เอี้ยวสิ้วไม่ได้ตายเพราะขาไก่ แต่ “เผือก” เรื่องอะไร โจโฉจึงสั่งประหาร

เอี้ยวสิ้ว ผู้ที่นิยายสามก๊กแต่งว่าตายขาไก่

ในนิยายสามก๊ก เอี้ยวสิ้วเป็นคนโอ้อวดสติปัญญา เขาชอบแสดงปัญญาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อวดความสามารถของตนต่อหน้าโจโฉอยู่เสมอ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งโจโฉเขียนอักษร “活 หัว – มีชีวิต” ไว้ที่บานประตู เอี้ยวสิ้วบอกว่า โจโฉตำหนิว่าประตูกว้างเกินไป (เพราะอักษร 活 – มีชีวิตเมื่ออยู่ในอักษรประตู 门 จะเป็นอักษร 阔 หมายถึง กว้าง-ถาวร สิกขโกศล) ต้องแก้ไขประตูนี้

ครั้งหนึ่งแขกจากแดนไกลเอาขนมมากำนัลโจโฉกล่องหนึ่ง โจโฉเขียนไว้บนกล่องว่า “一合酥- ขนมกล่องหนึ่ง” เอี้ยวสิ้วบอกให้คนเอาไปกินคนละคำ (เพราะอักษร 一合-หนึ่งกล่อง แยกเป็นอักษร 一人一口หมายถึง หนึ่งคนหนึ่งคำ-ถาวร สิกขโกศล)

ครั้งหนึ่งเอี้ยวสิ้วอธิบายรหัสขานยามทหารว่า “ซี่โครงไก่” โดยพลการถูกโจโฉสั่งประหารชีวิต (อยู่ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 58 ซึ่งแปลคำซี่โครงไก่เป็นขาไก่ และยาขอบใช้ตามในสามก๊กฉบับวณิพกตอนเอี้ยวคิ้วผู้คอขาดเพราะขาไก่)

เรื่องราวในนิยายสามก๊กนั้น “จริงเจ็ดเท็จสาม” อาศัยความจริงที่มีอยู่ในพงศาวดารสามก๊กเป็นพื้นฐานที่อ้างอิงได้ แต่ผู้แต่งมุ่ง “ยกย่องเล่าปี่ ตำหนิโจโฉ” จึงเจาะจงเน้นเรื่องโจโฉอิจฉาคนเก่งมากเกินไป จนมองสาเหตุอันซับซ้อนที่เอี้ยวสิ้วถูกประหารไม่ออก ความจริงการตายของเอี้ยวสิ้วนั้น สาเหตุพื้นฐานมาจากการถูกดึงเข้าไปในวังวนการแย่งชิงตำแหน่งผู้สืบทอดอำนาจจากโจโฉ คือโจผีกับโจสิดแย่งกันเป็นทายาททางการเมืองของบิดา

โจผีมิใช่บุตรเอก [ลูกของเมียหลวง] คนโตของโจโฉ บุตรเอกคนโตคือโจงั่ง ซึ่งตายในสงคราม โจโฉ “ไม่มีกำหนดแน่นอนในการตั้งทายาท” แต่คิดว่าจะเลือกโจผีหรือโจสิดคนใดคนหนึ่ง พงศาวดารสามก๊กจี่ บทประวัติโจสิด กล่าวว่า “โจโฉลังเลใจเคยคิดจะตั้งโจสิดหลายครั้ง” ดังนั้น เย่ซื่อคนยุคราชวงศ์ซ่งจึงกล่าวไว้ในเรื่อง “สีเสว์จี้เอี๋ยน (บันทึกวาทะการศึกษา)” เล่ม 27 ว่า “โจโฉคิดจะตั้งทายาทการเมืองตามความสามารถ มิใช่ตามสิทธิบุตรเอก”

แต่ในที่สุดโจผี “ใช้เล่ห์เหลี่ยมมารยาเสแสร้ง” ได้รับแต่งตั้งเป็นทายาท ส่วนโจสิด “ทำตามใจตัวเอง ไม่ปรับปรุงและควบคุมความประพฤติของตน ขาดวินัยในการดื่มสุรา” จึงเป็นที่รักของโจโฉ

ทว่าที่โจผีชนะ โจสิดแพ้ ยังเกี่ยวข้องกับทัศนคติต่อการชิงราชสมบัติราชวงศ์ฮั่นของคนทั้งสองอีกด้วย

ซ่งเสียงเฟิงนักวิชาการสมัยราชวงศ์ซ่งเขียนไว้ในเรื่อง “กั่วถึงลู่” เล่ม 15 คำ “หลิวกงก้าน” โดยสันนิษฐานว่า “โจสิดเขียนไว้ในประชุมกวีนิพนธ์ ซานเหลียงของเขาว่า ไม่ควรวุ่นวายในเกียรติยศชื่อเสียง ข้ามั่นอยู่ในความจงรักภักดีและครรลองคลองธรรม นี่คือ กล่าวว่าชีวิตคนไม่ควรใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์ ชื่อเสียงเกียรติยศขึ้นกับฟ้ากำหนด มีแต่ความสัตย์ซื่อถือธรรมเท่านั้นที่ข้ามานะบากบั่น…

รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 22 ตั้งโจผีเป็นทายาทในบรรดาบุตรโจโฉทั้งหมด มีแต่โจผีที่คิดแย่งราชสมบัติราชวงศ์ฮั่น อีกทั้งเป็นบุตรเอกคนโต หลิวกงก้านจึงเย้ยหยันไปทางเหนือ เรื่องนี้ทำให้โจโฉโกรธ จึงยกเหตุเรื่องนางเอียนซีคุมตัวเขาไว้ แต่ในที่สุดเห็นว่าหลิวกงก้านเป็นเพียงบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ไม่สามารถก่อเหตุเภทภัยได้อย่างซุนฮกซึ่งมีแผนการและความคิดลึกซึ้ง หรือเอี้ยวสิ้วซึ่งมาจากตระกูลอันทรงเกียรติคุณ ดังนั้นจึงปล่อยตัวไป”

ช่วงที่ศึกชิงตำแหน่งทายาททางการเมืองระหว่างโจผีกับโจสิดกำลังร้อนแรงนี้ เอี้ยวสิ้วผู้ขาดประสบการณ์ทางการเมืองได้เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไม่เหมาะกับกาละ เข้าร่วมพรรคกับโจสิด ช่วยคิดวางแผนสารพัด ขัดกับข้อห้ามของโจโฉอย่างร้ายแรง โจโฉเป็นนักการเมืองใจเหี้ยม เพื่อจุดหมายทางการเมือง แม้ความรักระหว่างพ่อ-ลูกยังไม่แยแส แล้วชีวิตเล็กๆ อย่างเอี้ยวสิ้วจะมีอะไรน่าเสียดาย

อีกทั้งการลงดาบกับเอี้ยวสิ้วยังเป็นการ “ตีภูเขาให้เสือกลัว” เตือนโจสิดไปด้วยในตัว พงศาวดารสามก๊กจี่ ตอนประวัติโจสิด บันทึกไว้ว่า “องค์ไท่จู่ (โจโฉ) เกรงว่าหากตนล่วงลับไปแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ เพราะเอี้ยวสิ้วมีสติปัญญาและเล่ห์เหลี่ยม อีกทั้งเป็นลูกของพี่สาวอ้วนสุด จึงจับผิดประหารเสีย โจสิดยิ่งไม่สบายใจ”

อนึ่ง เอี้ยวสิ้วมาจากตระกูลเอี้ยว (หยาง) เมืองหงหนง ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แซ่เอี้ยวเมืองหงหนงเป็นตระกูลใหญ่ครองตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีติดต่อกันถึง 4 ชั่วคน โจโฉประหารเอี้ยวสิ้ว จึงเป็นการปรามบรรดาตระกูลใหญ่ทางการเมืองทั้งหลายไปในตัว

อ่านเพิ่มเติม :


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2564