งานใต้ดินของ “หลวงหาญสงคราม” ครั้งส่งเชลยทหารจีน เมื่อไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น

พลเอก หลวงหาญสงคราม (ที่ 3 จากซ้าย) ถ่ายรูปร่วมกับนายทหารพันธมิตรหลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลงแล้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2550)

เรื่อง “งานใต้ดินของหลวงหาญสงคราม” ที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมคัดมาลงในเว็บไซต์นี้ ตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2550 ในชื่อเรื่อง “งานใต้ดินของหลวงหาญสงคราม” เป็นตอนหนึ่งจากงานเขียนเรื่อง ชีวประวัติของ พลเอก หลวงหาญสงคราม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ. (พิชัย หาญสงคราม) ซึ่งเขียนโดยท่านเจ้าของประวัติเอง

เนื้อหารวมพิมพ์อยู่ในหนังสือที่แจกเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงหาญสงคราม ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512)

เนื้อหาที่กองบรรณาธิการคัดมามีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ เน้นคำใหม่ โดยกองบรรณาธิการ)


 

ประมาณปลายเดือนมกราคม 2587 พล.ท. จิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพได้สั่งให้ข้าพเจ้า ผบ. พล 3 กับ พ.อ. หลวงเกรียงเดชพิชัย ผบ. พล 4 ให้ไปพบที่ ม. พยาค ณ ตำบลและตามวันเวลาที่กำหนด

เมื่อพบกันแล้ว ท่านได้สั่งให้ส่งเชลยทหารจีนมีกำลังพอสมควร ไปพบกับผู้บัญชากองพลที่ 93 ทหารจีน เพื่อความสัมพันธไมตรี ยุติการรบโดยไม่เป็นศัตรูกันต่อไป เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถานการณ์บังคับ เราจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีน เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันต่อไป

เมื่อท่านแม่ทัพได้สั่งการเสร็จก็ได้แยกทางกันกลับ เมื่อถึง บ.ก. พล 3 ข้าพเจ้าได้จัดการตามคำสั่งดังนี้

1. ให้จัดธงขาวกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร และยาว 60 เซนติเมตร แล้วเขียนภาพจับมือไขว้
2. จัดจ่านายสิบ 1 กับพลทหารจีนอีก 3 คน เตรียมเดินทางไปยังเขตแดนจีน
3. ให้ ร.ต.ท. ธานี สุนทรกิจ เขียนหนังสือจีนเป็นใจความตามที่กล่าวแล้ว
4. จัดเครื่องแต่งกายและเสบียงอาหารให้กับทหารจีนเพื่อการเดินทาง เฉพาะอาหารให้พอกินได้ 2 วัน

เมื่อได้เตรียมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันต่อมา ข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการนายทหารคนสนิทหน่วยป้องกันก็ออกเดินทางไปจาก บ.ก. พล 3 ตรงไปยัง ม. มะ เพื่อสมทบกับ พ.ท. ประยูร สุคนธทรัพย์ ผบ. พัน ร. ซึ่งทำการยึด ม. มะและรักษาชายแดนแม่น้ำลำให้ร่วมเดินทางไปยัง ม. ลา พอถึงแม่น้ำลำก็ปล่อยเชลยข้าศึกข้ามแม่น้ำลำ (เดินลุยข้ามได้) ไปยังฝั่งเขตแดนจีน กับสั่งให้ พ.ท. ประยูร สุคนธทรัพย์ จัดหมู่รับข่าวไว้ที่ชายฝั่งแม่น้ำลา แล้วข้าพเจ้ากับคณะได้เดินทางกลับที่พักในวันเดียวกัน

ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2487 ข้าพเจ้าได้รับข่าวจากผู้บัญชาการ พล 93 ว่า ได้รับหนังสือและยินดีที่จะพบปะกับผู้แทนทหารไทยให้รีบส่งไปจะคอยรับที่ ม. เชียงล้อ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2487 ริมฝั่งแม่น้ำลา

ต่อมาข้าพเจ้าได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ ดังนี้

1. พ.อ. หลวงไกรนารายณ์ เสนาธิการ พล 3 (ถึงแก่กรรมเสียแล้ว)
2. พ.ท. แสวง ทัพภะสุต ฝ่ายเสนาธิการ
3. พ.ต. กระจ่าง ผลเพิ่ม ฝ่ายเสนาธิการ
4. ร.อ. สมาน วีระไวทยะ นายทหารคนสนิท
5. ร.ต.ท. ธานี สาทรกิจ ล่ามภาษาจีน

รวมเป็นคณะ ได้เดินทางไปพบผู้บัญชาการกองพลที่ 93 ทหารจีนยัง เชียงล้อ ซึ่งเป็นการเริ่มแรก เพื่อปรับความเข้าใจและเลิกเป็นศัตรูกัน

ได้รับรายงานจาก พ.อ. หลวงไกรนารายณ์ ว่าทางผู้บัญชาการทหารจีนได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี ก่อนข้ามแม่น้ำลำได้จัดการปลดอาวุธของเราเอง เมื่อขี่ม้าลุยน้ำข้ามไปยังฝั่งเขตแดนจีน ซึ่งฝ่ายทหารจีนได้เตรียมตั้งอาวุธปืนกลป้องกัน เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำไปแล้ว มีทหารจีนจูงม้าไปยังที่พักที่ได้เตรียมเอาไว้ พอหยุดพักหายเหนื่อยก็เริ่มประชุม ฝ่ายเราได้เสนอตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว ฝ่ายทางทหารจีนก็แสดงความพอใจหยุดรบและเป็นมิตรกันต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงจะส่งข่าวให้ทราบทุก 15 วัน กับจะนัดพบกันเมื่อใดจะบอกล่วงหน้าให้ทราบภายใน 7 วัน

พลเอก หลวงหาญสงคราม และคุณศรีละมุล ภริยา (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2483 ขณะยังเป็นพันโท) ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2550

เมื่อประชุมเสร็จก็พอดีรับประทานอาหารกลางวัน ทางฝ่ายจีนเป็นผู้จัด มีอาหารหลายอย่างเช่นเดียวกับภัตตาคารแถวเยาวราช แต่ไม่มีสุราและบุหรี่ เพราะขาดแคลน ระหว่างรับประทานอาหารก็มีการสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศ เพื่อให้ทางฝ่ายจีนเห็นใจ

พอรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางผู้บัญชาการกองพลที่ 93 ได้ขอปืนไรเฟิลสำหรับไว้ยิงสัตว์ 1 กระบอก ผ้าลายสองสีกากีแกมเขียวสำหรับตัดเสื้อกางเกง 1 พับ รองเท้าหุ้มข้อสีดำตามเบอร์ที่กำหนด 5 คู่ และยาควินินสำหรับแก้ไข้เป็นจำนวนพอสมควร และสุราและบุหรี่ในคณะที่ประชุมเป็นจำนวนพอสมควร เมื่อได้ร่ำลากันแล้ว ฝ่ายเราก็ได้ข้ามแม่น้ำลำกลับไปยังที่พัก

เมื่อข้าพเจ้าได้รับรายงานละเอียดจาก พ.ท. หลวงไกรนารายณ์ แล้วก็ยังได้ส่งไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดทันที

ต่อมาในขณะที่ข้าพเจ้าอำนวยการอยู่ที่ บ.ก. พล 3 ณ วัดปางฮุง ได้รับหนังสือจาก พ.ท. หม่อมหลวงขาบ กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งส่งมาจาก ผ.บ.ก. พัน ร. โดย พ.ท. ประยูร สุคนธทรัพย์ มีใจความว่า ได้เข้ามาในประเทศจีนและพยายามมาที่ชายแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า เพื่อต้องการพบกับทหารไทยให้รีบจัดนายทหารไปติดต่อ หนังสือนี้ได้ส่งไปยัง ผ.บ.ก. ทหารสูงสุด

เพื่อให้เป็นความประสงค์ของ พ.ท. หม่อมหลวงขาบฯ และเพื่อส่งของตามที่ ผ.บ. พลที่ 93 ต้องการ จึงได้มีหนังสือนัดพบกับ ผ.บ. พล 93

ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2487 ข้าพเจ้าได้ส่ง พ.อ. หลวงเดชปฏิยุทธ รอง ผ.บ. พล 3 เป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยนายทหารชุดที่เคยไปกับ พ.ท. หลวงไกรนารายณ์ไปพบกับ ผ.บ. พลที่ 93 ณ ม. เชียงล้อตามที่นัดหมายกันไว้ เมื่อ พ.อ. หลวงเดชปฏิยุทธได้ปฏิบัติตามคำสั่งและกลับมารายงานว่า ได้มอบสิ่งของที่ทางฝ่ายทหารจีนต้องการให้กับ ผ.บ. พลที่ 93

เขาแสดงความดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับส่งข่าวคราวภายในประเทศ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นให้เขาทราบ เรื่อง พ.ท. หม่อมหลวงขาบฯ นั้น ได้มาที่ ม. เชียงรุ้งและ ม. เชียงล้อ แต่ทหารจีนไม่ยอมให้พบกับทหารไทยและได้กลับไปแล้ว เมื่อข้าพเจ้าได้รับรายงานละเอียดจาก พ.อ. หลวงเดชปฏิยุทธ แล้วก็ส่งไปยัง บ.ก. ทหารสูงสุด

ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2487 ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจาก ผ.บ.ก. ทหารสูงสุดให้เตรียมจัดคณะนายทหารซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการ ไปประชุมกับผู้แทนกองทัพจีน ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญเกี่ยวกับการวางแผนเพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย และให้นัดหมายวันและตำบลที่จะนัดพบให้เป็นการแน่นอน ข้าพเจ้าได้ให้ล่ามเขียนหนังสือนัดพบไปยัง ผ.บ. กองพลที่ 93 โดยทันที

ต่อมาประมาณปลายเดือนมีนาคม 2487 ข้าพเจ้าได้รับหนังสือการนัดพบกับผู้แทนกองทัพจีนจาก ผ.บ. พลที่ 93 ให้ไปพบในวันที่ 2 เมษายน 2487 ณ ตำบล ม. เชียงล้อ ตามที่เคยกระทำกันมาแล้ว

ครั้นวันที่ 31 มีนาคม 2487 พ.อ. เนตร เขมะโยธิน ได้เดินทางมาถึง บ.ก. พล 3 และได้พบกับข้าพเจ้าและได้แจ้งคำสั่งของ ผ.บ.ก. ทหารสูงสุดให้ทราบ ต่อจากนั้นได้เตรียมหัวข้อที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีนในอันดับต่อไป พ.อ. เนตร เขมะโยธิน ได้นอนค้างคืนที่ บ.ก. พล 3

คณะของเราที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานพิเศษและสำคัญอย่างยิ่งคราวนี้ มีดังนี้

1. ข้าพเจ้า (พล.ต. หลวงหาญสงคราม) ทำหน้าที่ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งประเทศไทย
2. พ.อ. เนตร เขมะโยธิน ทำหน้าที่เสนาธิการของหัวหน้าคณะ
3. พ.ท. กระจ่าง พลเพิ่ม ทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ
4. พ.ท. แสวง ทัพภะสุต ทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ
5. ร.ท. สมาน วีระไวทยะ ทำหน้าที่เป็นนายทหารคนสนิท
6. ร.ต.ท. ธานี สาทรกิจ ทำหน้าที่ล่ามภาษาจีน ซึ่ง พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น จัดส่งไปร่วมงานกับกองพลที่ 3 โดยรวมงานใต้ดินของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่เริ่มแรก

ในเช้าวันที่ 1 เมษายน 2487 คณะของเราได้เดินทางจาก บ.ก. พล 3 ณ วัดปางฮุง ม. เชียงตุงผ่านหนองกัง ม. มะ มุ่งตรงไปยัง ม. ลา และพักค้างคืน 1 คืน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของพม่าติดกับแคว้นยูนนานของจีน ในวันที่ 2 เมษายน 2487 ก็เดินทางต่อไป พอถึงป่าริมแม่น้ำลำก็หยุดม้าแล้วปลดอาวุธของเราให้ทหารรักษาไว้ กับให้สัญญาณและส่งข่าวให้ทางฝ่ายทหารจีนทราบ

ทางฝ่ายทหารจีนได้วางอาวุธปืนกลตามริมฝั่งแม่น้ำลำเพื่อป้องกัน พอเสร็จแล้วให้สัญญาณให้เราข้ามแม่น้ำลำไปได้ (ลุยข้าม) พอถึงฝั่งตรงข้ามบริเวณ ม. เชียงล้อ ก็มีทหารจีนมาจูงม้าไปยังปะรำที่ประชุมที่เขาได้เตรียมสร้างรับรอง กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร ด้วยไม้ไผ่

ภายในทำเป็นโต๊ะและมีม้านั่งหันหน้าเข้าหากัน หลังคามุงด้วยแฝก สร้างตามริมแม่น้ำลำด้วยความเรียบร้อยและร่มเย็นน่าชวนให้ทำการประชุมเป็นเวลานานๆ เมื่อคณะของเราได้พบปะผู้แทนทหารจีนและได้ทำการเคารพกันเป็นการเรียบร้อย

ฝ่ายเราก็ได้นำของฝากมอบให้กับผู้แทนทหารจีน ผู้แทนทหารจีนดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเราเป็นอย่างดี คณะผู้แทนกองทัพจีนซึ่งมี พล.ต. ลิววิเอ็ง ผู้บัญชาการกองพลที่ 93 ของจีนเป็นหัวหน้า ในฐานะผู้แทนจอมพลเจียงไคเช็คกับเสนาธิการ คือ พ.ต. ลี เต้ฉ่าย และฝ่ายเสนาธิการ คือ พ.ต. โฮ้ว ซองเซา และนายบุญศรี รัตนตัน ลูกจีนซึ่งเคยอยู่ในเมืองไทย ทำหน้าที่ล่ามภาษาไทยของฝ่ายจีน
การประชุมได้กระทำเป็น 2 ตอน คือ ตอนเช้าพอเที่ยงวันก็หยุดรับประทานอาหาร พอเสร็จแล้วก็เริ่มประชุมต่อไปจนเกือบพลบค่ำในวันนั้น

ฝ่ายจีนได้จัดอาหารเช่นที่กล่าวแล้วในการประชุมครั้งแรก ส่วนฝ่ายเราได้จัดสุราและบุหรี่ออกทำการเลี้ยงดูตามที่ได้ตกลงกันไว้ นับว่าได้จัดการต้อนรับและเลี้ยงดูคณะของเราเป็นอย่างดียิ่ง

ผลของการประชุมเมื่อสรุปแล้วคงได้ความว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจกันในเรื่องต่างๆ และตกลงในหลักการที่จะไม่เป็นศัตรูต่อกัน พล.ต. ลิววิเอ็งได้ให้คำมั่นแก่เราว่า จะนำข้อความทั้งหมดที่เราเจรจากันนี้รายงานตรงไปยังจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อดำเนินงานทางด้านการเมืองและแผนการทางทหารร่วมมือกันต่อไป ขอกำลังทางอากาศช่วยกำลังทางพื้นดิน ส่วนทางพื้นดินนั้นมีกำลังพอเพียงแล้ว กับทางฝ่ายเราได้ขอร้องด้วยว่า ขอให้ทางฝ่ายจีนนำเรื่องนี้ติดต่อกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ทราบด้วย

ทางฝ่ายจีนก็รับคำ นับว่าการพบปะกับผู้แทนของกองทัพจีนครั้งนี้สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย ที่เราสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้แล้ว เมื่อการประชุมได้เสร็จสิ้นลงแล้วคณะของเราก็อำลากลับมาทางฝั่งไทย พล.ต. ลิววิเอ็งกับคณะของท่านได้ออกมาส่งจนถึงริมฝั่งแม่น้ำลำ คณะของเราก็รีบเดินทางกลับที่พัก ณ บ.ก. พล 3 วัดปางฮุงในค่ำวันนั้น

ต่อมาประมาณปลายเดือนเมษายน 2487 ข้าพเจ้าได้รับหนังสือจากผู้แทนทหารจีนเป็นใจความว่า ให้ฝ่ายไทยเตรียมจัดคณะผู้แทนทางฝ่ายการเมืองและการทหารของจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อเดินทางไปประชุมวางแผนการกันที่จุงกิง โดยทางฝ่ายจีนจะจัดเครื่องบินมารับที่สนามบินเชียงรุ้งในมณฑลยูนนาน

การข้ามเขตแดนจากพม่าไปยูนนานที่ ม. เชียงล้อ ทางฝ่ายจีนจะจัดขบวนม้ามารับ แล้วเดินทางต่อไปขึ้นเครื่องบินที่ ม. เชียงรุ้ง ซึ่งทางกองทัพจีนจะส่งมารอคอยอยู่ และเมื่อข้ามเขตแดนไปแล้วจะต้องปลอมตัวเป็นทหารจีนทั้งหมด เพื่อมิให้ทหารของเขาให้เกิดสงสัย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดผู้แทนไว้ดังนี้

1. พ.ท. เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเวสต์ปอยต์เป็นนายทหารติดต่อกับกองทัพจีนที่นครจุงกิง
2. พล.ต.อ. หลวงอดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าคณะ
3. พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง
4. ข้าพเจ้า (พล.ต. หลวงหาญสงคราม) กับ พ.อ. เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้แทนฝ่ายทหาร

ทั้งนี้ให้เตรียมตัวรอคอยไว้ เมื่อทางกองทัพจีนกำหนดวันไปเมื่อใด ให้สามารถปฏิบัติการได้ทันที

ในระหว่างรอคอยการนัดหมายที่จะเดินทางไปประชุมที่นครจุงกิงนั้น การปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีนได้สงบเงียบไป มีบางครั้งที่ต้องเล่นละครใหญ่ให้ญี่ปุ่นเห็น คือเมื่อทหารญี่ปุ่นได้ส่งหน่วยทหารไปตรวจแนวหน้าทางด้าน ม. ยาง และ ม. เชียงล้อ ทางฝ่ายเราได้นัดหมายและกำหนดวันเวลาให้กองทหารจีนทราบ และให้ทำการยิงมายังแนวรบฝ่ายเรา และฝ่ายเราก็ยิงตอบจนหน่วยทหารญี่ปุ่นต้องหลบเข้าที่กำบัง

เมื่อญี่ปุ่นได้เห็นว่าฝ่ายเรากับฝ่ายทหารจีนยังมีการสู้รบกันอยู่แล้วเขาก็กลับ และภายหลังทางฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยว่าเราได้ส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไปติดต่อกับกองทัพจีน เขาจึงส่งหมู่ตรวจเหตุการณ์ไปประจำทางด้าน ม. ยาง 1 หมู่ และทางด้าน ม. หลวย (ด้าน พล 4) 1 หมู่ ส่วนทางด้าน ม. ลา ที่เราไปประชุมกันไม่ได้ส่งไป

ในขณะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองภายในได้เริ่มผันแปรไปอย่างรวดเร็ว และได้เกิดระเบิดขึ้นอย่างมิได้มีใครนึกฝัน คือ รัฐบาลซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตกลงใจเสนอใบลาออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 เนื่องจากรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนเกี่ยวกับการรับรองพระราชกำหนดบางฉบับ และนายควง อภัยวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2487

เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติที่จะไม่ให้ทหารต้องเกิดรบกันเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสียสละลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด และลาออกจากทางทหารทุกตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่บริหารงานของประเทศต่อไป และรัฐบาลใหม่ได้แต่งตั้งให้จอมพล ป. เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กับได้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดและตั้งแม่ทัพใหญ่ คือ พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา และรองแม่ทัพใหญ่ คือ พล.ท. หลวงสินาดโยธารักษ์

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วการเมืองภายในก็เปลี่ยนโฉมหน้า งานใต้ดินของ จอมพล ป. ก็พลอยปิดฉากไปด้วย แผนการที่จะส่งคณะผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนทางการทหารไปเจรจากับสัมพันธมิตรที่นครจุงกิงเป็นอันยุติลง และทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ดำเนินการอีกด้านหนึ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565