พ.ศ. 2493 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. “หมู” ราคากิโลกกรัมละ 6.50 บาท!

ภาพแผงขายหมูแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

พ.ศ. 2565 ราคา หมู พุ่งไปราวกิโลกรัมละ 200+ บาทเข้าไปแล้ว แต่หากย้อนกลับไปเมื่อราว 70 ปีก่อน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีราคาแพง และค่าครองชีพของประชาชนยังสูง ราคาหมูอยู่ที่กิโลกรัมละ 6.50 บาท

โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ถามเรื่องการลดค่าครองชีพ ของนายไพรรัตน์ วิเศษโกสิน ส.ส. บุรีรัมย์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2493 บางส่วนความว่า

“…หมู เวลาเมื่อก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา ราคาหมูขายกันกิโลกรัมละ 8 บาทถึง 10 บาท เวลานี้อย่างมากเหลือ 6.50 บาท หรือราคาในตลาดมืดอาจจะเป็น 7 บาท ก็เห็นจะไม่ถึง นอกจากนี้ เนื้อวัวซึ่งเป็นอาหารประจำวัน เมื่อก่อนที่รัฐบาลนี้เข้ามากิโลกรัมละ 6 บาท เที่ยวนี้เข้าใจว่า 4 บาท ไข่ที่ลดลงไป เมื่อก่อนฟองละ 40 สตางค์ หรือ 60 สตางค์ เดี๋ยวนี้อย่างแพง 40 สตางค์…”

จอมพล ป. และนายไพรรัตน์ ตอบโต้กันไปมา โดยจอมพล ป. พยายามชี้แจ้งไปที่ประเด็นการสงครามทำให้สินค้ามีราคาสูง หลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน และพยายามอธิบายว่ารัฐบาลได้พยายามลดค่าครองชีพอย่างสุดความสามารถ ซึ่งก็เห็นผลประจักษ์ไปแล้วดังคำกล่าวข้างต้น ที่ราคาหมูลดลงมามากแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำตอบของนายกรัฐมนตรียังไม่เป็นที่พอใจ นายไพรรัตน์จึงกล่าวขึ้นว่า “…เมื่อค่าครองชีพไม่ลด ราษฎรยังเดือดร้อนอยู่ และก็ยังร่ำลือกันด้วยความเดือดร้อนอย่างนี้ รัฐบาลจะลาออกไหม…”

จอมพล ป. ตอบ จึงตอบว่า “…ข้าพเจ้าลาออกให้พรรคของท่านเป็นรัฐบาล ถ้าท่านทำอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ต้องลาออกบ้าง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ จะพูดกันอย่างไรซึ่งเป็นไปไม่ได้…เรื่องลาออกหรือไม่ลาออกขอให้มีเหตุผล”

จบกระทู้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สำรวจ หมู สายพันธุ์ต่างชาติ? ที่นำเข้าในไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2565