ผ่าปมแต่งงานข้ามวัฒนธรรม ไทยสมรสฝรั่งยุคแรกเริ่ม อังกฤษไม่เห็นด้วยกับแนวทางใดบ้าง

ภาพประกอบเนื้อหา - คู่สมรสของอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเข้าพิธีสมรสหมู่ของชาติ พ.ศ. 2487 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในปัจจุบัน การแต่งงานระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศมีให้เห็นมากมาย อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว หากย้อนกลับไปในอดีต ยุคแรกเริ่มการแต่งงานงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทยกับฝรั่งในประวัติศาตร์ของสยามที่เคยมีมาจะพบว่าเกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย

ตามที่ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ผู้เขียนบทความ “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม ไทยกับ ‘ฝรั่ง’ ในประวัติศาสตร์สยาม” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549 ได้สืบค้นข้อมูลหลักฐานนั้น การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชาวตะวันตกมีมานานแล้วในสังคมไทย ดังปรากฎให้เห็นอยู่โดยทั่วไปทั้งที่อยู่ในสังคมเมืองและชนบท

เมื่อสำรวจเอกสารจะพบว่า มีผู้นำเรื่องราวเกี่ยวกับคู่สมรสที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับ “ฝรั่ง” มาตีพิมพ์อยู่เสมอ อาทิ “จะฆ่าตัวตายแต่สามีฝรั่งชิงตายก่อนเลยได้มา 7 ล้าน” และ “วีรบุรุษเดนตาย ผู้สร้างรถไฟสายมรณะวัยเกือบ 90 ได้ภรรยาไทยที่แสนสุข” เป็นต้น

ขณะที่ข้อมูลซึ่งผู้เขียนบทความหยิบมานำเสนอเป็นข้อมูลว่าด้วยการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมในสังคมไทยเน้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในกรณีศึกษาเรื่องการแต่งงาน

การติดต่อสัมพันธ์ไทยกับตะวันตก

ก่อนเสียกรุงฯ สังคมไทยมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในอาณาจักรอยุธยาหลากหลายชาติ ไม่เพียงแต่พ่อค้าชาวจีน ยังมีชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาค้าขายกับไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ

เมื่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตะวันตกเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะหลังที่ไทยทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2453 นั้น เป็นช่วงระยะที่มีชาวตะวันตกเดินทางหลั่งไหลเข้ามาในกรุงสยามอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับการเข้ามาของชาติตะวันตกเป็นผลมาจากบรรยากาศของบ้านเมืองหลังจากสิ้นสุดสงครามนโปเลียน ชาวตะวันตกเดินทางออกนอกยุโรปเพื่อแสวงหาอำนาจในดินแดนอีกครั้ง และยังมีเหตุผลมาจากศาสนาอีกด้วย อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น และปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัยทั้งการปฏิรูปการปกครอง ยกเลิกระบบไพร่และทาส และการจัดการศึกษาใหม่

สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยวิทยาการและเทคโนโลยีจากต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่การว่าจ้างชาวตะวันตกเข้ามาเป็นข้าราชการ พร้อมกับการสนับสนุนเด็กหนุ่มไทยให้ออกไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตก

จากสภาพข้างต้นนี้ ส่งผลให้การติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาประการหนึ่งก็คือ ก่อให้เกิดการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยกับชาวตะวันตก “ฝรั่ง” ในกรุงสยาม

การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมก่อนปี พ.ศ.2440 : การปะทะกันของแนวคิดตะวันตกกับไทย

ชาวสยามมีประเพณีที่ถือว่า การเป็นสามีภรรยากันไดัในกฎหมายลักษณะผัวเมียนั้น แบ่งประเภทของเมียออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. เมียกลางเมือง ชายได้เลี้ยงเป็นภรรยาหลวง 2. เมียกลางนอก เป็นหญิงที่ชายมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา 3. เมียกลางทาสี หญิงที่ชายนำมาเลี้ยงเป็นทาสภรรยา

ส่วนประเพณีการสมรสนั้นมีอยู่ 2 แบบคือ การสมรสแบบมีพิธีและการสมรสโดยการอยู่กินรวมกัน ซึ่ง 2 แบบนี้ต่างก็มีลักษณะเป็นการส่วนตัวอย่างยิ่ง เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีระบบการจดทะเบียนสมรส การพิสูจน์การสมรสทำได้โดยพยานบอกเล่า

สำหรับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทยกับชาวตะวันตกพบว่า มีแต่งงานเกิดขึ้นในต่างประเทศ ครั้งแรกเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นที่ไปศึกษาต่อ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่รู้จักกันทั่วไปคือการเสกสมรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัธริน (ชาวรัสเซีย) และต่อมาพบมากขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พิษรักต่างขั้วในการเมืองไทย “แฟนนี่ น็อกซ์” เมียฝรั่งฝั่งวังหน้า-พระปรีชากลการวังหลวง

สำหรับการแต่งงานที่เกิดขึ้นภายในกรุงสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นประเด็นการถกเถียงใหม่ในสังคมยุคนั้น พบว่า จากเอกสารที่มีการเขียนตอบโต้ระหว่างกงสุลอังกฤษกับเสนาบดีว่าการต่างประเทศโดยอ้างถึงประเด็นที่มีการถกเถียงกันที่นครเชียงใหม่ ปีพ.ศ.2428 ในเรื่อง “คนที่เป็นภรรยาในบังคับอังกฤษหรือไม่เป็นอย่างไร” ฝ่ายรัฐบาลไทยโดยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2428 ให้แก่กงสุลอังกฤษทราบว่า

“หญิงที่เปนภรรยาคนในบังคับต่างประเทศที่ควรนับว่าเปนภรรยากันได้ตามกฎหมาย และเปนคนในบังคับตามเพศของสามีได้นั้น จำเปนจะต้องเป็นผู้ได้ทำตามข้อความนี้คือ

1. สามีภริยาคู่นั้นได้สู่ขอบิดามารดาฤๅผู้ปกปักรักษาผู้ที่ควรจะต้องขออนุญาตแล้วก่อน

2. สามีภริยาคู่นั้นได้ทำการมงคล แต่งงานกันตามประเพณี แลเพศ ของสามีฤๅของภรรยาคู่นั้น

3.สามีภริยาคู่นั้นจดบาญชีลงชื่อไว้ต่อพนักงานของบ้านเมือง แลในที่ว่าการกงสุลของประเทศที่เป็นเพศสามีตามที่จะได้ตั้งอยู่ในเมืองนั้นด้วย

ถ้าความ 3 ข้อนี้ขาดแต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่ควรนับว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายได้”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในข้อ 3 การให้สามีภริยาจด “บาญชีลงชื่อต่อพนักงาน” เป็นแนวปฏิบัติใหม่ ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

อย่างไรก็ตาม หลังจากอังกฤษได้รับเอกสารจากไทย กงสุลอังกฤษได้ตอบกลับโดยลงวันที่ 4 เมษายน 2428 ในเชิงไม่เห็นด้วยหลายประเด็น ดังความว่า

“ข้าพเจ้าเหนว่า ท่านหมายเอาแต่ความที่สัปเยกอังกฤษ เปนสามีหญิงฝ่ายสยามเปนภรรยาฝ่ายเดียว หาได้ว่าด้วยความที่สามีเปนคนฝ่ายสยาม ภรรยาเปนคนฝ่ายอังกฤษไม่…อนึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ซึ่งท่านชี้แจงมานั้นหาใช่เปนการชี้แจงตามกฎหมายที่มีอยู่แล้วไม่ แต่เปนความที่คอเวอนเมนต์ของท่านปรารถจะให้…”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องมรดกที่ฝ่ายไทยมองว่า ในเรื่องหญิงฝ่ายสยาม ซึ่งอยู่ด้วยกันกับคนในบังคับอังกฤษและได้มีบุตรด้วยกันในขณะที่มีข้อตกลงกันแล้ว ทางฝ่ายไทยจะยอมรับ ถ้าได้ไปจดบาญชีในเวลาที่กำหนดไว้ให้นั้น โดยจะยอมให้ไปอยู่ในความป้องกันของพนักงานแห่งที่ว่าการกงสุลอังกฤษตลอดเวลาที่จะได้อยู่กินด้วยกัน แต่บุตรนั้นจะได้ประโยชน์อันนี้ไปถึงบุตรอีกชั้นหนึ่งนั้นไม่ได้

กรณีที่ชายถึงแก่กรรม หญิงและบุตรจะได้ประโยชน์ต่อไป ยกเว้นไปอยู่กินกับชายอื่นก็ต้องเสียประโยชน์ไป บุตรก็เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่ฝ่ายชายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินสิ่งของชายซึ่งไม่ใช่ที่ดินและบ้านเรือน ให้แบ่งปันตามกฎหมายฝ่ายสยาม (ด้วยในหนังสือสัญญามีความว่า ที่ดินและบ้านเรือนต้องตกเป็นของผู้ที่ควรรับมรดกตามกฎหมายอังกฤษ)

กรณีที่หญิงชายจากกันไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม(ยกเว้นกรณีที่ชายตาย) หญิงนั้นให้ขาดประโยชน์ และบุตรที่ตามบิดาไปให้อยู่ในความป้องกันที่ว่าการกงสุลต่อไป แต่บุตรที่ตามมารดาไปให้ขาดจากผลประโยชน์อันนี้ด้วย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หม่อมคัทริน และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อย่างไรก็ตาม การโต้ในประเด็นนี้ อังกฤษได้มีแมมโมแรนดำส่งมาให้ฝ่ายไทย โดยฝ่ายไทยได้รับเอกสารตรงวันที่ไทยได้ส่งเอกสารข้างต้นไปถึงอังกฤษคือวันที่ 25 มิถุนายน 2428 สาระสำคัญก็คือ

“หญิงสัปเยกต์ของพระเจ้าแผ่นดินสยามจะได้เป็นสัปเยกต์อังกฤษนั้น ก็เปนได้แต่ตามความในมาตรา 33 บท 14 ฤๅโดยที่เปนภรรยาสัปเยกต์อังกฤษ แลซึ่งจะได้ประโยชน์นี้ ต้องเปนการแต่งงานอย่างที่ศาลอังกฤษจะถือว่าใช้ได้”

โดยสรุปแล้ว ฝ่ายอังกฤษจะยอมรับการเป็นสามีภรรยาได้อย่างเดียวคือ การที่ชาวยุโรปแต่งงานต่อหน้ากงสุลเยเรนาลอังกฤษ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่หญิงหรือชายเป็นแต่อยู่ด้วยกัน มิได้มีการมงคลอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่มั่นคงแล้ว ตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยากัน ส่วนการหย่า ฝ่ายอังกฤษมองว่าหญิงชายเป็นแต่อยู่ไปด้วยกัน จนเวลาที่ยอมทิ้งกันเองนั้น จะถือว่าเป็นสามีภริยากัน เพื่อทั้งปวงไม่ได้

การโต้แย้งประเด็นต่างๆ ข้างต้นนี้จะจบลงอย่างไร ไม่สามารถสืบทราบได้ หากแต่อาจจะเป็นเพราะความไม่ชัดเจนในธรรมเนียมปฏิบัติของการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทยกับชาวต่างชาติ

พระราชบัญญัติสำหรับแต่งงานคนต่างประเทศในกรุงสยาม ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)

“…ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คนต่างประเทศที่ได้เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตร์นี้ บางคนมีความขัดข้องอยู่ เมื่อได้ตบแต่งกันแล้ว ฤาคิดจะคบแต่งกันแล้ว จะมีการแลจะพิสูทธว่า ได้แต่งงานเปนสามีภิริยากันถูกต้องตามกฎหมายแห่งพระราชอาณาจักรนี้ แลว่าเพราะเหตุฉนี้การจึงปรากฏว่าควรที่จะประกาศเปนพระราชบัญญัติ อธิบายความให้คนเหล่านั้นทราบไว้ว่ามีข้อความตามกฎหมายว่า แต่งงานเปนสามีภริยากันถูกต้องอย่างไร แลเมื่อผู้ที่จะแต่งงานกันทั้งสองฝ่ายก็ดี ฤาแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ดีเปนคนต่างประเทศแล้ว จะควรพิสูทธให้เปนหลักฐานในการแต่งงานอย่างไรด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้สืบไป…”

จะเห็นว่า พระราชบัญญัตินี้เป็นผลมาจากแรงผลักดันของชาวตะวันตก เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงสยามแล้ว เกิดปัญหาในธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งงานทั้งที่มีการแต่งงานในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกัน และการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างชาวตะวันตกกับชาวไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นหลายครั้ง

โดยเฉพาะครั้งที่สำคัญคือ กรณีอุปทูตเบลเยียม ชื่อมิตเตอร์เลเดแคงก์ ได้ทูลขอให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ นำความขึ้นกราบทูลพระกรุณาเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสำหรับแต่งงานคนในต่างประเทศในกรุงสยาม เพื่อที่จะได้จัดงานแต่งงานของบุตรีได้ถูกต้องตามกฎหมายของสยาม

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสำหรับแต่งงานคนต่างประเทศในกรุงสยาม มีการตราไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2440 โดยมีทั้งหมด 4 มาตรา เป็นรายระเอียดที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนและวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและรายละเอียดของเอกสารการแต่งงานของชาวต่างชาติที่จะต้องระบุไว้เป็นหลักฐาน ดังปรากฏในรายละเอียดของพระราชบัญญัติ ดังนี้คือ

มาตรา 1 การแต่งงานตามกฎหมาย แลธรรมเนียมฝ่ายสยามนั้น เปนการปฏิญญาณสัญญากันในระหว่างสามีกับภริยา ซึ่งมีข้อสำคัญตามปรกติใช้ได้เหมือนกับข้อสัญญากันอย่างอื่น ๆ แลเหตุฉะนั้นเมื่อได้แสดงถ้อยคำปฏิญญาณต่อกัน ฤๅได้ทำการมงคลพิธีให้เปนที่ปรากฏชัดเจนว่า ชายหญิงทั้งสองฝ่ายนั้นยินยอมพร้อมใจกันสมัคที่จะเปนสามีภริยาต่อกัน แลฝ่ายชายก็ดี ฤฝ่ายหญิงก็ดีไม่ได้กระทำการอันเปนที่ต้องห้ามตามกฎหมายฉะนั้นแล้ว ก็นับว่าเปนอันได้กระทำการแต่งงานกันถูกต้องใช้ได้ตามกฎหมาย

มาตรา 2 เมื่อชายแลหญิงก็ดี ฤๅแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ดี เปนผู้ที่อยู่ในกรุงสยามแล้ว การที่ตกลงปรองดองพร้อมใจกันที่จะเปนสามีแลภริยาซึ่งกันแลกันนั้น จะพึงพิสูทธให้เป็นหลักฐานกฎหมายได้ในเวลาที่กระทำการแต่งงานกัน ฤาในเวลาที่แต่งกันแล้ว โดยแสดงคำปฏิญญาณอันนั้นให้ปรากฎต่อหน้าผู้มีชื่อ ซึ่งรู้จักกันมาเปนพยานอย่างน้อยที่สุดสี่คน

ถ้าแต่งกันในกรุงเทพฯ ก็ให้แสดงคำปฏิญญาณนี้เฉภาะหน้าเสนาบดีกระทรวงพระนครบาล ฤๅผู้แทนเสนาบดีนั้น ถ้าเปนการนอกกรุงเทพฯ ก็ให้แสดงต่อผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งชายฤหญิง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่ในขณะนั้นอยู่เมืองนั้น

มาตรา 3 ให้เจ้าพนักงาน ผู้รับคำแสดงนั้นเขียนคำปฏิญญาณ ดังกล่าวมาในมตรา 2 เปนภาษาสยามอย่างเดียว ฤๅถ้าชายหญิงคู่นั้นจะต้องให้การให้มีคำแปล ให้เขียนเปนภาษาไทยกับภาษาอังกฤษให้ถูกต้องกันในความหมายแลความประสงค์ทั้งสองภาษา ให้มีศุภมาศวันปีที่แต่งงานกัน มีชื่อ อายุ แลที่เกิดของชายหญิงนั้นทั้งสองฝ่าย

ถ้าเจ้าพนักงานที่กล่าวมาแล้วนี้จะขอให้ส่งหลักฐานอันใด ซึ่งจะได้เปนพยานยืนยันความที่กล่าวไว้ให้เปนที่พอใจ ก็ต้องให้มีมาแสดงด้วยเหมือนกัน แลคำปฏิญญาณเช่นนี้ ให้ทำเปนสองฉบับลงชื่อเจ้าพนักงานที่กล่าวมาแล้ว ลงชื่อชายหญิงทั้งคู่ ลงชื่อพยานทั้งหลาย กับทั้งในที่สุดลงชื่อบิดามารดาของชายแลหญิงทั้งสองฝ่าย

มาตรา 4 ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดต้องการ แลขอสำเนาคำปฏิญญาณดังกล่าวมาในมาตรา 3 แต่โดยสังเขป ฤๅโดยเต็มความบริบูรณ์ก็ดี ให้คัดสำเนาแลลงชื่อเจ้าพนักงานให้เปนสำคัญ ว่าคัดถูกต้องกับต้นฉบับ ให้เรียกค่าธรรมเนียมที่คัดสังเขปฤาสำเนานั้น ภาษาไทยฉบับละ 4 บาท ภาษาอังกฤษฉบับละ 4 บาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประการแรก พระราชบัญญัติสำหรับคนไทยแต่งงานกับคนไทยด้วยกันจะใช้ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ ส่วนเหตุผลที่ปรากฏในเอกสารก็คือ “ด้วยจะผิดต่อพระนามแห่งพระราชบัญญัตินั้นเอง” ไม่ได้ใช้

ประการที่สอง ข้อกำหนดที่ปรากฏในมาตราต่างๆนั้น พบว่าจะไม่มีประเด็นทางศาสนา-ความเชื่อมาเกี่ยวข้อง

ภายหลังจากการตราพระราชบัญญัตินี้ ในเดือนเดียวกัน ก็ได้มีพิธีแต่งงานของมิสเอเลน มาเคเรตา เลเดแคงก์ ชาวเบลเยียม กับมิสเตอร์เอมีลิโอ ยีโอ วันนีโทเลนิโอ ชาวออสเตรีย ซึ่งรัชราชการเป็นผู้ช่วยกองสารบาญชีในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ณ กรุงเทพฯ

อาจกล่าวได้ว่า เป็นการแต่งงานของชาวต่างชาติครั้งแรกที่มีการทำหนังสือสำคัญบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีพยานรวมทั้งหมด 6 คน ร่วมกันเป็นสักขีพยาน และได้ทำหนังสือคำปฏิญญาณไว้เป็น 2 ฉบับ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ต่อหน้ากรมหมื่นนเรศ์รวรฤทธิ์ เสนาบดีนครบาล เป็นประธานรับคำแสดงคำปฏิญญาณในการแต่งงาน ณ สถานทูตเบลเยียม

สำหรับกรณีของคนไทยที่แต่งงานกับ “ฝรั่ง” ภายหลังจากประกาศพระราชบัญญัตินี้ พบว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2441 กรมหมื่นนเรศ์รวรฤทธิ์ เสนบดีนครบาล ได้ให้พระยาเพชรฎา ผู้ช่วยปลัด เป็นพยานรับปากคำแสดงข้อปฏิญญาณของมิสเตอร์แอลเฟรดเฮนรี วิกตอเตช ชาวฝรั่งเศส แต่งงานกับอำแดงสน หญิงชาวสยาม อาจกล่าวได้ว่า กรณีอำแดงสนเป็นกรณีแรกๆ ที่หญิงไทยได้แต่งงานกับฝรั่งที่ได้แสดงหนังสือสำคัญเป็นหลักฐานเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หลังจากนั้นก็ได้มีการทำหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของกรณีอื่นๆ

ส่วนชายชาวสยามที่ได้แต่งงานกับชาวต่างชาติและได้ทำหนังสือสำคัญเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ พบว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2460 ร้อยตรีจรูญ โชติกเสถียร ชาวสยาม แต่งงานกับนางสาวดารา ในบังคับอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ จะเห็นได้ว่า ฝ่ายหญิงนั้นเป็นคนในบังคับอังกฤษ แต่หากดูเชื้อชาติแล้วจะพบว่าเป็นลูกครึ่งไทย-เปอร์เซีย

ส่วนจำนวนที่กระทรวงนครบาลได้รับจดทะเบียนสมรสคนต่างประเทศนับตั้งแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติ พ.ศ.2440 จนถึง พ.ศ.2462 พบว่ามีทั้งหมด 24 ราย

จากข้างต้นอาจกล่าวได้ว่า สังคมสยามได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แม้จำนวนการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทยกับฝรั่งที่มาทำบันทึกเป็นหลักฐานจะมีจำนวนไม่มาก แต่ข้อมูลหลักฐานเหล่านี้อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นถึงการปรากฏตัวอย่างชัดเจนของการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างไทย “ฝรั่ง” และผลที่ตามมาจากการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมประการหนึ่งก็คือ การเกิดวัฒนธรรมใหม่ เกี่ยวกับการแต่งงานในสังคมไทย ก็คือ การเริ่มต้นของวัฒนธรรม “เอกสาร” การแต่งงาน ที่ลงบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐานว่า ทั้งสองฝ่ายได้แต่งงานกัน ต่อมาการจดคำปฏิญญาณการแต่งงานนั้น

ในปี พ.ศ.2478 ก็ได้เรียกว่า “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมรส” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับชาวต่างชาติเท่านั้น หากยังใช้กับคนไทยอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1449 มีความว่า “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว”

ฉะนั้นการสมรสจะสมบูรณ์ตามกฎหมายสยามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการได้ไปจดทะเบียนสมรส ถ้าจดทะเบียนแล้วเป็นอันสมบูรณ์

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ผู้หญิงไทยคนแรก(ๆ)ที่แต่งงานกับชาวสวีเดน ในบันทึกของทางการ

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งมาจากบทความ “การแต่งงานข้ามวัฒนธรรม ไทยกับ “ฝรั่ง” ในประวัติศาสตร์สยาม” โดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2549 นำมาเรียบเรียงใหม่ จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2565


เชิงอรรถ

1. ในที่นี้หมายถึงชายหรือหญิงผิวขาว “ชาวตะวันตก” ที่มาจากทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และที่ต่างๆ ที่คนไทยเรียกว่า “ฝรั่ง”ช” ที่มาแต่งานกับชายหรือหญิงที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย

2. คู่สร้าง คู่สม ปีที่ 26 ฉบับที่ 495 ประจำวันที่ 20-31 พฤษภาคม ทศ 3 2548.

3. คู่สร้าง คู่สม ปีที่ 26 ฉบับที่ 515 ประจำวันที่ 10-20 ธันวาคม ทศ 2 2548.

4. คู่สร้าง คู่สม ปีที่ 26 ฉบับที่ 493 ประจำวันที่ 1-10 พฤษภาคม ทศ 1 2548.

5. คู่สร้าง คู่สม ปีที่ 26 ฉบับที่ 505 ประจำวันที่ 1-10 กันยายน ทศ 1 2548.

6. ดู พลับพถึง มูลศิลป. 2523. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ.

7. ประชุมประกาศ รัชกาลที่ 5 เล่ม 1, 2528, กรุงเทพฯ :คุรุสภา, หน้า 139-155.

8. ดูรายละเอียดในสาวิตรี ทัพกะสุด. 2527. “ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวไทย จีน และตะวันตก ในกรุงเทพฯ พ.ศ.2298-2453”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 106.

9. เรื่องเดียวกัน, หน้า 1.

10. เรื่องการศึกษา ดู จารุวรรณ ไวยเจตน์. 2516. “การศึกษาภาคบังคับของไทยในระยะ 10 ปีก่อน พ.ศ. 2475”. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

11. กฎหมายลักษณะผัวเมียใช้บังคับในไทยรวมระยะเวลา 132 ปี จึงมีกฎหมายลักษณะครอบครัว พ.ศ. 2478

12. หลุยส์ ดูปลาตร์. 2533 สถานะของหญิงมีสามีในประเทศสยาม. ไพโรจน์ กัมพูสิริ (แปล). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 24.

13. กจช. มร. 6 รถ/74 เลขที่ 9, 10, 14

14. สะกดตามต้นฉบับเดิม

15. กจช. กต.34.1/5 ปัญหาเรื่องคนไทยกับอังกฤษเป็นสามีภรรยากัน พ.ศ.2428 หน้า 1-3

16. น่าจะหมายถึงประเทศ-ผู้เขียน

17. กจช. กต.34.0/5 ปัญหาเรื่องคนไทยกับอังกฤษเป็นสามีภรรยากัน พ.ศ.2428 หน้า 5-6

18. สะกดตามต้นฉบับเดิม อ้างจาก กจช. กต.34.1/5 ปัญหาเรื่องคนไทยกับอังกฤษเป็นสามีภรรยากัน พ.ศ. 2428 หน้า 10-12

19. กจช. กต.34.1/5 ปัญหาเรื่องคนไทยกับอังกฤษเป็นสามีภรรยากัน พ.ศ. 2428 หน้า 23-25

20. หลังข้อถกเถียงประเด็นข้างต้น ต่อมาอีกหลายปี คือ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ร.ศ.118 (ค.ศ.1899/พ.ศ. 2442)ได้มีสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอังกฤษ ว่าด้วยการจดบาญชีคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยามลงชื่อที่กรุงเทพฯ

21. กต.34/58 หน้า 9

22. กจช. มร. 5 ต/17 เรื่องพระราชบัญญัติแต่งงานคนต่างประเทศ 7 มกราคม – 13 มีนาคม ร.ศ.116

23. สะกดตามต้นฉบับเดิม

24. สะกดตามต้นฉบับเดิม (กจช. มร. 5 ต/17 หน้า 17-19 ร่าง พ.ร.บ.สำหรับแต่งงานคนต่างประเทศในกรุงสยาม และกจช. ร.5 น.2/31 ต้นพระราชบัญญัติแต่งานคนต่างประเทศ ร.ศ.116

25. กจช. มร. 5 ต/17 หน้า 5 เอกสารเลขที่ 165/11194 ลงวันที่ 8 มกราคม ร.ศ.116

26. สำหรับในเรื่องศาสนานี้ ผู้เขียนพบว่า ได้เกิดกรณีที่มีเอกสารร้องเรียนขึ้นมาก็คือ กรณีนายอะยีอะหมัด ชาวภาษามลา ได้ขอให้รัฐออกกฎหมายการสมรสของชาวอิสลามที่อาศัยอยู่ในประเทศสยาม ผลก็คือ ไม่ปรากฏว่าได้มีพระราชดำริห์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด (กจช. มร.6 รถ/6 เรื่องนายอะยีอะหมัด ขอให้ออกกฎหมายการสมรสของชาวอิสลาม 10 เมษายน 2466)

27. กจช. มร. 5 ต/17 หน้า 30-32 หนังสือสำคัญเลขที่ 12917 รับวันที่ 24 มกราคม ร.ศ.116

28. กจช. มร. 5 ต/17 หน้า 36-39 หนังสือสำคัญเลขที่13447 รับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ร.ศ.116

29. กจช. มร.5 ต/17 หน้า 11/217 เรื่องมิสเตอร์แอลเฟรดเฮนรี วิกตอเดิช ชาติฝรั่งเศส แต่งานกับอำแดงสน หญิงชาวสยาม

30. กจช. ร.6 น.33.1/34 แบบพิมพ์แต่งงานคนต่างประเทศ หน้า 4-5

31. กจช. ร.6 น.33.1/34 แบบพิมพ์แต่งงานคนต่างประเทศ หน้า 6

32. กจช. ร.6 น.1/137 เรื่องส่งสำเนาทะเบียนหญิงไทยที่ทำงานสมรสกับคนต่างประเทศ พ.ศ.2462