รัฐบาล 3 ประเภทในทัศนะของเหลาจื๊อ แบบไหน “เลวที่สุด”

เหลาจื๊อ นักปรัชญาคนสำคัญหนึ่งของจีน

สำรวจ รัฐบาล 3 ประเภทในทัศนะของเหลาจื๊อ แบบไหน “เลวที่สุด” ค้นจากคัมภีร์เต้าเต๋อจิง บทที่ 17

เหลาจื๊อ นักปรัชญาชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในยุคชุนชิว-จ้านกว๋อ ที่เกิดนักปรัชญาจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือนักปรัชญาชื่อดังอย่างขงจื๊อที่อายุน้อยกว่าเหลาจื้อประมาณ 20 ปี ข้อมูลชีวประวัติของเหลาจื๊อมีการเรียบเรียงไว้ไม่มากเท่ากับขงจื๊อ

แต่เหลาจื๊อก็สร้างผลงานสำคัญที่ฝากไว้จวบจนปัจจุบันคือ “คัมภีร์เต้าเต๋อจิง” หรือตำราแบบแผนศาสนาเต๋า ที่ประกอบด้วยอักษรทั้งหมด 5,000 ตัว เรียบเรียงด้วยประโยคสั้นๆ แต่กินความหมายลึกซึ้ง

เสถียร โพธินันทะ กล่าวถึงคัมภีร์ดังกล่าวว่า “อินเดียมีคัมภีร์ภควัทคีตาเป็นเพชรแห่งภูมิธรรมฮินดูฉันใด จีนก็มีคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง [คัมภีร์เต้าเต๋อจิง] เป็นเพชรภูมิแห่งธรรมดินแดนมังกร ฉันนั้น”

คัมภีร์เต้าเต๋อจิง บทที่ 17 เหลาจื๊อแบ่งรัฐบาลออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. รัฐบาลที่ปกครองประชาชน โดยประชาชนไม่รู้สึกว่าตนถูกปกครอง เพราะเป็นรัฐบาลที่ดำเนินตามอุดมคติเสรีนิยม+ธรรมชาตินิยมอย่างแท้จริง

2. รัฐบาลที่ปกครองประชาชนด้วยวิธีสร้างความดีให้ประชาชนเห็น ประชาชนก็สดุดีรัฐบาลนั้น นับว่าดี แต่ไม่ประเสริฐเท่าข้อหนึ่ง

3. รัฐบาลที่ใช้อำนาจกดขี่ประชาชน และเที่ยวยุ่งเกี่ยวบังคับความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน จนประชาชนไม่เป็นตัวของตัวเอง แบบนี้เหลาจื๊อว่าเป็นข้อที่เลวที่สุด

 


ข้อมูลจาก :

เสถียร โพธินันทะ, เมธีตะวันออก, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, พิมพ์ครั้งที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2565