พบหมอฟัน “ยุคน้ำแข็ง” เมื่อกว่าหมื่นปีก่อน ใช้ “ยางมะตอย” อุดฟัน ลดอาการปวด-ติดเชื้อ

อาการฟันผุในเด็ก 10 ขวบที่ประเทศอินเดีย (ภาพถ่ายเมื่อ 10 พฤษภาคม 2015, โดย Suyash.dwivedi, via Wikimedia Commons)

จากรายงานของ New Scientist เมื่อปี 2017 ที่ประเทศอิตาลีมีการค้นพบฟันคู่หนึ่งซึ่งมีอายุกว่า 13,000 ปี ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ฟันคู่นี้มีร่องรอยการรักษาฟันด้วยการใช้ “ยางมะตอย” เป็นวัสดุในการอุดฟัน ซึ่งนับเป็นวัสดุประเภทแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาลักษณะนี้

ฟันคู่นี้เป็นฟันหน้า ถูกพบในเขต Riparo Fredian ใกล้กับเมือง Lucca ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ทั้งสองซี่มีรูลึกไปถึงโพรงประสาทฟัน (pulp chamber) “มันเป็นลักษณะที่ค่อนข้างผิดปกติ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเห็นในฟันธรรมดาๆ” สเตฟาโน เบนาซซี (Stephano Benazzi) นักโบราณคดีจาก University of Bologna กล่าว

ยางมะตอยอาจถูกใช้เพื่อต่อต้านการติดเชื้อ (Stefano Benazzi)

ผู้เชี่ยวชาญตรวจพบร่องรอยการแต่งฟันด้วยเครื่องมือหินลักษณะเดียวกันกับฟันอายุกว่า 14,000 ที่เคยพบในแหล่งโบราณคดีอีกแหล่งหนึ่งในอิตาลี แต่ที่พิเศษไปกว่าครั้งก่อนก็คือ ฟันคู่นี้มีการตรวจพบยางมะตอยพร้อมกับเส้นใยพืชและเส้นผมในรูฟันซึ่งถูกใส่ไปพร้อมกับการเจาะฟันจึงไม่ใช่เส้นอาหาร และเบนาซซีเชื่อว่านี่คือหลักฐานของการอุดฟันในยุคก่อนประวัติศาสตร์

เบนาซซีกล่าวว่า หมอฟันยุคก่อนประวัติศาสตร์น่าจะทำการเจาะฟันแล้วอุดฟันด้วยยางมะตอย เพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้เศษอาหารเข้าไปติดอยู่ในโพร่งฟัน

ด้าน เคลาดิโอ ตูนิซ (Claudio Tuniz) นักโบราณคดีจาก University of Wollongong ในออสเตรเลียกล่าวว่า ยางมะตอยและสมุนไพรอาจถูกใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อ เช่นเดียวกับขี้ผึ้งที่ใช้ในการรักษาฟันในยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีต่อมา

นอกจากนี้มันยังเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เริ่มรู้จักการบำบัดรักษาอาการผิดปกติในช่องปาก ก่อนที่จะมีการพัฒนาการผลิตธัญพืชอย่างเป็นระบบ และการใช้สารให้ความหวานอย่างน้ำผึ้ง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติของฟันอย่างอาการฟันผุด้วย

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2560