ทำไมรัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสหัวเมืองตะวันออกเมื่อ พ.ศ. 2400

“ตึกขาว” หรือ “พระตำหนักมหาราช” ตั้งอยู่ ณ บ้านอ่างศิลา ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 สำหรับเป็นที่ประทับเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองท่าชายทะเลตะวันออก พ.ศ. 2400

เมื่อพูดถึงการ “เสด็จประพาส” ในความหมายของ “การท่องเที่ยว+การดูงาน” แบบที่หลายหน่วยงานนิยมกัน ส่วนมากมักระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาล ไม่ว่าเป็นการเสด็จประพาสต่างประเทศ หรือการเสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ภายในประเทศ นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อกล่าวเช่นนี้ ส่วนใหญ่เราก็นึกถึง การเสด็จประพาสหว้ากอ พ.ศ. 2411 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา

แต่นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม 2565 โดย กำพล จำปาพันธ์ จะพาท่านผู้อ่านพบกับ “ต้นแบบ” ของการเสด็จประพาส ในบทความที่ชื่อ “พระจอมเกล้าฯ กับการเสด็จประพาสเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก พ.ศ. 2400”

ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะเสด็จหัวเมืองตะวันออก และทำไมต้องเป็น พ.ศ. 2400 คำตอบในเรื่องนี้ กำพล จำปาพันธ์ อธิบายไว้โดยละเอียดในงานเขียนของเขา ซึ่งในที่นี้ ก็สรุปมาเพียงบางส่วน

ก่อนหน้าการเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกใน พ.ศ. 2400 ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ (พ.ศ. 2398) ซึ่งทำให้รัฐสยามต้องยกเลิกการค้าผูกขาดกับอังกฤษสามารถซื้อขายได้โดยตรงกับพ่อค้าไทย บ้านเมืองตลอดจนบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะในแถบทะเลตะวันออกมีความสำคัญกว่าเดิม ทั้งในฐานของเมืองท่าและตลาดต้นทางของสินค้าต่างๆ

ซึ่งเอกสารของชาวต่างชาติหลายคนที่เข้ามาเมืองไทยในเวลานั้น ไม่ว่า จอร์จ ฟินเลย์สัน, จอห์น ครอว์เฟิร์ด และ เซอร์จอห์น เบาริ่ง ต่างกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า หัวเมืองชายทะเลตะวันออกเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในเส้นทางเดินเรือนานาชาติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้ความสำคัญกับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ตั้งแต่ พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา มีการพระราชทานนามใหม่แก่ “เกาะกง” ว่า “เมืองปัจจันตคีรีเขตต์” และให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองบางนางรม” เป็น “เมืองประจวบคีรีขันธ์” เพื่อให้เป็นเมืองคู่ “เมืองปัจจันตคีรีเขตต์” ของฝั่งทะเลตะวันออก และ “เมืองประจวบคีรีขันธ์” ของฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งเป็นความพยายามในการยืนยันว่าเกาะกงเป็นพระราชอาณาเขตของสยาม

และโปรดให้ “เมืองปัจจันตคีรีเขตต์” ขึ้นกับเมืองจันทบุรี สังกัดกรมท่า เช่นเดียวกับเมืองขลุงและเมืองแกลง (ที่ปากน้ำประแส) พร้อมกันนั้นยังทรงตั้งหลวงเกาะกงเป็น “พระยาพิชัยชลธี” เจ้าเมืองปัจจันตคีรีเขตต์คนแรก

ทั้งมิใช่เพียงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่เสด็จฯหัวเมืองตะวันออก ก่อนหน้านั้นการเสด็จประพาสของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในศึกอานามสยามยุทธ์ ก็ทรงเป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมืองฮาเตียน เมื่อ พ.ศ. 2384

ต่อมา พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสหัวเมืองตะวันออกโดยทางเรือ และทดลองใช้เรือกลไฟที่ต่อใหม่ในการสู้รบปราบปรามโจรสลัดในแถบเมืองจันทบุรีและตราด ในเวลาไล่เลี่ยกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นการเสด็จประพาสในลักษณะของการท่องเที่ยว+ดูงาน ไม่ใช่เพื่อการสงคราม

เท่ากับว่า พ.ศ. 2400 กษัตริย์ถึง 2 พระองค์ (วังหน้า-วังหลวง) เสด็จฯมาในพื้นที่ นั้นย่อมสะท้อนถึงความสำคัญของหัวเมืองชายทะเลแห่งนี้

สวนหย่อมริมทะเล ตั้งอยู่บริเวณหน้าตึกขาวและตึกแดง ที่ประทับเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองท่าชายทะเลตะวันออก พ.ศ. 2400

สำหรับการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2400 นั้น ทรงเลือกประทับค้างแรมที่บ้านอ่างศิลา แขวงเมืองชลบุรี โดยมีเหล่าขุนนางข้าราชการตามเสด็จเป็นคณะใหญ่ ได้แก่ กรมวัง 1,519  คน, กรมเมือง 318 คน, กรมนา 174 คน, กรมพระสัสดี 222 คน กรมท่าซ้าย 64 คน, มหาดเล็ก 365 คน, กรมราชบัณฑิต 157 คน, กองทหารเกณฑ์หัดแสงปืนซ้ายขวา 116 คน, กรมม้า 106 คน, อาสาในกรมท่าซ้าย 29 คน, อาสาในกรมท่าขวา 50 คน, กรมลูกขุน 59 คน, คลังแสงสรรพายุทธ 61 คน รวมจำนวนขุนนางที่ตามเสด็จทั้งสิ้น 3,240 คน

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ การเสด็จฯ ของพระองค์จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศกำชับแก่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหมด ดังนี้

“ไปบ้านเมืองนั้น เสดจอยู่ที่ไหนก็ต้องอยู่ในที่ใกล้รอบคอบเพียงเพื่อจะมีรับสั่งให้หาในเวลากลางคืนก็ดีกลางวันก็ดี ให้ได้ตัวในกึ่งชั่วโมงจึงจะชอบ เมื่อจะไม่ตามเสดจไปแลจะตั้งอยู่ที่นั้นๆ ได้ ฤาจะไปที่นั้นๆ อื่นจากที่เสดจพระราชดำเนินได้ ก็ต่อเมื่อมีรับสั่งกะเกนให้อยู่รักษาแลไปราชการที่นั่นๆ จึงจะอยู่ได้ไปได้จากที่เสดจ์แลกระบวนเสดจ์ แลเมื่อจะไปตามเสดจนั้น…

แลครั้งนี้เจ้านายหลายองค์ ขุนนางหลายนาย แลมหาดเลก ทั้งขุนน้อยเลกหมื่นเลกน้อยเปนอันมาก…ไม่มีที่เที่ยวเร่เตร่เตรดสนุกสบาย ก็ภากันไปจอดเสียที่ท่าเมืองชลเปนอันมาก จะหาตัวใครก็ไม่ได้ เปนแต่เมื่อไรเสดจ์ออกพลับพลา ก็จะมาเฝ้าหมอบบนพลับพลาแลน่าพลับพลาอ้อตัวไปเท่านั้น ไว้ตัวเหมือนมาเที่ยวเล่นเองตามสบายใจ แล้วมิหนำซ้ำทำข่มเหงแก่ชาวเมืองชลต่างๆ ด้วยอ้างว่าเปนพวกตามเสดจ์…

ถ้าเรือเจ้านายแลข้าราชการผู้ใดไม่มาจอดใกล้ที่ประทับที่บ้านอ่างสิลา ไปอยู่ไกลแล้ว จะให้จับคนในเรือลำนั้นทั้งนายทั้งบ่าวจำตรวนส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานคร จ่ายขัดสิลาแลขนอิดลากไม้กว่าจะเสดจ์กลับ แล้วจะปรับเรือลำนั้นสอกละบาทตามยาวให้เปนบำเหนจแก่ผู้จับด้วย ถ้าพวกที่เดิรบกมาฤาโดยสารผู้อื่นมาไม่มีเรือ ขึ้นตั้งพักอยู่บนบกไกลจากที่บ้านอ่างสิลากว่ากึ่งชั่วโมงแล้ว ก็จะให้จับตัวให้เสียเบี้ยปรับแก่ผู้จับคนละบาท ตัวก็จะจำตรวจส่งเข้าไปในกรุงเทพมหานครเหมือนกัน

ถ้าใครเข้าไปข่มเหงชาวบ้านเข้าไปในโรงเรือนแลรั้วบ้านของราษฎร ก็ให้เจ้าของบ้านกับพระยาชลบุรานุรักษ์กรมการช่วยกันจับตัวส่งมายังเจ้าพระยายมราช แลเมื่อจะจับนั้น ผู้ที่เข้าไปข่มเหงในบ้านถึงจะถูกบาดเจบมีบาดแผลประการใด ก็จะไม่ว่าให้ จะกดเอาคดีเปนแพ้ แก่ผู้จับทั้งสิ้น…

ผู้ที่ไปข่มเหงชาวบ้านๆ จับมาส่งก็ดี ชำระได้ความก็ดี จะให้รับพระราชอาญาตามพระราชกำหนดกระบถศึก…ไพร่ในเรือของเจ้านายแลข้าราชการผู้ใดไปข่มเหงราษฎร เมื่อจับได้ชำระได้เปนผิดดังนี้แล้ว ตัวนายผู้เปนเจ้าของเรือ เมื่อไม่ได้ไปด้วยเปนแต่ไม่ได้ห้ามปราม ก็เปนผู้มีความผิดจะให้ปรับเร่งเอาเงินเท่าส่วนที่สามบ้างถึงข้างของเบี้ยหวัด ทำขวันให้ราษฎรผู้ต้องข่มเหงตามสมควร…

คำประกาศนี้เขียน 4 ฉบับ ให้คนทั้งปวงรับไปฉบับหนึ่ง ประกาศเจ้านายแลเรือทั้งในกรมมหาดไทยฉบับหนึ่ง กรมพระกลาโหมฉบับหนึ่ง กรมท่าฉบับหนึ่ง ให้ประกาศแก่ข้าราชการตามกรมขึ้นให้รู้ทั่วกัน บันดาพวกที่ว่ามาตามเสดจ์นั้น ในวันนี้อย่าได้ช้า ถ้าล่วงไปวันน่าจะเปนวันจับ จะว่าไม่รู้นั้นไม่ได้ เมื่อรู้แล้วให้บอกกันต่อๆ ไป จดหมายมา ณ วันอาทิตย์ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีมะเสงนพศก”

เมื่อเสด็จฯ ไปถึงบ้านอ่างศิลา พระองค์ยังทรงรับสั่งกำชับ (แกมขู่) เพิ่มเติมให้ทราบทั่วกันอีกว่า “เจ้านายขุนนางข้าราชการ ที่ไปแยกย้ายจอดเรือที่อื่น ในหลวงมิได้บังคับนั้น เหมือนเปนกระบถทีเดียว ไปแยกย้ายอยู่ไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไร เจ้านายก็หลายองค์ ถ้าไม่ฟังยังขืนหลบหลีกอยู่ เพราะกรมการตำรวจทำอ่อนแอโลเลไป จะให้เรือกำปั่นไปยิงให้ยับเยิน”

ส่วนระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนี้ นอกจากการทรงพักผ่อนตามพระราชอัธยาศัยแล้ว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดบ้าง, ทอดพระเนตรสิ่งใด ฯลฯ  ขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคมนี้


เผยแพ่รในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2565