พระวอ พระตา ในประวัติศาสตร์ไทย – ลาว

พิธีพุทธาภิเษกอนุสาวรีย์พระวอ พระตา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ณ ลานหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู (ภาพจาก http://122.155.92.12/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNSOC5912010010066)

เมื่อกล่าวถึง พระวอ พระตา หรือ พระตา พระวอ นักประวัติศาสตร์หรือผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์คงทราบกันดีว่า คือ บรรพบุรุษผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภูและเมืองอุบลราชธานี และลูกหลานเชื้อสายของพระวอ พระตา ได้สร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองเสลภูมิ, ยโสธร, เขมราฐ, ตระการพืชผล, พิบูลมังสาหาร, มหาชนะชัย, เมืองอำนาจเจริญ เป็นต้น

เมื่อครั้งผู้เขียนได้ติดตามอาจารย์ธงสิน ธนกัญญา (ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำชี) ลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระวอพระตา ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ได้ฟังผู้สูงอายุในท้องถิ่นกล่าวถึงสิ่งที่มีมานาน มักจะพูดว่า “พู้น…ตั้งแต่สมัยพระวอพระตาพุ่น” หมายถึง มีมาตั้งแต่ยุคของพระวอพระตา

ความสัมพันธ์ระหว่างพระวอ กับ พระตา จากหลักฐานข้อมูลที่พบมี 2 แนวคิด คือ 1.พ่อกับลูก คือ พระตาเป็นพ่อพระวอ 2.แบบพี่น้อง คือ พระตาเป็นพี่ชายพระวอ

และเชื้อสายของพระวอ พระตา จำแนกเป็น 2 แนวคิด คือ 1.มีเชื้อสายกษัตริย์ โดยพระวอกับพระตาเป็นโอรสของเจ้าปางคำ ผู้มีเชื้อสายกษัตริย์มาจากนครเชียงรุ้ง 2.พระวอ พระตา เป็นสามัญชน

เหตุการณ์ความวุ่นวายในอาณาล้านช้าง ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยกรุงธนบุรีของสยาม

ปี พ.ศ. 2303 พระวอ และพระตา ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักเวียงจันทน์ มีความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร ด้วยสาเหตุไม่แจ้งชัด ได้พาเอาไพร่พลกองครัวญาติพี่น้อง อพยพหนีจากเวียงจันทน์ไปตั้งเมืองอยู่ที่หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าปางคำมาสร้างไว้ ชื่อเมืองว่า เมืองจำปานครแขวงกาบแก้วบัวบาน แล้วตั้งเมืองเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเวียงจันทน์ ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารรู้ว่าพระวอพระตาได้ตั้งตนเป็นเป็นอิสระ จึงได้ยกพลลงไปปราบ ทำการปราบอยู่ 3 ปี แต่ยังไม่สามรถปราบลงได้

พระเจ้าสิริบุญสารจึงแต่งฑูตไปขอให้พม่ายกทัพลงมาช่วยปราบ จึงทำให้ค่ายของพระวอพระตาที่เมืองจำปานครแขวงกาบแก้วบัวบานแตก พระตาสิ้นชีพในสนามรบ พระวอจึงพากองครัวหนีไปพึ่งพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารที่เมืองจำปาศักดิ์ โดยตั้งบ้านอยู่ดอนมดแดง แล้วแต่งท้าวเพี้ยถือศุภอักษรเครื่องบรรณาการมาถึงพระยานครราชสีมา ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขันฑสีมาของกรุงธนบุรี ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารจึงแต่งทัพให้ตามตีพระวอ ฝ่ายพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารทราบข่าว จึงแต่งทัพขึ้นไปรั้งทัพเวียงจันทร์ไว้และมีพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าสิริบุญสาร ทูลขอยกโทษให้พระวอ จึงทำให้พระเจ้าสิริบุญสารสั่งให้ทัพเวียงจันทร์กลับ

การที่พระวอหนีมาตั้งหลักอยู่ที่ที่ดอนมดแดง เขตเมืองจำปาศักดิ์ ประมาณปี พ.ศ. 2311 นั้น แล้วส่งเครื่องราชบรรณาการอย่างเป็นทางการไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ในเรื่องนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่า “เป็นเหตุผลของกองทัพของพระวอต้องการทำสงครามกับเวียงจันทน์ต่อ แต่พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นพระวอจึงจำเป็นต้องแสวงหามิตรจากภายนอกคือกรุงธนบุรี เพื่อทำศึกกับเวียงจันทน์ที่มีพม่าอยู่เบื้องหลัง เวียงจันทน์เองก็กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก จำเป็นต้องเหยียบเรือสองแคม คือ เวียงจันทน์มีความพยายามหลายครั้งที่จะผูกมิตรกับกรุงธนบุรี เพื่อเปิดทางเข้าปราบกลุ่มพระวอพระตา แต่ขณะเดียวกันเวียงจันทร์เองมีพม่าเอาหอกจ่ออยู่ด้านหลัง  และการที่กรุงธนบุรีให้ที่พักพิงกับกองครัวกลุ่มพระวอ นั่นแสดงให้เห็นว่ากรุงธนบุรีต้องการให้กลุ่มพระวอ คานอำนาจของพม่าและเวียงจันทน์ทางด้านนี้”

ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองบัวลำภู สร้างเสร็จและประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 (ภาพจาก http://woodychannel.com/travel-to-make-rich-in-thailand/northeast-thailand/page/7)

ในปี พ.ศ. 2313 พระเจ้าสิริบุญสารได้ส่งพระราชสาส์นมาขอเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากพระเจ้าสิริบุญสารทรงเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีมีกำลังที่เข้มแข็งและสามารถขับไล่พม่าออกไปจากอาณาจักรได้แล้ว และยังได้ทรงสร้างราชธานีขึ้นแห่งใหม่ บ้านเมืองกำลังเป็นปึกแผ่นมั่นคง จึงได้ส่งพระราชสาส์นมาขอเชื่อมสัมพันธไมตรี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีพระราชสาส์นตอบกลับไปเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองเวียงจันทร์กับกรุงธนบุรีในตอนต้นรัชกาลเป็นไปด้วยความหวาดระแวง ต่อมาตอนกลางรัชกาล พระเจ้าสิริบุญสารไปฝักใฝ่พม่า เพื่อขอให้พม่าช่วยเหลือตีเมืองหลวงพระบางซึ่งขณะนั้นเป็นศัตรูกัน และพระเจ้าสิริบุญสารทรงเห็นว่าพม่ามีกำลังที่เข้มแข็ง จึงได้ยอมเป็นไมตรีกับฝ่ายพม่าแต่พม่ายังไม่เชื่อใจพระเจ้าสิริบุญสาร โป่สุพะลาแม่ทัพพม่าจึงบังคับเอาพระราชบุตร พระราชนัดดา ของพระเจ้าสิริบุญสารไปไว้ในพม่าเพื่อเป็นตัวประกัน

ต่อมาปี พ.ศ. 2314 ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในราชสำนักล้านช้างระหว่างพระเจ้าสุริยวงศ์ แห่งเมืองหลวงพระบางกับพระเจ้าสิริบุญสารเมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์ได้รู้ว่าเวียงจันทน์กำลังมีศึกอยู่กับพระวอพระตา จึงได้ยกทัพลงมาตีเวียงจันทน์ ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารเมืองเวียงจันทน์ก็เกณฑ์ไพร่พลออกต่อรบ มีการป้องกันเมืองเป็นสามารถ รบกันอยู่ประมาณ 2 เดือนยังไม่รู้ผลแพ้ชนะกัน ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารทรงเห็นว่าจะไม่สามารถตีทัพหลวงพระบางให้ให้แตกกลับคืนไปได้ จึงได้ส่งราชทูตไปขอกำลังพลจากพระเจ้าอังวะให้มาช่วยตีเมืองหลวงพระบาง พระเจ้าอังวะจึงมีบัญชาให้โป่สุพะลา เป็นแม่ทัพซึ่งขณะนั้นโป่สุพะลาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ จึงได้ยกทัพลงมาตีเมืองหลวงพระบาง ฝ่ายพระเจ้าสุริยวงศ์เมื่อรู้ว่าทัพพม่ายกมาตีพระนคร จึงได้ถอยทัพกลับคืนไปหลวงพระบางและขออ่อนน้อมยอมเป็นไมตรีต่อพม่า

ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าเมืองนางรอง เกิดผิดใจกันขึ้นกับเจ้าเมืองนครราชสีมา จึงไปขอขึ้นกับเจ้าโอ แห่งนครจำปาศักดิ์ จำปาศักดิ์คงไม่พอใจที่กรุงศรีอยุธยาที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในอาณาบริเวณในปี พ.ศ. 2308 ทำให้เมืองจำปาศักดิ์ต้องเสียเมืองทุ่ง(สุวรรณภูมิ)ไป เมืองจำปาศักดิ์จึงสนับสนุนให้เมืองนางรองเป็นกบฏต่อกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ ยกกองทัพขึ้นไป ณ เมืองนครราชสีมา แล้วสมทบกับกองทัพของเมืองนครราชสีมา ยกไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขงและเมืองอัตปือ ต่อมาเขมรป่าดงเมืองตลุง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะและเมืองขุขันธ์ ทั้ง 4 เมืองเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี เมืองเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีฐานะเป็นหัวเมืองเอกและเมืองหน้าด่านที่สำคัญต่อกรุงธนบุรีในด้านนี้

สะพานข้ามห้วยแจระแม ถนนเข้าเมืองอุบลฯ บริเวณที่ตั้งชุมชนแรกเริ่มซึ่งย้ายมาจากบ้านดู่บ้านแก ต่อมาได้ย้ายชุมชนไปตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าดงอู่ผึ่ง ก่อนเป็นเมืองอุบลราชธานี (ภาพจาก http://www.matichon.co.th/news/247140)

จากเหตุการณ์กบฏครั้งนี้ทำให้มองเห็นว่าอำนาจของกรุงธนบุรียังอ่อนแออยู่ ดังนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงส่งพระยาพรหม พระยากรมท่า ได้ขึ้นมาจัดราชการที่เมืองทุ่ง ในปี พ.ศ. 2318 เพื่อวางแผนเตรียมขยายอาณาเขตของกรุงธนบุรีเข้าไปในเขตเมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์ คือการตั้งเมืองร้อยเอ็ด มีพระขัติยะวงษา (ท้าวทนต์) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ตามคำขอเรียนเมือง ยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด และมีการแบ่งอาณาเขตระหว่างเมืองท่งสีภูมิกับเมืองร้อยเอ็ดอย่างชัดเจน จากกรณีนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า   พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังใช้เมืองร้อยเอ็ด เมืองท่ง(สุวรรณภูมิ) และกลุ่มพระวอ เป็นหมากในการเดินเกมส์ทางการเมืองกับเวียงจันทร์และจำปาศักดิ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2320 พระวอได้เกิดผิดใจกันกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ด้วยสาเหตุความหวาดระแวงกล่าวคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2308 เป็นต้นมา เมืองทุ่ง(สุวรรณภูมิ) ขาดจากอำนาจของเมืองจำปาศักดิ์ ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา และเมืองทุ่งร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาให้เขตปลอดภัยกลับกลุ่มพระวอที่แตกทัพมา ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่ากรุงธนบุรีจะขยายอำนาจมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ โดยใช้เมืองทุ่งและกลุ่มพระวอเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ข่าวการผิดใจกันระหว่างพระวอกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร ไปถึงราชสำนักเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสารจึงแต่งตั้งให้พระยาสุโพแต่งทัพลงไปตีพระวอ ฝ่ายพระวอสู้ไม่ได้ จึงหนีไปอยู่ที่บ้านดู่บ้านแก       (เวียงดอนกอง) เมื่อพระยาสุโพตามไปทันก็จับพระวอฆ่าเสีย ท้าวก่ำจึงแต่งหนังสือไปถึงเมืองนครราชสีมา เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ช่วยตีเมืองเวียงจันทน์

พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ หรือ เจ้าคำผง (บุตรของพระตากับเจ้านางบุศดี) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชคนแรก (พ.ศ.2335-2338) อนุสาวรีย์ตั้งอยู่บริเวณทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (ภาพจากhttp://radio.prd.go.th/ubonratchathani/ewt_news.php?nid=3181&filename=index_59_Aug_30)

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงรับทราบเช่นนั้นแล้วก็ทรงพิโรธ จึงมีพระดำรัสว่า พระวอเป็นข้าขอบขันฑสีมาเมืองเราและพระยาล้านช้างมิได้ยำเกรง ทำบังอาจมาตีบ้านเมืองและฆ่าพระวอเสียฉะนี้ ควรเราจะยกกองทัพไปตีเมืองล้านช้างให้ยับเยินตอบแทนแก้แค้นให้จงได้” ในปี พ.ศ. 2321 จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ รบกันอยู่ถึง 4 เดือนเศษ ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสารทรงเห็นว่าเหลือกำลังที่จะต่อต้านกองทัพสยามได้ จึงทิ้งเมืองหนีพาเจ้าอินทร์ เจ้าพรหม ราชบุตรและข้าหลวงคนสนิทลอบลงเรือหนีเวลากลางคืน เหลือไว้แต่เจ้านันทเสนที่อยู่ป้องกันพระนคร

สุดท้ายกองทัพสยามก็เข้าเมืองได้ จับได้ตัวเจ้านันทเสนและราชบุตรี วงศานุวงศ์แม่สนมกำนัลและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง กับทั้งทรัพย์สินและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากและครอบครัวลาวชาวเมืองทั้งปวง ข้ามฝั่งมาไว้ ณ เมืองพานพร้าว แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสถิตอยู่ ณ พระวิหารในวังพระเจ้าล้านช้างนั้น อาราธนาลงเรือข้ามฟากมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองพานพร้าวด้วย เสร็จแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงสั่งให้ยกทัพกลับมายังกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งให้พระยาสุโพขุนนางเมืองเวียงจันทน์เป็นผู้รักษาเมืองไว้

ผลของสงครามทำให้สยามมีอำนาจเหนือบริเวณอาณาจักรล้านช้างทั้งหมด และจากการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาเป็นเชลยศึก จึงเกิดการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คน กระจัดกระจายอยู่บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกหลายเมืองในช่วงเวลาต่อมา

 


อ้างอิง :

บำเพ็ญ ณ อุบล. เล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2545

ธงสิน ธนกัญญา และคณะ. วิถีชุมชน คนต้มเกลือ พู้นตั้งแต่สมัยพระวอ พระตาพุ่น บ้านหนองฮาง. ร้อยเอ็ด : โพนทอง, 2557

ต่อ,นาย. ผู้แปล,มหาราชวงศ์พงษาวดารพม่า.สุจิตต์ วงษ์เทศ,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545

เติม วิภาคพจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546

บรัดเล,หมอ. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4. พิมพ์ครั้งที่3. กรุงเทพฯ: โฆษิต, 2551   

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี.  หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

สุระศักดิ์ ศรีสะอาด .ลำดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545

สีลา วีระวงศ์(เรียบเรียง) สมหมาย  (แปล) . ประวัติศาสตร์ลาวพิมพ์ครั้งที่3 กรุงเทพฯ : มติชน, 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2560