เปิดเคล็ดลับโรงซักเสื้อผ้า เมื่อ 130 กว่าปีก่อน ที่ไม่ได้แค่ซักตากรีดแล้วจบ

เมื่อคนส่วนใหญ่สวมเสื้อ กิจการโรงซักเสื้อซักผ้าก็ขยายตัว (ภาพจาก “สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5” กรมศิลปากร)

วชิรญาณวิเศษ เป็นหนังสือที่กำหนดออกเป็นรายเดือน ออกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2427-2428 แล้วหยุดไป กลับมาออกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2437-2448 รวม 12 ปี เนื้อเรื่องภายในแบ่งออกเป็น 8 หมวด คือ คำนำ, การต่างประเทศ, กิจการ, เรื่องอ่านเล่นเบ็ดเตล็ด, เรื่องโบราณ, โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และเรื่องสุดท้ายคือ รายงานหอพระสมุดวชิรญาณ

โดยในหมวดกิจการนั้น จะเรื่องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ เพื่อความรู้ อาชีพ ฯลฯ “เรื่องการซักเสื้อผ้า” ที่นำเสนอครั้งนี้ก็มาจากหมวดกิจการ ใน “วชิญาณวิเศษ” (เล่ม 6 แผ่นที่ 22 วันพฤหัศบดีที่ 2 เดือนเมษายน รัตนโกสินทร์สก 110 ) ที่กล่าวถึงกิจการซักรีดเมื่อ 130 กว่าปีก่อนว่าเป็นเช่นไร ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

เรื่องการซักเสื้อผ้า

ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงวิธีซักเสื้อซักผ้า แลผลประโยชน์ของการซักเสื้อซักผ้า ซึ่งเปนหนทางหาเลี้ยงชีพของคนบางพวกในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ แต่มักเปนพวกจีนเสียโดยมาก คนไทยเราก็มีบ้าง แต่ไม่มากนัก การตั้งโรงซักเสื้อซักผ้านี้เดิมทีมีคนฝรั่งตั้งอยู่แต่โรงเดียวเท่านั้น คือริมห้างกงสุลอังกฤษเดี๋ยวนี้ เพราะในเวลานั้นการตั้งโรงซักเสื้อผ้านี้ไม่ค่อยมีผลประโยชน์อะไรมากนัก เพราะคนเราไม่ค่อยจะใช้เสื้อเหมือนเดี๋ยวนี้ เขาใช้ผ้าขาวม้าเสียเปนพื้น

มาในทุกวันนี้คนเราใช้สรวมเสื้อแทบทุกคน ไม่ว่าชายหญิงเด็กแลผู้ใหญ่จะมีธุระไปไหนนิดหน่อยก็ต้องสรวมเสื้อทุกคน ถึงผู้ที่ไม่สรวมเสื้อก็มีบ้าง คนสรวมเสื้อมากขึ้น โรงซักเสื้อซักผ้าก็เจริญมากขึ้นเนืองๆ จนโรงรับจ้างซักเสื้อซักผ้าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้มีเปนหลายโรง คือ 1 ริมวัดชนะสงคราม 2 ตพานเสี้ยว 3 วัดอรุณราชวราราม 4 ตพานหกน่าวัดราชประดิษฎ 5 สี่กั๊กเสาชิงช้าถนนเฟื่องนคร 6 น่าวัดราชบพิธ 7 ถนนเจริญกรุงสี่กั๊กบ้านพระยาศรีสิงหเทพเก่า 8 ถนนเฟื่องนครคือสี่กั๊กบ้านหม้อ 9 ริมโรงไปรสนีย์ 10 ริมออฟฟิศไฟฟ้า 11 ริมคลองวัดสระเกษ 12 ท่าวัดตะเคียน 13 ตลาดน้อย 14 ริมห้างกงสุลอังกฤษ 15 โบดจีนใต้วัดสำเพ็ง 16 ริมวัดสัมพันธวงษ์ รวม 16 โรงด้วยกัน

แรกจะตั้งโรงซักนี้ ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือนั้นก่อน คือเตารีด 3 เตาหรือ 4 เตา ตู้สำหรับใส่เสื้อเมื่อเวลาซักรีดเสร็จแล้ว 2 ตู้ หรือ 3 ตู้ อ่างหมักเสื้อ 2 อ่าง หรือ 3 อ่าง กะทะสำหรับนึ่งเสื้อ 1 ใบ ถ่าน 1 ลูก สูบ 1 หีบ แต่เครื่องที่จะใช้ไม่เปนกำหนด สุดแต่ใครจะทำมากแลน้อย ทำมากต้องซื้อมากขึ้นไป แลส่วนคนที่จะซักจะรีดนั้นถ้าไม่มีก็ต้องใช้ลูกจ้าง แต่คนรีดนั้นราคาแพงกว่าคนซัก

คนรีดคนหนึ่งเดือนละ 16 บาทบ้าง 20 บาทบ้าง ตามแต่ฝีมือรีดเร็วแลช้า คนซักนั้นคนหนึ่งเดือนละ 10 บาทบ้าง 12 บาทบ้าง เสมียนสำหรับจดบาญชี แลปักเบอฅอเสื้อคนหนึ่งเดือนละ 15 บาท คนสำหรับไปเที่ยวรับเสื้อแลส่งเสื้อคนหนึ่งเดือนละ 12 บาท การที่ลงทุนที่แรกไม่ต่ำกว่า 5 ชั่ง แต่การตั้งโรงรับจ้างซักเสื้อซักผ้าแรกๆ นี้คงยังไม่มีกำไรก่อน พอคุ้มค่าโสหุ้ยแลลูกจ้างเท่านั้น ต่อนานๆ ไปสัก 3 เดือน 6 เดือน จึงจะค่อยมีกำไรบ้างเล็กน้อย แต่เครื่องมือที่จะใช้ หรือวิธีรีดก็คงทำอย่างเดียวกันหมด ผิดแต่เวลาซักเท่านั้น บางแห่งใช้เอาโซดาซักบ้าง น้ำด่างบ้าง สบู่บ้าง แต่ใช้โซดาซักนั้นไม่ดี เสื้อมักเปื่อยเร็ว เพราะโซดาเค็มจัดนัก

การตั้งโรงซักเสื้อนี้สำคัญอยู่อย่างเดียว คือ คนทำบาญชีแลปักเบออเสื้อ ที่จะไม่ให้เสื้อแลผ้าไข้วเปลี่ยนกันได้เท่านั้น นอกนั้นก็ไม่สำคัญอะไร การที่เขาทำไม่ให้เสื้อแลผ้าเปลี่ยนกันได้นั้น เขาแบ่งเปนคราวๆ ตั้งแต่คราวที่ 1 ขึ้นไป คราวละ 7 วัน พอใครเอาเสื้อผ้ามาจ้างซัก ก็ทำตั้ว [ตั๋ว-กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] ให้ใบหนึ่ง ในตั้ว [ตั๋ว-กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] นั้น ลงวันเดือนปีแลคราวที่ 1 หรือคราวที่ 2 นำเบอ 1 หรือ 2 เรียงกันเปนลำดับไปตามก่อนแลหลัง

แล้วบาญชีที่สําหรับโรงก็ต้องจดไว้อย่างนั้นเหมือนกัน แต่ต้องบอกว่านำเบอนั้นเสื้ออย่างนั้นเท่านั้นตัว อย่างนี้เท่านั้นตัว รวมนำเบอนั้นเปนเสื้อเท่านั้น แล้วเอาด้ายปักทำเปนนำเบอไว้ที่ฅอเสื้อให้ตรงกับบาญชี สำหรับเมื่อเวลารีดแล้วจะได้เลือกตามนำเบอๆ 1 มีเสื้อกี่ตัว นำเบอ 2 มีเสื้อกี่ตัวพอเลือกได้ครบตามบาญ ชีแล้วก็มัดไว้แห่งเดียวกัน แต่ราคาค่าจ้างซักนี้เสื้อตัวหนึ่ง 4 อัฐ ถ้าถึงห้าตัวสลึงหนึ่ง ถ้าว่าเหมากันเปนเรือนร้อยเสื้อร้อยตัวเปนเงิน 4 บาทบ้าง 4 บาท สองสลึงบ้าง ตามหนทางที่คนไปรับไกลแลใกล้ แต่ผ้าต่างๆ นั้น ถ้าผืนโตก็แพงหน่อย ผืนเล็กเพียง 4 อัฐ

เมื่อจะซักนั้นพอเห็นว่าได้เสื้อมากๆ แล้ว ก็เอาเสื้อแลผ้าที่จะซักนั้น ลงหมักน้ำสบู่หรือน้ำด่างไว้ในอ่างวันหนึ่งกับคืนหนึ่งก่อน ครั้นเวลาเช้าเอาออก ถูสบู่เสียให้ทั่วกันทุกผืนๆ พอถูสบู่ทั่วกันดีแล้ว ก็เอาใส่เข่งหรืออะไรๆ ลงไปคลองหรือสระที่น้ำมากๆ ก็ช่วยกันฟาดให้หมดเหงื่อไคเห็นว่าหมดเหงื่อไค แลขาวดีแล้วเอาขึ้นมาขึ้นมาผึ่งแดดเสียให้แห้งแล้วเก็บไว้เสียทีหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นจึงเอาไปซักน้ำผึ่งแดดอีกคราวหนึ่ง เห็นขาวทีแล้วก็นึ่งเสียทีหนึ่ง

การที่เขานึ่งเสื้อแลผ่านคล้ายๆ กันกับเขานึ่งขนมตาลเรานี้เอง แต่เขาใช้กะทะใหญ่ปากกว้างประมาณ 2 ศอกเศษ ลังถึงก็โตเท่ากับปากกะทะ เวลาจะนึ่งนั้นเอาน้ำใส่ลงในกะทะครึ่งหนึ่งแล้วติดไฟเข้าเอาลังถึงตั้งลงในกะทะ เอาเสื้อแลผ้าที่ซักไว้นั้นชุบน้ำเสียให้เปียกก่อนจึงวางซ้อนๆ กันลงในลังถึง แล้วเอาผ้าอะไรๆ อีกย่ากลังถึงนี้ไปจนเขาเห็นว่าเหงื่อไคเสื้อแลผ้าตกลงไปในกันกะทะหมดดีแล้ว ก็รื้อจากลังถึงไปซักน้ำเสียอีกคราวหนึ่ง แล้วเอาขึ้นมาผึ่งแดดไว้ แต่ต้องตากลงกับพื้นดินที่สอาดๆ เพื่อจะให้ถูกอายดินแลมีคนสำหรับพรมน้ำอยู่คนหนึ่ง เห็นว่าเสื้อแห้งก็เอาน้ำพรมร่ำไปกว่าแดดจะหมดจึงเก็บ

แต่การที่นึ่งนั้นบางแห่งก็ใช้ต้มเอาบ้างก็มี แต่ต้มไม่ดีสู้นึ่งไม่ได้ เพราะถ้าเวลากำลังต้มอยู่น้ำในกะทะแห้งไปเสื้อก็เกรียมหรือใหม้หมด มิฉนั้นน้ำดำๆ ที่ออกจากเสื้อหรือผ้าก็จะกลับเข้าติดเสื้อผลผ้าอีก ที่เสื้อขาวใหม่ๆ ก็จะพลอยดำมัวมากไป แลเมื่อเวลารีดแล้วก็จะไม่ขาวนวนเหมือนกับนึ่ง เพราะฉนี้เขาจึงใช้นึ่งมากกว่าต้ม

เมื่อจะรีดเวลาเย็นเอาไปซักน้ำเปล่าๆ แล้วบิดเสียให้แห้งเก็บไว้ไม่ต้องตาก พอดึกสามยามเศษก็เอาเสื้อลงชุบน้ำแป้ง แต่แป้งที่สำหรับชุบเสื้อนั้นต้องใช้แป้งเข้าเจ้าหรือสาคูลานเท่านั้น แป้งเข้าเหนียวใช้ไม่ได้ ถ้าใช้แป้งเข้าเหนียวชุบเสื้อแล้วพอรีดเสร็จแล้ว เก็บไว้ 2 วัน 3 วันเสื้อก็อ่อนไปหมด เพราะฉนั้นเขาจึงต้องใช้แป้งเข้าเจ้าชุบเสื้อ แต่แป้งที่จะชุบเสื้อนั้นเขาโม่เสียให้ลเอียดแล้วจึงเปียกให้สุก พอแป้งสุกดีแล้วเอาครามจีนในละลายน้ำใส่ลงพอสมควรแล้ว เอาผ้ากรองเสียก่อนจึงเอาเสื้อและผ้าที่จะรัดนั้นชุบลงไป ชุบพอทั่วกันดีแล้วเอาขึ้นบิดเสียให้น้ำเสด็ด แล้วจึงเอาขึ้นพาดผึ่งแดดไว้บนราว แต่ต้องตากให้แห้งดีจึงจะเก็บได้

ถ้ายังไม่แห้งแล้วเก็บไว้เสื้อบูดเหม็นเปรี้ยวใช้ไม่ได้ ต้องซักน้ำเปล่าแลชุบน้ำแป้งอีก ครั้นชุบน้ำแป้งเสร็จแล้ว คนรีดก็เอาไปรีด แต่เมื่อเวลาจะรีดนั้น เอาน้ำพ่นเสียให้ทั่วกันดีแล้ว ก็เอาออกมารีดทีละตัวๆ แต่ที่รีดนั้นมีผ้ารองทำเปนเบาะอยู่หลายชั้น เอาเสื้อหรือผ้าที่จะรีดนั้นวางลงบนเบาะ แล้วขึงให้ดึงเสมอกัน จึ่งเอาเทียนไขถูเสียก่อน เพื่อจะให้เสื้อเปนมัน จึ่งเอาเตารีดรีดไปรีดมาให้ทั่วตัวแล้วพับวางไว้

เสมียนเขาจึงไปเอามาเลือกนำเบอ ให้ถูกต้องตามบาญชีอีกครั้งหนึ่ง แต่คนที่สำหรับรีดคนหนึ่งวันหนึ่งรีดเสื้อได้ 500 ตัว เปนอย่างมาก พอรีดหมดคราวหนึ่งแล้วคนที่สำหรับไปรับแลส่ง ก็เอาเสื้อแลผ้าไปส่งตามที่ไปรับมาจากใครๆ แล้วก็รับมาใหม่อีก แต่ดังนี้บางแห่งเดือนหนึ่งรีดเสื้อประมาณได้ 8000 บ้าง 5000 บ้าง ตามที่ได้มากแลน้อย ถ้าจะคิดเปนเงินแห่งหนึ่งเดือนหนึ่งประมาณเงิน 2 ชั่งบ้าง 3 ชั่งบ้าง 5 ชั่งเปนอย่างมาก เดือนหนึ่งคิดหักค่าโสหุ้ยแลค่าลูกจ้างเสร็จแล้ว เหลือนั้นก็เปนของเถ้าแก่ตามมากแลน้อย

จบวิธีซักเสื้อแต่เท่านี้

คลิกอ่านเพิ่ม: ดูวิธีชาววังทำความสะอาด ‘เครื่องนุ่งห่ม’ สมัยไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยไว้ซักรีดเสื้อผ้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2565