คนในค่ายกักกันแห่งนี้ราว 60,000 คนเท่านั้น (ตัวเลขประมาณการมีหลากหลายตั้งแต่ 55,000 คนเรื่อยไปจนถึง 65,000 คน) แต่ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส [หน่วยงานกึ่งทหารของเยอรมันที่ขึ้นกับพรรคนาซี] รับภารกิจชำระล้างยุโรปให้บริสุทธิ์ด้วยการเข่นฆ่าชาวยิวให้หมดสิ้นก็ยังประกาศว่า จำนวนดังกล่าวมากเกินไป วันที่ 9 มกราคมปีนั้น ฮิมเลอร์ออกคำสั่งให้เอสเอสใช้ “มาตรการเข้มข้น” ชำระล้างค่ายกักกันแห่งนี้ โดยเคลื่อนย้ายชาวยิวที่หลงเหลือทั้งหมดไปสู่ค่ายแรงงานหรือค่ายมรณะ

วันที่ 18 มกราคม ทหารเยอรมันบุกเข้าไปในค่ายกักกันโดยคาดหวังว่าจะเคลื่อนย้ายชาวยิวกลุ่มแรกออกมาได้โดยปราศจากการต่อต้าน แต่พวกเขาคิดผิด คนในค่ายกักกันทั้งชายและหญิงพากันโจมตีกลุ่มทหารเยอรมันด้วยทุกอย่างที่หาได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงมีดและท่อนเหล็กและมีอาวุธต่อสู้อยู่ด้วยเพียงเล็กน้อย

เอมิลี แลนเดา วัย 17 ปี ขว้างระเบิดมือลูกหนึ่งใส่กลุ่มทหารเอสเอสทำให้พวกเขาบาดเจ็บล้มตายไปหลายนาย นอกจากนั้นยังมีอาวุธปืนขนาดเล็กยิงเข้าใส่ทหารนาซีซึ่งงุนงงเพราะไม่เชื่อว่าชาวยิวจะต่อต้านพวกตนได้ พอถึงวันที่ 20 มกราคม ทหารเยอรมันก็ถอนตัวออกมาจากค่ายกักกัน โดยเคลื่อนย้ายชาวยิวออกมาได้ 5,000 คน แต่มีทหารถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บไปรวมทั้งสิ้น 70 นาย

การต่อต้านครั้งนั้นนำโดยสหพันธ์ทหารยิว หรือ ไซดอฟสกี้ ชเวียเซค วอยสโควี (แซดแซดดับเบิลยู) กองทหารลับขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นปลาย ค.ศ. 1939 โดยทหารเชื้อสายยิว 4 คนจากกองทัพโปแลนด์ที่มุ่งมั่นจะต่อสู้กับทหารนาซีผู้รุกราน การต่อต้านของแซดแซดดับเบิลยูเริ่มต้นใน ค.ศ. 1940 ด้วยกำลังอาสาสมัครเพียง 39 คนและค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 2 ปีต่อมาเป็นเกือบ 350 คน และมีกลุ่มย่อยเกิดขึ้นในหลายเมืองของโปแลนด์นอกเหนือจากวอร์ซอ

แต่ศูนย์รวมที่เปรียบเป็นหัวใจของแซดแซดดับเบิลยูยังอยู่ที่เมืองหลวงของโปแลนด์ บัญชาการโดยเดวิด อัพเฟลโบม ฤดูร้อน ค.ศ. 1942 ชาวยิวจำนวนมากถูกนำตัวออกจากค่ายกักกันและส่งไปยังค่ายมรณะ ในขณะที่แซดแซดดับเบิลยูได้แต่เฝ้ามองอย่างช่วยเหลืออะไรไม่ได้ กองทหารลับนี้แทบไม่มีอาวุธอะไรในมือและยังเชื่อว่าการต่อต้านรังแต่จะก่อให้เกิดการสังหารหมู่มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นพวกเขาคิดว่าชาวยิวเหล่านั้นถูกนำตัวไปยังค่ายแรงงาน ไม่ใช่กำจัดทิ้งตามมติสุดท้ายแห่งนาซี

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง ค.ศ. 1943 ข่าวคราวเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ที่ถูกนำตัวออกไปจากค่ายกักกันก็มาถึงหูแซดแซดดับเบิลยู นอกจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับความกล้าหาญที่บรรดาชาวยิวแสดงออก ระหว่างถูกนาซีบุกเข้ามาเมื่อเดือนมกราคมก็แพร่สะพัดออกไปนอกค่ายกักกัน ทำให้กองทัพมาตุภูมิโปแลนด์ (อาร์เมีย ครายอฟวา หรือเอเค) เริ่มต้นลักลอบนำอาวุธส่งให้ขบวนการต่างๆ ที่ร่วมต่อต้านนาซี

ไม่เพียงแค่แซดแซดดับเบิลยู แต่ยังรวมถึงซีดอฟสกา ออร์ แกนิซัคเซีย โบยอฟวา (แซดโอบี) องค์การเคลื่อนไหวใต้ดินที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อฤดูร้อนปีก่อนหน้าโดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและเด็กชาย เมื่อถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1943 กลุ่มต่อต้านประจำค่ายกักกันก็มีอาวุธหลากหลายพอสมควรอยู่ในมือ ทั้งปืนกลหนัก ปืนกลเบา ปืนไรเฟิล ปืนพกสั้น และระเบิดมืออีกหลายร้อยลูก

ทั้งหมดรู้ดีว่าการกวาดล้างค่ายกักกันแห่งนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งแน่นอน แล้วก็เป็นไปตามคาด วันที่ 19 เมษายน นาชีบุกเข้ามาอีกครั้งพร้อมกำลังเกือบ 3,000 นาย โดยมีคำสั่งให้ทำลายล้างชาวยิวแบบถอนรากถอนโคนภายใน 20 ชั่วโมง เพื่อให้ฮิมเลอร์ได้ประกาศว่า “วอร์ซอสะอาดปราศจากยิวแล้ว” เป็นของขวัญวันเกิดแก่ฮิตเลอร์ในวันถัดไป

กลุ่มต่อต้านทหารเหล่านั้นประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธทั้งชายและหญิงราว 600 คน ของแซดโอบีกับชายอีก 400 คน ของแซดแซดดับเบิลยูกำลังป้องกันค่ายกักกันนั้นด้อยกว่าชนิดเทียบกันไม่ติด แต่พวกเขาได้เปรียบตรงที่ฝ่ายนาซีคาดไม่ถึงว่าจะมีการต่อต้านนี้และเหล่าผู้ต่อต้านยังรู้จักสภาพพื้นที่ดีด้วย

เย็นวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน คืนแรกของเทศกาลปัสกาของชาวยิว ทหารเยอรมันเริ่มต้นด้วยการส่งกำลังเข้าล้อมรอบค่ายกักกัน เปิดโอกาสให้บรรดาแกนนำกลุ่มต่อต้านมีเวลาอันทรงค่าเพื่อเตรียมแนวป้องกันของตนให้พร้อม เมื่อการจู่โจมเริ่มต้นขึ้นช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 เมษายน ทหารนาซีก็เผชิญกับการระดมยิงจากอาวุธปืนขนาดเล็กพร้อมระเบิดมือ

ฝ่ายเยอรมันถอยหนีแล้วกลับมาอีกครั้งพร้อมยานยนต์หุ้มเกราะ 3 คัน โดยที่ 2 คัน ในจำนวนนี้ถูกทำลายเสียหายด้วยระเบิดขวด “ใบหน้าทั้งหลายที่เมื่อวานนี้ยังสะท้อนความหวั่นกลัว และสิ้นหวัง บัดนี้ฉายโชนแววแห่งปีติยินดีผิดแผกไปจากปกติทั่วไปซึ่งยากจะอธิบายได้” ชาวยิวผู้เข้าร่วมต่อสู้ครั้งนั้นบันทึกเอาไว้ “ความปิตินี้ปลอดจากแรงจูงใจที่เป็นส่วนตัวโดยสิ้นเชิง แต่เอิบอาบด้วยความภาคภูมิที่ค่ายกักกันได้ลงมือสู้”

ในเวลาเดียวกันพลจัตวา เจอร์เกน สตรูป นายทหารเอสเอสผู้รับผิดชอบการกวาดล้างค่ายกักกันครั้งนี้ต้องรายงานฮิมเลอร์ว่าปฏิบัติการเริ่มแรกที่ค่ายกักกันไม่เป็นไปตามแผน “สำหรับการบุกรุกค่ายกักกันครั้งแรกของเรา พวกยิวและโจรโปแลนด์พร้อมอาวุธผลักดันกองกำลังจู่โจมของเรากลับออกมาได้ รวมทั้งรถถังและยานยนต์หุ้มเกราะ” สตรูปเขียนรายงาน “ความสูญเสียจากโจมตีครั้งแรกคือทหาร 12 นาย”

สตรูปลงมือโจมตีครั้งใหม่ราวเที่ยงวัน โดยขอการสนับสนุนจากหน่วยปืนใหญ่ในขณะที่ทหารของเขารุกคืบอย่างระมัดระวังเข้าไปภายในค่ายกักกัน แต่นักรบกลุ่มต่อต้านชาวยิวยังคงสร้างความเสียหายให้ทหารนาซีด้วยการระดมโยนระเบิดมือลงมาจากหลังคาอาคารสู่ถนนเบื้องล่างและซุ่มยิงฝ่ายตรงข้ามขณะโฉบจากประตูบ้านหลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่ง

แต่ละชั่วโมงผ่านไป ความกราดเกรี้ยวของสตรูปยิ่งทวีขึ้นตามลำดับ เขาขอการสนับสนุนจากลุฟท์วัฟเฟที่ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดผลักดันกลุ่มป้องกันให้ล่าถอยออกไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มป้องกันยังสามารถวางเพลิงคลังพัสดุของฝ่ายเยอรมันซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวยิวหลายร้อยคนถูกบังคับใช้แรงงาน ทหารเยอรมันรุกคืบเข้ามาทุกๆ ย่างก้าวทหารเหล่านี้จัดการแก้แค้นอย่างน่าสยดสยอง ในโรงพยาบาลประจำค่ายกักกัน ทหารเอสเอสชาวยูเครนใช้ดาบปลายปืนเสียบท้องบรรดาหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งทุบตีทารกแรกเกิดซ้ำๆ จนเสียชีวิต

ลุฟท์วัฟเฟระดมทิ้งระเบิดค่ายกักกันต่อเนื่องไปอีกหลายวันต่อมา ระเบิดทำให้เกิดเพลิงไหม้เมืองจำลองภายในค่ายกักกันไปบริเวณใหญ่บนพื้นดิน ทหารช่างเยอรมันระเบิดทำลายอาคารบ้านเรือน บีบบังคับพลเรือนให้หลบหนีออกมายังที่โล่งและยิงจนเสียชีวิตหรือจับกุม นักรบกลุ่มต่อต้านยังคงสู้ต่อไป บางคนลอกคราบเครื่องแบบทหารเยอรมันที่เสียชีวิตมาใช้แล้วยิ่งใส่ทหารผู้ไม่ระแวงสงสัยที่กำลังรุกคืบเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานั้นทั้งอาหาร น้ำ และกระสุนในค่ายกักกันเริ่มเหลือน้อยลงทุกที่ วันที่ 26 เมษายน 1 สัปดาห์หลังฝ่ายเยอรมันเริ่มโจมตี มอร์เดคาย อันนีเลวิชซ์ ผู้นำแซดโอบีวัย 24 ปี ส่งสารฉบับสุดท้ายของตนสู่โลกภายนอก “นี่คือวันที่ 8 ของการต่อสู้ที่เดิมพันด้วยชีวิตของพวกเรา ฝ่ายเยอรมันสูญเสียมหาศาล ช่วง 2 วันแรกพวกเขาถูกกดดันจนต้องถอนตัวกลับออกไป หลังจากนั้นก็นำกำลังเสริมกลับมา ทั้งรถถัง รถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ กระทั่งเครื่องบิน และเริ่มปิดล้อมอย่างเป็นระบบด้วยสำนึกถึงวาระสุดท้าย เราขอเรียกร้องพวกท่าน ดังนี้ จงจำให้มั่นว่าพวกเราถูกทรยศอย่างไร วันหนึ่งผู้คนจะตระหนักถึงเลือดบริสุทธิที่ไหลหลั่งของพวกเรา จงส่งความช่วยเหลือไปยังบรรดาผู้ซึ่งอาจรอดจากเงื้อมมือข้าศึกออกไปได้ในชั่วโมงสุดท้ายเพื่อที่พวกเขาจะได้องการต่อสู้นี้ต่อไป”

เมื่อวงล้อมบีบกระชับเข้าหาฝ่ายป้องกัน นักรบกลุ่มต่อต้าน 40 คนหลบหนีออกจากค่ายกักกันผ่านทางท่อระบายน้ำได้ แต่ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะต่อสู้กับความป่าเถื่อนของฝ่ายนาซีต่อไป วันที่ 8 พฤษภาคม ฝ่ายเยอรมันโจมตีบังเกอร์ที่ถนนไมลา 18 ซึ่งภายในเป็นกองบัญชาการใหญ่ของแซดโอบี มีทั้งอันนี้เลวิชช์ และนักรบอีกกว่า 100 คนพร้อมพลเรือนอีก 80 คนอยู่ในนั้น

เมื่อทหารเอสเอสเริ่มโยนก๊าซเข้าสู่บังเกอร์ ผู้ที่ถูกกักอยู่ภายในก็ต้องเผชิญทางเลือกเลวร้าย คือ ถ้าไม่ฆ่าตัวตายก็ต้องตายเพราะขาดอากาศหายใจ เพราะพวกเขารู้ดีว่าหากหลบหนีขึ้นมาข้างบนก็จะถูกยิงเสียชีวิตอยู่ดี ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำอัตนิวิบาตกรรม รวมทั้งอันนีเลวิชซ์ ซึ่งต่อมาได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติออร์เดอร์โวเยนนี วิร์ทุตทีมิลิทารี เหรียญกล้าหาญสูงสุดของกองทัพโปแลนด์

ในที่สุด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ฮิมเลอร์จึงบอกฮิตเลอร์ได้ว่าค่ายกักกันได้รับการชำระล้างแล้ว ชาวยิวประมาณ 7,000 คนถูกสังหารระหว่างการลุกฮือขึ้นต่อต้านการระเบิดทำลายมหาวิหารยิวแห่งวอร์ซอที่สตรูปดำเนินการด้วยตัวเอง อีก 7,000 คน ถูกส่งไปสังหารทันที่ที่ค่ายมรณะเทรบลิงกา ส่วนที่เหลือราว 42,000 คน ถูกเคลื่อนย้ายไปยังค่ายกักกันลูบลิน/ไมล์ดาเนดและค่ายแรงงานโพเนียโทวา เกือบทั้งหมดถูกสังหารในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นระหว่างปฏิบัติการ “เทศกาลเก็บเกี่ยว” ของทหารนาซี

ปฏิบัติการกวาดล้างชาวยิวนั้นใช้เวลาเกือบ 1 เดือนและต้องสูญเสียชีวิตทหารเยอรมันไปมากถึง 350 นาย ขบวนการต่อต้านสั่นคลอนอาณาจักรไรช์ที่ 3 และกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กระทบขวัญกำลังใจในปีที่ทิศทางของสงครามเริ่มหวนกลับมากระหน่ำใส่พวกเขา โจเซฟ เกอเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของนาซีบันทึกในไดอารี่ส่วนตัวว่า “เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของชาวยิวทั้งหลายในยามที่มีอาวุธอยู่ในมือ”

ค.ศ. 1968 เนื่องในวาระครบรอบการลุกฮือของค่ายกักกันวอร์ชอปีที่ 25 มีผู้ขอให้ยิตซ์ฮัค ซักเกอร์แมน สมาชิกกลุ่มแซดโอบีที่รอดชีวิตมาได้ บรรยายการก่อกบฏของพวกเขาในแง่มุมการทหาร เขาตอบว่า

“นี่คือสงครามระหว่างคนเพียงไม่ถึง 1,000 คนกับกองทัพที่เกรียงไกร และไม่มีใครเคลือบแคลงเลยว่า ผลของมันจะลงเอยในรูปแบบใด นี่ไม่ใช่หัวข้อสำหรับการศึกษาในโรงเรียนการทหาร

แต่หากมีโรงเรียนที่สอนเรื่องสปิริตแห่งมนุษยชาติ เหตุการณ์นี้จะต้องเป็นวิชาเอก สิ่งสำคัญต่างๆ ซึ่งถ่ายทอดในกองกำลังนี้แสดงให้เห็นโดยเยาวชนชาวยิวที่แม้จะถูกบันทอนกัดกร่อนมานานหลายปีก็ยังลุกขึ้นยืนหยัดสู้กับเหล่าผู้ทำลายล้าง และเลือกอย่างเด็ดเดียวว่าตนจะตายแบบไหน ตายเพราะค่ายเทรบลิงกาหรือเพราะลุกขึ้นสู้”

คลิกอ่านเพิ่ม : “ฮิตเลอร์” เอาแนวคิดต่อต้านยิวมาจากไหน เจาะ 3 นักคิดทรงอิทธิพลต่อผู้นำนาซีเยอรมัน


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก เกวิน มอร์ติเมอร์-เขียน, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์-แปล. แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2565