ทำไมคณะราษฎร “ปลื้ม” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภากับกลุ่มคณะราษฎร ก็จะพบมิติความสัมพันธ์เชิงบุคคลระหว่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภากับสมาชิกคณะราษฎรบางคนที่มีความสนิทสนมกันตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ หลังทรงสำเร็จการศึกษาแล้วก็ทรงกลับมารับราชการอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และเป็นพระอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างนี้เอง พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสและชีวประวัติของนโปเลียนเป็นภาษาไทยใน พ.ศ. 2477 เพื่อใช้เป็นตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์

Advertisement

สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่สนับสนุนและกระตุ้นให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงพระนิพนธ์ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสคือ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในแกนนำของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง [1]

ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับปรีดี พนมยงค์ เริ่มต้นที่ราชบัณฑิตยสภาซึ่งก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2470 โดยทั้งคู่ต่างเป็นสมาชิกของราชบัณฑิตสภา ด้วยความที่ต่างก็สนใจในเรื่องเกี่ยวกับฝรั่งเศส ทำให้ทั้งสองมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและต่างเคารพซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก โดยเมื่อพระองค์ทรงพระนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทรงขอให้ปรีดีเขียนคำนำหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งปรีดีเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเขียนคำนำให้แก่หนังสือเล่มนี้ [2]

หนังสือดังกล่าวที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาคที่ 1 โดยเนื้อหาในหนังสือได้ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่แท้จริงของการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของชนชั้นนำฝรั่งเศสซึ่งไม่เคยต้องเสียภาษี ต่างจากสามัญชนที่ยากจนและอดอยากซึ่งต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงให้ข้อสรุปในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า ความสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสคือชัยชนะของประชาชนเหนือระบอบเก่าและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ [3] อาจกล่าวได้ว่า หนังสือประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาคที่ 1 กำลังทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสในฐานะประวัติศาสตร์คู่ขนานการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยใน พ.ศ. 2475

หนังสือของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาซึ่งถูกใช้เป็นตำราในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ได้กลายเป็นประตูเปิดโลกอีกใบหนึ่งให้นิสิตที่เรียนได้เปรียบเทียบสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ทั้งยังช่วยให้นิสิตเข้าใจถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475

ในด้านหนึ่งแล้ว หนังสือประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาคที่ 1 ได้ทำหน้าที่กระจายความรู้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสให้แก่ประชาชน ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้กำลังทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้แก่คณะราษฎรที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้เองคือคำตอบของคำถามที่ว่า เหตุใดปรีดี พนมยงค์ จึงกระตุ้นให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงพระนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส และเหตุใดพระองค์จึงทรงยินดีที่จะทรงพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาก็ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายคณะราษฎร โดยในวันที่คณะราษฎรยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมในเวลานั้น ได้เรียกข้าราชการทั้งหมดในจังหวัดนครปฐมมาประชุมหารือ โดยมีข้อสรุปของการประชุมว่าพระองค์และข้าราชการจังหวัดนครปฐม ตัดสินใจสนับสนุนคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ [4]

การแสดงพระองค์อย่างชัดเจนครั้งนี้ ทำให้คณะราษฎรไว้วางใจพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภามากยิ่งขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์ก็ได้ย้ายไปทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง [5]

ในระหว่างที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนี้ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้น หลังจากพระองค์ทรงได้รับหนังสือเตือนจากรัฐบาลถึงเหตุการณ์กบฏ พระองค์ทรงสั่งให้หน่วยความมั่นคงของจัดเตรียมการลาดตระเวนและจับทหารของกลุ่มกบฏ ซึ่งทรงคาดว่าจะมีทหารจำนวนมากหนีการจับกุมมาทางภูเก็ตเพื่อหลบหนีไปยังบริติชมาลายา (British Malaya) และทรงมีคำสั่งให้ตำรวจคอยลาดตระเวนตามชายแดนเพื่อป้องกันการช่วยเหลือกลุ่มกบฏจากชาวบริติชมาลายา [6]

การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่รวดเร็วของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภามีส่วนสำคัญในการช่วยให้รัฐบาลสามารถจับกุมและปราบปรามกองกำลังหลักกลุ่มกบฏที่หนีไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนบนได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่ต้องพะวงกับสถานการณ์ทางภาคใต้

ในช่วงเวลาที่เกิดกบฏบวรเดชนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภายังทรงมีคำสั่งให้ตำรวจคอยอารักขาดูแลชาวต่างชาติและทรัพย์สินของคนเหล่านี้เป็นอย่างดี ด้วยพระองค์ทรงเกรงว่าหากเกิดผลกระทบใดๆ ขึ้นกับชาวต่างชาติเหล่านี้ อาจเป็นข้ออ้างให้ชาวต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในของสยามเวลานั้นได้ [7] นอกจากนี้ยังทรงเรียกประชุมพ่อค้าชาวจีนและชาวตะวันตกที่อยู่ในภูเก็ต เพื่อทรงชี้ให้คนเหล่านี้ตระหนักว่าสถานการณ์กบฏที่เกิดขึ้นยังไม่มีอันตรายใดๆ ต่อพวกเขา และรัฐบาลก็มีความสามารถที่จะปราบปรามกลุ่มกบฏได้ พร้อมกันนี้พระองค์ยังทรงโน้มน้าวประชาชนในจังหวัดภูเก็ตไม่ให้วิตกกังวลต่อการกบฏครั้งนี้ และให้คำมั่นว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วตก [8]

หลังจากเหตุการณ์สงบ รัฐบาลได้จัดให้มีการสร้าง “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อมอบให้แก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชนที่มีส่วนร่วมในการปราบกบฏครั้งนี้ [9] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับประทานถวายเหรียญตราดังกล่าว และทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่คณะราษฎรไว้วางใจมากที่สุด

หลังจากกบฏบวรเดชสิ้นสุดลง รัฐบาลได้ตัดสินใจปลด ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวออกจากราชการ [10] ทำให้ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง คณะราษฎรจึงตัดสินใจย้ายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมารับตำแหน่งราชเลขานุการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [11] ขณะที่พระองค์มีพระชันษาเพียง 29 พรรษา อีกทั้งยังไม่เคยรับราชการใดๆ ในกระทรวงวังมาก่อนมา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรเลือกแต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาในครั้งนั้น นอกจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะราษฎรกับพระองค์แล้ว หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภายังเป็นนางพระกำนัลใน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

การเลือกพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา จึงน่าจะส่งผลดีต่อคณะราษฎรที่จะมีตัวกลางซึ่งได้รับความไว้ใจจากทั้ง 2 ฝ่ายทำหน้าที่ช่วยประสานงานระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 คณะราษฎรย่อมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะไม่หันกลับไปสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อต่อต้านพวกเขาดังเช่นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ

ดูเหมือนว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่คณะราษฎรรวมทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาและจอมพล ป. ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชสมบัติขณะที่พระองค์ยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ตัดสินใจเลือก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมาชิกอีก 2 ท่านคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา [12] ซึ่งมีพระชันษาเพียง 31 พรรษาขณะที่รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ระยะเวลา 5 เดือนหลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตรนต์ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ก็ทรงปลงพระชนมชีพเนื่องจากความกดดันจากทั้งพระราชวงศ์และคณะราษฎรที่ถาโถมใส่พระองค์ คณะราษฎรตัดสินใจเลือกพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาให้ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมกับการแต่งตั้ง เสวก นิรันดร หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรซึ่งใกล้ชิดกับ จอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และต่อมาเสวกก็ได้เป็นเลขาส่วนพระองค์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไปพร้อมๆ กัน [13]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2487 ซึ่งกินระยะเวลาเกือบ 10 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรง พระองค์ทรงให้การสนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. ด้วยดีมาตลอด ทั้งยังไม่เคยขัดขวางร่างกฎหมายใดๆ ที่จอมพล ป. เสนอมา แม้ว่าร่างกฎหมายบางฉบับจะส่งเสริมการปกครองระบอบแบบเผด็จการและทำให้จอมพล ป. กลายเป็นผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จก็ตาม

หนึ่งในกฎหมายสำคัญ คือการแต่งตั้งให้จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดใน พ.ศ. 2480 [14] โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ให้อำนาจจอมพล ป. บังคับบัญชาทหารทุกนายในกองทัพไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จและโดยตรง

นอกจากนี้ เมื่อกองทัพไทยสามารถเอาชนะสงครามไทย-ฝรั่งเศสได้ใน พ.ศ. 2484 กองทัพไทยได้มีหนังสือกราบบังคมทูลไปยังคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอพระราชทานยศพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอกให้แก่จอมพล ป. ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพไทยที่นำชัยชนะมาสู่ชาติ ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะทรงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะตอบรับคำขอของกองทัพไทย

โดยพระองค์ไม่ทรงเพียงแต่พระราชทานยศระดับนายพลให้เท่านั้น แต่ทรงตัดสินพระทัยพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ ให้แก่จอมพล ป. ด้วย [15] สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ แม้พระองค์จะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก็ทรงสนับสนุนนโยบายของจอมพล ป. ที่ต้องการให้ยกเลิกราชทินนาม และบรรดาศักดิ์ [16]

ใน พ.ศ. 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงประชวรหนักจากโรคพระยกนะพิการ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งทรงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนพระยาพหลพลพยุหเสนาและจอมพล ป. ทั้งในการปกครองประเทศ และรักษาอำนาจของพวกเขาไว้

ด้วยเหตุนี้ ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนาและจอมพล ป. จึงต่างให้ความเคารพและไว้วางใจพระองค์เป็นอย่างมาก โดยใน พ.ศ. 2481 รัฐบาลได้ขอพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้แก่พระองค์จาก “พระวรวงศ์เธอ” เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ” [17] นอกจากนี้ยังขอพระราชทานยศนายพลโท นายพลเรือโท และนายพลอากาศโทให้แก่พระองค์ แม้พระองค์จะไม่เคยรับราชการทหารใดๆ มาตลอดพระชนมชีพ [18]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] อาทิตย์ทิพอาภา, พระองค์เจ้า, หะซัน (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บริษัทวิชัยรัตน์, 2489), น.3-4.

[2] อาทิตย์ทิพอาภา, พระองค์เจ้า, ประวัติศาสตร์สมัยปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปารฺต ภาคที่ 1 (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2477), น. (1).

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 1

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บรรณาธิการ, “อยากลืมกลับจํา” สารคดีชีวประวัติลูกสาวจอมพล ป. ชีวิต ความผันผวน และความทรงจําของจีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 67.

[5] หนังสืองานศพของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, น. 15.

[6] หจช., สร.0201.3.1/4 บําเหน็จปราบกบฏของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, 29 ตุลาคม พ.ศ. 2478.

[7] หจช., สร.0201.3.1/4 บําเหน็จปราบกบฎของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, 13 ตุลาคม พ.ศ. 2478.

[8] หจช., สร.0201.3.4/4 บําเหน็จปราบกบฏของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, 14 ตุลาคม พ.ศ. 2478.

[9] “พระราชบัญญัติเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ,” ราชกิจจานุเบกษา 50 (9 ธันวาคม พ.ศ. 2477), น.808.

[10] “ประกาศตั้งราชเลขานุการในพระองค์,” ราชกิจจานุเบกษา 50 (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477), น.3093

[11] เรื่องเดียวกัน, น.3094.

[12] “ประกาศตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ราชกิจจานุเบกษา 51 (7 มีนาคม พ.ศ. 2477), น. 1332-1333.

[13] หจช. สร.0201.3.1/4 บําเหน็จปราบกบฎของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, 6 มีนาคม พ.ศ. 2479.

[14] “พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพ อากาศ (1. นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม 2. นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย 3. นายนาวา อากาศเอก หลวงอธึกเทวเดช),” ราชกิจจานุเบกษา 57 (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483), น. 729.

[15] “พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ (นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม),” ราชกิจจานุเบกษา 58 (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484), น. 981-982.

[16] “พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์” ราชกิจจานุเบกษา 53 (19 พฤษภาคม พ.ศ. 2485), น. 1089-1091.

[17] “พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ” ราชกิจจานุเบกษา 55 (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481), น. 55.

[18] อาทิตย์ทิพอาภา, พระองค์เจ้า, หะซัน, น. 12.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ทหารของพระราชา กับการสร้างสำนึกแห่งศรัทธาและภักดี” เขียนโดย เทพ บุญตานนท์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2565)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2565