“มอราล ทรีตเมนต์” วิถีบำบัดผู้ป่วยโรคจิตแบบใหม่ รักษา “ทั้งคน” และ “ทั้งไข้”

การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่ (คือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยตามอย่างตะวันตก สมัยที่ ดร.ไฮเอตเป็นผู้อำนายการโรงพยาบาล

มอราล ทรีตเมนต์ (Moral Treatment) หมายถึงการบำบัดเยียวยาผู้มีปัญหาทางจิตหรือผู้ป่วยโรคจิต โดยอาศัยเมตตาธรรม ความเข้าอกเข้าใจ กับการจัดสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ น่าดู สะอาดสะอ้านสวยงาม

มอราล ทรีตเมนต์ ในทางสากลเริ่มต้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในห้วงต้นศตวรรษที่ 18 และแพร่หลายไปยังประเทศอังกฤษ อิตาลี และประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป ทั้งนี้ยังข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอเมริกาด้วย…

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ให้ความหมายของมอราล ทรีตเมนต์ ว่าเป็นการปฏิบัติต่อคนไข้โรคจิตอย่างมีศีลธรรม กล่าวสำหรับมอราล ทรีตเมนต์ ในประเทศไทยที่เป็นระบบแบบฝรั่งน่าจะเริ่มต้นที่โรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน อันเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคจิตโดยเฉพาะแห่งแรกในประเทศไทย ปี 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงแม้โรงพยาบาลแห่งนี้ในช่วงต้น ๆ จะมีลักษณะของที่กักขัง-อะไซลัม (asylum) และดูแลผู้ป่วยคล้ายนักโทษมากกว่าการบำบัดเยียวยาแบบโรงพยาบาล (hospital care) แต่น่าจะถือได้ว่ามอราล ทรีตเมนต์ เริ่มเปล่งประกายขึ้นที่นั่นเป็นเบื้องต้น

ต่อมาเมื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่แบบฝรั่ง ลึกเข้าไปจากปากคลองสาน โดยซื้อที่ดินบ้านและสวนของตระกูลสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี 2455 ประกอบกับมีผู้อำนวยการเป็นแพทย์ฝรั่งชาวอังกฤษชื่อเอ็ม. คาธิวส์ (Dr.Modern Cathews) มอราล ทรีตเมนต์ ในเมืองไทยจึงฉายแววสมบูรณ์ใกล้เคียงกับแบบฝรั่ง ซึ่งเข้าใจว่าดร.คาธิวส์คงจะได้ความคิดมอราล ทรีตเมนต์ มาจากวิลเลียม ตุ๊กส์ (Dr.William E. Tukes, 1732-1822) แพทย์ชาวอังกฤษผู้ให้กำเนิดยอร์ก รีทรีต (York Retreat) อันเป็นบ้านงาม สงบและเรียบง่ายในชนบท เพื่อมอราล ทรีตเมนต์ สำหรับผู้ป่วยโรคจิตที่นั่น เป็นการบุกเบิกโดยเฉพาะ

ผู้เขียนจะเริ่มเล่าเรื่องมอราล ทรีตเมนต์ ทางยุโรปและอเมริกาแต่พอสังเขปก่อนจะเล่าเรื่องมอราล ทรีตเมนต์ ในบ้านเรา ซึ่งมีสาระความเป็นมาที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางนั้น และมีข้อที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

มอราล ทรีตเมนต์ ของฝรั่งเริ่มต้นที่ฝรั่งเศส ในช่วงหลังการปฏิวัติใหญ่ระยะแรกเล็กน้อย ฟิลิป พิเนล (Philippe Pinel, 1745-1826) ผู้กล้าหาญปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยโรคจิต และปรับปรุงโรงพยาบาลให้มีความเป็นโรงพยาบาลมากกว่าที่กักขัง-อะไซลัม อันเป็นที่ที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลราวสัตว์ร้าย ไร้ศีลธรรม

ข้อความพรรณนาถึงการดูแลผู้ป่วยโรคจิตในสมัยพิเนลก่อนจะมีมอราล ทรีตเมนต์

“ผู้ป่วยจะถูกตรึงและล่ามไว้ด้วยโซ่กับผนังตึก ในห้องที่มืดมัวมีแสงส่องแต่น้อย คอผู้ป่วยถูกขันไว้ด้วยห่วงเหล็กแน่นหนา ทำให้ต้องแนบหลังติดผนังตลอดเวลา โอกาสเคลื่อนไหวมีเพียงเล็กน้อย บ่อยทีเดียวที่ผู้ป่วยถูกเข็มขัดเหล็กรอบเอวยึดติดกับต้นแขนทั้งสองข้างและข้อเท้าทั้งคู่ล่ามด้วยโซ่ ถึงแม้ว่าโซ่ เข็มขัดเหล็กจะยาวพอผ่อนให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตักอาหารการกินได้บ้าง แต่ก็ไม่ยาวพอที่จะให้นอนราบกับพื้นได้ อาหารการกินของผู้ป่วยไม่มีใครรู้มากนักว่าดีเลวประการใด พื้นห้องขังมีเพียงฟางแห้งปูลาดไว้ แต่จะแฉะขึ้นอยู่เนือง ๆ ด้วยสิ่งปฏิกูลโสโครก ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนปัดกวาดทำความสะอาด ห้องจึงอบอวลกลิ่นสกปรกตลอดเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปในบริเวณนั้น ยกเว้นเวลาให้อาหาร ไม่มีเครื่องทำให้อบอุ่นหรือแม้แต่ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับชีวิต”

ผู้ป่วยโรคจิตในอเมริกาในห้วงเวลานั้นก็ถูกคุมขังเลวร้ายไม่แพ้กัน

“ผู้ป่วยโรคจิตมักถูกมองว่าเป็นคนเพียงครึ่งเดียว จึงถูกแขวน จองจำ ทรมานด้วยวิธีที่สยดสยองชั่วร้ายต่าง ๆ ราวกับเป็นซาตาน ถูกมัด ถูกขังกรงราวกับสัตว์ร้าย ถูกขังในห้องมืดราวกับอาชญากร และถูกควบคุมเหมือนทาส บางคนถูกเปลือยและปล่อยให้หลบหนีไปแต่จะถูกตามล่ารุกไล่ทุบตีเหมือนหมาบ้า แม้ห้องพักผู้ป่วยที่ถือว่าดีที่สุด ก็ยังมืดมัวทึบทึมไม่ต่างจากคุกอยู่ดี”

การรักษาผู้ป่วยทางจิตในโรงพยาลาลเบธเลเฮม ประเทศอังกฤษ ก่อนมีการรักษาแบบมอราล ทรีตเมนต์ (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

แม้ในช่วงหลัง ๆ การกักขังไว้ ล่ามโซ่และขึ้นเสื้อแข็ง (straightjacket) จะยุบเลิกไปบ้าง ผู้ป่วยก็ยังถูกคุมเคร่งครัดได้อาหารคุณภาพต่ำหรือให้อดอาหารนาน ๆ ผู้ป่วยที่มีอาการก้าวร้าวจะถูกจับอาบน้ำเย็นจัดหรือกดน้ำนานเท่าที่จำเป็น

การบำบัดดูแลผู้ป่วยอย่างดูแคลนโหดร้ายทุกข์ทรมานดังพรรณนามานั้นมีปรากฏชุกชุมอยู่ทุกประเทศแถบยุโรป และที่เป็นเหตุจูงใจอย่างสำคัญให้ฟิลิป พิเนล อาสาปลดปล่อยโซ่ตรวนผู้ป่วยโดยเดิมพันด้วยชีวิตบนเงื่อนไขว่า ถ้าปลดโซ่ตรวนให้ผู้ป่วยเป็นอิสระ ผู้ป่วยเหล่านั้นจะไม่ทำอันตรายต่อผู้ใด หากทำอันตรายดังที่ผู้คนสมัยนั้นเชื่อกัน พิเนลจะต้องศีรษะหลุดจากบ่า เดิมพันด้วยชีวิตครั้งสำคัญนี้กระทำกันที่โรงพยาบาลลา บิเซตริเอ (La Bicetre) ในปารีส พิเนลได้รับความสำเร็จใหญ่หลวงอย่างน่าอัศจรรย์ ผลที่ตามมาคือ

โซ่ตรวนที่พันธนาการผู้ป่วยมายาวนานถูกปลดทิ้งไป ภายในห้องและหอผู้ป่วยมีแสงแดดส่องสาดเข้าไปไล่ความทึบทึมอับชื้น ผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้ออกไปเดินเล่นภายนอกหอผู้ป่วยได้บ้างบางเวลา เมตตาธรรม ความเข้าอกเข้าใจและความเห็นใจแผ่ซ่านครอบคลุมผู้น่าสงสารเหล่านั้นอย่างทั่วถึง เสียงกระโชกดุด่าหยาบคาย เสียงข่มขู่ก้าวร้าวผู้ป่วยค่อย ๆ เลือนหายไป กลายมาเป็นคำแนะนำฉันมิตร และสันติสุขก็เข้ามาแทนที่

มีเรื่องเล็ก ๆ เล่าประกอบขึ้นว่า โดยพลันที่โซ่ตรวนถูกปลดออกไป ผู้ป่วยนายหนึ่งทะลึ่งตัวยืนขึ้นทันที แต่ก็ต้องล้มลงด้วยขาทั้งสองข้างไม่มีแรงด้วยถูกคุมขังมานาน (ผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวอังกฤษ) นานกว่า 20 ปี และเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นดวงอาทิตย์และท้องฟ้า ผู้ป่วยน้ำตาไหลรินด้วยความปีติ ปลาบปลื้มรำพันว่า “โอ…โลกสวยจริงหนอ!”

เมื่อถึงเวลาค่ำผู้ป่วยก็เดินกลับเข้าห้องขังของเขาโดยไม่ต้องมีใครบังคับ แต่ห้องขังของเขาเปลี่ยนไปจากเดิม ๆ โดยสิ้นเชิง มันได้ถูกจัดแต่งใหม่ ผ้าปูที่นอนขาวสวยสะอาดสะอ้าน เขาล้มตัวหลับอย่างสงบและแสนสุขบนเตียงใหม่ และ 2 ปี หลังจากวันนั้น ตัวเขาและเพื่อน ๆ ผู้ป่วยอีกจำนวนมาก อาการทุเลาดีขึ้น และได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านได้

ในห้วงปฏิวัติใหญ่ ระยะแรกยังคงมีความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น พิเนลถูกตั้งข้อสงสัยจากกลุ่มปฏิวัติหัวรุนแรงขี้ระแวงกลุ่มหนึ่ง นัยว่าพิเนลจะต่อต้านการปฏิวัติ พิเนลต้องหนีและได้รับการช่วยเหลือให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยทหารคนหนึ่ง แทบไม่น่าเชื่อ! ทหารคนนี้เป็นหนึ่งในผู้ป่วยหลายร้อยหลายพันคนที่ได้รับมอราล ทรีตเมนต์ ของพิเนลอันเดิมพันด้วยชีวิตของเขาครั้งนั้นนั่นเอง

เมื่อหมดวาระของพิเนลแล้ว เอสไควรอล (Dr.Jean Dominique Esquirol, 1782-1840) ก็เป็นผู้สานต่ออย่างเข้มแข็ง จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าพิเนลเป็นผู้จุดประกายมอราล ทรีตเมนต์ ขึ้นเป็นคนแรกและส่งกระแสแผ่ซ่านไปทั่วยุโรป ซึ่งดูเหมือนว่าพร้อมดำเนินการอยู่แล้วในประเทศนั้น ๆ เพราะสภาพผู้ป่วยโรคจิตของแต่ละแห่งมีสภาพเดียวกันกับฝรั่งเศส ขณะเดียวกันนั้น การค้นคว้าใหม่ที่พบว่าการเจ็บป่วยทางจิตทั้งปวงมิได้เกิดจากผีทำ อำนาจของแม่มด มนต์พระจันทร์ หรืออำนาจอันผิดธรรมชาติใด ๆ ที่เคยเชื่อกันมา แต่เกิดจากเจ็บป่วยทางกาย ความเครียดในจิตใจอันสาหัส และสภาพสังคมกดดันบีบคั้นเป็นสำคัญ การบำบัดเยียวยาคลี่คลายปัญหาไม่อาจทำได้ด้วยการทุบถอง ทรมานอย่างเคย ๆ อีกต่อไป

ความเชื่อว่าบ้าเพราะภูติผีปีศาจ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

นี่คือเหตุผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมอราล ทรีตเมนต์ ในอังกฤษเกือบ ๆ จะพร้อมกับฝรั่งเศสที่เรียกว่ายอร์ก รีทรีต โดยวิลเลียม ตุ๊กส์ (1732-1822) ในอิตาลีโดยวินเซนโซ ชิอารูจิ (Vincenzo Chiarugi, 1759-1820) และแพร่ไปทั่วยุโรป แถมข้ามฟากไปยังอเมริกา โดยการนำของเบนจามิน ลัช (Benjamin Lush, 1745-1813) กับโดโรธี แอล. ดิกซ์ (Dorothea L. Dix, 1802-1887) ซึ่งรู้จักกันดีคือที่ลูนาติก อะไซลัม, นิวยอร์ก และลินคอล์น อะไซลัม, เพนซิลเวเนีย อันเป็นโรงพยาบาลโรคจิตเอกชน ยุคบุกเบิก มอราล ทรีตเมนต์ ขนานแท้

ในประเทศเราเกิดมอราล ทรีตเมนต์ อย่างเป็นระบบช้ากว่าฝรั่งระยะหนึ่ง กล่าวคือหลังจากมีพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้ใช้เก๋งจีนหลังใหญ่ของพระยาภักดีภัทรากร (เกงซัวหรือกงซัว) ที่ตกเป็นของรัฐเพื่อชดเชยค่าภาษีที่ติดค้างไว้ ปรับแต่งให้เป็นโรงพยาบาลโรคจิต โดยคำแนะนำของโฮเวิร์ด ที. เฮยส์ (Howard T. Hays) แพทย์ฝรั่งผู้มากับคณะสอนศาสนาเพรสไบที่เรียนจากอเมริกา และเป็นหนึ่งในคณะคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลศิริราชที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธาน

เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อโรงพยาบาลศิริราชเปิดให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยเมื่อปี 2431 นั้น มิได้มีเฉพาะผู้ป่วยทางกายเท่านั้น แต่ได้มีผู้ป่วยทางจิตด้วย อันแสดงว่าราษฎรไทยสมัยนั้นก็ใช่จะหูป่าตาเถื่อนไม่รู้เรื่องโรคหรือปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตไปเสียทั้งหมดก็หามิได้ ด้วยความเข้าใจสถานการณ์ ดร.เฮยส์จึงแนะนำให้ใช้เก๋งจีนดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลโรคจิตเป็นการชั่วคราว แต่ก็เป็นการชั่วคราวที่นานมากถึง 24 ปี

โรงพยาบาลโรคจิตเก๋งจีนแห่งนี้มิใช่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสาน จริง ๆ ติดกับป้อมป้องปัจจามิตร และเป็นสถานีตำรวจสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน ตัวเก๋งจีนน่าจะอยู่ตรงบริเวณแฟลตตำรวจขณะนี้ และหันหน้าไปทางเหนือมุ่งสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เดิมนั้นด้านตะวันตกติดกับวัดทองล่าง (วัดทองนพคุณ) และบริเวณบ้านท่านสุ่น ภริยาใหญ่ของพระยาโชดึก (ฟัก โชติกะสวัสดิ์) และบ้านท่านล้อม เหมะชะญาติ คหปตานีผู้มั่งคั่งคนหนึ่งสมัยนั้น

การบำบัดเยียวยาที่นี่คงเป็นไปในแบบกักขัง (custodial care) เป็นส่วนใหญ่ มิใช่บริการแบบโรงพยาบาล (hospital care) ผู้อำนวยการเป็นแพทย์ไทย (แผนโบราณ) ชื่อนายพุ่ม เป็นแพทย์ที่ 1 ภายใต้การดูแลของแพทย์ฝรั่งชาวอังกฤษชื่อ ไฮเอต (Dr.Campbell Highet) โดยมีดร.คาธิวส์เป็นผู้ช่วย ซึ่งเมื่อแรกตั้งคงไม่มีการดูแลโรงพยาบาลโรคจิตเก๋งจีนแห่งนี้มากนัก จากคำบอกเล่าของศาสตราจารย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม (ผู้บุกเบิกงานสุขภาพจิตในประเทศไทย) และศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว (บิดาแห่งวิชาจิตเวชศาสตร์) ชี้ว่าบริการบำบัดเยียวยาผู้ป่วยโรคจิตในระยะแรกในโรงพยาบาลนี้นั้น น่าจะยังไม่ถึงขั้นมอราล ทรีตเมนต์ แบบฝรั่ง เป็นเพียงสถานที่สำหรับดูแลคนไข้โรคจิตเท่านั้น ยังไม่เรียกว่าเป็นโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป

ศาสตราจารย์ หลวงวิเชียรฯ เล่าว่าครั้งเป็นเด็กนักเรียนเคยมาแอบดูผู้ป่วยด้วยความซน “คือไปขึ้นต้นหว้าหลังโรงพยาบาล ดูคนไข้แก้ผ้าเปลือยกายนอนตากแดด ดูเขามัดล่ามโซ่ผูกติดกับเสา ติดกับลูกกรงเหล็ก ไปฟังคนไข้ด่า ร้องเพลงหยาบ ๆ คาย ๆ ซึ่งสนุกไปตามประสาเด็ก”

ส่วนศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน เล่าตามรายงานของ ดร.ไฮเอตว่า “(ผู้ป่วย) หลายคนถูกล่ามโซ่ไว้กับพื้นกระดาน เช่นเดียวกับสัตว์ที่ดุร้าย ห้องหลายห้องชำรุดและรักษาความสะอาดไม่ได้ จนมีผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้กันมาก โรงพยาบาลนี้ชำรุดและน่าอับอายยิ่ง…ข้าพเจ้าเอง (นายแพทย์ ไฮเอต) ไม่สามารถสรรหาคำพูดใดที่แรงพอเพื่อแสดงว่าอับอายและขยะแขยงเพียงใด” ทั้งนี้ยังระบุด้วยว่า รายงานของนายแพทย์ไฮเอตน่าจะคล้ายกับรายงานของพิเนลจากฝรั่งเศสผู้นั้น และเป็นสัญญาณของการไหวตัวปลดโซ่ตรวน จัดสถานที่ใหม่ให้ดีขึ้นด้วยความมีมนุษยธรรมและศีลธรรม

อย่างไรก็ดีการดูแลโรงพยาบาลแห่งนี้ตามหลัก “กฎ-ที่-ตรวจการ-พยาบาล” ของกรมพยาบาลในชั้นหลัง ๆ บ่งชี้การดูแลที่ดีขึ้นมาก บางรายงาน เช่น ของขุนอาจวิทยาคม 30 กันยายน ร.ศ. 122 ว่าสะอาด เรียบร้อย กว่าศิริราชเสียอีก

คลองหน้าโรงพยาบาลคนเสียจริต (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา) (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

มอราล ทรีตเมนต์ เริ่มต้นส่อแววดี เมื่อรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มอบหมายให้ ดร.ไฮเอตไปดูแบบการก่อสร้างโรงพยาบาลโรคจิตในสิงคโปร์เมื่อปี 2450 แล้วหลวงซื้อที่ดินของทายาทตระกูลสมเด็จเจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) 44 ไร่ พร้อมตั้งงบประมาณสร้างอาคารผู้ป่วยแบบฝรั่ง เป็นเงิน 514,900 บาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการผู้ป่วยเมื่อปี 2455 และปิดโรงพยาบาลเก่าเก๋งจีนทั้งหมด นี่ก็คือมอราล ทรีตเมนต์ ได้อยู่ในกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาล ภายใต้การดูแลของนายแพทย์คาธิวส์ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรก

แท้จริงแล้วในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสนพระทัยเรื่องการตั้งโรงพยาบาลโรคจิตมาตั้งแต่ครั้งเสด็จประพาสสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) เมื่อปี 2413 ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศระบุ “วัน 6 ฯ 12 4 ค่ำ เวลาเช้า 5 โมง ทรงเครื่องเต็มยศเสด็จไปทอดพระเนตรเรือรบอังกฤษ (ชื่อบารุสซา) แล้วเสด็จไปบ้านปริกเดียและขุนนางที่ตามเสด็จ แล้วทรงเครื่องตามธรรมเนียม ทรงรถไปทอดพระเนตรที่ตึกสำหรับส่งหนังสือเมล์ (ไปรษณีสถาน) แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรโบสถ์อังกฤษ (วัดเซนต์แอนดริว) แล้วเสด็จไปที่สกูล (แรฟฟัล) สอนหนังสือเด็ก แล้วเสด็จทอดพระเนตรที่รักษาคนเสียจริตและรักษาคนป่วยไข้ (โรงพยาบาล)”

เช่นเดียวกัน เมื่อเสด็จถึงเมืองปัตตาเวียและเมืองสมารัง ได้เสด็จทอดพระเนตรโรงพยาบาลโรคจิตด้วย ดังความในจดหมายเหตุตอนหนึ่ง “แล้วเรสิเดนท์ก็บอกตำแหน่งขุนนางฝ่ายวิลันดา เสร็จแล้วเสด็จประทับอยู่ในตึกนั้น เวลา 4 โมง เสด็จไปทอดพระเนตรโรงทำดินปืน ตึกรักษาคนบ้าและคนไข้”

ความสนพระทัยกิจการโรงพยาบาลคนเสียจริตและผู้ป่วยโรคจิตของพระองค์ดังกล่าวเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่การมอราล ทรีตเมนต์ ในประเทศไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าการบำบัดเยียวยาผู้ป่วยโรคจิตหรือคนเสียจริตในรูปแบบมอราล ทรีตเมนต์ เป็นที่รู้กันอยู่บ้างแล้วในหมู่คนไทยบางกลุ่ม ก่อนจะมีโรงพยาบาลคนเสียจริตเก๋งจีนปากคลองสาน จากจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน พ.ศ. 2400 ระบุว่า

“วันจันทร์เดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ พวกราชทูตไปดูที่ขังคนบ้า ทำเป็นตึกใหญ่กว้างขวาง ในนั้นมีที่สำหรับสั่งสอนศาสนา เทศน์ให้คนบ้าฟังทุกวันอาทิตย์ ที่ในตึกเป็นห้องใหญ่บ้าง ห้องเล็กบ้าง แต่คนบ้าที่คลั่งมากไม่ได้สติ ดิ้นโดดโลดโผน โดนเสาไม้ ทำร้ายแก่คนอื่น ดังนั้นจึงขังไว้ในห้องมีเบาะ มีที่นอนตามพื้นและฝา ถึงจะดิ้นรนประการใดเนื้อตัวก็ไม่เจ็บช้ำ ในตึกนั้นทำสะอาดหมดจดงดงาม ประหนึ่งว่าเป็นเรือนเศรษฐี มีหมอและคนคอยปรนนิบัติรักษาประจำอยู่มิได้ขาด บ้าผู้ชายก็เอาไว้ส่วนผู้ชาย บ้าผู้หญิงก็เอาไว้ตามผู้หญิง มิให้ปนปะคละกัน ผู้ปรนนิบัตินั้นพูดจาสิ่งใดล้วนอ่อนหวาน ปลอบโยนมิให้คนบ้าเคืองใจเลย…”

ทั้งหมดนี้เป็นมอราล ทรีตเมนต์ โดยได้รับอิทธิพลจากยอร์ก รีทรีต ของวิลเลียม ตุ๊กส์แน่นอน และในหลวงทรงรับรู้เรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตหรือเสียจริตจะสัมพันธ์ไปกับการบำบัดเยียวยา ไม่ว่าฝรั่งหรือไทย ครั้งหนึ่งเชื่อว่าผี ปีศาจ หรืออำนาจอันผิดธรรมชาติเป็นเหตุ การดูแลบำบัดเยียวยาจะรุนแรงไร้ศีลธรรม ทุบตี ล่ามโซ่ ทรมานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งกอกเลือด ต่อเมื่อความเชื่อการเจ็บป่วยเปลี่ยนไปบนพื้นฐานของจิตใจมากขึ้น การดูแลบำบัดเยียวยาก็คลี่คลายไปในทางนุ่มนวลมีเมตตาธรรม มอราล ทรีตเมนต์ จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยเน้นความเมตตา ความเข้าใจและเห็นใจ กับจัดสภาพแวดล้อมให้น่าดู สวยงามเป็นสำคัญ

นายแพทย์คาธิวส์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่ คือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน ก็เริ่มให้การบำบัดเยียวยาแบบมอราล ทรีตเมนต์ อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อผู้อำนวยการเป็นแพทย์และเป็นนักพฤกษศาสตร์ด้วย โรงพยาบาลจึงสวยงามและร่มรื่นด้วยต้นไม้ ตรงตามคำกวีอังกฤษผู้หนึ่งกล่าวไว้ “ชีวิตจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเต็มไปด้วยความว้าวุ่น ไร้พื้นที่ที่จะยืนและเบิ่ง” นายแพทย์คาธิวส์มุ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีพื้นที่ที่จะยืน และเบิ่งอย่างจริงจัง โรงพยาบาลคนเสียจริตริมคลองสาน (คนทั่วไปมักจะติดปากตามโรงพยาบาลเดิมว่าอยู่ปากคลองสาน ความจริงไม่ใช่ อยู่ลึกเข้ามาจากที่เดิมและเป็นบ้านเจ้าพระยา) จึงเป็นที่ร่ำลือกันวาสวยงามเหนือกว่าที่อื่น ๆ ร่มรื่นด้วยไม้นานาพันธุ์

นายแพทย์สกนธ์ โสภโณ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เล่าไว้เมื่อแรกเห็นโรงพยาบาลคนเสียจริต (2478) ว่า “เขาชวนไปเดินเล่นหน้าโรงพยาบาล ก็ได้เห็นฉากต้นไม้ที่สวยงามและสถานที่ร่มรื่นน่าสบาย” และเล่าต่อว่า เมื่อไปลาหลวงวิเชียรแพทยาคม ครั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่อจากนายแพทย์คาธิวส์ ท่านเน้นเรื่องนี้มากไม่แพ้กัน “โรคจิตต้องมีฉากต้นไม้สวย ๆ คนไข้จะได้ชื่นใจ”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เล่าว่า นายแพทย์คาธิวส์มิได้เป็นจิตแพทย์ แต่ก็เข้าถึงชีวิตจิตใจผู้ป่วยได้ดีเยี่ยม และคงจะได้แนวความคิดมาจากดร.จอห์น คอนเนลลี (นักจิตวิทยา) สำนักเดียวกันกับวิลเลียม ตุ๊กส์ นั่นเองที่เน้นสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

“จึงนอกจากจะเป็นผู้เอาธุระวางผังโรงพยาบาลแล้ว งานชิ้นสำคัญของท่าน คือวางผังป่าอันสวยงามและร่มรื่น…ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์ และความสงบแห่งจิต เมื่อมนุษย์อยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย เขาจะต้องการสถานที่อันเป็นธรรมชาติสักแห่งหนึ่ง เพื่อจะยืนปล่อยอารมณ์ และเยียวยาสภาพจิตใจอันว้าวุ่นของเขานั้น”

(1) นายแพทย์แคมป์เบล ไฮเอต (2) ศาสตราจารย์ หลวงวิเชียรแพทยาคม (3) นายแพทย์โมเดิร์น คาธิวส์ (4) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547)

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2468) ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศโดยเฉพาะสาขาสาธารณสุขถูกเลิกจ้าง รวมทั้งนายแพทย์คาธิวส์ด้วย ศาสตราจารย์ หลวงวิเชียรแพทยาคมได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่อมาและเดินตามวิธีของนายแพทย์คาธิวส์โดยเคร่งครัดในเรื่องความสวยงามของสถานที่ “โรคจิตต้องมีฉากต้นไม้สวย ๆ คนไข้จะได้ชื่นใจ”

เมื่อศาสตราจารย์ หลวงวิเชียรแพทยาคมกลับมาจากศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกา ปี 2472 ซึ่งได้แนวความคิดมอราล ทรีตเมนต์ แบบเบนจามิน ลัช และโดโรธี ลินเด ดิกซ์ มาด้วยแน่นอน โดยเน้นความเข้าใจของประชาชนต่อผู้ป่วยโรคจิต จึงเน้นความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตวิทยาอย่างมาก ยอมไปปาฐกถาเรื่องนี้แทบทุกแห่ง จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นยอดนักปาฐกถาแห่งยุค และเพื่อยกคุณค่าผู้ป่วยโรคจิตอีกด้านหนึ่ง จึงเวนคืนที่ดินทุ่งศรีธัญญาหนึ่งพันไร่เศษ เพื่อการอุตสาหกรรมบำบัดและการฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนกลับไปสู่ชุมชน เป็นที่เข้าใจว่าการบำบัดเยียวยาแบบมอราล ทรีตเมนต์ ในห้วงปี 2458-2478 น่าจะเป็นสองทศวรรษที่มอราล ทรีตเมนต์ ขึ้นสู่ระดับสูงสุด

อย่างไรก็ดีมอราล ทรีตเมนต์ ในห้วง 20 ปี คือตั้งแต่ปี 2458 จนถึงปี 2478 เป็นห้วงปีที่มอราล ทรีตเมนต์ ในประเทศไทยได้ลงหลักปักฐานค่อนข้างมั่นคงและเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลโรคจิตที่เกิดใหม่ในชั้นหลังอีก 3-4 โรงด้วย แต่มีแนวโน้มของการคลายความเข้มข้นลงด้วยความเจริญของเทคโนโลยีด้านเภสัชวิทยาเข้ามาแทน คือมีการค้นพบและพัฒนายากล่อมประสาท (tranquilizer) ขึ้นหลายชนิด และพัฒนาขึ้นอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาเหล่านี้ให้ผลชะงัดในการรักษาอย่างมาก ผู้ป่วยที่คลุ้มคลังวุ่นวายก็จะสงบได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยที่เศร้าโศกลึกซึ้งอารมณ์ก็จะแย้มบานได้ในเวลาไม่ทันข้ามคืน ความมหัศจรรย์ของยากล่อมประสาททำให้การรักษาผู้ป่วยโรคจิตหรือคนเสียจริตโดยเภสัชบำบัดได้รับความนิยมโดยรวดเร็ว แม้จะรู้ดีว่า “สภาพดี ๆ” หรือ “การทุเลาโรค” จะยืนนานอยู่ชั่วคราวแค่ฤทธิ์ยาเท่านั้น และผู้ป่วยบางรายต้องกินยาอยู่จนตลอดชีวิตก็ตาม และนี่ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มอ ราล ทรีตเมนต์ หย่อน ๆ ไปและดูจะหย่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

แท้จริงแล้ว หากจะบำบัดรักษา “คนไข้” คือบำบัดรักษา “ทั้งคน” และ “ทั้งไข้” ไม่ใช่รักษาแต่ “ไข้” โดยลืมรักษา “คน” อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ในปัจจุบันแล้วไซร้ เราต้องไม่ลืมมอราล ทรีตเมนต์ โดยไม่หลงชื่นชมเฉพาะเพียงแต่ยากล่อมประสาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “มอราล ทรีตเมนต์ โลกสวยของคนเสียจริต” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565