ย้อนดูเรื่องการจัดระบบเวลาของไทย จากวัน-เดือน-ปี จนถึงการใช้ปฏิทิน

บางส่วนของ “เทวประติทิน พระพุทธศักราช 2462” สร้างตามปฏิทินปรับเปรียบของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

วันหนึ่งๆ ในอดีต เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นไปสิ้นสุดเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2460 มีประกาศให้นับเวลาราชการตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นเวลาขึ้นวันใหม่ตามแบบสากล แต่ทางโหราศาสตร์ยังคงยึดถือ 06.00 น. เป็นเวลาขึ้นวันใหม่

ถึง พ.ศ. 2463 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดว่า “ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2463 ให้ใช้เวลาอัตราสำหรับกรุงสยามทั่วพระราชอาณาจักรเป็น 7 ชั่วโมงก่อนเวลากรีนิชในเมืองอังกฤษ” เพื่อให้เทียบกับเวลาของประเทศอื่นๆ ได้โดยสะดวก แต่ถ้าคำนวณตามตำแหน่งที่ตั้งของกรุงเทพฯ เวลาที่กำหนดนี้จะเร็วกว่าความจริงไป 18 นาที และถ้าเทียบกับเวลาที่จังหวัดเชียงใหม่ จะเร็วกว่าความจริงไป 24 นาที

Advertisement

ส่วนเรื่องเดือน คนไทยบางกลุ่มนิยมนับเดือนหนึ่งๆ ตั้งแต่วันดวงจันทร์เต็มดวงไปจนถึงวันดวงจันทร์เต็มดวงครั้งต่อไป คือนับแรม 1 ค่ำเป็นต้นเดือน แล้วนับแรม 2 ค่ำ แรม 3 ค่ำ แรม 4 ค่ำ…แรม 15 ค่ำต่อด้วยขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 2 ค่ำ ขึ้น 3 ค่ำ…ขึ้น 15 ค่ำ รวมเป็น 1 เดือน คำว่า “เวลาเดือนหนึ่ง” มีที่มาจาก “เดือน” ที่แปลว่าดวงจันทร์นั้นเอง หรือ “Month” ที่มีที่มาจาก “moon” นั้นเอง

ไทยนิยมนับเดือนจันทรคติเริ่มแต่ขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำ ไปจนถึง ขึ้น 15 ค่ำ แล้วต่อด้วยวันแรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 15 ค่ำ ซึ่งเรียกว่า วันเดือนดับ รวมเป็น 1 เดือน

ความจริงดวงจันทร์หมุนรอบโลกใช้เวลาเพียงประมาณ 29 วันครึ่ง หรือ 2 รอบประมาณ 59 วัน แต่เพื่อความสะดวกเราจึงกำหนดให้เดือนจันทรคติมี 29 วันในเดือนเลขคี่ คือ เดือนอ้าย เดือน 3 เดือน 5 ฯลฯ เรียกว่าเดือนขาด เดือนจันทรคติมี 30 วัน ในเดือนเลขคู่ คือ เดือนยี่ เดือน 4 เดือน 6 ฯลฯ เรียกว่าเดือนถ้วน

ปีหนึ่งๆ นับแต่วันต้นฤดู เช่นวันต้นฤดูหนาวไปจนถึงวันต้นฤดูหนาวครั้งถัดไป ปฏิทินสากลเริ่มแต่ 1 มกราคมไปจนถึง 31 ธันวาคม มี 365 วันเศษ

ปีจันทรคติตามปรกติมี 12 เดือน หรือ 354 วัน (59 วันต่อ 2 เดือน) จึงสั้นไปปีละ 11 วันเศษ ทบกันเข้าประมาณ 3 ปี จะต้องเพิ่มเดือนพิเศษขึ้นอีกเดือนหนึ่ง ปีจันทรคติที่มี 13 เดือน เรียกว่าปีอธิกมาสมี 384 วัน ปฏิทินไทยปัจจุบันวางเดือนที่เพิ่มขึ้นหลังเดือน 4 เรียกว่าเดือน 4 หลัง มี 30 วันเหมือนเดือนเลขคู่ทั้งหลาย

ปีที่เพิ่มวันพิเศษเรียกว่า “ปีอธิกวาร” ไทยใช้เพิ่มเดือน 7 ซึ่งโดยปรกติมี 29 วัน ให้เป็น 30 วัน คือเพิ่มวันแรม 15 ค่ำ ในเดือน 7 ในปีอธิกวาร ซึ่งมี 355 วัน (โดยปรกติเดือนขาด หรือเดือนคี่อย่างเดือน 7 ถึงแรม 14 ค่ำ แล้วตามด้วย ขึ้น 1 ค่ำ ไม่มีแรม 15 ค่ำ นอกจากปีอธิกวาร)

ปีทางจันทรคติของไทยเริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ หนึ่งเดือน 5 เป็นต้นไป มีชื่อเดือนตามกลุ่มดาวฤกษ์ที่พระจันทร์โคจรไปถึงในวันเพ็ญ ดังนี้ เดือน 5 จิตร, เดือน 6 วิสาขะ, เดือน 7 เชษฐ, เดือน 8 อาษาฒ, เดือน 9 ศรวณะ, เดือน 10 ภัทรบท, เดือน 11 อัศวยุช, เดือน 12 กัตติกะ, เดือนอ้าย มฤคสิระ, เดือนยี่ บุษยะ, เดือน 3 มาฆะ และเดือน 4 ผลคุน

ปีทางสุริยคติของไทย มีชื่อเดือนเรียงลำดับดังนี้ 1. มกราคม มี 31 วัน 2. กุมภาพันธ์ มี 28 วัน ในปีปกติ และ 29 วันในปีอธิกสุรทิน 3. มีนาคม มี 31 วัน 4. เมษายน มี 30 วัน 5. พฤษภาคม มี 31 วัน 6. มิถุนายน มี 30 วัน 7. กรกฎาคม มี 31 วัน 8. สิงหาคม มี 31 วัน 9. กันยายน มี 30 วัน 10. ตุลาคม มี 31 วัน 11. พฤศจิกายน มี 30 วัน และ 12. ธันวาคม มี 31 วัน

ปีตามฤดูกาล (the tropical year) มี 365.24220 วัน ปีสุริยคติ แบบจูเลียน มี 365.25 วันโดยเฉลี่ย ทำให้วันคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นจนมาถึง พ.ศ. 2125 ประเทศต่างๆ ได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินแบบเกรกอเรียน หรือ ปฏิทินสากล (แต่ก็มิได้เปลี่ยนพร้อมกันทุกประเทศ) ตามหลักเกณฑ์ของปฏิทินแบบเกอเกอเรียนนี้ปีหนึ่งมี 365.2425 วันโดยเฉลี่ย กำหนดปี 2 ชนิดคือ ปีปกติมี 365 วัน กับปีที่มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งปีมี 366 วัน เรียกว่าปีอธิกสุรทิน

สำหรับไทยสมัยรัชกาลที่ 4 มีการทดลองใช้ปฏิทินระบบเกรกอเรียน ที่แบ่งเดือนอย่างสม่ำเสมอมาแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนจากฤดูกาล

หลังการทดลองใช้อยู่ระยะหนึ่งแล้วก็พบว่า ปฏิทินนี้ทำให้ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับปฏิทินไทยมาก่อนรู้สึกขัดแย้งกับสามัญสำนึกในทันทีว่า ปลายเดือนก็ไม่ได้กับวันดับ กลางเดือนก็ไม่ได้กับวันเพ็ญ และมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2432


ข้อมูลจาก

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมบทนิพนธ์ “เสาหลักทางวิชาการ” ของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2549.

วิภัส เลิศรัตนรังษี. “ ‘เวลาอย่างใหม่’ กับการสร้างระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2564