ผู้เขียน | เมฆา วิรุฬหก |
---|---|
เผยแพร่ |
ในการฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้น พร้อมกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเสนอเรื่องพระบรมรูปเอาไว้ว่า
“…ตามที่เคยทำมาแต่ก่อน พระเทพบิดรว่าทำเป็นรูปเทวดา ภายหลังมาแปลงเป็นพระพุทธรูป รุ่นหลังลงมาทำเป็นพระพุทธรูปทั้งนั้น มีพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เป็นต้น แต่เวลานี้จะทำเป็นพระพุทธรูปเห็นจะไม่สมสมัย จึงคิดว่าทำเป็นรูปกษัตริย์ทรงขัตติยภรณ์กุมพระแสงขรรค์ตามแต่ช่างจะเห็นงามอย่าง ทำรูปเทวดาเป็นดี ในการที่ทำเช่นนี้จะมีคนเข้าใจต่างๆ กันไปได้ตามประสาใจตน จะเข้าใจว่าเป็นพระบรมรูปโดยสมมติก็ได้ เป็นเทวดา คือพระบรมรูปในปรโลกก็ได้ จะเป็นเจ้าก็ได้ ถ้าฝรั่งก็คงเข้าใจอย่างที่เขาเรียกว่า อัลเลโกริค (Allageric) เห็นว่าอย่างไรก็ได้ใช้เป็นกลางๆ ไม่มีโทษ…”
ตามข้อมูลของวิไลรัตน์ ยังรอด ในบทความ “พระปฐมบรมราชานุสรณ์” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เมษายน 2535 ระบุว่า ในการประชุมครั้งนั้น นอกจากเรื่องรูปแบบของพระบรมรูปแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังเสนอสถานที่สร้างให้สร้างที่บริเวณวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วย ซึ่งเบื้องต้นมิได้มีการคัดค้าน เพียงแต่ยังตกลงไม่ได้ว่าจะสร้างพระรูปเป็นพระบรมรูปหรือรูปเทวดา และดูเหมือนว่าพระดำริของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็จะได้รับการยอมรับด้วยดี
แต่ในการประชุมครั้งที่ 2 เริ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้สร้างทั้งพระบรมรูปพร้อมสะพาน, ฝ่ายที่เสนอให้สร้างแต่พระบรมรูป เหลือเงินแล้วให้สนับสนุนด้านการศึกษาแทน, ฝ่ายที่ให้สร้างแต่สะพาน, ฝ่ายที่สนับสนุนให้สร้างพระบรมรูปที่วัดสุทัศน์ แต่ไม่ยอมให้รื้อตลาดเสาชิงช้าด้านหน้าวัดออก, และฝ่ายที่เห็นว่าควรสร้างพระบรมรูป แต่ไม่ควรสร้างเป็นรูปเทวดา
เมื่อมาประชุมกันอีกเป็นครั้งที่ 3 ปรากฏว่า ผลการประชุมครั้งนี้ให้ผลต่างไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของพระยาจินดาภิรมย์ ที่ว่า “…ให้สร้างตึกศาลสนามสถิตย์ยุติธรรมเป็นฉากหลังพระบรมรูปในบริเวณข้างสนามหลวง…”
แต่สุดท้าย มติดังกล่าวก็ถูกยกเลิก โดยรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด “ให้ทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเหมาะที่สุดแก่รูปการคราวนี้ เพราะว่าถ้าไม่ได้สร้างทำในคราวนี้แล้ว การก็จะชักลากไปอีกนานกว่าจะได้ทำ…ส่วนพระบรมรูปนั้นให้ทำที่บริเวณใกล้สะพาน”
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการสร้างทั้งสะพานและพระบรมรูปตามพระราชดำริ โดยในส่วนของพระบรมรูปนั้น กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมอบหมายให้นายเฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) ประติมากรชาวอิตาลีเป็นผู้ปั้น ก่อนส่งแบบไปหล่อสัมฤทธิ์ถึงประเทศอิตาลี และกลายมาเป็นพระปฐมบรมราชานุสรณ์ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งผิดไปจากพระดำริเดิมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทั้งเรื่องของสถานที่ และรูปแบบของพระบรมรูป
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2560