ตีแผ่เรื่องฉาว กลยุทธ์รัสเซีย “ติดสินบนไทย” และแผนการซึ่งถูกปิดกั้นสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่าย การเจรจาสนธิสัญญาปอร์ทสมัธ (Treaty of Portsmouth) ระหว่างฝ่ายรัสเซีย (ซ้ายของภาพ) และฝ่ายญี่ปุ่น ภาพ Public Domain

ตีแผ่ข้อมูลเรื่องอื้อฉาว กลยุทธ์ในอดีตของ รัสเซีย เล็ง “ติดสินบนไทย” และแผนการซึ่งถูกปิดกั้นสมัยรัชกาลที่ 5

เหตุผลการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 มีผลเกี่ยวเนื่องมาจากประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ไทยจึงจำเป็นต้องหาประเทศมหาอำนาจที่ 3 และ 4 เพื่อมาคานอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสเอาไว้ รัสเซียจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ไทยต้องการให้เข้ามามีอิทธิพลร่วมด้วย ในเวลาต่อมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียก็ได้จบลง เพราะผลพวงการเสนอ “ติดสินบน” จากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น

Advertisement

ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนบทความ “ระทึกพระราชดำรัส ร.5 ชี้เป็นชี้ตาย แผนพันธมิตรซ้อนพันธมิตรถูกปิดกั้นและเรื่องอื้อฉาว “รัสเซียติดสินบนไทย” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ได้ค้นคว้าถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 และค้นพบว่าพระองค์ทรงหาวิธีทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ของฝ่ายสยามที่ถูกยับยั้งหน่วงเหนี่ยวไว้ทุกวิถีทาง กล่าวคือ “ฝ่ายตรงข้าม” ไม่มีความประสงค์จะดำเนินการใดในลักษณะประนีประนอมตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 5

ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ยืนยันสาเหตุของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกว่า เป็นเหตุผลทางการเมืองโดยตรงทรงอธิบายว่า

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริว่า การที่จะแก้ไขอันตรายของบ้านเมืองอยู่แต่ในบ้านนั้น จะไม่มีผลสำเร็จแน่ เพราะรัฐบาลต่างประเทศไม่รู้เหตุการณ์จริง เขาต้องเชื่อแต่คนของเขา ซึ่งมีความปรารถนาจะเอาเราเป็นเมืองขึ้นเท่านั้น ยั่วเย้าจับผิดจะให้เรารบให้ได้ เพราะถ้าเรารบแล้วก็อย่าหวังเลยว่าจะเอาชนะเขาได้ ฝ่ายเราก็ทำเป็นไม่โกรธอยู่ตลอดเวลา จึงตกลงพระราชหฤทัยเสด็จไปยุโรปใน พ.ศ.2440”

เนื่องจากความอุตสาหะของรัชกาลที่ 5 ในเวลานั้นก็ยังไม่สามารถ “หยุด” ฝรั่งเศสมิให้คิดเอาเมืองสยามได้ พระองค์ทรงมีความพยายามที่จะเสด็จฯ ประพาสยุโรป เพื่อไปเจรจาปัญหาทางการเมือง และแสวงหาพันธมิตรอื่นๆเพื่อมาสกัดกั้นการมีอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศสในสยามในช่วงเวลานั้น

แม้สยามจะมีการลงนามในปฏิญญาฉบับ พ.ศ.2439 ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงคุกคามที่จะยึดดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของสยามในขณะนั้น พระเจ้าไกเซอร์วิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมนี ทรงแนะนำให้รัชกาลที่ 5 ขอความร่วมมือจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ร่วมกันประกันเอกราชและบูรณภาพของอาณาเขตสยาม

ซึ่งทางอังกฤษและฝรั่งเศสต่างพาไม่เห็นด้วย ฝ่ายอังกฤษเกรงกลัวว่า ถ้าเยอรมนีตกลงประกันเอกราชของสยามแล้ว รัฐบาลสยามจะตอบแทนรัฐบาลเยอรมนีด้วยการอนุญาตให้สร้างสถานีเชื้อเพลิง ที่เกาะใดเกาะหนึ่งในสยามก็ได้ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสก็เกรงกลัวว่าถ้ารัสเซียเข้ามามีอิทธิพล รัฐบาลสยามจะอาศัยอิทธิพลที่รัสเซียมีอยู่ บีบบังคับรัฐบาลฝรั่งเศสให้อ่อนข้อต่อการต่อรองที่มีขึ้นระหว่างรัชกาลที่ 5 กับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส

เพิ่มมหาชาติอำนาจอื่นๆ เพื่อคานอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งเสริมให้มหาอำนาจชาติอื่นๆ เช่น รัสเซียและเยอรมนีให้เข้ามามีผลประโยชน์และอิทธิพลในสยามพร้อมๆกัน เพื่อคานอำนาจระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสไว้

รัฐบาลสยามเล็งเห็นว่าทั้งรัสเซียและเยอรมนี มีความขัดแย้งกับอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่แล้ว ในเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลก

นอกจากฝรั่งเศสซึ่งเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” ของสยามมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แล้ว อังกฤษนั้นก็เป็นทั้งมิตรและศัตรูของสยามตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 เช่นกัน พูดง่ายๆ ก็คืออังกฤษได้ปลูกฝังค่านิยมไว้อย่างเหนียวแน่น จนผู้นำสยามตั้งแต่ชั้นพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นขุนนางพากันเชื่อว่าถึงอย่างไรอังกฤษก็จะไม่ทอดทิ้งสยาม ทำให้ชาวสยามผูกจิตผูกใจและชื่นชอบอังกฤษประดุจ “ปลารักน้ำ”

ทั้งนี้ อังกฤษยังมีนโยบายเพียงใช้สยามเป็นรัฐกันชนกับเมืองขึ้นของฝรั่งเศสคือ เขมร ลาว ญวน เท่านั้น ทำให้อังกฤษไม่แสดงความมุ่งหมายที่จะครอบครองสยามอย่างจริงจัง นอกจากจะกีดกันชาวสยามมิให้คบค้าสมาคมและตีสนิทกับศัตรูของอังกฤษซึ่งมีอยู่ทั่วไป

รัชกาลที่ 5 ทรงได้มีโอกาศคุ้นเคยกับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย และได้สนิทสนมกับพระเจ้าไกเซอร์เยอรมนีเพิ่มขึ้น ทำให้อังกฤษพะว้าพะวงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า รัสเซียกำลังมองหาแหล่งถ่านหินเพื่อใช้เป็นสถานีเชื้อเพลิง สำหรับกองเรือรบของตนในทะเลจีนใต้ ส่วนเยอรมนีก็พยายามสร้างฐานะทางการเมืองและเศรษฐกิจของตนให้มั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องหาทางจัดตั้งฐานทัพเรือในทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรอินเดีย เยอรมนีจึงขอเช่าที่ดินใกล้เกาะปีนังจากสยาม

ในภายหลังรัฐบาลก็ได้ให้รัสเซียและเยอรมนีเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในสยาม ซึ่งผลงานของชาวเยอรมนีที่สร้างชื่อเสียงไว้ คือการก่อตั้งกรมไปรษณีย์ โทรเลข และกรมรถไฟ ฯลฯ

ทั้งนี้ ไกรฤกษ์ นานา ได้ยกหลักฐานที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแถลงการณ์หมายกำหนดการเสด็จฯ และพระราชกรณียกิจที่กำลังจะมีขึ้นในรัสเซีย กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“ความใกล้ชิดทางพระราชไมตรีระหว่างพระเจ้าซาร์และคิงจุฬาลงกรณ์ เป็นใบเบิกทางของความก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง ฯลฯ

หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจที่สุด คือการจัดสร้างสถานีเชื้อเพลิง เพื่อใช้สำหรับฐานทัพเรือของเราใต้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งดูใกล้ความจริงขึ้นในคราวนี้เอง เป็นที่คาดหมายว่าเรื่องนี้จะเป็นหัวข้อหนึ่งในการเจรจาระหว่างการเสด็จมาเยือนของคิงจุฬาลงกรณ์”

อิทธิพลของรัสเซียและเยอรมนีสร้างความหวั่นวิตกในอังกฤษมาก ในทางฝรั่งเศสก็มิได้เพียงแต่แข่งบารมีกับอังกฤษเท่านั้น แต่ยังต้องคุมเชิงรัสเซียซึ่งมีความทะเยอทะยานทางจักรวรรดินิยมในเอเชียเช่นกัน แต่ต้องคบหารัสเซียเป็นพันธมิตรไว้เพื่อเสถียรภาพของตนในยุโรป อีกทั้งเยอรมนีซึ่งเป็นคู่อริเก่าของฝรั่งเศสจากสงครามฟรังโกปรัสเซีย

ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสหวนกลับมาเปิดการเจรจากันใหม่ ซึ่งการเจรจานี้ได้ฟื้นฟูในเดือนตุลาคม พ.ศ.2438 เกี่ยวกับเมืองสิงห์ และความเป็นกลางของสยาม

ซึ่งตกลงกันว่าอังกฤษจะยกเมืองสิงห์ให้ฝรั่งเศส โดยมีข้อแม้ว่า ฝรั่งเศสจะร่วมมือกับอังกฤษทำอนุสัญญาต่อกันว่าจะเคารพเอกราชของสยาม ซึ่งนำไปสู่การลงนามในปฏิญญาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส (Anglo-French Declaration) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2439 อันเป็นการกีดกันมหาอำนาจอื่นๆ ล่วงหน้า

แผนพันธมิตร “ซ้อน” พันธมิตร

ทฤษฎีพันธมิตรซ้อนพันธมิตรของสยามถูกซ้อนแผนอีกครั้ง เมื่อรัสเซียส่งราชทูตคนแรกเข้ามาประจำในกรุงเทพฯ ชื่อว่านาย “อเล็กซานเดอร์ โอลารอฟสกี้” ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้แทนของรัสเซียเพียงเท่านั้น แต่ยังทำตัวเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์อย่างไม่เป็นทางการของฝรั่งเศสอีกด้วย โดยอาศัยความสนิทสนมของพระเจ้าซาร์กับรัชกาลที่ 5 อาทิเช่น ทาบทามให้ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานในการขุดคอคอดกระ เป็นต้น

นายโอลารอฟสกีเปิดเผยแผนของตนต่อรัฐบาลรัสเซียว่า “เราจะมีอิทธิพลอย่างไร้ขอบเขตอยู่ในสยาม ถ้าหากว่าเราสามารถช่วยรัฐบาลสยามให้ยุติปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลฝรั่งเศสได้”

บรรยากาศทางการเมืองในสยามดูเลวร้ายลงไปอีก เมื่อฝรั่งเศสมีโครงการจะส่งทหารเข้ามาเสริมในภูมิภาคนี้ ทำให้นายโอลาฟสกี รับบทเป็นคนกลางคอยไกล่เกลี่ยระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพราะเล็งเห็นว่า อาจจะทำให้เกิดปัญหาภายหลังตามมา ซึ่งจะกระทบกระเทือนอิทธิพลของรัสเซียในสยาม และอาจทำให้แผนการแสวงหาผลประโยชน์ของรัสเซียต้องล้มเหลวไปด้วย

นายโอลารอฟสกีจึงทูลเสนอความคิดที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในอินโดจีน ด้วยการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อเยี่ยมเยียนกันและกัน ฝ่ายสยามส่ง “พระยาศรีสหเทพ” ไปไซ่ง่อนก่อน

ส่วนฝรั่งเศสส่ง “พอล ดูแมร์” ข้าหลวงใหญ่เข้ามาเป็นการตอบแทน แต่สุดท้ายสยามก็ถูกสกัดกั้นจากทางรัฐบาลกรุงปารีส เนื่องจากเห็นว่ามีเรื่องของพันธมิตรที่ 3 และ 4 (รัสเซียและเยอรมนี) ปนอยู่ด้วย ทำให้ฝรั่งเศสรับไม่ได้

เป้าหมายสูงสุดของรัชกาลที่ 5 เห็นได้จากพระราชปณิทานที่ว่า ทางรอดของสยามอยู่ที่ความตั้งใจจริงของมหาอำนาจทั้งสี่นั้น ถ้ารัสเซียและเยอรมนีสามารถชักนำให้อังกฤษและฝรั่งเศสหันมาร่วมมือกันรับรองเอกราชของสยามได้ ก็จะเป็นทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุด

แต่ปัญหาคืออังกฤษและฝรั่งเศสไม่ต้องการจะร่วมมือกับรัสเซียและเยอรมนี จึงได้มีนโยบายกีดกันและปิดกั้นมหาอำนาจที่ 3 และ 4 อีกครั้ง เป็นผลทำให้ความพยายามของ นายโอลารอฟสกีที่คาดหวังความก้าวหน้าทางการทูตของรัสเซียจากการทำตัวเป็นคนกลางระหว่างสยามกับฝรั่งเศสต้องยุติลงอย่างกะทันหัน

รัสเซียเสนอ “สินบน” ให้แก่พระยาสุริยานุวัตร

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่เข้ามากระทบกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามและรัสเซีย เรื่องดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น(พ.ศ.2447) สงครามครั้งนี้ยังส่งผลทำให้รัฐบาลสยามมองรัสเซียเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี กล่าวคือ เมื่อสงครามเกิดขึ้น สยามได้ประกาศความเป็นกลางในสงคราม

ต่อมารัสเซียส่งเคานต์อาช ผู้ช่วยทูตที่กรุงปารีสให้มาทาบทามพระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูตสยามในทางลับ เพื่อขออ้างชื่อสำหรับซื้อเรือรบจากรัฐบาลอาร์เจนติน่า และรัฐบาลชิลี 4 ลำ หวังนำมาใช้กอบกู้สถานการณ์ของรัสเซียในสงคราม เนื่องจากรัสเซียไม่สามารถติดต่อซื้อเรือรบด้วยตัวเองอันเป็นผลจากข้อตกลงในที่ประชุมสันติภาพที่กรุงเฮก (พ.ศ. 2442) ซึ่งห้ามรัฐบาลที่เป็นกลางขายอาวุธให้ประเทศคู่สงครามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่ากรณีใด

ไกรฤกษ์ นานา ผู้เขียนบทความระบุว่า ตามแผนของเคาน์ตอาช รัฐบาลรัสเซียเสนอ “สินบน” จำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านฟรังก์ ให้แก่พระยาสุริยานุวัตร

โดยที่พระยาสุริยานุวัตร ต้องให้เจ้าหน้าที่ของสยามคนใดคนหนึ่ง รับสมอ้างและปลอมแปลงเอกสารทางราชการ เพื่อยืนยันกับอาร์เจนติน่าและชิลีว่า รัฐบาลสยามมีความประสงค์จะซื้อเรือรบทั้ง 4 ลำ เพราะรัสเซียไม่สามารถติดต่อซื้อเรือรบดังกล่าวด้วยตนเองได้

เมื่อสยามทำการซื้อขายเรือรบจากอาร์เจนติน่าและชิลีได้สำเร็จ รัสเซียจะโอนเงินค่าเรือให้แก่รัฐบาลผู้ขายนั้นในนามของรัฐบาลสยาม จากนั้นเรือรบทั้ง 4 ลำก็จะชักธงสยามแล่นออกมา เมื่อพ้นน่านน้ำอาร์เจนติน่าและชิลีแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นชักธงรัสเซียขึ้นแทน แล้วจะให้พระยาสุริยานุวัตรประกาศว่าเอกสารทางราชการข้างต้นเป็นเอกสารเท็จ พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะรับผิดชอบการซื้อขายเรือรบครั้งนี้

แผนการของรัสเซียจะเป็นการชักนำสยามเข้าร่วมสงครามกับรัสเซียเพราะจะเป็นการละเมิดความเป็นกลางของสยาม นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นและประเทศที่เป็นกลางอื่นๆ ก็จะประณามสยามด้วยว่าสมรู้ร่วมคิดกับรัสเซีย แต่รัสเซียก็ได้รับรองอีกว่า ถ้าสยามช่วยให้สำเร็จแล้ว ในภายหน้าสยามจะไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศสอีกเลย เพราะรัสเซียจะคอยช่วยหนุนและปกป้องตลอดไป

พระยาสุริยานุวัตรได้ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนทั้งหมด เพราะความพยายามของรัสเซียที่จะติดสินบนราชทูตสยามในทางมิชอบ เป็นการสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ปรากฏว่ารัสเซียเป็นฝ่ายแพ้ จึงทำให้เกียรติภูมิของรัสเซียในสยามลดลงไปแทบหมดสิ้น

การปิดกั้นมหาอำนาจที่ 3 และ 4 ของอังกฤษและฝรั่งเศส

ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สยามประสบความสำเร็จเพียง “ระยะแรก” ในการดึงรัสเซียและเยอรมนีเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อคานอำนาจของฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่อังกฤษเล็งเห็นว่า ถ้าเกิดปล่อยให้รัสเซียกับเยอรมนีเข้ามาสร้างสัมพันธภาพกับสยาม จะสร้างความกระทบเทือนต่ออิทธิพลของอังกฤษอย่างมาก

“อนุสัญญาลับฉบับ พ.ศ. 2440” ระหว่างสยามกับอังกฤษมีข้อความซึ่งเป็น “อุปสรรค” ต่อการที่รัสเซียและเยอรมนีจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้

ซึ่งฝรั่งเศสเองก็ไม่พอใจกับความสัมพันธ์อันสนิทสนมของพระเจ้าซาร์และรัชกาลที่ 5 อันทำให้รัสเซียถูกดึงเข้ามาก้าวก่ายผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในคาบสมุทรอินโดจีนอยู่เนืองๆ

อังกฤษจึงตัดสินใจไกล่เกลี่ยกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อปิดกั้นมหาอำนาจที่ 3 และที่ 4 จากภูมิภาคนี้ ซึ่งนำไปสู่การลงนามในปฏิญญาระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส (Anglo-French Declaration) ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2439 ว่า ตกลงให้สยามเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการรับรองเอกราชและอธิปไตยของสยาม

 


อ้างอิง :

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6. สร้างสรรค์, 2516.

พูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ. ประชุมพระนิพนธ์ เล่ม 1. บริษัท รวมสาส์น จำกัด, 2529.

Kennan, George F. The Fateful Alliance. New York, 1984.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ “ระทึกพระราชดำรัส ร.5 ชี้เป็นชี้ตาย แผนพันธมิตรซ้อนพันธมิตรถูกปิดกั้นและเรื่องอื้อฉาว ‘รัสเซียติดสินบนไทย’” เขียนโดย ไกลฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565